สหรัฐอเมริกาแม้จะถือว่าเป็นประเทศค่อนข้างใหม่ แต่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมายและการไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็ช่วยทำให้เข้าใจพื้นฐานปัญหาสังคมได้ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ของการใช้แรงงานทาสผิวสีในช่วงศตวรรษที่ 19 ใน museumgoer ตอนนี้จึงขอพาย้อนไปในสมัยที่ผู้เขียนอยู่สหรัฐอเมริกาและได้มีโอกาสเดินทางไปรัฐทางใต้ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งบรรยากาศและผู้คน
สำหรับคนไทยอย่างเรา เมื่อพูดถึงนิวออร์ลีนส์ก็คงนึกถึง อาหารเมนูไก่นิวออร์ลีนส์ แต่พอมาสัมผัสก็พบว่ามีเมนูดังอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารซีฟู้ด เพราะเป็นที่รวมวัฒนธรรมทั้งแอฟริกัน อเมริกันและฝรั่งเศส นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองหลวงของรัฐหลุยเซียน่า เป็นปลายทางของแม่น้ำสายยาวอย่าง แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ไหลลงสู่ทะเลแคริบเบียนในอ่าวเม็กซิโก ในอดีตจึงเป็นเมืองท่าสำคัญของการขนส่งทาสจากทวีปแอฟริกาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังอเมริกา เทียบได้กับช่วงเวลายุครัตนโกสินทร์ตอนต้นของบ้านเรา
ภาพที่ 1 ต้นไม้ใหญ่ที่มีมอสปกคลุมกิ่งก้าน เอกลักษณ์ของรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา
แรงงานทาสผิวสีเหล่านี้เมื่อมาขึ้นฝั่ง ก็จะถูกพาไปยังตลาดค้าทาส ที่มีลานให้บรรดานายจ้างมาประมูลซื้อทาสตามที่ต้องการ หรือถูกส่งไปทำงานยังไร่สวนต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำมิสซิสซิปปี้นั้นมีไร่ หรือที่เรียกว่า Plantation ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ทำการเกษตรพืชเศรษฐกิจในสมัยนั้น (เช่น ฝ้าย อ้อย หรือคราม), เรือนพักของบรรดาทาสที่ทำงานที่ไร่นั้น และตรงกลางมักจะเป็นบ้านสีขาวหลังใหญ่ ซึ่งเป็นที่พักของนายจ้าง ปัจจุบันมีไร่แบบนี้กระจายอยู่หลายแห่งริมสองฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ หลายที่ได้ถูกปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้เช่าจัดงานเลี้ยง หรือเป็นที่พัก ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามแปลกตาของรัฐทางใต้ ตัวเรือนของบ้านหลังใหญ่สีขาว ต้นโอ๊คที่มีกิ่งก้านปกคลุมไปด้วยมอส ทำให้ไร่หลายแห่งเป็นที่ถ่ายทำมิวสิควีดิโอไปจนถึงหนังฮอลลีวูดมากมาย
ภาพที่ 2 The big house เรือนสีขาวหลังใหญ่ที่พักของนายทาส ทางด้านซ้ายมือเป็นโรงครัวที่มีทาสทำงาน
สำหรับไร่ที่จะเล่าให้ผู้อ่านฟังในวันนี้คือ Whitney plantation แทนที่จะชูจุดเด่นด้วยการเน้นความสำคัญของตัวบ้านใหญ่แบบที่อื่น จอห๋น คัมมิงส์ (John Cummings) เจ้าของพื้นที่แห่งนี้เลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของทาสและกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวที่มีการเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของทาส
หลังจากซื้อตั๋วเข้าไป ก็จะเป็นโซนพิพิธภัณฑ์ที่เราสามารถเดินชมได้เอง ในห้องนี้มีการเล่าเรื่องราวการค้าทาสในประวัติศาสตร์ ส่วนที่ทำให้ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ คือบอร์ดประกาศจับทาสที่หลบหนี ทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมเอาประกาศจริงที่นายทาสไปประกาศลงหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น เนื้อความบรรยายลักษณะทาสที่หลบหนีส่วนใหญ่จะเป็นรูปพรรณสันฐานและรอยแผลเป็น พร้อมกับเงินรางวัลหรือข้อกำหนดว่าจะให้ทำอย่างไร (จับส่งนายอำเภอ หรือนำตัวมาส่งที่ฟาร์ม)
ภาพที่ 3A บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ด้านซ้ายเป็นรูปปั้นหนึ่งในผลงานชุด Children of Whitney
ภาพที่ 3B รวบรวมประกาศจับทาสหลบหนีในหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น
ต่อจากส่วนจัดแสดง ก็จะเป็นการเดินชมไร่โดยมีไกด์นำชมเป็นกลุ่มเล็กๆ สามารถพูดคุยซักถามได้ตลอด มีบัตรคล้องคอที่เข้าชมงานสามารถเก็บเป็นที่ระลึกได้ โดยบนบัตรจะมีรูปของเด็กชาย เด็กหญิง ลูกหลานของทาสในไร่แห่งนี้พร้อมกับบทสัมภาษณ์สั้นๆ ระหว่างที่เดินทัวร์จะมีรูปปั้นดินเหนียวของเด็กๆ เหล่านี้อยู่ตามสถานที่ต่างๆ (ชื่อผลงาน Children of Whitney) ให้ผู้เข้าชมได้สังเกตและดูเทียบกับในบัตรของตัวเอง ผู้เขียนได้บัตรเป็นรูปของ พอลลีน จอห์นสัน ด้านหลังก็มีคำบอกเล่าถึงความทรงจำในวันที่มีการประกาศเลิกทาสในปีค.ศ. 1864 โดยถ่ายทอดเป็นข้อความที่ถอดจากสำเนียงการพูดแบบคนแอฟริกันอเมริกันในยุคนั้นด้วย พอลลีนเล่าว่า ตอนที่ประกาศเลิกทาสนั้นเธออายุเพียง 12 ปี และพ่อของเธอที่ล้มป่วยก็เสียชีวิตลง ณ ที่แห่งนี้หนึ่งวันก่อนได้รับอิสรภาพพอดี
ภาพที่ 4 บัตรเข้าชมและรูปปั้น Children of Whitney ที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ ในฟาร์ม
ระหว่างที่เดินทัวร์ ผู้เข้าชมแต่ละคนก็มองหารูปปั้นเด็กๆ แห่งวิทนีย์กันแบบเงียบๆ พอเจอแล้วก็เข้าไปถ่ายรูปกัน เป็นผลงานศิลปะที่ส่งผลกับอารมณ์ผู้ชมมาก เด็กๆ เหล่านี้ก็เป็นเพียงผ้าขาวที่สะท้อนชะตากรรมที่พวกเขาต้องเกิดมาพบเจอ เพียงเพราะว่าเป็นเชื้อชาติแอฟริกัน
สำหรับไกด์นำทัวร์ของเราชื่อจอห์นเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็เป็นการเดินชมแบบมีข้อมูลแน่นมาก คุณจอห์นเล่าว่า ระบบแรงงานทาสนั้นก็เป็นทุนนิยมในยุคแรกเริ่มของอเมริกานั่นเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประเทศที่กำลังก่อร่างสร้างตัว โดยเฉพาะในยุคที่ทำการเกษตร ก็ต้องการแรงงานมหาศาล และระบบแรงงานทาส ซึ่งลดต้นทุนการผลิตเพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรงก็มีส่วนอย่างมากในการทำให้ธุรกิจเติบโต ทำให้มีการค้าทาสอย่างเป็นระบบมาช้านาน เพราะมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากมาย
ถ้าเป็นไร่อื่นที่เคยไปจะเน้นรีโนเวทตัวบ้านพักของนายทาส และให้เข้าชมในบ้านได้ แต่ที่นี่ไม่ได้ให้ขึ้นไปดูภายในตัวบ้านใหญ่ แต่มีการจัดแสดงเรือนพักทาส โรงครัว โรงตีเหล็ก รวมไปถึงกรงเหล็กที่ใช้คุมขังทาสที่ถูกลงโทษ นอกจากนี้ เหล่านักวิชาการนำโดย เกวนโดลีน มิดโล ฮอล (Gwendolyn Midlo Hall) ยังได้ศึกษาเอกสารในประวัติศาสตร์ของนิวออร์ลีนส์ และรวบรวมรายชื่อทาสกว่าแสนรายชื่อเท่าที่มีการบันทึกไว้ทั้งหมด นำมาสลักบนแนวกำแพงหิน รายชื่อเหล่านี้ บ้างก็เป็นชื่อนามสกุล บ้างก็เป็นชื่อเฉยๆ มีทั้งชื่อแอฟริกัน ชื่อภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ไกด์ของเราได้ชี้ให้เห็นชื่อของเด็กบางชื่อที่มีนามสกุลเดียวกับเจ้าของฟาร์ม เด็กเหล่านี้คือลูกนอกสมรสของนายทาสกับทาสนั่นเอง
ภาพที่ 5 ผู้เข้าชมยืนอ่านรายชื่อของทาสที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของนิวออร์ลีนส์
บริเวณพื้นที่รอบนอกจะเป็นเรือนพักของทาส ซึ่งประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ผู้เขียนมาเยี่ยมชมก็มีกระแสไวรัลบนทวิตเตอร์พอดี จากการที่มีกลุ่มนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยทูเลน มาถ่ายรูปที่เรือนพักทาสหลังหนึ่งที่นี่ โดยทั้งกลุ่มเป็นคนเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ภาพที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้สวมใส่เสื้อกาวน์ยืนอยู่หน้าเรือนพักทาส พร้อมกับแคปชั่นว่า “ภาพนี้สำหรับบรรพบุรุษของพวกเราแล้วนั้น คงเป็นความฝันอันเหลือเชื่อที่สุด” มีผู้ใช้ทวิตเตอร์กดแชร์ไปหลายพันคนจนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นก็ได้ติดต่อสัมภาษณ์พวกเขาด้วย ผู้เข้าชมหลายคนก็ตื่นเต้นมากที่จะได้มาเห็นของจริง ผู้เขียนก็มีโอกาสได้ถ่ายรูปเรือนพักทาสหลังนี้มาด้วย
ภาพที่ 6A ผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพกลุ่มนักศึกษาแพทย์ผิวสีหน้าอาคารที่เป็นเรือนพักทาสในอดีต
ภาพที่ 6B เรือนพักทาสใน Whitney Plantation
มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์มากมายที่ไม่น่าจดจำและอาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา แต่ทางผู้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์นี้เห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์เพื่อหวังว่าจะสามารถสร้างความตระหนักรู้แก่อเมริกันชนมากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า พิพิธภัณฑ์นี้สามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ปรางระวี แสงจันทร์