ภาพ: เอกสารสอนวิธีทำอุปกรณ์ต่อต้านรัฐ แจกจ่ายให้ผู้มาเยือนนิทรรศการ “Disobedient Objects”
สถานที่: Victoria and Albert Museum, London, England
[เว็บไซต์นิทรรศการ http://www.vam.ac.uk/content/exhibitions/disobedient-objects/]
ในยุคที่พิพิธภัณฑ์ต้องตั้งคำถามดังๆ ถึง “บทบาท” ของตัวเองว่าต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างไรบ้างในยุคโลกออนไลน์ไร้พรมแดนที่คนเข้าถึงงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลกได้ในชั่ววินาทีเพียงปลายนิ้วโดยไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ และในยุคที่นิยามและความหลากหลายของ “ศิลปะ” งอกงามแผ่ขยายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ศิลปินผนวกผสานเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิก เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) หรือแม้แต่การโค้ดโปรแกรม เข้ามาในการสร้างสรรค์หรือวิพากษ์ งานจำนวนมากของคนที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินหรือทำงานศิลปะหลายคนได้รับการยกย่อง จัดหมวดหมู่ ไฮไลท์ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำที่พยายามสลัดภาพลักษณ์ “หัวสูง” ของตัวเองออก อ้าแขนให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกขั้นตอนของการทำงาน
ในยุคนี้ของโลก น่าเศร้าที่การถกเถียงเรื่อง “ศิลปะ” ในสังคมไทยยังไปไม่ค่อยพ้นกรอบอันคับแคบว่าด้วย “ความงาม” และ “ความดี” แถมหลายคนยังใช้คำสองคำนี้ในความหมายที่คับแคบที่สุด ผูกขาดที่สุด กีดกันการตีความของคนอื่นมากที่สุด
ในภาวะที่น่าเศร้า ลองมาดูกันว่าโลกนอกสังคมของเราเขาไปถึงไหนกันแล้ว
Victoria and Albert Museum พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะและการออกแบบแถวหน้าของโลก และพิพิธภัณฑ์โปรดของฉันแห่งหนึ่ง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดินแดนที่ครั้งหนึ่งการเยือนพิพิธภัณฑ์คืองานอดิเรกของผู้ดีและผู้มีอันจะกิน จัดนิทรรศการชั่วคราวยาวหกเดือนชื่อ “Disobedient Objects” (“ข้าวของแข็งข้อ”) หลังจากที่ไทยเกิดรัฐประหาร 2557 เพียงสองเดือน โดยเริ่มต้นในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2557 สิ้นสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
ผู้จัดนิทรรศการนี้รวบรวมข้าวของที่ใช้ในการประท้วงจากทั่วโลกมาอยู่ในที่เดียวกัน มีตั้งแต่ป้ายหลายขนาดและรูปแบบ หน้ากากกันก๊าซน้ำตา โล่ป้องกันตัวที่ดัดแปลงจากของใช้ในบ้าน รถยนต์ที่ถูกป้ายสีดัดแปลงเพื่อรณรงค์ทางการเมือง เกมการเมือง กราฟฟิตี้หรือภาพสีพ่นกำแพงจากซีเรีย ธนบัตรดัดแปลง ผ้าเช็ดหน้า ตัวต้านทาน (power resistor อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ขนาดพกพาจากโปแลนด์ ใช้ในทศวรรษ 1980 เพื่อแสดงออกว่าสนับสนุนสถานีวิทยุเถื่อนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ ยังไม่นับข้าวของอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ในการต่อต้าน ทั้งหมดนั้นเป็นผลผลิตของความขัดแย้ง การกดขี่โดยรัฐ ความ อยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนทั่วโลก
พิพิธภัณฑ์อธิบายงานนี้ว่า
“ตั้งแต่บริการชาที่รณรงค์ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง จนถึงหุ่นยนต์ประท้วง [หมายถึงหุ่นที่ถูกออกแบบมาพ่นสีข้อความประท้วงลงบนพื้นถนน] นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการแรกที่สำรวจบทบาทอันทรงพลังของสิ่งของต่างๆ ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นิทรรศการนี้สาธิตให้เห็นว่าการทำกิจกรรมทางการเมืองนั้นผลักดันทั้งความชาญฉลาดด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์รวมหมู่อย่างรุ่มรายอย่างไร ในทางที่คัดง้างกับนิยามมาตรฐานของ “ศิลปะ” และ “การออกแบบ” นิทรรศการ “ข้าวของแข็งข้อ” เน้นช่วงเวลาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 จนถึงวันนี้ ยุคที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และความท้าทายทางการเมืองใหม่ๆ เราจัดแสดงศิลปะของการต่อต้านจากทั่วโลกที่ฉายไฟให้เห็นบทบาทของ “การลงมือทำ” ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นป้ายประท้วงที่บรรจงทอมือ ธนบัตรที่ถูกขีดฆ่าและกาเพื่อส่งสาร การออกแบบสิ่งกีดขวางตำรวจที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เกมการเมือง ที่นั่งเสวนาเป่าลมได้เพื่อหนุนการหาฉันทามติในพื้นที่ชุมนุม รถจักรยานทดลองของนักกิจกรรม และงานหัตถกรรมที่ร่วมเป็นพยานรู้เห็นฆาตกรรมทางการเมือง”
ขอบเขตของข้าวของในนิทรรศการสื่อสารอย่างชัดเจนว่า ผู้จัดต้องการเปิดพื้นที่ให้กับ “ข้าวของแข็งข้อ” จากทุกทวีปทั่วโลก ชิ้นที่ฉันชอบเป็นพิเศษ คือ ผ้าเช็ดหน้าของกลุ่ม ‘Bordamos Por La Paz’ (แปลว่า ถักทอเพื่อสันติภาพ) จากเม็กซิโก ซึ่งถักภาพและข้อความเป็นอนุสรณ์ถึงญาติพี่น้องที่สูญหายหรือล้มตายในสงครามยาเสพติด และหนังสติ๊กทำจากรองเท้าเด็กจากปาเลสไตน์
ประเทศต้องไม่ปลอดภัย ผู้คนอดอยาก ขนาดไหน เด็กตัวเล็กๆ ถึงเอารองเท้ามาดัดแปลงเป็นหนังสติ๊กป้องกันตัว
ห้องที่จัดนิทรรศการนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความโอ่โถงของบริเวณพิพิธภัณฑ์ด้านนอก (ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกลักลั่นไม่น้อยสำหรับผู้มาเยือนบางคน) ป้ายอธิบายข้าวของต่างๆ มีขนาดเล็ก อรรถาธิบายไม่มาก เขียนบนแผ่นไม้หยาบๆ ไม่เหมือนกับป้ายสีขาวสะอาดตัวหนังสือเรียบร้อยที่เราคุ้นตาในพิพิธภัณฑ์
องค์ประกอบทั้งหมดนั้นชัดเจนว่าผู้จัดต้องการให้ “ข้าวของแข็งข้อ” เหล่านี้ได้ “พูด” กับผู้มาเยือนด้วยตัวมันเอง ให้สะท้อนก้องถึงความโกรธของผู้ประท้วง เสียงเพรียกหาความยุติธรรมของคนที่ถูกกดขี่แต่วันนี้จะไม่ยอมทนอีกต่อไป
ความ ‘หยาบ’ และ DIY (เอาของใกล้มือในบ้านมาทำ) ของงานหลายชิ้นชี้ชัดว่าผู้สร้างไม่ได้มีเจตนาที่จะสรรค์สร้างงานศิลปะ ยังไม่ต้องพูดเรื่องความงาม แต่ข้าวของทุกชิ้นก็ “พูด” อย่างเปี่ยมพลังไม่แพ้งานศิลปะ
นอกจากนี้ ผู้จัดนิทรรศการยังพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่ริเริ่มการเคลื่อนไหวของตัวเอง – ข้าวของหลายชิ้นจัดแสดงคู่กับ “พิมพ์เขียว” ให้คนหยิบกลับไปบ้าน เอาไปสร้างสิ่งนั้นได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากกันก๊าซน้ำตา ระเบิดถัง (เอาไว้กระจายใบปลิวแทนที่จะทำร้ายคน) รถจักรยานติดลำโพงสำหรับนักกิจกรรมที่ช่วยเปิดและกันพื้นที่ทำกิจกรรม สมาร์ทโฟนบินได้ (เรียกว่า โฟลน – Flone) โล่ทำมือ และลายฉลุหน้านักกิจกรรมสันติวิธีชาวซีเรีย ผู้ตายเพราะถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
จวบจนปัจจุบัน นานหลายปีหลังจากที่นิทรรศการจบลงไปแล้ว เราก็ยังดาวน์โหลดพิมพ์เขียวเหล่านั้นได้จากเว็บไซต์นิทรรศการ
สมกับเป็น “ศิลปะและการออกแบบจากเบื้องล่าง” (art and design from below) อย่างแท้จริง ดังที่ข้อความเปิดนิทรรศการว่าไว้
การจำแนกแจกแจง เลือก รวบรวม และจัดแสดง “ข้าวของแข็งข้อ” ในตัวมันเองอาจนับได้ว่าเป็นการต่อต้านเช่นกัน เพราะนิทรรศการนี้ให้เรามองเห็นความเป็นสากลของความกระหายอยากได้ความยุติธรรม ตระหนักถึงพลังในฐานะประชาชน
และทำให้เราฉุกคิดอีกครั้งว่า “บทบาท” ของพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 ควรอยู่ตรงไหน และพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งกำลังทำงานเพื่อใครหรือเพื่ออะไร ถ้าหากว่ามัวแต่เปิดพื้นที่ให้กับศิลปะทางการ ศิลปะของการบูชา โดยไม่เคยคิดที่จะเปิดพื้นที่ให้กับศิลปะของการต่อต้าน ศิลปะของประชาชน
สฤณี อาชวานันทกุล