พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด เดิมเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงตำหนักไทยโบราณ ศิลปะและโบราณวัตถุ ซึ่งภายในสวนที่มีบรรยากาศร่มรื่น มีแท่นป้ายชื่อสะพานพร้อมกับการจารึกคำอุทิศ โดยระบุว่า
“ สะพานพระราชเทวี
พระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
ทรงสร้างอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา วันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ที่ป้ายชื่อสะพานที่ถูกรื้อถอนมาจาก “สะพานพระราชเทวี” ที่ใช้ข้ามคลองประแจจีน (ภายหลังถูกถมเป็นถนนเพชรบุรี ในปัจจุบัน) ซึ่งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงจัดสร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่ออุทิศเป็นสาธารณกุศล ในวาระที่มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปีพ.ศ. 2454 โดยทรงมีพระประสงค์จะสร้างสะพานเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์แทนการพิธีต่างๆ
ภาพที่ 1: แท่นป้ายชื่อสะพานพระราชเทวี พร้อมจารึกคำอุทิศ ภายในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
โดยการสร้างสะพานพระราชเทวีนั้น มีผลมาจากวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาการคมนาคมด้วยการตัดถนน และการสร้างสะพานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเส้นทางสัญจรบนบกของประชาชนที่จะได้มีโอกาสใช้ถนนแทนการเดินเรือที่มีความยากลำบาก ซึ่งพระองค์ทรงใช้วิธีระดมทุนทางอ้อม อาทิ ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้วยการบริจาคเงินเพื่อสร้างสาธารณกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เริ่มพระราชอุทิศเงินเท่าพระชนมวารวันละสลึง สำหรับสร้างสะพานในทุกปี วิธีนี้ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชนต่างอุทิศเงินสร้างสะพานตามรอยพระยุคลบาท โดยรัฐบาลจะประกาศเกียรติคุณผู้บริจาคเงินสร้างสะพาน ถนน และทางเดินเท้าในราชกิจจานุเบกษา บางครั้งพระองค์ทรงพระราชทานชื่อถนน สะพานที่ประชาชนสร้างขึ้นอีกด้วย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำบุญกุศลจากรูปแบบเดิมที่มักสร้างวัดมาสู่การสร้างถนน สะพาน และอื่นๆ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาการคมนาคมทางบกโดยเฉพาะการตัดถนน และสร้างสะพานในกรุงเทพฯ
ภาพที่ 2: สะพานพระราชเทวี
ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th
จากที่กล่าวมาแล้วว่า สะพาน “พระราชเทวี” ถูกสร้างขึ้นจากพระประสงค์ในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ผู้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ที่ได้ถวายงานรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะเวลาที่ทรงงานในยามดึก เนื่องด้วยทรงเป็นสตรีที่มีความคิดกว้างไกล ทันสมัย มีความรู้ความชำนาญในการทรงอักษร แต่ทว่าสะพานนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จึงทรงเพิ่มการอุทิศถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังคำจารึกที่ปรากฏบนสะพาน
ต่อมาเมื่อมีการถมคลองประแจจีน และสะพาน “พระราชเทวี” ได้ถูกรื้อลงเพื่อขยายพื้นผิวการจราจร ปัจจุบันจึงคงเหลือเพียงป้ายชื่อสะพานพร้อมกับการจารึกคำอุทิศที่ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
ครั้นปี พ.ศ. 2503 ได้มีการสร้างวงเวียนน้ำพุขนาดใหญ่บริเวณสี่แยกถนนเพชรบุรีตัดกับถนนพญาไทเรียกว่า “น้ำพุวงเวียนราชเทวี” ซึ่งตรงกับยุคที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการสร้างเป็นพื้นที่สันทนาการเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมในเมืองตามแผนการจัดวางผังเมืองเพื่อรองรับการขยายและเติบโตของเมืองยุคพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในสมัยนั้นได้มีการสร้างพื้นที่สันทนาการที่สัมพันธ์กับลักษณะที่ว่างของเมือง เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สวนสัตว์ สวนหย่อม รวมถึง น้ำพุ ด้วย
ภาพที่ 3: น้ำพุวงเวียนราชเทวี
ที่มาภาพ: https://www.tartoh.com
ในสมัยนั้น “น้ำพุ” นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่สันทนาการที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ความทันสมัยแทนที่หอนาฬิกา ซึ่งนิยมสร้างในทศวรรษ 2490 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการสร้างวัฒนธรรมการเป็นผู้ตรงต่อเวลาตามพื้นที่เขตเทศบาลเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยน้ำพุที่เปรียบเป็นประติมากรรมชิ้นใหญ่ มีความเคลื่อนไหวของน้ำตลอดเวลาเป็นการสร้างความสดชื่น มีชีวิตชีวาให้กับเมือง และแสดงถึงความทันสมัยของเทคโนโลยีในยุคพัฒนาอีกด้วย เนื่องจากต้องอาศัยความพร้อมของเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยระบบกลไก ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ วงเวียนราชเทวี จึงนับเป็นสถานที่ที่ทำให้เมืองมีความคึกคัก มีชีวิตชีวา และนำความเจริญมาสู่พื้นที่โดยรอบ จนเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร
ภาพที่ 4: สี่แยกราชเทวี และสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ในปัจจุบัน
แม้ว่า “น้ำพุวงเวียนราชเทวี” ได้ถูกรื้อถอนไปแล้วอันเนื่องจากระบบวงเวียนที่ไม่สามารถรองรับกับปัญหาการจราจรในปัจจุบัน จึงเหลือเพียงแต่น้ำพุเล็กๆ ตามมุมของสี่แยกราชเทวีทั้งสี่ด้าน ไว้ให้ระลึกถึง แต่นาม “ราชเทวี” ก็ยังคงเป็นทั้งชื่อเรียกสี่แยก สถานีรถไฟฟ้า และเป็นชื่อเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ให้ผู้คนได้กล่าวขานพูดถึงพื้นที่แห่งนี้ว่ามีที่มาจากสะพานที่มีนามว่า พระราชเทวี
แหล่งอ้างอิง
ปริญญา ตรีน้อยใส, รัชดา โชติพานิช. เขตราชเทวี. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/news
monitor/news_860817
เกื้อกูล ยืนยงอนันต์. “การพัฒนาคมนาคมทางบกในกรุงเทพฯ สมัยพระพุทธเจ้าหลวง”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน, 2525)
ลดา รุธิรกนก. 2553. ชีวิตรักเจ้าฟ้า 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. ไพบูลย์อ๊อฟเซต จำกัด: ดีเอ็มจี
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. 2558. กำเนิดประเทศไทย ภายใต้เผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด: มติชน
วิสิฐ ตั้งสถิตกุล