ณ โรงพยาบาลดับลินมีธ์ ประเทศไอร์แลนด์ วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 (ตรงกับ พ.ศ. 2387 สมัยรัชกาลที่ 3) นายแพทย์ฟรานซิส รินด์ (Francis Rynd) ศัลยแพทย์สมาชิกราชวิทยาลัยเครือจักรภพอังกฤษ ได้พบคนไข้หญิงชราผู้น่าสงสาร ชื่อ มากาเร็ต ค็อกซ์ (Margaret Cox) ซึ่งเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดตามเส้นประสาท เธอปวดไปทั้งใบหน้าซีกซ้ายจนนอนไม่หลับ โดยเฉพาะที่แก้มกับกราม และก็เจ็บจี๊ดขึ้นลูกตา หากว่ากัดฟันเข้าหากันก็ยิ่งปวดลามไปถึงหลังศีรษะ แม้จะกินยามอร์ฟีนแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เธอปวดน้อยลงเลย
หมอคนอื่นๆ ในสมัยนั้นอาจจะประคบเย็น เพิ่มปริมาณยาแก้ปวดให้กิน หรือใช้ยาทาบนผิวหน้าของคนไข้อย่างที่ทำกันทั่วไป แล้วก็ภาวนาให้อาการปวดทุเลาลง แต่หมอรินด์มีความคิดที่แปลกออกไป... คนไข้ที่ปวดเฉพาะบริเวณหนักหนาสาหัสถึงขนาดนี้ กินยากว่าจะลงกระเพาะลำไส้ ดูดซึมกระจายไปทั่วร่างกาย ก็คงจะช้าและเสื่อมฤทธิ์ไปพอสมควร จะดีแค่ไหน หากเราสามารถส่งตัวยาเข้าไปได้ตรงจุดเจ็บในทันที
หลังจากนั้นราว 2 สัปดาห์ หมอรินด์จึงทดลองนำท่อขนาดเล็กต่อกับสายยาง ลักษณะท่อทำจากแผ่นเหล็กกล้าบาง ๆ ม้วนเป็นหลอดด้วยความร้อน เขาแทงท่อเจาะเข้าไปบนหน้าหญิงชรา จากนั้นก็เทมอร์ฟีนให้ค่อย ๆ ไหลลงมาตามสายยางนั้น รวมทั้งหมด 4 จุดบริเวณที่ปวดมากที่สุด ปรากฏว่า เธอหายปวดและหลับได้สบายที่สุดในรอบหลายเดือน นี่เองก็คือต้นแบบการสร้างเข็มฉีดยา (Hypodermic Needle) และค็อกซ์ถือเป็นผู้ที่ถูกฉีดยาคนแรกในโลกของเรา
ภาพที่ 1 ฟรานซิส รินด์
Wellcome Library no. 13978i. Francis Rynd Photograph. Public Domain. https://wellcomecollection.org/works/yk5w7aer/images?id=td2p8c6q
วิธีการของหมอรินด์เป็นการเปิดประตูบานใหม่ทางการแพทย์ การฉีดยาไม่เพียงแต่ทำให้ตัวยาเข้าสู่ร่างกายถูกจุดอย่างรวดเร็ว ทว่าฤทธิ์ยานั้นยังอยู่ได้นานกว่าแบบกินมาก คนร่วมยุคกับหมอรินด์ เช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" ผู้ปฏิวัติวิชาชีพพยาบาล ก็กล้ารับการฉีดยาแก้ปวดขณะป่วยและยืนยันถึงความมหัศจรรย์ว่ามันสามารถแก้ปวดได้นาน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ การใช้ท่อกลวงกับสายยางนำสารเข้าสู่กระแสเลือดได้ ก็แปลว่าเราต้องสามารถดูดเลือดออกมาตรวจได้เหมือนกัน วงการแพทย์ตะวันตกจึงเริ่มใช้ประโยชน์จากเข็มฉีดยา พร้อม ๆ กับต้องศึกษาเรียนรู้ปัญหาการติดเชื้อเมื่อเข็มและท่อไม่สะอาดมากพอ
ปี ค.ศ. 1853 นายแพทย์ชาร์ลส์ กาเบรียล ปราวาส์ (Charles Gabriel Pravaz) ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อต่อชาวฝรั่งเศส คิดประดิษฐ์กระบอกดูดหรือ ไซริงก์ (Syringe) มาประกอบเข้ากับเข็มฉีดยาแบบของหมอรินด์
ไซริงก์นี้ที่จริงมีการใช้ทางการแพทย์มาตั้งแต่โบราณ แต่มักเป็นการใช้กับบริเวณที่มีช่องเปิดตามร่างกาย(หรือมีการกรีดเปิดแล้ว) แพทย์ชาวกรีกสมัยร้อยกว่าปีก่อนคริสตกาล กาเลนแห่งเพอร์กามอน (Galen of Pergamon) ใช้ไซริงก์ทองเหลืองดูดของเสียทางทวารหนักผู้ป่วย สมัยโรมันผู้คนก็ใช้ไซริงก์และลูกยางดูดน้ำมูกกัน ในหนังสือโรมัน เดอ เมดิชีนา (De Medicina) แต่งโดยเอาลุส คอร์เนลิอุส เซลซุส (Aulus Cornelius Celsus) ระบุว่าไซริงก์ใช้ดูดหนองออกจากแผล แล้ววัดปริมาณไวน์หรือน้ำส้มสายชูหยอดใส่แผลเพื่อฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ แพทย์ชาวอาหรับสมัยศตวรรษที่ 11 อัมมาร์ อัล-มอวซิลี(Ammar al-Mawsili) ก็แทงเข็มที่ตาแล้วใช้ไซริงก์ดูดต้อกระจกแก่คนไข้ในอียิปต์ (หมายเหตุ เป็นการดูดเลนส์ตาที่เป็นต้อออกมาเฉย ๆ โดยไม่มีเลนส์เทียมใส่เข้าไปแทน จึงไม่ได้ทำให้กลับมามองเห็น)
ดีไซน์ไซริงก์ของหมอปราวาส์มีความประณีตซับซ้อนกว่าของโลกโบราณ เขาออกแบบไซริงก์ทำจากเงินทั้งหมด ขนาดยาว 3 เซนติเมตร มีน็อตและสกรูสำหรับขันวัดปริมาณของเหลวในกระบอก แล้วจ้างช่างผู้ผลิตชาวสวิตเซอร์แลนด์ คือ โยเซฟ-เฟรเดอริก-เบอนัวต์ ชาริแยร์ (Joseph-Frédéric-Benoît Charrière) อย่างไรก็ตาม โชคร้ายที่หมอปราวาส์ด่วนเสียชีวิตไปก่อนจะทันตีพิมพ์ผลงานของเขา นายแพทย์ฌูลส์ เบฮิเยร์ (Jules Béhier) ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้รับช่วงต่อ เผยแพร่เรื่องนี้ผ่านสื่อยุโรป
ภาพที่ 2 ชาร์ลส์ กาเบรียล ปราวาส์
Majidi, A. (2020, November 20). Syringe History. A Doctor: The oldest active Persian blog. https://www.1pezeshk.com/archives/2007/04/post_452.html.
ในปีเดียวกันนั้นเอง ดีไซน์ไซริงก์แบบกด (Plunger) ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบันก็ได้กำเนิดขึ้นโดยการคิดค้นของนายแพทย์อเล็กซานเดอร์ วูด (Alexander Wood) อาจารย์โรงเรียนการศึกษาพิเศษแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสก็อตแลนด์ ไซริงก์ของเขาเป็นท่อที่มีปากทรงกรวย ทำจากแก้วใสทั้งหมดทำให้สามารถเห็นสภาพและปริมาณยาภายใน ระหว่างกระบอกกับแท่งกดบรรจุก้อนเส้นใยธรรมชาติไว้เพื่อไม่ให้แก้วกระทบกันแตก และเพื่อสร้างความเสียดทานระหว่างชิ้นส่วนแก้วให้ค่อย ๆ บีบของเหลวที่ถูกเส้นใยซึมซับไว้ส่วนหนึ่งออกไปได้
การพัฒนาเข็มฉีดยาให้สะอาดปราศเชื้อ ผลิตได้ในราคาถูกเพื่อเข้าถึงผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงขนส่งง่ายและรวดเร็วมากที่สุดดำเนินมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพนิซิลิน ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1928 แล้วปรากฏว่า ยานี้มักจะเหนียวเป็นก้อนติดไซริงก์แก้วหรืออุดตันปากกรวย จนทำความสะอาดยาก ในที่สุด แฮร์รี่ วิลลิส (Harry Willis) ตัวแทนขายยาของบริษัท เอ เอ็ม บิคฟอร์ด แอนด์ ซันส์ (A. M. Bickford and Sons) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิ์การผลิตเพนิซิลินเพื่อการค้าในออสเตรเลีย จึงคิดออกแบบไซริงก์ที่ทำจากพลาสติก
วิลลิสได้เข้าพบนักธุรกิจชาวออสเตรียที่อพยพมาอยู่ออสเตรเลีย คือ ชาร์ลส์ โรทเฮาเซอร์ (Charles Rothauser) เพื่อขอคำปรึกษา โรทเฮาเซอร์เป็นเจ้าของบริษัทตุ๊กตาพลาสติก ควอลิตี ทอย (Quality Toy Company) มีประสบการณ์ด้านชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กเป็นอย่างดี เขาจึงประดิษฐ์ไซริงก์จากโพลีโพรพิลีน (Polypropylene - PP) ในปี ค.ศ. 1951 พลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ ไม่ต้องล้างด้วยสารเคมี ทำให้มีราคาถูกทั้งโดยตัววัสดุเองและโดยวิธีการดูแลหลังใช้งาน ด้วยเหตุนี้ ออสเตรเลียจึงกลายเป็นผู้ส่งออกเข็มฉีดยาพลาสติกต้นแบบนับล้านออกสู่ตลาดโลก
ภาพที่ 3 เข็มฉีดยาพลาสติกของชาร์ลส์ โรทเฮาเซอร์
Gift of Charles Rothauser AO. (1995, May 12). Disposable plastic syringe by Harry Willis and Charles Rothauser. Museum of Applied Arts & Sciences, Australia. https://collection.maas.museum/object/142882.
ท่ามกลางยุคสมัยที่พวกเราทุกคนประสบกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ อย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัญญาความรู้และคุณูปการแห่งบุคลากรทางการแพทย์และวงการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งอาจจะถูกมองข้ามจากหน่วยงานต่าง ๆ ของสังคมไปบ้าง ก็ได้กลับมามีความสำคัญในใจผู้คนอีกครั้ง เข็มฉีดยาแม้จะเป็นเครื่องมือขนาดเล็กราคาย่อมเยา ที่ทุกวันนี้มักเป็นแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อความสะอาด และไม่ใช่สิ่งที่คนนิยมซื้อบริจาคแก่ผู้ป่วยยากไร้เท่าไรนักเพราะอยู่ไม่ถาวร แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้กับยาและวัคซีนสารพัดชนิดตั้งแต่เราเกิดมา นับเป็นสะพานสำคัญที่เราจะสามารถส่งทหารเข้ามาต่อกรกับศัตรูในร่างกายอย่างรวดเร็วซึ่งจะขาดเสียมิได้เลย
ประดิษฐกรรมเข็มฉีดยาจึงเป็นหนึ่งในสิ่งเล็ก ๆ จากมือเหล่าคนช่างคิด ที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์การแพทย์และชีวิตมนุษย์ทุกคนไปตลอดกาล และถึงแม้จะมีบางคนกลัวเข็มอยู่บ้าง แต่เราต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า “ขอบคุณที่เข็มฉีดยาถูกสร้างขึ้นมาในโลกใบนี้!”
บรรณานุกรม
Bennett, M. (2021, March 9). The invention that made mass vaccinations possible. BBC News. https://www.bbc.com/news/uk-scotland-55676034.
Craig, R. (2018, December 20). A history of syringes and needles. Faculty of Medicine. https://medicine.uq.edu.au/blog/2018/12/history-syringes-and-needles.
Finger, S. (2005). Origins of neuroscience: a history of explorations into brain function. Oxford University Press.
Marcus, A. I. (2018). Technology in America A Brief History. Palgrave Macmillan.
Mercer, P. (2012, November 8). Wi-fi, dual-flush loos and eight more Australian inventions. BBC News. https://www.bbc.com/news/magazine-20071644.
Rynd F. (1845) Neuralgia - introduction of fluid to the nerve. 13:167-168. Dublin Med Press.
Slavotinek, T. (2021). Needles and Syringes. Index of Virtual Museum, South Australian Medical Heritage Society Inc. https://www.samhs.org.au/Virtual%20Museum/Medicine/Needlesandsyringes/.
The Irish Times. (2013, February 24). The Irish doctor who invented the syringe. The Irish Times. https://www.irishtimes.com/news/the-irish-doctor-who-invented-the-syringe-1.1105651.
หมายเหตุนักเขียน
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าตำแหน่งใหญ่หรือเล็ก ตลอดประวัติศาสตร์ ออกสู่สื่อสาธารณะในช่วงการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อสดุดี พี่ชายผู้เป็นที่เคารพรักของดิฉัน นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร ผู้อยู่ห่างไกล แต่อยู่ในความชื่นชมและระลึกถึงของครอบครัวอย่างใกล้ชิดเสมอ
พีริยา จำนงประสาทพร