ภาพที่ 1 อนุสรณ์ “ห้องสมุดอันว่างเปล่า” (Empty Library)
สถานที่: กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี
ตอนก่อนหน้านี้พูดถึงโคโม “เมืองมีชีวิต” ในชนบทอิตาลีที่ฉันชอบ ทีนี้ก็ถึงคราวของเมืองโปรดอีกเมืองที่ฉันคิดว่า มีวิธีอนุรักษ์ “อดีต” ของชาติอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอดีตด้านมืดที่ไม่อยากจดจำ แต่ก็ต้องจำ เพราะต้องสอนลูกหลานว่าบรรพบุรุษเคยหลงผิดและบ้าคลั่งอย่างไรบ้าง
เชื่อว่าทุกคนที่เคยไปเบอร์ลินจะไปเยือนซากที่ยังหลงเหลืออยู่ของกำแพงเบอร์ลิน เยี่ยมชมประตูบรันเดินบวร์ค แบรนเดนเบิร์ก (Brandenburg Gate) และเที่ยวพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ เพอร์กามอน (Pergamon Museum) ที่มีคอลเลกชันวัตถุโบราณมากมาย เทียบเคียงได้สบายๆ กับ บริติชมิวเซียม ในกรุงลอนดอน ถึงแม้คนจะรู้จักที่นี่น้อยกว่า
เพอร์กามอนตั้งอยู่บน “เกาะพิพิธภัณฑ์” ใจกลางเมือง เกาะธรรมชาติที่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันเป็นมรดกโลก (World Heritage) แห่งหนึ่งของยูเนสโก ซึ่งให้ทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งในโครงการซ่อมแซมและบูรณะพิพิธภัณฑ์ ทั้งโครงการใช้เงินซ่อมแซมมากถึง 1.5 พันล้านยูโร
ที่แพงขนาดนั้นก็เพราะพิพิธภัณฑ์หลายส่วนต้องซ่อมแซมเยอะมากหลังจากที่ถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่สิ่งที่ฉันชอบไม่แพ้เพอร์กามอนและสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ในเบอร์ลิน คืออนุสรณ์สถานต่างๆ มากมายที่แทรกตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆ ของยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าไม่มีไกด์หรือคนท้องถิ่นชี้ชวนให้ดู เราก็คงไม่รู้ว่ามันสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์เพอร์กามอน ไกด์ชี้ให้ฉันดูบ้าน (ที่จริงต้องเรียกว่า อาคารห้องแถวแบบยุโรป) สีเหลืองนวลที่ตั้งอยู่ตรงข้ามพอดี นี่คือบ้านของ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมัน
เยอรมนีแตกต่างจากหลายประเทศตรงที่ไม่มีบ้านพักทางการสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ใครได้รับตำแหน่งแล้วก็จะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองตามเดิม ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเพอร์กามอนบางครั้งจะเห็นและพูดคุยทักทายแมร์เคิล ได้
ไม่มีตำรวจองครักษ์คอยล้อมหน้าล้อมหลังเธอแต่อย่างใด
ใจกลางเกาะพิพิธภัณฑ์มีจัตุรัสขนาดใหญ่ บนพื้นมีอนุสรณ์สถานชื่อ “Empty Library” (ห้องสมุดอันว่างเปล่า) ณ จุดที่มีการก่อกองไฟเผาหนังสือครั้งมโหฬารที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในปีค.ศ. 1933 เมื่อ ฮิตเลอร์สั่งเผาหนังสือทั้งหมดที่เขียนโดยชาวยิวและนักคิดฝ่ายซ้าย
นับเป็นจุดเริ่มต้นของมหกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
ฉันรู้สึกเจ็บแปลบใจทุกครั้งที่ได้เห็นหรืออ่านเรื่องการเผาหนังสือ ขนาดตอนเป็นแค่นักอ่านยังรู้สึกแย่ ตอนนี้หมวกหนึ่งเป็น “นักเขียน” แล้วยิ่งเจ็บใจและแค้นใจคนทำ
อนุสรณ์ “ห้องสมุดอันว่างเปล่า” เป็นฝีมือศิลปินชาวอิสราเอล มิชา อูลแมน (Micha Ullman) แต่เรามองจากบนรถไม่เห็น อนุสรณ์นี้อยู่ใต้ดิน ตอนกลางวันคนจะไม่ค่อยสังเกต เห็นแต่หน้าต่างกับป้ายบนพื้นดินที่มีข้อความของ ไฮน์ริช ไฮน์ (Heinrich Heine) ว่า
“Where one burns books, it is only a prelude; in the end one also burns people.”
(เวลาที่ใครเผาหนังสือ นั่นคือแค่อารัมภบท สุดท้ายเขาผู้นั้นจะเผาทำลายผู้คนด้วย”)
ตอนกลางคืนจะมีแสงไฟส่องผ่านกระจกบนพื้นดิน ถ้าคนชะโงกลงไปจะเห็นห้องสมุดที่ผนังทุกด้านเต็มไปด้วยหิ้งสีขาวจากพื้นจรดเพดาน แต่ไม่มีหนังสือสักเล่มอยู่บนหิ้ง เป็นอนุสรณ์ที่มีพลังมากทีเดียว
(การเผาทำลายหนังสือปีค.ศ. 1933 พรรคนาซีถ่ายวีดีโอเก็บไว้ ดูบรรยากาศและกองเพลิงได้ที่เว็บ US Holocaust Memorial Museum)
อนุสรณ์สถานถึงความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวยิวอีกแห่งหนึ่งที่ฉันชอบ ตั้งชื่อตรงตัวมากคือ Memorial to the Murdered Jews of Europe (อนุสรณ์สถานแด่ชาวยิวแห่งยุโรปผู้ถูกสังหาร) ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ ปีเตอร์ ไอเซ็นมันน์ (Peter Eisenmann) เป็นแท่งคอนกรีตสูงต่ำไม่เท่ากันจำนวน 2,711 แท่ง วางเป็นแนวหลายแถวเรียงกัน
คนที่เข้าไปดูในนี้มักจะออกมาด้วยความรู้สึกสับสน และบ่นว่า “ไม่เห็นเข้าใจเลย”
แต่คำตอบของสถาปนิกคือ ความสับสนและไม่เข้าใจนั่นแหละคือสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ – เราจะ “เข้าใจ” การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนกว่า 6 ล้านคนได้อย่างไร?
ยิ่งไปกว่านั้น การจัดวางแท่งคอนกรีตในตารางที่ดูเหมือนจะเป็นระบบ ยังสื่อให้เห็นว่าความเป็นระบบระเบียบสามารถหลุดออกจากความเป็นเหตุเป็นผลได้ ไม่จำเป็นที่ระบบระเบียบจะ “มีเหตุมีผล” เสมอไป ชาติที่มีระบบระเบียบมากอย่างเยอรมนีช่วงหนึ่งยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบบเผด็จการที่โหดร้ายทารุณ อธิบายไม่ได้ด้วยการใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว
ภาพที่ 2 Memorial to the Murdered Jews of Europe
พื้นที่ที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลินวันนี้มีโครงการสมัยใหม่ผุดขึ้นเต็มพื้นที่ รัฐบาลเยอรมันอยากหาคนมาสร้างอย่างเร่งด่วน เพราะกำแพงเบอร์ลินเคยพาดผ่านใจกลางเมืองพอดี พอถูกรื้อถอนไป มันก็เลยดูแปลกมากที่ใจกลางเมืองไม่มีอะไรเลย
รัฐบาลจึงเชิญชวนให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ มาก่อสร้างอาคารสำนักงานหรือศูนย์การค้าในพื้นที่นี้
ฉันคิดว่าวิธีที่เขาพัฒนาโครงการเหล่านี้สะท้อนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในเยอรมนีได้ดีมาก คือพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าได้ “รับฟัง” เสียงจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างรอบด้านแล้วจริงๆ ทั้งนักลงทุน บริษัท ชาวเมือง และนักประวัติศาสตร์ เสร็จแล้วก็หาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
ยกตัวอย่างเช่น หน้า โซนี่ เซ็นเตอร์ โครงการหนึ่งที่สร้างในบริเวณที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน มีร้านอาหารดั้งเดิมแห่งหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
แทนที่จะรื้อทิ้ง ทุกฝ่ายตัดสินใจอนุรักษ์เอาไว้ในกระจกใส ให้คนข้างนอกมองเข้ามาได้ จากนั้นก็สร้างตึกแบบสมัยใหม่ข้างบนอีกที ผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างที่เห็นในรูป
ภาพที่ 3 ร้านอาหารเก่า อนุรักษ์ในโครงกระจกของอาคารใหม่
ตัวอย่างเล็กๆ เหล่านี้บ่งชี้ว่า ในเบอร์ลิน “เก่า” กับ “ใหม่” สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และอดีตอันขมขื่นก็ถูกรำลึกเป็นอุทาหรณ์แด่คนรุ่นหลังสืบไปในอนาคต
สฤณี อาชวานันทกุล