Museum Core
สุลต่านแห่งเดลี... คนดีหรือผู้ร้าย?
Museum Core
17 มิ.ย. 64 5K
ประเทศอินเดีย

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศภิญโญ

          หากใครเป็นแฟนตัวยงของภาพยนตร์อินเดียคงสังเกตเห็นว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียผลิตภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ภาษาฮินดี (บอลลีวู้ด) หรือภาษาประจำรัฐอื่นๆ แน่นอนว่าภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ทำให้ผู้คนสนใจศึกษาประวัติความเป็นมาของบุคคลและสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องนั้นๆ การผลิตภาพยนตร์แนวดังกล่าวจึงส่งผลในเชิงบวกให้กับวงการวิชาการที่กำลังซบเซา อย่างไรก็ตาม ผู้ชมทุกคนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่ผ่านการฝึกฝน การได้รับข้อมูลจากภาพยนตร์โดยไม่ได้ผ่านการกรองหรือมองบริบทรอบด้านอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จึงพึงระวังอยู่เสมอว่า การเขียนประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวนั้นไม่ต่างอะไรกับโฆษณาชวนเชื่อที่เชิญชวนผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าโดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

 

 

ภาพที่ 1: รัณวีร์ ซิงค์ในบทสุลต่านอลาอุดดิน คิลจี (Alauddin Khilji) แห่งเดลีที่ถูกนำเสนออย่างโหดร้ายบ้าคลั่ง

ที่มา: Zee Media Bureau. Padmaavat: How Ranveer Singh transformed into Alauddin Khilji. (2018). [Online]. Accessed 2021 Feb 16. Available from: https://zeenews.india.com/bollywood/padmaavat-how-ranveer-singh-transformed-into-alauddin-khilji-watch-2099127.html

 

          หลายปีที่ผ่านมา ประเด็นต่างๆ ในประวัติศาสตร์อินเดียถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วน สำหรับวงการบอลลีวู้ดแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสุลต่านแห่งเดลี (Delhi sultans) ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอ สุลต่านแห่งเดลีคือผู้ปกครองรัฐสุลต่านเดลี (Delhi Sultanate) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 16 แต่การรุกรานอินเดียโดยผู้ปกครองชาวมุสลิมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ทำให้ไม่เพียงแต่วงการภาพยนตร์เท่านั้น ทว่าในแบบเรียน สุนทรพจน์หาเสียง หรือแม้แต่การปลุกระดมของชาวอินเดียชาตินิยมมักอ้างถึงการรุกรานที่ว่า เป้าหมายของคนเหล่านั้นในการใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือแตกต่างกันออกไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเกลียดชังที่มีต่อผู้รุกรานจากต่างแดน หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือการสร้างความเกลียดชังที่มีต่อผู้คนต่างศาสนา กลุ่มคนที่เป็นผลผลิตจากการรุกรานดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เดิม

 

          ในภาพยนตร์หลายเรื่อง สุลต่านแห่งเดลีถูกนำเสนอออกมาเป็นผู้ปกครองที่เหี้ยมโหด รักในการฆ่าฟันชาวพื้นเมืองหรือคนต่างศาสนา หรือแม้แต่ฉุดคร่าผู้หญิงที่ไม่เต็มใจ อย่างไรก็ตาม นิสัยและรสนิยมส่วนตัวของผู้ปกครองมุสลิมไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่กลายเป็นข้อพิพาท แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดกลับเป็นเรื่องที่ว่า สุลต่านแห่งเดลีไม่เคารพความเชื่อดั้งเดิมของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธ หรือซิกข์ ภาพจำของชาวอินเดียที่มีต่อผู้ปกครองจากต่างแดนคือการที่พวกเขาสั่งให้คนเผาทำลายศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชุมชน การนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภาพยนตร์ หนังสือเรียน และสุนทรพจน์กระทบจิตใจผู้คนในปัจจุบันไม่ต่างจากในอดีต เป็นเหตุให้ความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาในอินเดียดำเนินต่อไป แม้จะไม่มีสุลต่านคนใดปกครองเดลีมานับร้อยปีแล้วก็ตาม

 

          การรื้อถอนทำลายศาสนสถานฮินดูโดยผู้ปกครองชาวมุสลิมเกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 18 ไม่เพียงแต่สุลต่านแห่งเดลีเท่านั้น ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐสุลต่านอื่นๆ ในอินเดียโดยเฉพาะที่ราบสูงเดคข่าน (Deccan) และดินแดนทางตอนใต้ ทว่าหากมองในบริบทการเมืองการปกครองแล้ว การทำลายเทวสถานคือการสลายฐานอำนาจเดิมของอาณาจักร ในอดีตรัฐฮินดูทุกรัฐมีเทวาลัยประจำอาณาจักรของตน ทุกครั้งที่มหาราชาคนใหม่ขึ้นครองราชย์ พวกเขาต้องผ่านพิธีราชาภิเษกโดยพราหมณ์ประจำราชสำนักที่เทวาลัยนั้นๆ สำหรับผู้ปกครองฮินดูแล้ว การพ่ายแพ้สงครามไม่อัปยศเท่ากับการที่ศาสนสถานประจำราชวงศ์ถูกทำลาย พวกเขาเชื่อว่ามหาราชาได้รับอำนาจและสิทธิ์โดยชอบธรรมในการปกครองจากเทพเจ้า และเทวาลัยที่เป็นที่สถิตของเทพเจ้าคือศูนย์รวมอำนาจที่ว่า การทำลายเทวสถานจึงไม่ต่างกับการสลายขั้วอำนาจเดิมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองให้กับผู้นำคนใหม่

 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้นำมุสลิมแล้ว พวกเขาไม่เพียงแต่ทำลายเทวสถานฮินดูเท่านั้น หลายครั้งที่พวกเขาสั่งให้คนนำเอาชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมในศาสนสถานเดิมมาใช้ในการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ หรือแม้แต่สร้างมัสยิดแห่งใหม่โดยใช้โครงสร้างเดิมของเทวาลัย ตัวอย่างสำคัญของการรื้อถอนและสร้างใหม่โดยสุลต่านแห่งเดลีได้แก่ การสร้างมัสยิดเทวัล (Deval masjid) ครอบทับวันทา สตัมภาล กุฑี (Vanda Stambhala Gudi) หรือเทวาลัยร้อยเสา (Hundred-pillared temple) ที่เมืองโพธัน (Bodhan) รัฐเตลังกานาในปีค.ศ. 1323 เทวาลัยร้อยเสาเป็นเทวาลัยสำคัญของราชวงศ์กากาติยะ (Kakatiya) ที่ปกครองดินแดนอานธระ (Andhra) ทางตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 2 ศตวรรษ อย่างไรก็ตาม หลังการรุกรานอินเดียใต้ระหว่างปีค.ศ. 1321 ถึง 1323 โดยอุลูก ข่าน (Ulugh Khan) ว่าที่สุลต่านแห่งเดลี ราชวงศ์กากาติยะก็ถึงจุดสิ้นสุด ศาสนสถานต่างๆ ของราชวงศ์ไม่ว่าจะเป็นที่วารังคัล (Warangal) เมืองหลวงกากาติยะ หรือเมืองสำคัญอย่างราชมัณฑรี (Rajahmundry) และโพธันต่างถูกรื้อถอนโดยคำสั่งอุลูก ข่านทั้งสิ้น ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอันวิจิตรถูกนำมาใช้ในการสร้างมัสยิดแห่งใหม่ รวมถึงโครงสร้างอาคารที่ถูกบูรณะเพื่อการใช้งานอื่นๆ เช่นกัน

 

ภาพที่ 2: มัสยิดเทวัลที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างของเทวาลัยร้อยเสา

ที่มา: Nenu Local. Deval Masjid in Bodhan. (2020). [Online]. Accessed 2021 Feb 16. Available from: https://www.facebook.com/Nenu-local-1985277758469335/photos/pcb.2620598944937210/2620598848270553/

 

          นอกจากกรณีของศาสนสถานประจำราชวงศ์กากาติยะแล้ว เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์อินเดีย การทำลายศาสนสถานไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนการรุกรานของชาวมุสลิม มหาราชาฮินดูต่างรบพุ่งเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ตอนหนึ่งในมานโสลลาสะ (Manasollasa) วรรณคดีที่แต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาราชาโสเมศวรที่ 3 (Someshvara III) แห่งราชวงศ์จาลุกยะแห่งกัลยาณี (Kalyani Chalukya) ระบุถึงการปฏิบัติตนของผู้ได้ชัยในสงครามว่า เมืองหลวงของศัตรูต้องถูกเผา พร้อมกับราชวังและรโหฐานของราชกุมาร อำมาตย์ และมนตรี เช่นเดียวกับเทวสถาน ร้านรวง และคอกสัตว์ ในที่นี้จะเห็นได้ว่า การทำลายสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างในเมืองที่ยึดได้เป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งของผู้ชนะ ไม่ว่าผู้ปกครองเมืองนั้นๆ จะเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธ หรือเชนก็ตาม การรื้อถอนเพื่อนำชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมมาใช้ใหม่มีให้เห็นในอาณาจักรฮินดูเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการนำอิฐและชิ้นส่วนอื่นๆ ในสิ่งปลูกสร้างสมัยจาลุกยะมาใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่ในสมัยวิชัยนคร (Vijayanagara) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สาเหตุหลักของการรื้อถอนและสร้างใหม่ก็ไม่ต่างกับเหตุผลของอุลูก ข่านก่อนหน้านี้ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมในการปกครองเพื่อได้รับการยอมรับของผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นหากนำประเด็นศาสนาที่ละเอียดอ่อนออกไป จะเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ชนะในสงครามทุกครั้งไม่มีความแตกต่าง ไม่ว่าผู้ปกครองคนใหม่จะเป็นชาวมุสลิมหรือฮินดูก็ตาม

 

         ในทางกลับกัน หากเมืองที่สุลต่านต้องการยึดครองยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี ผลที่ออกมาอาจแตกต่างออกไป ในปีค.ศ. 1326 หลังจากที่อุลูก ข่านขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านมูฮัมหมัด บิน ตุกลัก (Muhammad bin Tughluq) แห่งเดลี เขาสั่งให้คนบูรณปฏิสังขรณ์เทวาลัยพระศิวะที่เมืองกัลยาณี (Kalyani) ในรัฐเตลังกานา ในเทวาลัยปรากฏจารึกภาษาสันสกฤตที่สรรเสริญคุณความดีของสุลต่านที่มีต่อคนต่างศาสนา จึงอาจตีความได้ว่า การรื้อถอนทำลายศาสนสถานไม่ได้มีสาเหตุมาจากความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจมาจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพสุลต่าน ทำให้สุลต่านหรือผู้นำทัพตัดสินใจทำลายสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้คนเพื่อเป็นการสั่งสอนผู้ปกครองอาณาจักรนั้นๆ

 

ภาพที่ 3: จารึกภาษาสันสกฤตในเทวาลัยพระศิวะที่กัลยาณี มีเนื้อความสรรเสริญสุลต่านตุกลัก

ที่มา: Eton, Richard M. and Wagoner, Phillip B.. Power, Memory and Architecture: Contested Sited on India's Deccan Plateau, 1300 - 1600. 2014. Page 59.

 

          ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าบรรดาสุลต่านแห่งเดลีจะเป็นคนดีตามบรรทัดฐานในปัจจุบันหรือไม่ ประวัติศาสตร์ก็ไม่ควรถูกนำเสนอเพียงด้านเดียว การใช้ความขัดแย้งในอดีตเพื่อผลประโยชน์ในปัจจุบันเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง นักการเมืองที่อ้างว่าตนว่าเป็นกลุ่มภักต (Bhakt) หรือผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูนำเรื่องราวเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม พวกเขาอ้างว่าผู้รุกรานต่างถิ่นนำพาประเทศไปสู่หายนะ ทว่ากลับไม่เคยกล่าวว่า จำนวนเทวสถานฮินดูที่ถูกทำลายโดยผู้นำมุสลิมมีน้อยกว่าที่ถูกทำลายด้วยน้ำมือของชาวฮินดูด้วยกัน ทั้งนี้ ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย เราควรระลึกไว้เสมอว่าชาวมุสลิมไม่ใช่ผู้รุกรานอินเดียกลุ่มแรกและไม่ใช่กลุ่มสุดท้าย พวกเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่สำคัญไม่ต่างจากชาวฮินดู พุทธ ซิกข์ หรือเชน การสร้างความแตกแยกมีแต่จะฉุดรั้งประเทศจากความก้าวหน้า ดังนั้นการเสพสื่อต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จึงควรผ่านการศึกษา พิจารณา และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน แทนที่จะเชื่อทุกสิ่งที่ผู้กำกับนำเสนอและถ่ายทอดต่อไปโดยปราศจากการพิจารณาคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง

 

หนังสือและบทความอ้างอิง

Eton, Richard M. and Wagoner, Phillip B.. Power, Memory and Architecture: Contested Sites on India & Deccan Plateau, 1300 ; 1600. New Delhi: Oxford University Press, 2014.

 

Joshi, Mahadev Narayan. Art and Science in Manasollasa. Delhi: Sandeep Prakashan, 2002.

 

Sen, Sailendra Nath. A Textbook of Medieval Indian History. New Delhi: Primus Book, 2013.

 

กฤษณรัตน์ รัตนพงศภิญโญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ