Museum Core
มองแอฟริกา ผ่านสายตาชาวกรุงศรีฯ
Museum Core
05 เม.ย. 64 2K
.

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 

 

 

 

ภาพที่ 1: ต้นฉบับ “ต้นทางฝรงงเสษ” ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส
ที่มาภาพ: ปรีดี พิศภูมิวิถี. ย้อนรอยโกษาปานใน "ต้นทางฝรั่งเศส" นิราศสยามต่างแดนเล่มแรก. 2544. หน้า 92.

 

“                                      หญิงชายหัวพริก
ผมงอหยุกหยิก                  เห็นน่าบัดสี
ตัวเปล่าดุจเปลือย               ผ้าผ่อนบมี
รูปทรงคือผี                      อัปรีย์สมมม”

 

 

          บทประพันธ์ข้างต้นตัดตอนมาจาก “ต้นทางฝรงงเสษ” หรือต้นทางฝรั่งเศส นิราศสยามเล่มแรกที่บันทึกถึงการเดินทางต่างแดนไกลถึงทวีปยุโรป ต้นทางฝรั่งเศสบรรยายถึงการเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาจนถึงเมือง “ปาเรด” หรือแบรสต์ (Brest) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ.1686 – 1687 (พ.ศ.2229 – 2230) บทที่นำมานี้เป็นส่วนที่ผู้เขียนนิราศ (อาจเป็นหนึ่งในคณะเดินทางของพระยาโกษาปาน ราชทูตไทยที่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1687) บรรยายถึงรูปร่างหน้าตาชาวพื้นเมืองที่พบในเมือง “กาบ” หรือแหลมกู้ดโฮป (Cape of Good Hope) ประเทศแอฟริกาใต้ หากมองด้วยสายตาปัจจุบันบทบรรยายของชาวสยามแฝงไปด้วยอคติในการเหยียดชาติพันธุ์ แต่เมื่อพิจารณาในบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว ชาวสยามที่ไม่เคยพบคนผิวดำมาก่อนบรรยายถึงลักษณะคนเหล่านั้นตามที่เห็น ไม่ได้ตั้งใจดูถูกคนพื้นเมือง ดังนั้น ต้นทางฝรั่งเศสจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์แรกเริ่มระหว่างชาวสยามและชาวพื้นเมืองแอฟริกาใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยในบทความจะแบ่งออกเป็นหัวข้อตามบทบรรยายของนิราศฉบับดั้งเดิม ดังนี้

 

ภาพที่ 2: ปราสาทกู้ดโฮป เคปทาวน์ แอฟริกาใต้
ที่มา: Ossewa/WikiCommon. A brief History of the Castle of Good Hope, Cape Town. (2016). [Online]. Accessed 2021 Jan 16. Available from: https://theculturetrip.com/africa/south-africa/articles/a-brief-history-of-the-castle-of-good-hope-cape-town/

 

          คณะราชทูตขึ้นฝั่งแหลมกู้ดโฮปในปี ค.ศ.1687 มีการบรรยายถึง “ป้อมห้าเหลี่ยมมีกำแพงล้อมรอบ” ของชาว “วิลันดา” แท้จริงแล้วป้อมที่คณะทูตได้เห็นคือปราสาทกู้ดโฮป (Castle of Good Hope) ป้อมปราการของชาวดัตช์หรือฮอลันดาที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1666 เมื่อย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีก่อนที่คณะทูตจะขึ้นฝั่งที่นี่ ชาวดัตช์ได้ตั้งชุมชนชาวยุโรปแห่งแรกในแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1658 ภายหลังที่ดินแดนใต้สุดของทวีปตกอยู่ใต้ความควบคุมของบริษัทอินเดียตะวันออกของชาวดัตช์ (Dutch East India Company) ในปี ค.ศ.1652 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันมองว่าช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอาณานิคมยุโรปของแอฟริกาใต้ ชุมชนชาวดัตช์สร้างบ้านและอาคารมากมายใกล้ชายฝั่งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและสถานีการค้า นั่นคือสาเหตุที่ผู้เขียนนิราศบรรยายถึงบรรยากาศของเมืองกาบว่ามี “ตึกรายเรียบเรียงกันมา”

 

          ผู้เขียนนิราศได้บรรยายถึงพืชพันธุ์ต่างๆ ที่พบในเมืองกาบไม่ว่าจะเป็นกล้วย ข้าวฟ่าง ว่านหางช้าง ยี่สุ่น ส้มซ่า องุ่น ฯลฯ อย่างละเอียดโดยใช้ชื่อเรียกภาษาไทย ไม่ใช้คำทับศัพท์ชื่อเฉพาะเหมือนชื่อสถานที่แสดงให้เห็นว่าชาวสยามคุ้นเคยกับพืชที่ปลูกในแอฟริกาใต้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะมาจากเหตุที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนในแอฟริกามีสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกัน พืชที่ชาวยุโรปนำมาปลูกในเขตร้อนชื้นจึงเป็นพืชตระกูลใกล้เคียงกันเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลงทุนกับการปลูกพืชเศรษฐกิจและหาซื้อพันธุ์พืชในทวีปอเมริกา หมู่เกาะแคริบเบียน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าที่จะลงทุนภาคเกษตรกรรมในแอฟริกาเนื่องจากแทบไม่มีความแตกต่างในผลผลิตที่ได้หรือได้ไม่คุ้มเสียเพราะนักเดินทางชาวยุโรปมากกว่าครึ่งหนึ่งสังเวยชีวิตให้กับสภาพแวดล้อมและโรคภัยนานาชนิดในกาฬทวีป ด้วยยุคนั้นที่ไม่มีการแพทย์และยารักษาโรคที่ก้าวหน้า 

 

          ในบทบรรยายถึงสัตว์ป่าพื้นถิ่นที่ผู้เขียนนิราศได้พบส่วนมากเป็นสัตว์ที่ชาวสยามคุ้นเคยอย่างช้าง แรด เสือ ฯลฯ ทว่าที่น่าสนใจคือนกชนิดหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อน ผู้เขียนนิราศบรรยายว่าเป็น “นกตัวใหญ่” ที่ “ตัวสูงเท่าวัว” นกดังกล่าวคือนกกระจอกเทศ บทบรรยายกล่าวถึงความนิยมของชาวยุโรปในการนำขนนกกระจอกเทศมาเป็นเครื่องประดับ ความนิยมดังกล่าวดำเนินมายาวนานจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปตั้งเมืองเอาด์ซอร์น (Oudtshoorn) ในแอฟริกาใต้เพื่อเป็นแหล่งส่งออกขนนกกระจอกเทศโดยเฉพาะ ผู้เขียนนิราศได้บรรยายถึงชาวพื้นเมืองที่นำไข่นกกระจอกเทศมารับประทานและนำเปลือกมาขาย ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเปลือกนกกระจอกเทศในแอฟริกาใต้สามารถย้อนไปไกลถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยชาวพื้นเมืองนิยมนำเปลือกไข่ที่แข็งแรงทนทานมาทำลูกปัด เครื่องประดับ และภาชนะบรรจุของเหลว


          ในส่วนของชาติพันธุ์ ผู้เขียนนิราศเรียกชาวพื้นเมืองว่า “คนหัวพริก” ตามลักษณะเส้นผมหยิกฟูของชาวแอฟริกัน และบรรยายถึงรูปร่างหน้าตา เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม รวมถึงภาษาที่ใช้อย่างละเอียด โดยเขียนระบุว่าหญิงพื้นเมืองนำ “ดินแดงทานม” ซึ่งเป็นการเอาดินเทศสีแดงหรือแร่เฮมาไทต์ (Hematite) มาทาตามเนื้อตัวเพื่อเป็นเครื่องประทินผิวและปกป้องผิวหนังจากแสงอาทิตย์ สตรีเผ่าฮิมบา (Himba) ในประเทศนามีเบียยังคงสืบต่อภูมิปัญญาบรรพบุรุษนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพที่ 3: สตรีชาวฮิมบาที่นิยมนำดินเทศสีแดงมาทาตามเนื้อตัว
ที่มา: Nomadic by Nature. A Young Himba Woman in a Matrimonial Headdress, Namibia. (2016). [Online]. Accessed 2021 Jan 16. Available from: https://nomadic-by-nature.com/wp-content/uploads/Himba-Ondjongo-Dance-Namibia-33.jpg

 

 

          ในส่วนของภาษา ผู้เขียนนิราศได้บรรยายว่าคนพื้นเมือง “กระดะปากเผาะผะ” ตามที่เห็นว่าไพเราะ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจนำไปสู่กุญแจไขปริศนาว่า คณะทูตสยามได้พบคนพื้นเมืองเผ่าใดในแอฟริกาใต้ ดังที่ทราบกันดีว่าแอฟริกาประกอบด้วยชนเผ่าน้อยใหญ่นับพัน ทว่าในส่วนของภาษาที่มีการ “กระดะปาก” ดังที่ผู้เขียนนิราศบรรยายถึงนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของภาษาในกลุ่มคอยซาน (Khoisan) ที่มีการใช้อวัยวะภายในปากกระทบกันเพื่อให้เกิดเสียงคลิก (Click consonant) ภาษากลุ่มคอยซานที่สำคัญในแอฟริกาใต้คือภาษาของชนเผ่าซาน (San) ที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิมในแอฟริกาใต้ บอตสวานา และนามีเบียมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบกับการใช้ประโยชน์จากไข่นกกระจอกเทศที่กล่าวถึงก่อนหน้า ทำให้ผู้เขียนบทความสันนิษฐานว่ากลุ่มคนหัวพริกที่ชาวสยามเคยพบที่แหลมกู้ดโฮปในปี ค.ศ. 1687 คือ ชนเผ่าซาน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น คำตอบของคำถามข้างต้นยังคงต้องการข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์ต่อไป

 

          สิ่งสุดท้ายที่เห็นได้ชัดที่สุดในต้นทางฝรั่งเศสคือ อคติของชาวสยามที่มีต่อชาวพื้นเมืองแอฟริกาและมายาคติที่คณะทูตมีต่อชาวยุโรป แม้ความนิยมชมชอบในตัวคนขาวจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้หากมองบริบทการต่างประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ค.ศ.1656 – 1688/ พ.ศ.2199 - 2231) ทว่าเหตุผลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องอันสมควรที่ชาวสยามจะตัดสินคนพื้นเมืองด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ดังที่ปรากฏในนิราศ บทบรรยายที่กล่าวถึงคนหัวพริกว่า “น่าบัดสี” “อัปรีย์สมมม” “หน้าสมเพช” “อัปรีย์สาธารณ์” เหมือน “ผี” “เปรต”  และ “เดียรฉาน” เป็นคำกล่าวที่รุนแรงเมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า คณะทูตใช้เวลาอยู่ที่เมืองกาบเพียง 15 วันเท่านั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตอนที่ชาวสยามไปถึงแอฟริกาเป็นช่วงที่การค้าทาสมหาสมุทรแอตแลนติกกำลังเฟื่องฟู อาณาจักรน้อยใหญ่ในทวีปเผชิญภัยคุกคามจากชาวยุโรปที่ละโมบในทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทาสที่แข็งแรง ชาวยุโรปมองคนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นเพียงกลไกการผลิตสินค้าเพื่อส่งกลับไปประเทศแม่เท่านั้น บทบรรยายในนิราศที่ว่าชาวฝรั่งโยนเงินรางวัลให้ชาวพื้นเมืองที่เต้นรำให้ชมและนำไม้ไล่ตีหญิงพื้นเมืองที่วิ่งเข้าใกล้แสดงให้เห็นว่าชาวยุโรปไม่ได้มองคนพื้นเมืองในฐานะเท่าเทียมกับพวกตน เช่นเดียวกับชาวสยามที่มองภาพอันน่าหดหู่และบรรยายว่า คนพื้นเมืองดูราวกับสัตว์เดียรฉานที่น่าสมเพช แม้การทำความเข้าใจบริบทแต่ละสมัยจะเป็นพื้นฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ทุกแขนง แต่ความจริงที่ว่าชาวสยามเคยมองคนพื้นเมืองด้วยอคติ หรือทั่วโลกอาจยังคงมองแอฟริกาในฐานะดินแดนป่าเถื่อนล้าหลังมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า แอฟริกาที่เคยเจริญก้าวหน้าต้องหยุดชะงักลงเพราะการเข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของชาวยุโรปและอาจต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่แอฟริกาจะเจริญเทียบเท่านานาอารยประเทศ ทว่าสิ่งที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทำได้คือการศึกษาหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอารยธรรม วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ในแอฟริกา แล้วสักวันความอคติที่มีต่อกาฬทวีปอาจลดลงและจางหายไปในที่สุด 

 

หมายเหตุ:
1) คำที่ใส่เครื่องหมายคำพูดและทำตัวเอียงเป็นคำที่สะกดตามต้นฉบับสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้เขียนบทความได้ใส่เครื่องหมายกำกับเพื่อกันความสับสนกับภาษาในบทความ


2) ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เขียนหนังสือ “ย้อนรอยโกษาปานใน “ต้นทางฝรั่งเศส”” สันนิษฐานว่าผู้เขียนนิราศต้นทางฝรงงเสษอาจเป็นออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูตในคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปฝรั่งเศสในปี 1686 อย่างไรก็ตาม ปรีดี พิศภูมิวิถีเสนอในหนังสือเช่นเดียวกันว่า ผู้เขียนอาจเป็นราชทูตคนใดในจำนวน 3 คนหรืออาลักษณ์คนใดในจำนวน 4 คนของคณะก็เป็นได้ ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องการหลักฐานและการค้นคว้าต่อไป – ผู้เขียน

 


หนังสือและบทความอ้างอิง


1) ปรีดี พิศภูมิวิถี. ย้อนรอยโกษาปาน “ต้นทางฝรั่งเศส” นิราศสยามต่างแดนเล่มแรก. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร,
2544.

2) Greenberg, Joseph H.. Studies in African Linguistic Classification. New Haven: Compass Publishing
Company, 1955.

3) Green, Toby. The Rise of the Trans – Atlantic Slave Trade in Western Africa, 1300 – 1589. Cambridge:Cambridge University Press, 2011.

4) Jacobsohn, Margaret, Pickford, Peter and Pickford, Beverly. Himba: Nomads of Namibia. Cape Town: Struik Publishers, 1988.

5) Thomas, Hugh. The Slave Trade: The Story of the Atlantic Slave Trade: 1440 – 1870. New York: Simon& Schuster Paperbacks, 1997.

 

 

กฤษณรัตน์  รัตนพงศ์ภิญโญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ