Museum Core
พิพิธภัณฑ์สงครามกับการกดทับความทรงจำ
Museum Core
30 ก.ค. 64 2K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : ณิชา แหสกุล

          ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งฉายภาพขณะตัวเอกก้าวเท้าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์สงครามแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี สายตาของเขาสอดส่องไปยังห้องจัดแสดงที่เต็มไปด้วยวัตถุดั้งเดิม (ซึ่งเขาเคยมีประสบการณ์ร่วมกับวัตถุเหล่านั้นมาก่อน) ขณะเดียวกัน ความทรงจำอันโหดร้ายถาโถมใส่จิตใจของเขาอย่างไม่หยุดหย่อน, ฉากนี้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man (2013) สร้างจากเรื่องจริงของนายทหารชาวอังกฤษ นามว่า อีริค โลแม็ก (Eric Lomax) ผู้เคยตกเป็นเชลยศึกสงครามกับประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น และผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายระหว่างที่ถูกคุมขังไว้ในค่ายของทหารญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สถานที่แห่งนั้นกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นทับลงบนพื้นที่เดิม และทุกอย่างถูกรักษาจัดแสดงไว้ดังเดิม (ซึ่งในภาพยนตร์ได้สร้างฉากจำลองพิพิธภัณฑ์สงครามขึ้นใหม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่จริงในปัจจุบัน)

 

ภาพที่ 1 โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Railway Man

แหล่งที่มาภาพ: https://www.imdb.com/title/tt2058107/

 

         บางส่วนของเนื้อหาต่อไปนี้เป็นการสปอยล์ (Spoil) เนื้อเรื่อง ในการที่ตัวเอกหวนคืนกลับมาสู่พื้นที่เดิม แม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของสงครามที่เคยเกิดขึ้น แต่ภายในความรู้สึกและความทรงจำของเขานั้น พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ที่เขาเคยถูกทรมานทางกายและใจเป็นเวลาหลายปีจากฝ่ายทหารญี่ปุ่นเพื่อเค้นข้อมูล การจัดแสดงวัตถุและนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ในลักษณะที่คงสภาพพื้นที่ทางกายภาพไว้ดังเดิมทุกอย่าง ทำให้ภาพความทรงจำในอดีตอันโหดร้ายกลับเข้ามาอีกครั้ง ราวกับทุกอย่างไม่เคยจางหายไป เป็นช่วงจังหวะหนึ่งซึ่งในฐานะผู้ชมภาพยนตร์ กลับรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวแทนเขาเช่นกัน

 

         แม้ภายใต้คำกำกับว่าเป็นการเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น หากแต่สงสัยว่าในอีกแง่มุมหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ได้สร้างบาดแผลและตอกย้ำถึงความโหดร้ายในอดีตที่ปัจจุบันควรถูกหลงลืมไปบ้างหรือไม่? จากตัวอย่างฉากของพิพิธภัณฑ์สงครามผ่านภาพยตร์ The Railway Man กระตุกต่อมให้ผู้เขียนสนใจประเด็นว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอความทรงจำที่รุนแรงและเจ็บปวดจากสงครามหรือโศกนาฎกรรมย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนไม่มากก็น้อย แล้วพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้มีประโยชน์ในแง่มุมอื่นอย่างไร?

 

 

ภาพที่ 2 พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก (The JEATH War Museum) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งฉากของภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man ที่ตัวเอกเดินผ่านประติมากรรมจำลองของเหล่าเชลยศึก แหล่งที่มาภาพ: https://www.thailandtopvote.com/ที่เที่ยว/ที่เที่ยว-77-จังหวัด/11799/

 

          ผู้เขียนพบแง่มุมที่น่าสนใจจากบทความเรื่อง Landscape Remembrance, Fading Memory, and Replacing Memory: Conceptualizing Destination Image and Place Imaginations, Post-War (2012) ของนิโคลัส ไวส์ (Nicholas Wise) อธิบายมุมมองใหม่ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมองพิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่ ที่ไม่ดีบ้างก็ได้ เพราะพิพิธภัณฑ์นำเสนอความทรงจำอันโหดร้ายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำเงินให้กับพื้นที่นั้นๆ โดยเน้นอิทธิพลการท่องเที่ยวเชิงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนิโคลัส ไวส์ ตั้งคำถามว่าพื้นที่เหล่านั้นนำเสนอภาพของสงคราม ความทรงจำและและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว (Destination Image) ด้วยการสื่อสารเรื่องราวในอดีตลงบนพื้นที่อย่างไร? เกิดวาทกรรมที่พยายามกำจัดภาพจำของสงคราม ความขัดแย้งต่างๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมและกายภาพ ด้วยอิทธิพลของการท่องเที่ยวเชิงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สถานที่บางแห่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดัง และถูกนำเสนอถึงอดีตอันโหดร้ายผ่านบริบทการท่องเที่ยวและสถานที่แห่งการเรียนรู้เป็นครั้งแรก

 

           นิโคลัส ไวส์ ยังอธิบายว่าเรื่องราวในอดีตถูกควบคุมผ่านการสื่อสารและสื่อต่างๆ เพื่อพยายามลบเลือนและเจือจางความรุนแรงในอดีตลง ภาพลักษณ์ของสถานที่เหล่านั้นถูกปรับเปลี่ยนผ่าน "การสร้างจินตนาการใหม่" (re)creating ดังนั้นกระบวนการเจือจางความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอยู่กับประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง จนกว่าความทรงจำของสงครามจะถูกแทนที่

 

            ดังพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรีที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2  อาทิ สุสานทหารพันธมิตร พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลก พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก ปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในบทความเรื่อง การสร้างความทรงจำ ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านการจดจำ และการลืมเลือน ชี้ให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์สงครามส่วนใหญ่จะมีเรื่องเล่าความทรงจำเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน ความสูญเสียของบรรดาเชลยศึกและแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟ ซึ่งการเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดผ่านพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ต่างต้องการตอกย้ำความทรงจำเพื่อถ่ายทอดความเจ็บปวดให้ผู้ชมรับรู้และสร้างการจดจำ ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์สงครามแห่งอื่นยังมีการนำเสนอความทรงจำจากเสียงของกลุ่มคนท้องถิ่น การสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทหารและชาวบ้าน เป็นต้น

 

 

 ภาพที่ 3 หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลก ถนนแม่น้ำแคว อำเภอเมือง จ.กาญจนบุรี

 

          ประเด็นเหล่านี้สะท้อนว่าบริบทการทำหน้าที่สื่อความของพิพิธภัณฑ์ในฐานะสถานที่เดิมซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นกระบวนการที่นำเสนอความเจ็บปวดบางอย่างผ่านความทรงจำ แม้พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่แห่งความสูญเสียและเจ็บปวด แต่เมื่อก้าวผ่านมาอีกช่วงเวลาหนึ่ง การนำเสนอความรู้สึกและความทรงจำเหล่านั้น ควรนำเสนอบนความรู้สึกที่สมดุล เพียงพอต่อการแบกรับความรู้สึกทางใจของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งแง่มุมของการนำเสนอด้วยข้อความ เนื้อหานิทรรศการ การใช้คำ ชื่อเรียกต่างๆ ไปจนถึงบรรยากาศภาพรวมของนิทรรศการ การออกแบบ โทนสี ซึ่งไม่แสดงถึงความน่าเกรงกลัว ความหดหู่ หรือความเจ็บปวดและไม่กระทบต่ออารมณ์และจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หากควรเป็นสถานที่ที่คงไว้ซึ่งเรื่องเล่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนการเล่าเสียใหม่ เพื่อไม่สร้างความเกรงกลัวต่ออดีตแห่งความเจ็บปวดให้กับผู้เข้าชม

           "เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการเล่าบาดแผลอย่างสมดุล"

 

          หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอบาดแผลจากสงครามที่มีความน่าสนใจและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนกลายเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนประเทศญี่ปุ่น คือ “พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ” (Hiroshima Peace Memorial Museum) สร้างขึ้นในเมืองฮิโรชิม่าและเปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปีค.ศ. 1995 หลังเกิดเหตุการณ์ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู Little Boy ลงใจกลางเมืองฮิโรชิม่าเมื่อปีค.ศ. 1945 จนเกิดความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินต่อเมืองฮิโรชิม่ามหาศาล เรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกหล่อหลอมไปด้วยความทรงจำจากบาดแผลของผู้คน ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของสงครามแห่งอื่นๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์และการนำเสนอเรื่อราวทางประวัติศาสตร์เช่นกัน

 

ภาพที่ 4 ภาพถ่ายมุมสูงของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ พร้อมสวนอนุสรณ์ (Peace Memorial Park)

แหล่งที่มา: https://theodora.com/wfb/photos/japan/japan_photos_21.html

 

         พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะมีการปรับสมดุลของการบอกเล่าบาดแผลผ่านอาสาสมัครวัยรุ่น วัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงวัย (Hiroshima Peace Volunteers) เป็นการร่วมพูดคุย ฟังการเล่าประสบการณ์จริงและความทรงจำร่วมจากบุคคลที่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้น ผ่านการจัดแสดงวัตถุที่สื่อถึงความบอบช้ำและสูญเสียภายในนิทรรศการ ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดกิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวจากผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิด (A-bomb Survivor Testimony) ที่มีการเดินทางเล่าเรื่องทั้งในพิพิธภัณฑ์และสถานที่อื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียง และการเล่าเรื่องจากคนในครอบครัวหรือผู้สืบทอดผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิด (A-bomb Legacy Successor) พิพิธภัณฑ์จึงเห็นความสำคัญต่อเรื่องเล่าทางประสบการณ์และความทรงจำ จึงมีการคัดเลือกตัวแทนเพื่อสืบทอดเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป

 

          จากความน่าสนใจของการจัดกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สะท้อนถึงการที่พิพิธภัณฑ์มีความพยายามในการดึงความสมดุลระหว่างบาดแผลและการเยียวยา ด้วยการสร้างสรรค์จากปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีความทรงจำร่วมทั้งจากเหตุการณ์และพื้นที่ ผ่านการบอกเล่าด้วยตัวกลางคือการจัดแสดงวัตถุต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ สู่การบอกเล่าเรื่องราวในฐานะบทเรียนแห่งการเรียนรู้ การลดทอนความเจ็บปวด การปรับสภาพความหดหู่และเศร้าโศกสู่ กระตุ้นต่อมความคิดและเชื่อมโยงความรู้สึกของผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทางความคิด ความรู้สึกและทัศนคติสุ่มุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ดีต่อไป

 

ภาพที่ 5 อาสาสมัครสูงวัย Ryosuke Naganuma กำลังอธิบายเรื่องราวของวัตถุที่พบจากการระเบิด

แหล่งที่มาภาพ: http://www.hiroshimapeacemedia.jp/?p=93892

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Wise, Nicholas. (2012). Landscape remembrance, fading memory, and replacing memory:

Conceptualizing destination image and place imaginations, post-war. e-Review of Tourism

Research. 10. 86-91.

 

นัชชา ทากุดเรือ. (2017). การสร้างความทรงจำในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านการจดจำและการลืม

เลือน. Journal of MCU Social Development. 2. 20-38.

 

Hiroshima Peace Memorial Museum เข้าถึงได้จาก http://hpmmuseum.jp/?lang=eng

 

Hiroshima Peace Media Center เข้าถึงได้จาก http://www.hiroshimapeacemedia.jp/?p=93892

 

ณิชา  แหสกุล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ