Museum Core
มองมุมใหม่ในการเรียนรู้ที่ National Museum of Scotland
Museum Core
03 ส.ค. 64 893
ประเทศสก็อตแลนด์

ผู้เขียน : วิชสรา อินทรัตน์

          เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ (Edinburgh, Scotland) เป็นเมืองแรกในการเดินทางท่องเที่ยวในทวีปยุโรป เราพกทั้งความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นเดินทางไปด้วย แต่ทว่าความรู้เกี่ยวกับสกอตแลนด์ยังเป็นศูนย์ ดังนั้นเมื่อสวมบทเป็นนักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้ระหว่างการเดินทางและหลังจากการเดินทางครั้งนี้ คือ ประสบการณ์ ความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายที่ประหยัด และความรู้เกี่ยวกับประเทศสกอตแลนด์ เมื่อได้เตรียมข้อมูลสักพักใหญ่ก่อนที่จะยื่นวีซ่า เราก็พบว่า หนึ่งในสถานที่ที่สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นของเราได้ก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museum of Scotland)

 

 

ภาพที่ 1 ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์

 

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museum of Scotland) ตั้งอยู่บนถนน Chamber Street เขตเมืองเก่าของเอดินบะระ(Edinburgh) เมืองหลวงต้องมนต์ขลังของประเทศสกอตแลนด์(Scotland) ทางสู่พิพิธภัณฑ์ถูกขนานไปด้วยตึกโบราณสีน้ำตาลและสีดำทรงสูงสลับกันไป เมื่อเดินมาถึงหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์เรายืนพิจารณาตัวอาคารสักพักเพื่อให้แน่ใจว่ามาถูกที่ แม้ว่าภายนอกของกลุ่มอาคารบริเวณนี้จะดูขลังและเก่า แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์แล้วก็รู้สึกเหมือนข้ามเวลามาสู่โลกปัจจุบันได้เพียงเสี้ยววินาที

 

 

ภาพที่ 2 โถงกลางของอาคารพิพิธภัณฑ์

 

          เมื่อได้เข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่สัมผัสได้นอกเหนือจากความเป็นโลกปัจจุบันและความทันสมัย ยังรู้สึกถึงความเป็นมิตรของสถานที่แห่งนี้ ความโล่งโปร่งภายในอาคาร จากโถงกลางที่ออกแบบให้เป็นเรือนกระจกที่รับแสงอาทิตย์โดยตรง ทำให้พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์สว่างและปลอดโปร่งมาก จนทำให้มองเห็นการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่คอยยืนให้บริการอยู่รอบๆ ก็ ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยที่จะใช้เวลาทั้งวันเพื่อซึมซับความรู้และความเป็นสกอตติชกับสถานที่แห่งนี้

 

 

ภาพที่ 3 แกะดอลลี่ (Dolly) และห้องจัดแสดงกลุ่มสัตว์สตัฟฟ์

 

          พิพิธภัณฑ์จัดแสดงและบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศสกอตแลนด์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยา ศิลปะ งานออกแบบ แฟชั่นและวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลก โดยไฮไลท์อย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ หุ่นสตัฟฟ์ของ เจ้าแกะดอลลี่ แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลก ที่ยืนนิ่งในตู้กระจกรอให้ผู้เข้าชมจากทั่วโลกมาถ่ายรูป รวมทั้งโซนสัตว์สตัฟฟ์ที่ขนกันมาทั้งป่า ก็สามารถทำให้รู้สึกกึ่งกลัวกึ่งเชื้อชวนให้เข้าไปชม

 

          เราเริ่มเดินรอบๆ เพื่อสำรวจและสังเกตสิ่งต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเดินไปมุมใดมุมหนึ่ง ระหว่างทางที่เดินสำรวจก็ได้เห็นผู้คนหลากหลาย ทั้งมาคนเดียวและมากันเป็นครอบครัว แต่สิ่งที่เราประทับใจคือในช่วงสุดสัปดาห์ เราได้เห็นผู้ปกครองพร้อมด้วยเด็ก ๆ จูงมือกันมาเดินในพิพิธภัณฑ์ เราได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กตามห้องจัดแสดงต่างๆ ออกมาเป็นระยะ แต่ที่ต้องทำให้เดินตามเข้าไปดูแบบจริงจัง เพราะห้องนี้เสียงดังที่สุดเลย ในใจคิดว่าจะต้องมีอะไรสนุกๆ ให้ได้เข้าไปสำรวจ เราไม่รอช้าที่จะเดินตามเสียงและเข้าห้องนั้นไป

 

 

ภาพที่ 4.1 บรรยากาศภายในห้อง Imagine 

 

          เมื่อเดินตามเสียงจนมาถึงห้อง แสงสีส้มปนเหลือง การเคลื่อนไหวของเด็กๆ หุ่นมังกรตัวใหญ่ที่ห้อยลงมารอต้อนรับ รวมทั้งเครื่องเล่นแปลกตาชวนให้ลองเล่น ก็สามารถทำให้เราได้พบกับโลกการเรียนรู้อีกใบหนึ่ง ห้องนี้มีชื่อว่า Imagine ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงที่มีเครื่องมือการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Learning) ที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านจินตนาการและกระตุ้นระบบการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสของเด็กเล็ก โดยใช้รูปทรง สีสัน ลวดลาย และเสียง สอดแทรกและผสมผสานการเล่าเรื่องจากองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดนตรี และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กได้ทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้ช่วยในการเรียนรู้

 

 

ภาพที่ 4.2 บรรยากาศภายในห้อง Imagine

 

          เครื่องมือการเรียนรู้ภายในห้องนี้ เน้นการเคลื่อนไหวและออกกำลังบริหารทั้งร่างกายและสมอง จากทั้งการกระโดดตามตัวโน้ตดนตรี การทดลองประดิษฐ์เสียงจากเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันออกจากหุ่นมังกรตัวใหญ่ที่สุดในห้อง ไม่เพียงแต่เด็กๆ ที่อยากจะลองเล่น ผู้ใหญ่หัวใจยังเด็กแบบเราก็ไม่สามารถอดใจได้ และพบว่าของเล่นของเด็กมักจะสนุก เหมือนทำให้เราย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

 

 

ภาพที่ 5 เครื่องมือการเรียนรู้ภายในห้องจัดแสดงเกี่ยวกับแฟชั่นเสื้อผ้า

 

         เราใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อนั่งมองเด็กๆ และสังเกตได้ถึงสีหน้าที่เต็มไปด้วยความอยากรู้และสงสัยของพวกเขา ผู้ปกครองรับบทเป็นผู้ช่วยในการเรียนรู้ คอยอุ้ม ช่วยจับ รวมถึงปล่อยให้เด็กๆ ได้ทดลองเล่นเครื่องเล่นด้วยตัวของพวกเขาเอง เด็กๆ ได้บริหารกล้ามเนื้อจากการเคลื่อนไหวและการลองเล่น ควบคู่กับการได้บริหารสมองและจินตนาการจากสีสันและข้อมูลจากเครื่องมือการเรียนรู้อีกด้วย ไม่เพียงแต่ห้อง Imagine ที่มีเครื่องมือการเรียนรู้เพียงห้องเดียว แต่ในห้องจัดแสดงอื่นๆ ก็มีเช่นกัน โดยจะสอดแทรกอยู่ตามมุมห้อง แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละมุม

 

 

ภาพที่ 6 กลุ่มเด็ก ๆ สวมใส่ safety vest

 

          ก่อนจะบอกลาจากพิพิธภัณฑ์เราก็ยังพบกับกลุ่มเด็กตัวน้อยที่ใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสง (safety vest)ประมาณ 4-5 คนพร้อมด้วยคุณครูหรืออาสาสมัครที่ดูแลเด็กๆ (ไม่สามารถเดาได้) กำลังพูดคุยและทำข้อตกลงอะไรกันบางอย่างก่อนที่จะเข้าไปในห้องจัดแสดง เมื่อได้เห็นเช่นนั้นจึงทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องปกติของที่นี่

 

          สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้และสัมผัสได้จาก National Museum of Scotland คือ การให้ความสำคัญในการใช้พื้นทีสำหรับการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าผู้เข้าชมวัยไหนก็ไม่ควรที่จะถูกจำกัดในการเรียนรู้ ทุกคนสามารถเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันได้ เป็นผู้สนับสนุนซึ่งกันและกัน สถานที่แห่งนี้ยังเป็นการแบ่งปัน เรียนรู้และใช้เวลาร่วมกันไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนของโรงเรียนที่จะพานักเรียนมาได้ เนื่องจากความอยากรู้เรื่องเพิ่มเติม เราเลยเข้าไปหาข้อมูลในส่วนการทำกิจกรรมของเด็ก โดยเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ก็พบว่ามีการจัดโปรแกรมสำหรับโรงเรียน ที่ใช้ชื่อว่า “Schools Programme” มีสื่อการสอนสำหรับคุณครูที่สามารถนำไปใช้ในการสอนสำหรับนักเรียนได้ อีกทั้งมีการแบ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ต่างๆ (ที่มา: https://www.nms.ac.uk/explore-our-collections/resources/for-teachers-primary-resources/)

 

           ประสบการณ์การเดินพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกในต่างแดนครั้งนี้ ทำให้เราประทับใจและเปิดโลกใบใหม่ให้กับเราเป็นอย่างมาก เหมือนประตูของการเรียนรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของเราเช่นกัน ทำให้สนใจเกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นมากกว่าการจัดแสดงสิ่งของ โบราณวัตถุ หรือการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แบบซ้ำไปมา และอยากจะเดินพิพิธภัณฑ์มากขึ้น พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้คนได้เข้ามาได้มาออกกำลังทั้งร่างกายและจินตานาการ แลกเปลี่ยนและสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงการมีพื้นที่สาธารณะที่อาจจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนสังคมในอนาคตต่อไปได้

 

วิชสรา  อินทรัตน์

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ