เมืองออเรนจ์ (West Orange) รัฐนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) ซึ่งอยู่ห่างจากนิวยอร์คไปเพียง 15 ไมล์ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แหล่งกำเนิดของนวัตกรรมที่ถือว่าเป็นพัฒนาการของมนุษย์ชาติในเวลาต่อมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟฟ้า แผ่นเสียง เครื่องฉายภาพยนตร์ และสตูดิโอถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลก นั่นคือ โรงงานโธมัส อัลวา เอดิสัน และบ้านพักของเขาที่ได้รับการดูแลเก็บรักษาอย่างดี จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำเนิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทโธมัส เอ เอดิสัน (Thomas A. Edison) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นแม็คโกรว เอดิสัน (McGraw Edison) และกรมอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2468 (ค.ศ.1955) บนพื้นที่ 21.25 เอเคอร์ โดยแบ่งเป็นส่วนของห้องทดลอง (Lab complex) บ้านพักของเอดิสันและครอบครัว (Glenmont) และของสะสม (Historical Collection) กว่าหกหมื่นชิ้น ในวันเปิดอุทยานประวัติศาสตร์นั้น มีคำประกาศยกย่องเอดิสันจากประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า “การเปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อยกย่องความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน” มาถึงตอนนี้อาจมีบางคนแย้งในใจว่าไม่ใช่เอดิสันคนเดียว ในขณะที่โธมัส เอดิสันพัฒนาเรื่องไฟฟ้ากระแสตรง นิโคลา เทสล่า (Nikola Tesla) ชาวเซอร์เบียนอเมริกันได้ค้นการค้นคว้าพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ คนนี้ต่างหากประดิษฐ์หลอดไฟฟลูโอเรสเซนต์ คิดค้นเรื่องสัญญาณไร้สาย (Wireless) รีโมทคอนโทรล และสัญญาณวิทยุได้ก่อนส่วนมาร์โคนี่ ( Guglielmo Marconi (1874 – 1937) นักประดิษฐ์และวิศวกร ชาวอิตาเลียน ผู้ค้นพบโทรเลขและสัญญาณวิทยุ) แต่เป็นคนไม่มีโชคไม่มีทุน ส่วนโธมัส อัลวา เอดิสันได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ถึง 1,093 ชนิด โดยมี 3 สิ่งที่ถือว่าเป็นสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ของเขา คือ หลอดไส้ไฟฟ้า เครื่องเล่นแผ่นเสียง และเครื่องฉายภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูพิพิธภัณฑ์ของเอดิสัน ก็ต้องทำใจให้คล้อยตามไปจะได้เดินดูสนุก
เมื่อขับรถมาถึงต้องจอดรถที่ฝั่งตรงกันข้าม แล้วข้ามถนนพร้อมดึงธงเล็กๆ มาด้วยเป็นสัญลักษณ์ให้รถในเมืองเล็กๆ แห่งนี้หยุดให้เราข้ามถนน สะดุดตาเข้ากับป้ายของกรมอุทยานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องอธิบายให้เพื่อนร่วมทางฟังว่า อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศนี้มีกรมอุทยานแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่กรมศิลปากรแบบเมืองไทย มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ หรือคนไทยมักเรียกว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นผู้ทำการสื่อความหมาย หรือบางครั้งอาจเป็นมัคคุเทศก์อธิบายให้นักท่องเที่ยวฟัง
ภาพที่ 1 ป้ายกรมอุทยานแห่งชาติอยู่ดูแลอุทยานประวัติศาสตร์และโบราณสถานในประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังเดินผ่านประตูทางเข้ามาแล้วจะต้องแวะซื้อตั๋ว ซึ่งแบ่งตั๋วเป็น 2 ใบ คือ ชมโรงงาน และชมบ้านพัก แล้วเริ่มต้นด้วยการรับฟังและชมความเป็นมาเป็นไปของเอดิสันที่อาคารเล็กๆ ด้านซ้ายมือ หลังจากรับเอกสารและคำแนะนำ เราก็เริ่มเดินเข้าโรงงานของเอดิสันได้เลย อาคารทรงวิคตอเรียนแห่งนี้ สร้างด้วยอิฐและคอนกรีต โรงงานสิ่งประดิษฐ์แห่งนี้ตั้งขึ้นประมาณ 44 ปี ในช่วงปีค.ศ. 1887-1931 มีวัตถุจัดแสดงในโรงงานแห่งนี้มีด้วยกัน 4 แสนชิ้น มีเอกสารอีก 5.5 ล้านชิ้น เป็นของใช้ของเอดิสันและครอบครัว ในส่วนห้องทดลองมีทั้งห้องทดลองทางเคมี ห้องแบบ ห้องดนตรี ห้องภาพ และห้องเครื่องจักร แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของยุคเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม
ภาพที่ 2 โรงงานของเอดิสัน แหล่งก่อกำเนิดนวัตกรรมที่สำคัญของโลก
โรงงานมีด้วยกัน 3 ชั้น ซึ่งสามารถเดินเข้าชมได้ทั้งหมด ในชั้นแรก ด้านซ้ายมือจะเป็นนาฬิกาตอกบัตรที่พนักงานทุกคนรวมทั้งเอดิสันก็ต้องตอกบัตรก่อนเข้าทำงาน ด้านขวามือคือห้องสมุดที่เอดิสันและพนักงานเอาไว้อ่านจดหมาย ค้นคว้าข้อมูล และนอนพัก เป็นห้องที่มีความสวยงามมากๆ ห้องหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามก็คือโรงกลึงที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่และหนัก มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้อย่างครบครัน ผู้ชมจะรู้สึกถึงบรรยากาศแบบเดียวกับสมัยที่เอดิสันยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวและเสียงใดๆ เชื่อว่าเมื่อเดินเข้าไปผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเหล็กย้อนยุคต้องเรียกว่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว
บนชั้นสอง มีห้องขนาดเล็กๆ เรียงตัวกันตลอดทางเดินสองข้าง ประกอบด้วยห้องทดลองทางเคมีขนาดเล็ก ห้องเขียนแบบซึ่งจำลองบรรยากาศที่มีการออกแบบนวัตกรรมต่างๆ และมีแบบแปลนวางไว้ให้ผู้มาเยือนได้ชมตัวอย่าง เมื่อเดินตรงไปจะเห็นห้องโถงยาวโรงงานคล้ายกับที่ชั้นหนึ่ง แต่เป็นเครื่องจักรขนาดย่อมกว่าเอาไว้สร้างกล่องพวกเครื่องเสียง เครื่องฉายภาพยนตร์
ภาพที่ 3 ชั้นสองของโรงงานเอดิสัน ได้รับการจัดวางและอนุรักษ์อุปกรณ์ไว้อย่างดียิ่ง
ที่ชั้น 3 ด้านซ้ายมือมีห้องจัดแสดงผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ของเอดิสันที่มีเยอะแยะมากมาย ทั้งเครื่องฉายภาพยนตร์แบบคีเนโตสโคป (Kinetoscope) ซึ่งต้องก้มมองผ่านกระจกด้านบน หลอดไฟต่างๆ โทรศัพท์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรก สตูดิโอถ่ายภาพ และห้องถ่ายภาพยนตร์ ห้องด้านขวามือเป็นห้องแสดงการประดิษฐ์เครื่องเล่นเสียง ทั้งลำโพง เครื่องเล่นแผ่นเสียง โดยจำลองฉากการอัดเสียงด้วยเปียโน ห้องนี้จะมีการสาธิตการใช้อุปกรณ์เป็นรอบๆ จากเจ้าหน้าที่อุทยาน (Park Ranger)
อีกด้านหนึ่งของพื้นที่มีการจัดแสดงห้องทดลองทางเคมี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำยาฟิล์ม และน้ำยาเคมีต่างๆ ที่ใช้กับอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ถัดไปด้านหลังเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์แบล็กมารีอา (Black Maria) จำลองขึ้นจากของจริงที่โดนไฟไหม้ไป มีการสาธิตให้เห็นถึงการใช้แสงอาทิตย์ช่วยในการถ่ายทำภาพยนตร์ และมีการหมุนสตูดิโอไปรอบๆ ด้วยแรงมือ เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องผ่าน ชาวไทยสามารถชมสตูดิโอแบล็กมารีอา (Black Maria) ที่โดม สุขวงศ์ ดูตัวอย่างจากยูทูปแล้วทำจำลองและจัดแสดงไว้ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งผู้มาเยี่ยมชมสามารถร่วมกิจกรรมสมมุติบทบาทเป็นนักแสดงเรื่อง “คนกินกล้วย” ได้ด้วย
ภาพที่ 4 จำลองสตูดิโอ Black Maria สตูดิโอภาพยนตร์แห่งแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ. 2436 ที่เมือง West Orange
ในภาพเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกำลังทำหน้าที่อธิบายการใช้สตูดิโอ
การเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison Historical Park) ตั้งอยู่ที่ 211 ถนนเมน (Main) ถ้าท่านเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานเนวาร์ค (Newark) สามารถเดินทางได้โดยเช่ารถยนต์ขับผ่าน New Jersey Turnpike North ออกมาที่ทางออก 15 W ขับต่อไปยังเส้นทางสาย 280 W หรือโดยสารรถประจำทางสาย 21 จาก นิวเจอร์ซี่ทรานซิท (New Jersey Transit) มาถึงที่พิพิธภัณฑ์ได้เลย
หากอยากชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องเดินทาง กรมอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเว็บไซต์ที่น่าสนใจเอาไว้ โดยกดเข้าไปดูที่ลิงก์ https://artsandculture.google.com/exhibit/edison-s-west-orange-laboratory-thomas-edison-national-historical-park/agJyIGxTlBg6JA?hl=en
ส่วนการชมพิพิธภัณฑ์แบบเสมือนจริง กดเข้าไปที่ https://www.nps.gov/edis/learn/kidsyouth/i-spy-with-virtual-tour.htm
รังสิมา กุลพัฒน์