พิพิธภัณฑ์เอกสารประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งนาโปลี (Museo dell’Archivio Storico del Banco di Napoli) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2015 พิพิธภัณฑ์มีชื่อแบบสั้นอีกชื่อหนึ่งว่า ilCartastorie หมายถึง การ์ดที่เล่าเรื่องราว การ์ดในที่นี้คือหน้ากระดาษที่บันทึกรายการบัญชีของธนาคาร เวลาเรานึกถึงนักบัญชีและการลงบัญชีเรามักจะนึกถึงตัวเลขเยอะๆ กับคนที่นั่งอยู่หลังห้องมีกองแฟ้มและเอกสารบังจนมิด ที่นี่ก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันเต็มไปด้วยชั้นเก็บเอกสารสูงจรดเพดานกินความยาวถึง 75 กิโลเมตร เอกสารที่มีอายุ 450 ปี เปลี่ยนความคิดที่ว่าบัญชีเป็นเพียงตัวเลข เพราะนอกจากบัญชีจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อการบริหารแล้วบัญชียังเป็นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
โดยปกติเวลาบันทึกบัญชีแต่ละรายการเราจะเขียนคำอธิบายรายการไว้ด้านล่าง ซึ่งมักจะเขียนให้สั้นที่สุดคือหนึ่งประโยค แต่คำอธิบายรายการของที่นี่ให้รายละเอียดค่อนข้างมาก และเมื่อมีรายการทางบัญชีและชื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องถึงสิบเจ็ดล้านชื่อ ทั้งประชาชนทั่วไป เกษตรกร ศิลปิน เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง พ่อค้า นายทหาร ฯลฯ ผู้มาติดต่อธนาคารด้วยกิจกรรมต่างๆ กัน เราก็สามารถจะใช้มันปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในหลายมิติของนครนาโปลี จังหวัดอื่นของอิตาลี ไปจนถึงบางประเทศในยุโรปและอเมริกา แล้วแต่ว่ารายการทางบัญชีที่เข้าไปเกี่ยวข้องจะพาเราไปถึงไหน เราสามารถติดตามเรื่องราวการว่าจ้างศิลปินผู้วาดภาพบนเพดานโบสถ์ซานเซเวโร (Cappella Sansevero) ที่มีชื่อเสียงของนาโปลี เรื่องราวการขุดค้นเมืองโบราณเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) และปอมเปอี (Pompei) ไปจนถึงงานแต่งงานหรือกระทั่งการจัดงานศพของใครสักคน
พิพิธภัณฑ์ใช้อาคารพาลาซโซริคคา (Palazzo Ricca) บนถนนทริบูนาลี (Tribunali) ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนผ่านใจกลางเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวจะเดินผ่านไปมากันอย่างเนืองแน่น แต่เมื่อ 400 ปีก่อนมันเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารบังโก ดิ ปอเวรี (Banco dei Poveri หรือ ธนาคารคนยาก (Bank of the Poor)) ธนาคารซื้อคฤหาสน์หลังนี้มาใช้เป็นสำนักงานใหญ่ในปี ค.ศ.1617
ผู้เขียนจะขอเล่าประวัติของธนาคารสักเล็กน้อย เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าธนาคารบังโก ดิ ปอเวรีเกี่ยวข้องอันใดกับธนาคารแห่งนาโปลี และเหตุใดเอกสารทั้งหลายจึงมารวมกันอยู่ที่นี่
ธนาคารแห่งนาโปลีก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1463 ต่อมาในปี ค.ศ.1539 ธนาคารเปิดส่วนให้บริการรับจำนำ (Monte di Pietà ในภาษาอิตาลี) เป็นสถานธนานุเคราะห์ดำเนินการแบบสาธารณกุศลให้บริการแก่พ่อค้ารายย่อย ช่างฝีมือ ศิลปิน เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยได้กู้เงินด้วยการนำสิ่งของมูลค่าปานกลางมาวางเป็นหลักประกันได้โดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก เพื่อเปิดช่องทางให้คนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้โดยง่ายแทนที่จะใช้เงินกู้นอกระบบหรือเงินกู้ที่ขูดรีดดอกเบี้ย เงินทุนของสถานธนานุเคราะห์มาจากการบริจาคของเหล่าขุนนางคหบดีที่เป็นคริสตศาสนิกชน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วกิจการส่วนนี้ไม่ใช่ธนาคาร แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐโดยมีเป้าหมายที่จะกีดกันชาวยิวออกไปจากธุรกิจออกเงินให้กู้แบบขูดรีดดอกเบี้ย หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ.1563 – 1640 มีธนาคารอีก 7 แห่งในนาโปลีที่เปิดให้บริการแบบเดียวกัน บางแห่งก็มีวัตถุประสงค์เฉพาะแตกต่างกันไป เช่น เพื่อการศึกษา เพื่อเด็กกำพร้า หรือเพื่อการรักษาพยาบาล และธนาคารบังโก ดิ ปอเวรีก็เป็น 1 ใน 7 แห่งนี้ ต่อมาในปี ค.ศ.1794 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 4 (Ferdinand IV) ซึ่งขณะนั้นครองราชอาณาจักรนาโปลี (Regno di Napoli) ได้ประกาศให้ควบรวมธนาคารทั้ง 8 แห่งเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อธนาคารชาติแห่งนาโปลี (Banco Nazionale di Napoli) และยังคงมีนโยบายให้ดำเนินการสถานธนานุเคราะห์ต่อไปในมาตรฐานเดียวกัน
เอกสารทางบัญชีจาก 8 ธนาคารทั้งในส่วนที่ดำเนินธุรกิจธนาคารตามปกติและส่วนที่เป็นสถานธนานุเคราะห์ รวมทั้งเอกสารเก่าอื่นๆ ของธนาคารได้ถูกโอนมาเก็บไว้ในอาคารที่เคยเป็นสำนักงานของธนาคารบังโก ดิ ปอเวรี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1819 โดยพระราโชบายของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 (พระองค์เดียวกับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 4 แต่ในปี ค.ศ. 1816 เปลี่ยนพระนามใหม่เพราะได้ปกครองทั้งราชอาณาจักรนาโปลีและซิซิลี รวมเรียกว่าราชอาณาจักรแห่งสองซิซิลี (Regno delle Due Sicilie)) การสะสมเอกสารยังคงดำเนินต่อมา ธนาคารแห่งนาโปลีนับเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการมาจนถึงปลายปี ค.ศ.2018 จึงปิดกิจการ โชคดีที่ก่อนหน้านั้นประมาณปลายศตวรรษที่ 20 ธนาคารได้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อดูแลงานพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมด้านสังคมวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย ฯลฯ อาคารบังโก ดิ ปอเวรีและเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งหมดได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ ซึ่งภายหลังได้แยกตัวออกจากธนาคารโดยสมบูรณ์เพียงไม่กี่ปีก่อนที่ธนาคารจะปิดตัวลง
ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์จึงได้ดูแลเอกสารจำนวนมหาศาลและอยากให้ผู้คนได้เข้ามาใช้มันเพื่อการศึกษาค้นคว้าไม่ว่าในด้านใดๆ ก็ตามที่จะเป็นไปได้ ทีมงานของพิพิธภัณฑ์จึงได้หาทางนำเสนอเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักแล ะเข้าใจ พวกเขาได้แบ่งเอกสารเพียงส่วนน้อยมาจัดแสดงในห้องควบคุมอุณหภูมิ แสง และความชื้น โดยใช้เทคนิคมัลติมิเดียดึงเรื่องราวในสมุดบัญชีออกมาเล่า ห้องจัดแสดงห้องแรกต้อนรับเราด้วยเสียงกระซิบจากบรรดาสรรพบัญชีด้วยเรื่องเล่าที่พวกมันเก็บงำเอาไว้หลายร้อยปี แม้จะเป็นภาษาอิตาลีแต่ก็สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจในทันทีถึงแรงบันดาลใจของพิพิธภัณฑ์ (ดูคลิปท้ายสุด)
ผู้เขียนจะไม่เล่าในรายละเอียดของแต่ละห้อง คลิปการบรรยายของเซอร์จิโอ ริโอโล (Sergio Riolo) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เนื่องในโอกาสที่พิพิธภัณฑ์ได้รับรางวัลมรดกวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป (EU Prize for Cultural Heritage) ในปี ค.ศ.2017 คงจะช่วยให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของทีมงานและภาพบางส่วนของการจัดแสดง
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนหวังว่าหากท่านใดมีโอกาสไปเยือนนาโปลี ก็อยากจะเชิญชวนให้ไปดูด้วยตา สัมผัสด้วยมือ ฟังสรรพเสียง และหายใจกลิ่นอายอันเก่าแก่ด้วยตนเอง
แหล่งที่มาของข้อมูล
เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์
http://www.ilcartastorie.it/perche-un-museo/
เฟสบุ๊คของพิพิธภัณฑ์
https://www.facebook.com/museoilcartastorie/
เว็บไซต์ของมูลนิธิ
https://www.fondazionebanconapoli.it/en/
https://archive.org/details/historyandprinc00gilbgoog/page/n20/mode/2up
http://www.naplesldm.com/banconapoli.php
https://artsandculture.google.com/exhibit/public-banks/RwJyM6e-SUk0Kw
https://en.wikipedia.org/wiki/Banco_di_Napoli
กระต่ายหัวฟู