เล่าต่อๆ กันมาโดยที่ไม่รู้ใครเป็นคนเล่าว่า เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจในประเทศฝรั่งเศสกำลังดำดิ่ง ในความสั่นสะเทือนระดับ 10 ริกเตอร์ สวนกระแสกับชีวิตชิคๆ ฟรุ้งฟริ้ง ฟุ้งเฟ้อ ของคนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศส ณ ขณะจิตนั้นสิ้นดี และดีกรีความเดือดแค้นของความไม่เท่าเทียมกันในขณะนั้น ก็โหมแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ในโทษฐานที่เป็นชายาของท่านผู้นำประเทศอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เอื้อนเอ่ยประโยคสุดแสนจะคลาสลิคออกมาว่า
“Let them eat cake”
แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าพระนางจะพูดอะไรอย่างนั้นออกมาจริงๆ ก็คงจะเป็นภาษาฝรั่งเศสนะครับ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เพราะพระนางเป็นชนชาวฝรั่งเศสอย่างเต็มขั้น ดังนั้นที่จริงแล้ว ในโลกของคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสนั้นจึงอ้างกันว่า พระนางพูดว่า "Qu'ils mangent de la brioche" ต่างหาก
และนั่นก็หมายความด้วยว่า พระนางไม่เคยไล่ใครต่อใครไปกินอะไรที่เรียกว่า “เค้ก” (cake) เลย แต่เป็น “ขนมปังบริยอช” (brioche) ต่างหากที่พระนางได้บอกกับไพร่ฟ้าประชานในประเทศของพระนาง ไปลองจัดหามาชิมดู (และจะชิคๆ คูลๆ เพิ่มขึ้นอีกมากถ้าได้เซลฟี่ด้วย)
ภาพที่ 1 ภาพเหมือนของพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ ไม่ทราบชื่อผู้วาด แต่เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของ ฌอง-บาปติสต์ อองเดร
โกติเย่ร์-ดาโกตี (Jean-Baptiste André Gautier-Dagoty, มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1740-1789)
แหล่งที่มาภาพ: https://simple.wikipedia.org/wiki/Marie_Antoinette
ขนมปังบริยอช ที่ว่าก็คือ ขนมปังสัญชาติฝรั่งเศสประเภทหนึ่งที่อุดมไปด้วยเนยสดเป็นส่วนผสมสำคัญ เนื้อขนมปังนุ่ม เปลือกขนมปังจะไม่หนามาก มีรสชาติออกไปทางหวานเล็กน้อยแต่พองาม แถมยังนำไปปรุงแต่งรสชาติเพิ่มเติมได้อีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการนำไปชุบไข่ ราดน้ำไซรัป กินคู่กับสตรอเบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งกินมันเปล่าๆ ก็อร่อยดี
แต่ขนมปังชนิดนี้ก็ยังมีหลายเกรดอีกนะครับ เกรดระดับขนมปังบริยอชชั้นพรีเมี่ยมจะอุดมไปด้วยเนยสดในอัตราส่วนถึง 70% ของปริมาณแป้งที่ใช้ ผลที่ตามมาก็คือ ขนมปังที่อบออกมาแล้วจะนุ่มนิ่มจนแทบจะละลายไปในปาก เพราะมีส่วนผสมของไขมันมาก ที่สำคัญคือกลิ่นของเจ้าขนมปังนี่มันจะหอมชวนชิมเป็นที่สุด
ในขณะที่ขนมปังบริยอชในเกรดรองๆ ลงมานั้นจะมีหลายสูตร ที่ดีหน่อยจะผสมเนยสดในอัตราส่วน 50% ของปริมาณแป้ง แต่ที่พบโดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนของเนยสดอยู่เพียง 20% เท่านั้น
และก็แน่นอนด้วยว่า ไม่ว่าจะมีการผสมเนยสดลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีฝรั่งที่ไหนเขาเรียกเจ้าขนมปังชนิดนี้ว่า เค้ก เสียหน่อย เพราะว่าเพียงแค่มองจากรูปลักษณ์ภายนอก เจ้าขนมปังบริยอชที่ว่านี่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นดี กับอะไรที่เรียกว่าเค้ก โดยไม่จำเป็นต้องเคยได้ลิ้มชิมรสกันแล้ว
ภาพที่ 2: “ขนมปังบริยอช” ที่ถ้าพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ จะเคยบอกว่า ถ้าประชาชนไม่มีขนมปังกิน
ก็ควรไปกินขนมปังบริยอชนี่มากกว่าที่จะเป็นบอกให้ไปกินเค้ก
ที่มาภาพประกอบ: https://thewoksoflife.com/homemade-brioche-recipe/
ถ้าจะให้ผมเดา ขนมปังบริยอชที่พระนางมารี อองตัวเน็ตต์หมายถึง ก็คงจะเป็นขนมปังบริยอช เกรดพรีเมี่ยม ที่แทบจะละลายตั้งแต่ยังไม่ได้กลืนลงไปในคอ
ดังนั้นเมื่อมีการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ความนุ่มเนียนของเนื้อเจ้าขนมปังบริยอช จึงถูกเปรียบเทียบกับเนื้อเค้ก มากกว่าที่จะเทียบกับขนมปังเย็นๆ เนื้อแข็งๆ (แน่นอนว่า ที่บอกเนื้อแข็งนั้น ก็เป็นเมื่อเปรียบเทียบกันกับเนื้อแป้งฟูๆ ของเค้ก)
และเรื่องมันก็คงจะเก๋ๆ เท่านี้แหละครับ ถ้าตอนนั้นเศรษฐกิจในประเทศของพระนางไม่ดำดิ่ง จนสั่นสะเทือนระดับ 10 ริกเตอร์ อย่างที่ผมเล่าไว้ตั้งแต่แรก
ประเทศฝรั่งเศส ณ นาทีนั้น ชาวนา ชนชั้นแรงงาน และอีกสารพัดผู้คนที่ไม่ใช่คนชั้นสูง กำลังตกอยู่ในภาวะอดอยากปากแห้ง จนว่ากันว่าไม่มีแม้แต่ “ขนมปัง” (ซึ่งก็คืออาหารหลัก ทำนองเดียวกับ “ข้าว” ของเรา) จะใช้ประทังชีวิต และก็ร้ายแรงพอที่จะต่อยอดให้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส และล้มล้างราชวงศ์ เมื่อปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332)
คำแนะนำของพระนางจึงออกจะเป็นเรื่องที่ผิดที่ผิดทาง ในแทบจะทันทีตั้งแต่ที่หลุดออกมาจากปาก เพราะนี่แทบไม่ต่างกับการประชดประชันออกไปว่า
“ถ้าไม่มีข้าวเจ้าจะกินก็ไปหาข้าวไรซ์เบอร์รี่กินแทนซะสิ!”
แต่เรื่องประหลาดก็คือ การที่ถึงแม้จะมีการปฏิวัติวัฒนธรรม และโค่นล้มราชวงศ์ฝรั่งเศสด้วยความโกรธแค้น ที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ในยุคนั้นรีดนาทาเร้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างไกลจนสุดกู่ แต่กลับไม่มีหลักฐานการนำถ้อยคำดังกล่าวของพระนางมาโจมตี ในหมู่ฝ่ายตรงข้ามของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้กระทั่งโดยนักประวัติศาสตร์ฝ่ายโปร
สถาบันฯ ของฝรั่งเศสในยุคนั้นเลยแม้แต่นิด
อันที่จริงแล้ว เราก็ไม่มีหลักฐานเลยด้วยซ้ำไปว่า พระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ เคยบอกเอาไว้อย่างนั้นจริงๆ ด้วยซ้ำไป
ภาพที่ 3: พระนางมารี เทเรสแห่งสเปน ชายาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 อ้างว่าเป็น
“พระนางมารี” คนนี้ต่างหากที่กล่าวคำว่า “Let them eat brioche”
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Maria_Theresa_of_Spain
การที่พระนางไม่เคยถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยความเหล่านี้ก็ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนชั้นดี ถึงความบริสุทธิ์ไร้มลทินในข้อกล่าวหานี้ของพระนาง แถมยังมีข้อมูลที่นักเขียน นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปีค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) อย่าง แอนโทเนีย เฟรเซอร์ (Antoia Fraser) ได้สืบค้น และระบุเอาไว้หนังสือเรื่อง “การเดินทางของพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์” (Marie Antoinette: The Journey) ของเธอเองอย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า ในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์หลังฝรั่งเศสผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม เมื่อปีค.ศ. 1789 ไปแล้วถึง 26 ปี ได้กล่าวอ้างว่า เจ้าของคำพูดดังกล่าวคือ พระนางมารี เตแรซ (Marie-Thérèse) พระชายาเชื้อสายสเปนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีอายุอยู่ก่อนพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ ราว 100 ปีต่างหาก
แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อถือข้อความในบันทึกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 นัก เพราะมักจะเชื่อกันว่า เจ้าของประโยคเจ้าปัญหานี้ คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของโลก ที่มีชื่อว่า ฌ็อง-ฌาร์คส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ไม่ใช่กษัตริย์หรือราชินีที่ไหน
ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ “คำสารภาพ” (Confessions) ของรุสโซ พูดถึงการที่เขาอยากได้ขนมปังสักก้อนมากินแกล้มกับไวน์ที่เขาขโมยมา แต่เขาคิดว่าเขาเแต่งตัวหรูหราเกินกว่าจะเข้าไปในร้านเบเกอรีธรรมดาๆ สุดท้ายเขาก็เลยคิดถึงคำของ “เจ้าหญิง” คนหนึ่งที่กล่าวแนะนำกับชาวบ้านที่ไม่มีขนมปังแม้เพียงสักก้อนจะใช้ประทังชีวิตว่า
“Let them eat brioche”
(ข้อความตอนนี้ที่รุสโซเขียนใน คำสารภาพ ในต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสคือ “Enfin je me rappaelai le pia-aller d’une grande princesse à qui l’on disait que les paysans n’avaient pas de pain, et qui répondit: Qu’ils mangent de la brioche.”)
แน่นอนว่าก็คือขนมปังบริยอชแบบเดียวกันกับที่ถูกจับยัดว่า เป็นประโยคที่ออกมาจากปากของพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ นั่นแหละนะครับ
ไม่มีใครทราบว่า เจ้าหญิงคนนั้นของรุสโซเป็นใคร? แต่ตอนที่คำสารภาพของเขาเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ มีอายุเพียง 9 ขวบ ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ผู้อ้างว่าเจ้าหญิงคนนั้นคือพระนางมารี-เตแรซ ก็มีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้นเอง
ที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครแน่ใจ หรือแม้กระทั่งทราบได้เลยว่า เจ้าหญิงคนที่ว่าของรุสโซเป็นใคร มาจากไหน?
แต่เมื่อพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานต่างๆ แล้ว เธอคนนั้นย่อมไม่ใช่พระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ อย่างที่ตกเป็น “จำเลย” ควบตำแหน่ง “แพะ” ของสังคมอย่างที่มักจะเข้าใจกันในชั้นหลังแน่
เผลอๆ หนึ่งในประโยคสุดแสนจะคลาสลิคนี้ ก็อาจจะไม่เคยผ่านออกจากปากของเชื้อพระวงศ์คนไหนในฝรั่งเศสมาก่อนอย่างที่นักประวัติศาสตร์เขาเชื่อกันนั่นแหละ แต่เป็นตัวของรุสโซเอง ที่เขียนนิทานหลอกเด็กลงไปในอะไรที่เรียกว่า “คำสารภาพ” ของเขาก็เท่านั้น
ภาพที่ 4: ฌ็อง-ฌาร์คส์ รุสโซ อาจจะเป็นผู้ร้ายตัวจริงในกรณีของประโยคสุดคลาสลิคอย่าง “Let them eat brioche”
ภาพจิตรกรรมฝีมือของ มัวริช เควนแตง เดอ ลา ตูร์ (Maurice Quentin de La Tour) วาดเมื่อ ค.ศ. 1753
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Jacques_Rousseau
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ