ในปัจจุบันหากเราต้องการถ่ายภาพสักใบ คงจะทำได้ง่ายเพียงลัดนิ้วมือ แต่มีใครรู้หรือไม่ว่าภาพถ่ายใบแรกที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนั้นช่างมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ทั้งยังต้องใช้เวลายาวนานถึง 8 ชั่วโมงถ่ายทอดออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือจินตนาการของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงกว่า 200 ปี ก่อนเป็นอย่างมาก
ชายผู้เป็นรากฐานนวัตกรรมยิ่งใหญ่และเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาลนามว่า โจเซป นีเซฟอร์ เนียปส์ (Joseph Nicéphore Niépce) เขาเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1765 ที่เมืองชาลง-ซูร์-โซน (Chalon-Sur-Saone) ตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรคนรองในครอบครัวที่มั่งคั่งโดยมีบิดาประกอบอาชีพทนายความ ได้รับการศึกษาทางด้านฟิสิกส์และเคมี ณ มหาวิทยาลัยในเมืองอ็องเฌ (Angers) และยังได้มีโอกาสเข้าเป็นทหารประจำการในกองกำลังปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1792
ภาพที่ 1 โจเซป นีเซฟอร์ เนียปส์ (Joseph Nicéphore Niépce)
เมื่อออกจากราชการทหาร เนียปส์ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายที่เมืองนีซ (Nice) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เขาเกิดแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพขึ้นในวันหนึ่งขณะที่เขาและครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวไปยังแคว้นซาร์ดิเนีย ( Sardinia ) ของประเทศอิตาลีซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองที่เขาพักอาศัย
กระทั่ง ค.ศ.1801 เนียปส์ ได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปอาศัยอยู่เมืองชาลง-ซูร์-โซน บ้านเกิดหลังการเสียชีวิตของบิดา และได้ทำการศึกษาวิธีการพิมพ์ภาพลงบนวัสดุอย่างจริงจังโดยเริ่มศึกษาจากเทคนิคการทำ ”ภาพพิมพ์หิน” ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างงานศิลปะโดยการวาดภาพลายเส้นบนหินผิวเรียบและพิมพ์ลงบนกระดาษโดยมีสารเคมีจำพวกไขมันมาช่วยในการทำให้ภาพติดบนกระดาษได้ดียิ่งขึ้น เป็นวิธีการที่รู้จักกันดีในชื่อ “lithography” ทั้งๆ ที่เนียปส์ไม่มีความถนัดในด้านการวาดภาพและยังไม่สามารถหาวัสดุที่เหมาะสมซึ่งเป็นจำพวกหินปูนเพื่อมาใช้เป็นวัสดุในการพิมพ์ภาพได้ แต่เขาก็ยังทำการทดสอบเพื่อค้นหาวิธีการทำให้ภาพผนึกติดอยู่บนแผ่นหินให้คงทนโดยใช้แสงแดดเป็นตัวช่วยให้เกิดปฏิกิริยา และต่อมาเขาเปลี่ยนมาใช้แผ่นโลหะผสมซึ่งมีดีบุกเป็นองค์ประกอบหลัก (Pewter) นำไปเคลือบด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ ที่มีปฏิกิริยาไวต่อแสง จากนั้นนำลายเส้นที่วาดไว้บนกระดาษปิดทับลงบนผิวหน้าก่อนนำไปวางไว้ในจุดที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปบนแผ่นดีบุกส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปรากฏภาพใดๆ เกิดความล้มเหลวในการทดลองอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเขาได้พบวัสดุเคลือบผิวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นยางมะตอยที่ชื่อว่า จูเดีย หรือ Bitumen of Judea มีคุณสมบัติแข็งตัวเมื่อถูกแสงแดด แต่จะอ่อนนิ่มเมื่ออยู่ในที่ร่มหรือได้รับแสงในปริมาณน้อย ทั้งยังสามารถล้างออกได้ง่ายด้วยน้ำมันลาเวนเดอร์และน้ำมันสน หลังการทดสอบพบว่าแผ่นดีบุกที่เคลือบด้วยยางมะตอยจูเดียนั้นเมื่อนำไปล้างออกด้วยน้ำมันทั้งสองจะพบภาพลายเส้นบนกระดาษที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจากแสงแดดผนึกอยู่บนแผ่นดีบุกนั้น โดยการค้นพบนี้เนียปส์ได้ตั้งชื่อเทคนิคของเขาว่า “โฮลิโอกราฟฟี (heliography)” หรือ “การวาดภาพด้วยแสง (Sun Drawing)
ในที่สุดปี ค.ศ.1822 เนียปส์ ได้พัฒนาการทดลองของเขาโดยนำกล้องทาบเงา (camerae obscurae) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันในหมู่จิตรกรสาหรับวาดภาพในสมัยนั้นเขามาผนวกกับเทคนิคการวาดภาพด้วยแสง ต่อมาในปี ค.ศ.1825 เนียปส์ ได้พัฒนากล้องของเขาจนมีประสิทธิภาพโดยนาเลนส์แว่นตามาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน
ค.ศ. 1826 เนียปส์ สามารถถ่ายทอดทิวทัศน์จากหน้าต่างห้องทดลองของเขาได้สาเร็จ โดยภาพดังกล่าวถูกฉายลงบนแผ่นดีบุกขนาด 16.2 ซม. × 20.2 ซม. ด้วยเทคนิค โฮลิโอกราฟฟี (heliography) ในภายหลังภาพนั้นถูกเรียกว่า View from the Window at Le Gras และเป็นภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพที่สมบูรณ์ภาพแรกของโลก
ภาพที่ 2 (ซ้าย)รูปถ่าย View from the Window at Le Gras,1827 เปรียบเทียบสถานที่จริง (ขวา)
ที่มาภาพ: Paul Marillier และ Pierre Harmant. The Photographic Journal (London: RPS),
April 1967, Vol. 107 (4), pp130–40
ปีต่อมา ใน ค.ศ. 1827 เมื่อประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพ เนียปส์ ตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่กำลังป่วยหนักที่เมืองคิว (Kew) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับกัลยาณมิตรคนหนึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์นามว่า ฟรานซิส บาวเออร์ (Francis Bauer) ผู้เล็งเห็นความสำคัญของผลงานค้นพบของเนียปส์ จึงแนะนำให้เขาส่งผลงานเข้าไปที่ ราชสมาคมแห่งลอนดอน หรือ Royal Society ซึ่งเป็นสมาคมนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพื่อทำการจัดแสดงผลงาน ทว่า ราชสมาคมต้องการทราบรายละเอียดและวิธีการสร้างผลงานซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เต็มใจบอกเล่าในขณะนั้น ทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจ และทิ้งผลงานทั้งหมดให้กับฟรานซิส บาวเออร์ ก่อนเดินทางกลับฝรั่งเศส
หลังจากนั้น เนียปส์ยังคงทุ่มเทให้กับการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องจนได้พบกับ หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (Louis Jacques Mandé Daguerre) ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องทาบเงา และได้ร่วมงานกันจนสามารถพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง รวมถึงวิธีการผนึกภาพถ่ายลงบนแผ่นกระดาษ จนเมื่อ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1883 หลังจากทำงานร่วมกับหลุยส์ ดาแกร์ ได้เพียง 4 ปี เนียปส์ได้ถึงแก่กรรมในวัย 69 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้นเขามีสถานภาพยากจน และยังไม่มีสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานใดได้รับการยอมรับในนามของเขาเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
หลุยส์ ดาแกร์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานของเขาต่อไป เขาใช้เทคนิคของเนียปส์มาต่อยอดพัฒนาร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพที่เขาคิดขึ้นใหม่ จนทำให้สามารถถ่ายภาพได้คมชัดและใช้เวลาน้อยลง เขาให้ชื่อเทคนิคใหม่นี้ว่า “ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype)” ทำให้ดาแกร์กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทันทีหลังประกาศเกี่ยวกับการค้นพบนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1839
ฟรานซิส บาวเออร์ ตัดสินใจเรียกร้องสิทธิ์ในการเป็นผู้คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพได้สำเร็จเป็นคนแรกให้กับเนียปส์ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1839 ราชสมาคมแห่งลอนดอนจึงยอมรับและทำการจัดแสดงผลงานตัวอย่างบางส่วนของเนียปส์ที่เคยทิ้งไว้ให้ฟรานซิส บาวเออร์
ภาพที่ 3 ภาพต้นฉบับ View from the Window at Le Gras ที่ถูกจัดแสดง
ภายหลังภาพ View from the Window at Le Gras ของเนียปส์ไม่ได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ราชสมาคมแห่งลอนดอน หลังจากที่ฟรานซิส บาวเออร์ เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1840 ภาพได้ตกทอดและเปลี่ยนผู้ครอบครองไปเรื่อยๆ กระทั่ง ค.ศ. 1963 แฮรี่ แรนซัม (Harry Ransom) อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน สหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ ได้ตัดสินใจซื้อภาพถ่ายประวัติศาสตร์มาจากช่างภาพและนักสะสมภาพถ่ายชาวเยอรมัน เพื่อนำไปจัดแสดงและเก็บรักษา ทำให้ปัจจุบันภาพถ่ายใบแรกของโลกที่ชื่อว่า View from the Window at Le Gras ของโจเซป นีเซฟอร์ เนียปส์ ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีอยู่ในห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ Harry Ransom Center ในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน สหรัฐอเมริกา
แม้ว่าการเดินทางของเนียปส์จะจบลงด้วยวัยเพียง 69 ปี แต่ผลงานของเขายังคงมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ นับเวลาได้เกือบสองร้อยปี พื้นฐานเทคโนโลยีการถ่ายภาพในปัจจุบันก็ยังคงเป็นผลิตผลจากนวัตกรรมของโจเซป นีเซฟอร์ เนียปส์ และภาพถ่ายของเขา “View From The Window At Le Gras”
บรรณาณุกรม
Nicéphore Niépce House /Joseph Nicéphore Niépce (Online). Available from:
https://photo-museum.org/ (Accessed 1 February 2021)
Colin Harding/JOSEPH NICÉPHORE NIÉPCE, CREATOR OF THE FIRST PHOTOGRAPH (Online). Available from: https://blog.scienceandmediamuseum.org.uk/a-z-of-photography-joseph-nicephore-niepce-first-photograph/ (Accessed 1 February 2021)
Helmut and Alison Gernsheim/RE-DISCOVERY OF THE WORLD'S FIRST PHOTOGRAPH(Online). Available from: http://www.luminous-lint.com/libraryvault/GEH_Image/GEH_1952_01_06.pdf (Accessed 3 February 2021)
Bob Lansdale/The History of the Discovery of Cinematography(Online). Available from:
http://precinemahistory.net/1800.htm (Accessed 4 February 2021)
อะธีลาส/ Francis Bauer(Online). Available from: https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mister-gray&month=30-10-2010&group=7&gblog=45&fbclid=IwAR2Wu-Cxi84ynvdCo95BKEbi7Jz3bmFSknh60hWoEiJ8sjS_3XvChPfrU98 (Accessed 4 February 2021)
พัทธนันท์ พลูวังกาญจน์