จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีค.ศ. 2020 ที่เกิดการระบาดไปเกือบทุกประเทศในโลก จนหลายประเทศปิดประเทศ (Lockdown) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และงดใช้สถานที่โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ ต่างส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนต่างหันเข้าหารูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) การชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบัน (ปีค.ศ. 2021) หลายประเทศต่างมุ่งดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้พื้นที่โล่งใหญ่เป็นพื้นที่บริการฉีดวัคซีนแทนบริบทการใช้งานแบบเดิม เช่น การฉีดวัคซีนในสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อความสะดวกของผู้ที่เดินทางมาฉีดวัคซีน
การใช้พื้นที่เหล่านี้ต่างแสดงถึงความน่าสนใจในการปรับตัวและปรับเปลี่ยนบริบทของพื้นที่ตามปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนั้น โดยเฉพาะ “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่นำเสนอเรื่องราวผ่านนิทรรศการ วัตถุจัดแสดงและความทรงจำที่หลากหลาย เป็นสถานที่สรรค์สร้างความสุนทรีย์และแรงบันดาลใจให้กับทัศนะของชีวิตในแง่มุมที่หลากหลาย เมื่อพิพิธภัณฑ์งดดำเนินการตามหน้าที่และคำนิยามที่แท้จริง ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การทำหน้าที่อีกรูปแบบหนึ่ง ในการเปิดรับผู้คนจำนวนมากเช่นเคย มิใช่เพื่อการรับชมนิทรรศการ แต่เป็นการรับบริการฉีดวัคซีน ผู้เขียนรู้สึกยินดีกับการที่ผู้คนต่างเห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ในแง่มุมที่ต่างจากเดิม ในที่นี้ผู้เขียนจะนำเสนอการการฉีดวัคซีนผ่านพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ทั้งจากประเทศสหรัฐอเมเริกา อังกฤษ อิตาลี และสเปน เพื่อเรียนรู้ว่าบริบทของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งสะท้อนความน่าสนใจในประเด็นใดบ้าง?
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในตูริน, อิตาลี (Castello di Rivoli Museum of Contemporary Art, Turin)
ผู้คนที่เดินทางมารับวัคซีนจะได้ฉีดท่ามกลางบรรยากาศของงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation art) ด้วยกำแพงลาย
กราฟฟิคของศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ คลอเดีย กอมต์ (Claudia Comte) ขณะเดียวกันยังได้ฟังเสียงของภูมิทัศน์ทางเสียง (Soundscape) ที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อจรรโลงจิตใจของผู้ฟังให้สงบลง นอกจากนั้นผู้คนยังสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่อได้อย่างสบายใจไร้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เนื่องจากพิพิธภัณฑ์กลับมาเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม (Sara Semic, 2021)
ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/2021/05/04/arts/design/italy-museum-vaccination.html - Alessandro Grassani for The New York Times
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา (Natural History Museum, New York)
เปิดบริการฉีดวัคซีนเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2564 บริเวณโถงล่างของ Milstein Family Hall of Ocean Life ซึ่งมีภาพจำ (Iconic) ของพิพิธภัณฑ์อันโด่งดังด้วยปลาวาฬสีฟ้า (Blue Whale) ตัวโตที่มีการแปะพลาสเตอร์ไว้บริเวณครีบ(เพื่อแสดงถึงการฉีดยาแบบน่ารักๆ) หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จ พิพิธภัณฑ์มอบของที่ระลึกเป็นตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ถึง 4 ใบ ให้เราสามารถกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนิวยอร์คแบบตื่นตาตื่นใจเต็มๆ กันอีกครั้งหนึ่งได้ในอนาคต
ที่มาภาพ: https://www.insider.com/photos-american-museum-natural-history-big-blue-whale-vaccine-site-2021-4 - Joey Hadden for The Insider
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum, London)
เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับสิทธิพิเศษในการชมการจัดแสดงเรื่องโควิด-19 ก่อนใคร! ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่พิพิธภัณฑ์กำลังจะจัดแสดงเพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ของการฉีดวัคซีนในแต่ละช่วงเวลา ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในช่วงเวลาจริงที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการให้บริการของสิ่งๆ นั้น ถือเป็นประเด็นของประวัติศาสตร์มีชีวิต (Living History) ที่น่าสนใจ นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในดัดลีย์ (Black Country Living Museum) ในอังกฤษ, พิพิธภัณฑ์โบราณคดีในเลกเซ, อิตาลี (Sigismondo Castromediano Museum) และ พิพิธภัณฑ์การรถไฟในคาตาโลเนีย, สเปน (Catalonia Railway Museum) ที่จัดเป็นพื้นที่ในการฉีดวัคซีนด้วย ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์บางแห่งแม้จะไม่ใช่สถานที่ฉีดวัคซีน แต่มีส่วนช่วยเหลือสังคมในด้านอื่น อาทิ พิพิธภัณฑ์เด็กในรัฐวอชิงตัน, สหรัฐอเมริกา (Children’s Museum of Skagit County) เปิดเป็นสถานที่รับฝากที่มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยดูแลเด็กเล็ก ระหว่างที่ผู้ปกครองเดินทางไปฉีดวัคซีนในสถานที่อื่น
ที่มาภาพ https://twitter.com/sciencemuseum/status/1368962273939759107/photo/1
อะไรเป็นเหตุผลที่พิพิธภัณฑ์ถูกเลือก หรือตัดสินใจจัดเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ?
เหตุผลหลักพบว่าพิพิธภัณฑ์หลายแห่งมีขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางได้สะดวก และบางแห่งถูกคัดเลือกจากภาครัฐเพื่อเป็นศูนย์การฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์บางแห่งอธิบายว่าต้องการสร้างแรงจูงใจผู้คนให้เข้ามาฉีดวัคซีนผ่านความสวยงามของสถาปัตยกรรมและบรรยกาศของพื้นที่ (ซึ่งผู้เข้าชมอาจจะโหยหาความรู้สึกเหล่านั้น) พิพิธภัณฑ์หลายแห่งมีการเชิญชวนผ่านคำอธิบายต่างๆ เช่น การพักผ่อน การเยียวยาทั้งจิตใจและร่างกาย ความสนุก ความสงบทางจิตวิญญาณ สังเกตได้ว่าคำเหล่านี้ต่างเป็นความรู้สึกแฝงที่พิพิธภัณฑ์ตั้งใจนำเสนอต่อผู้เข้าชมทางนิทรรศการและการจัดแสดงเป็นทุนเดิม ขณะเดียวกันคำเหล่านี้ถูกนำมาอธิบายร่วมกับความรู้สึกต่อการฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นประโยชน์ทางด้านสภาพแวดล้อมที่จะเสริมเรื่องสภาพจิตใจของผู้ที่มาฉีดวัคซีนได้ พิพิธภัณฑ์ยังบอกกล่าวถึงประโยชน์ที่ว่าเมื่อฉีดแล้ว พิพิธภัณฑ์และสถานที่อื่นๆ จะได้กลับมาทำการและมอบความสุขให้กับผู้คนอย่างปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ ผ.อ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะในนาโปลี, อิตาลี (Museo e Real Bosco di Capodimonte, Naples) กล่าวว่า "หากคุณต้องการสัมผัสความรู้สึกความสวยงามของสถานที่ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและทัศนียภาพเหล่านี้อีกครั้ง คุณจำเป็นที่จะต้องมาฉีดวัคซีนนะ" (Luca Palamara, 2021)
บริบทการใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ต่างสะท้อนสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อพิพิธภัณฑ์และสังคมในระยะยาว พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความร่วมสมัย มีความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อการเผชิญปัญหาในสังคม เอื้อต่อการแก้ปัญหาร่วมกันในประเทศ ทั้งพิพิธภัณฑ์ในเมืองและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์แบบใหม่ที่สร้างความรู้สึกร่วมที่น่ายินดีและน่าภูมิใจต่อพิพิธภัณฑ์ในชุมชมหรือในเมืองของตนเอง เกิดการประชาสัมพันธ์ให้กับพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นที่รู้จักต่อผู้คนหมู่มาก และแสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ยังคงยืนหยัดต่ออุดมการณ์และวิสัยทัศน์ด้านการให้บริการต่อสังคมในรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนชุมชนด้านการแพทย์ โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมเช่นเคย การนำบรรยากาศและและความรู้สึกที่คุ้นเคยของความเป็นพิพิธภัณฑ์มาช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับการฉีดวัคซีน เป็นการรักษาทั้งแผลใจและแผลกายในเวลาเดียวกัน เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ดังที่พิพิธภัณฑ์เป็นอยู่เสมอมา
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.ft.com/content/eebcf6ac-9622-4d83-a538-1b349193205f
https://www.insider.com/photos-american-museum-natural-history-big-blue-whale-vaccine-site-2021-4#he-called-the-group-effort-of-new-yorkers-medical-workers-and-museum-staff-an-example-of-what-the-nation-and-world-should-have-been-doing-from-the-very-beginning-17
https://www.amnh.org/covid-vaccination
https://www.nytimes.com/2021/05/04/arts/design/italy-museum-vaccination.html
https://www.euronews.com/2021/04/07/naples-royal-museum-of-capodimonte-serves-as-covid-vaccine-centre
https://www.expressandstar.com/news/health/coronavirus-covid19/2021/05/07/black-country-living-museum-to-only-give-second-dose-of-covid-vaccine-as-programme-moves-to-next-phase/
https://www.goskagit.com/news/local_news/county-partners-with-childrens-museum-to-open-play-area-at-vaccine-site/article_622f637c-4db0-5b52-aece-1360a4e1d46c.html
https://abcnews.go.com/Health/creative-places-vaccinated-popping-country/story?id=77461117
ณิชา แหสกุล