Museum Core
คิมปา วิตา: ผู้นำสารจากพระเจ้าสู่ชาวคองโก
Museum Core
24 มิ.ย. 64 1K
ประเทศคองโก

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

          หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของฌานน์ ดาร์ก (Jeanne d’Arc) หรือโจน ออฟ อาร์ก (Joan of Arc) เด็กสาวผู้เห็นนิมิตจากพระผู้เป็นเจ้าและนำทัพกอบกู้ชาติฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แม้ว่าฌานน์ถูกเผาทั้งเป็นในเวลาต่อมาด้วยข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีต ทว่าศาสนจักรก็ได้แต่งตั้งนางให้เป็นหนึ่งในนักบุญของศาสนาคริสต์จนเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป แต่ใครเลยจะรู้ว่า ยังมีสตรีนางหนึ่งที่มีชะตาชีวิตคล้ายคลึงกับฌานน์ในดินแดนโพ้นทะเล หญิงสาวที่ทำทุกอย่างเพื่อกอบกู้ประเทศอันเป็นที่รักแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของตน วีรสตรีผู้นี้มีนามว่าคิมปา วิตา (Kimpa Vita) หรือที่รู้จักกันในชื่อเบียทริกซ์แห่งคองโก (Beatriz of Kongo)

 

ภาพที่ 1: แผนที่แสดงที่ตั้งอาณาจักรคองโกเมื่อโปรตุเกสเข้ามาเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 15
ที่มาภาพ: Bostoen, Koen and Brinkman, Inge (editors). The Kongo Kingdom: the Origins, Dynamics
and Cosmopolitan Culture of an African Polity. 2018. Page 38.

 

          คิมปา วิตาเกิดที่คิบันกู (Kibangu) ประเทศแองโกลาในปีค.ศ. 1684 ระหว่างนั้นอาณาจักรคองโก (Kingdom of Kongo) กำลังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง หากย้อนกลับไปก่อนหน้าราว 2 ศตวรรษ ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสำรวจดินแดนใหม่ในแอฟริกากลางรวมถึงอาณาจักรคองโกที่เรืองอำนาจในขณะนั้น พวกเขาต้องการเป็นพันธมิตรกับราชานซิงกา นกุวู (Nzinga-a-Nkuwu) เพื่อเผยแพร่ศาสนาและการค้า เหล่ามิชชันนารีประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ราชาคองโกเข้ารับศีลล้างบาปเป็นคริสต์ศาสนิกชนในปีค.ศ. 1491 ไม่เพียงเท่านั้น นซิงกา นกุวูที่เปลี่ยนชื่อเป็นราชาโจเอาที่ 1 (João I) ได้ประกาศให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ นับแต่นั้นมาชาวโปรตุเกสจึงมีอำนาจในการแทรกแซงการเมืองภายในอาณาจักร จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 คองโกไม่อาจทนต่อข้อแลกเปลี่ยนที่เสียเปรียบในการค้าและการปกครองเหนือดินแดนในอาณัติอีกต่อไป อันโตนิโอที่ 1 (Antonio I) ราชาคองโกในตอนนั้นจึงประกาศสงครามกับโปรตุเกสในปี 1665 ที่สมรภูมิมบวิลา (Mbwila) ประเทศแองโกลาในปัจจุบัน กองทัพคองโกพ่ายแพ้เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร อันโตนิโอถูกสังหารในปีเดียวกัน นำไปสู่ความระส่ำระสายของอาณาจักร เหล่าผู้ปกครองที่ต้องการเป็นใหญ่ต่างก่อสงครามกันเองโดยได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ประเทศถูกแบ่งเป็นสองขั้ว เมืองหลวงเซา ซัลวาดอร์ (São Salvador) ของคองโกถูกทิ้งร้าง และสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาหลายทศวรรษนี้เองที่เป็นเหตุให้คิมปา วิตาลุกขึ้นมารวมชาติของนางเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

 

ภาพที่ 2: ภาพเหมือนคิมปา วิตา วาดโดยบาทหลวงดา กัลโลในปี 1710
ที่มาภาพ: Bernado da Gallo. A Representation of Kimpa Vita (1710)

 

         คิมปา วิตาเข้ารับศีลล้างบาปเมื่อครั้งที่มิชชันนารีโปรตุเกสผ่านมาที่หมู่บ้านของนางและได้รับชื่อเบียทริกซ์ในฐานะคริสตศาสนิกชน ในวัยเด็ก นางได้รับการฝึกฝนให้เป็นนกังกา มารินดา (Nganga Marinda) หรือนักบวชหญิงผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนควบคู่ไปกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล หลังจากล้มป่วยอย่างหนักในปีค.ศ. 1704 คิมปา วิตาในวัย 20 ปีก็อ้างว่าระหว่างที่ทุกข์ทรมานครึ่งเป็นครึ่งตายนั้นเอง นางได้เห็นนิมิตจากนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว (Saint Anthony of Padua) นักบุญประจำชาติโปรตุเกส นักบุญได้บอกกับนางถึงชาติกำเนิดที่แท้จริงของพระเยซู พระแม่มารี และนักบุญฟรานซิสว่า แท้จริงแล้วคนเหล่านั้นเกิดที่ดินแดนคองโกแห่งนี้ พวกเขาเป็นชาวคองโกเช่นเดียวกับทุกคนที่นี่ เพราะฉะนั้นคนของนางมีสิทธิ์ทุกประการที่จะก้าวเข้าสู่ประตูสวรรค์หลังความตายเพราะดินแดนของพระเจ้าไม่ได้มีไว้เพื่อคนขาวตามที่พวกเขากล่าวอ้าง นักบุญแอนโทนียังบอกนางว่า แผ่นดินคองโกกำลังลุกเป็นไฟเพราะความพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความหายนะคือการรวมชาติคองโกให้เป็นปึกแผ่นภายใต้กษัตริย์เพียงหนึ่งเดียว และที่สำคัญที่สุด นักบุญเตือนนางและเพื่อนร่วมชาติว่า จงอย่ายอมให้ชาวโปรตุเกสหรือคนขาวคนใดเข้าแทรกแซงอาณาจักรมากไปกว่านี้ ไม่เช่นนั้นคนของนางจะกลายเป็นทาสในไม่ช้า

 

         คิมปา วิตานำข่าวอันประเสริฐนี้ไปแจ้งให้พวกพ้องของตนได้รับทราบ นางได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้นำทางจิตวิญญาณในชุมชน จำนวนผู้ศรัทธาในนิมิตของนางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิมปา วิตาเรียกนิกายของนางว่า นิกายอันโตเนียน (Antonianism) ตามชื่อนักบุญแอนโทนีที่นางนับถือ นางยังคงยึดมั่นในคำสอนของศาสนาคริสต์และปฏิบัติตนเช่นศาสนิกชนที่ดีเหมือนที่แล้วมา อย่างไรก็ตาม ความนิยมชมชอบในตัวนางทำให้บาทหลวงชาวยุโรปหลายคนไม่พอใจ โดยเฉพาะเบอร์นาร์โด ดา กัลโล (Bernardo da Gallo) และลอเรนโซ ดา ลุกกา (Lorenzo da Lucca) บาทหลวงกลุ่มภราดาน้อยกาปูชิน (Order of Friars Minor Capuchin) ชาวอิตาเลียนที่รับใช้ราชสำนักราชาเปโดรที่ 4 (Pedro IV) แห่งคองโก ณ ขณะนั้น ดา กัลโลกล่าวหาว่านิมิตของคิมปา วิตาเป็นมนตร์ดำของปีศาจ และนางกำลังชักจูงผู้ติดตามไปสู่นรก ด้วยเหตุนั้นเองทำให้ในปีค.ศ. 1705 เมื่อคิมปา วิตาและคณะขอเข้าเฝ้าเพื่อเจรจาสงบศึกกับราชาเปโดรที่ 4 และราชาโจเอาที่ 2 (João II) ราชาทั้งคู่ที่ถูกชักจูงโดยมิชชันนารีตะวันตกจึงปฏิเสธที่จะพบนางและสงบศึกระหว่างกัน

 

          เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล คิมปา วิตาจึงนำคนของนางอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่เซา ซัลวาดอร์ในปี 1705 ด้วยเจตนารมณ์ในการกอบกู้เมืองหลวงขึ้นมาอีกครั้ง คิมปา วิตาและผู้ศรัทธานับพันร่วมกันสร้างบ้านเรือนและตั้งชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างกลุ่มคนที่นับถือความเชื่อดั้งเดิมและคริสตศาสนา ราชาเปโดรเมื่อเห็นดังนั้นจึงไม่พอใจและส่งกองทัพเข้าไปทำลายชุมชน ทว่าหนึ่งในนายกองคนสำคัญ เปโดร คอนสแตนตินโญ ดา ซิลวา กิเบงกา (Pedro Constantinho da Silva Kibenga) กลับกลายมาเป็นผู้ศรัทธานิกายอันโตเนียน ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ฮิปโปไลตา (Hippolyta) ชายาของเปโดรก็กลายเป็นสาวกของคิมปา วิตา เมื่อราชาคองโกไม่อาจทนกับชื่อเสียงและความนิยมในตัวนางได้อีกต่อไป พระองค์จึงสั่งให้ทหารจับตัวคิมปา วิตาและประหารชีวิตนางด้วยการเผาทั้งเป็นในวันที่ 2 เดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 1706 คิมปา วิตาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 22 ปีเท่านั้น

 

          แม้ว่าคิมปา วิตาจะไม่อาจรวมชาติได้สำเร็จ ทว่าการเคลื่อนไหวของนางก็มีความสำคัญทั้งในด้านศาสนา การเมือง และมนุษยธรรม คิมปา วิตาเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกากลางที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านศาสนาและความเชื่อ นางพยายามเปลี่ยนแปลงคำสอนที่มิชชันนารีตะวันตกปลูกฝังชาวคองโกว่า หนทางเดียวที่จะเข้าสู่อาณาจักรพระเป็นเจ้าคือการปฏิบัติตามคำสอนพวกเขา นางต้องการให้ชาวคองโกเชื่อว่า พระเจ้าเมตตาทุกคนเสมอกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีถิ่นกำเนิดที่มาอย่างไร พระคริสต์ พระมารดา และนักบุญคนสำคัญไม่ได้มีความแตกต่างใดๆ กับชาวพื้นเมือง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชาวยุโรปในการเข้าถึงคำสอนพระเยซูอีกต่อไป ไม่มีผู้ใดรู้ว่าคิมปา วิตาเห็นนิมิตจริงๆ หรือเพียงต้องการใช้นิมิตเป็นเครื่องนำทางชาวคองโกไปสู่การปลดแอกจากโปรตุเกสกันแน่ แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ว่า สตรีนางนี้ไม่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์แอฟริกายุคล่าอาณานิคม

 

ภาพที่ 3: อนุสาวรีย์คิมปา วิตาในแองโกลาในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: Somebody040404. Kimpa Vita's Statue in Angola. (2020). [Online]. Accessed 2021 Jan 12. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Kimpa_Vita#/media/File:Kimpa_Vita_%C2%B4s_statue_in_Angola.jpg

 

          นอกจากคองโกและแองโกลาแล้ว คิมปา วิตายังเป็นที่นับถือในหมู่ชาวแอฟริกันทั้งในและนอกทวีป นางเป็นหนึ่งในวีรสตรีที่ออกมาหยุดยั้งการค้าทาสที่รุ่งเรือง ณ ขณะนั้น โดยอ้างว่าหากพวกเขาไม่ขับไล่ชาวยุโรปตอนนี้ ในไม่ช้าทุกคนจะถูกจับไปเป็นทาส คำกล่าวนั้นไม่เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะสำหรับชาวยุโรปแล้ว พวกเขาต้องการทาสผิวดำเพื่อทำงานในไร่ในอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน เมื่ออาณาจักรหรือดินแดนใดไม่สามารถจัดหาทาสได้ พวกเขาก็พร้อมที่จะเจรจากับคู่ค้ารายใหม่ การผูกมิตรกับชาวยุโรปจึงไม่ต่างกับการฆ่าตัวตายทางอ้อม ชาวโปรตุเกสและดัชต์ยินดีช่วยเหลือชนเผ่าต่างๆ ในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้รบพุ่งกันเองเพื่อได้มาซึ่งเชลยศึก และเชลยเหล่านี้เองที่ถูกขายต่อเพื่อนำกำไรกลับสู่ยุโรป สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในคองโกเอื้อประโยชน์อย่างที่สุดต่อคนเหล่านั้น และนั่นเป็นสาเหตุที่คิมปา วิตาต้องการหยุดยั้งการสู้รบก่อนที่พวกเขาทุกคนจะไม่มีแผ่นดินให้อยู่อีกต่อไป


          แม้ว่าคิมปา วิตาจะไม่ได้รับการยกย่องจากศาสนจักรให้เป็นนักบุญเช่นเดียวกับฌานน์ ดาร์ก ทว่าวีรกรรมของนางในการรวมกลุ่มผู้ศรัทธาเพื่อกอบกู้ชาติยังคงถูกเล่าขานสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น กลุ่มปลดแอกทาสในอเมริกานำเอาเรื่องราวของนางมาเป็นขวัญกำลังใจไม่ให้เหล่าทาสยอมจำนนในโชคชะตา และแม้ว่านิกายของนางจะล่มสลายจากการปราบปรามโดยกษัตริย์คองโกในเวลาต่อมา แต่ความกล้าหาญของนางจะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวแอฟริกันทุกคนตราบนานเท่านาน

 

หนังสือและบทความอ้างอิง

 

Bostoen, Koen and Brinkman, Inge (editors). The Kongo Kingdom: the Origins, Dynamics and

Cosmopolitan Culture of an African Polity. Cambridge: Cambridge University Press, 2018.

 

Thornton, John. The Kongolese Saint Anthony: Dona Beatriz Kimpa Vita and the Antonian Movement,

1684 – 1706. Cambridge: Cambridge University Press, 1998.

 

กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ