เมื่อพูดถึงธุรกิจครอบครัวแล้ว ผู้มีอาชีพค้าขายทุกคนคงจะทราบกันดีว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะรักษากิจการชนิดใดชนิดหนึ่งให้คงอยู่ท่ามกลางภาวะขึ้นลงของเศรษฐกิจได้เป็นระยะเวลายาวนาน ยิ่งไปกว่านั้น คือหาผู้สืบทอดที่จะสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าไว้เทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม อยู่ได้เกิน 3 รุ่นก็ถือว่ายากและน้อยเต็มที โดยเฉพาะเมื่อไม่ใช่สินค้าปัจจัยสี่ที่ผู้คนจำเป็นต้องซื้อกันอยู่ทุกวัน
แต่ร้านเมลเลริโอ หรือ ลา เมซอง เมลเลริโอ ดิ เมลเลอร์ (La maison Mellerio dits Meller) เป็นร้านช่างเครื่องประดับอิสระในฝรั่งเศสที่แสนจะน่าทึ่ง เพราะสืบทอดกันมายาวนานถึง 15 รุ่น ตั้งแต่ปีค.ศ. 1515 (เทียบเวลากับไทยจะตรงกับสมัยอยุธยา ยุคราชวงศ์สุวรรณภูมิ) โดยเจ้าของยังคงเป็นครอบครัวเดิมไม่เคยขายกิจการ ถือเป็นร้านสำคัญที่มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ยุโรป รวมถึงเป็นร้านที่คิดค้นวิธีการเจียระไนเพชร เป็นรูปไข่ 57 เหลี่ยม จึงได้ชื่อว่า เมลเลริโอ คัท (Mellerio Cut)
เรื่องราวของเมลเลริโอไม่ได้เริ่มต้นอย่างสวยหรู ครอบครัวเมลเลริโอเดิมเป็นช่างฝีมือและพ่อค้าในชุมชนคาราเว็จจา (Craveggia) แคว้นปีเยมอนเต (Piemonte) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี สมัยเรเนสซองส์พวกเขายังไม่มีร้านค้าเป็นของตน เพียงเริ่มทำเครื่องประดับบรรจุลงในกล่องไม้ใหญ่ที่แบ่งเป็นช่อง ๆ แล้วแบกขึ้นหลังเหมือนเป้ เดินทางนำไปเสนอขายตามปราสาทราชวัง บ้านผู้มีฐานะ และงานแฟร์ต่าง ๆ เครื่องประดับของเมลเลริโอมีจุดเด่นที่การเจียระไนเพชรพลอยออกมาเล่นแสงได้งาม ดีไซน์มีลูกเล่นน่าสนใจ มักเป็นรูปทรงเกี่ยวกับธรรมชาติและสถาปัตยกรรมอิตาลี
หลังจากตระเวนขายสินค้าและสร้างชื่อเสียงมาเกินชั่วอายุคน ฝีมือของเมลเลริโอก็ไปเข้าตาสตรีผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพล มารี เดอ เมดิชี (Marie de Medici) ลูกสาวตระกูลเมดิชีจากแคว้นทัสคานี (Toscana) อันเป็นตระกูลกิจการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 15 มารีได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ราชวงศ์บูร์บงแห่งฝรั่งเศส (Henry IV, House of Bourbon) และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหลังจากพระเจ้าเฮนรีสวรรคต ด้วยความที่เป็นคนอิตาลีเหมือนกัน ในปีค.ศ. 1613 พระนางมีพระเสาวนีย์ให้เมลเลริโอสามารถนำเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ เข้ามาถวายในวังได้ แทนที่จะผูกขาดเครื่องทรงทั้งหมดกับช่างหลวงฝรั่งเศสอย่างเมื่อครั้งที่พระสวามียังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวเมลเลริโอจึงอาศัยไป ๆ มา ๆ ระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี พวกเขาประสบกับการกีดกันทางการค้าหลายครั้งจากนายทุนธุรกิจฝรั่งเศส แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ตลอดโดยใช้เอกสารพระเสาวนีย์เป็นยันต์กันภัย แม้เมื่อสิ้นรัชสมัยพระนางมารี เดอ เมดิชี แล้ว บรรดาพระราชินีฝรั่งเศสต่างก็พอพระทัยที่จะต่ออายุเอกสารให้เมลเลริโอทุกรุ่น
ดีไซน์สินค้าที่กลายเป็นที่นิยมมากของชาววังและชนชั้นสูง คือ จี้รูปใบหน้าบุคคล (Cameo) ชิ้นที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือสร้อยข้อพระหัตถ์ของพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) สลักพระฉายาลักษณ์ของจักรพรรดิโรมัน 7 พระองค์ การแกะสลักบนเปลือกหอยหรือหินสีอย่างนี้ที่จริงมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันแล้ว โดยเฉพาะทำเป็นรูปเทพเจ้า แต่เพิ่งจะกลับมาเริ่มฮิตกันใหม่ในยุคของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ราชวงศ์ทิวดอร์แห่งอังกฤษ (Elizabeth I, House of Tudor) และก็ค่อย ๆ มีการปรับเปลี่ยนมาแกะสลักรูปใบหน้าบุคคลในประวัติศาสตร์หรือในชีวิตจริงของลูกค้า ซึ่งเมลเลริโอก็ไม่พลาดที่จะติดตามกระแสความนิยม และเรียนรู้วิธีแกะสลักออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ
ภาพที่ 1 เครื่องทรงเมลเลริโอของพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์
แหล่งที่มาภาพ: ZepJewelry. (2018, July 19). Brooches Jewels : Mellerio diamond brooch, owned by Marie Antoinette. Retrieved from https://zepjewelry.com/brooches/brooches-jewels-mellerio-diamond-brooch-owned-by-marie-antoinette/, Meylan, V. (2020, March 20). House of Mellerio: Jeweler to Queens. Retrieved from https://www.sothebys.com/en/articles/house-of-mellerio-jeweler-to-queens
การปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงปีค.ศ. 1789-1799 และสงครามนโปเลียน ปีค.ศ. 1803-1815 ก่อความสับสนวุ่นวายในสังคมฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก แต่ปรากฏว่า เครื่องประดับของเมลเลริโอยังสามารถรักษายอดขายที่สูงเอาไว้ได้ แม้กระทั่งในวันทลายคุกบาสตีล 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ก็ตาม ครั้นเมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ขึ้นเป็นกงสุลคนแรกของสาธารณรัฐ และต่อมาก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ พระองค์กับพระจักรพรรดินีคือ โจเซฟีน เดอ โบอาร์แน (Joséphine de Beauharnais) ก็โปรดเครื่องประดับเมลเลริโออย่างมากเช่นกัน
ครอบครัวเมลเลริโอเปิดร้านเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1796 ที่ถนนรู วิเวียน (Rue Vivienne) ใกล้กับพระราชวังแวร์ซายส์ ดึงดูดผู้มีฐานะและดารานักแสดงให้มาซื้อสินค้า ภายหลังพวกเขาย้ายร้านมายังถนนรู เดอ ลา เปซ์ (Rue de la Paix) ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ร้านตั้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อจบสมัยจักรวรรดิ ราชวงศ์บูร์บงได้หวนคืนบัลลังก์อีกครั้ง เมลเลริโอก็ได้เป็นช่างเครื่องประดับหลักของชาววังแวร์ซายส์
ภาพที่ 2 ร้านที่ถนนรู เดอ ลา เปซ์ ยังคงอยู่ที่เดิมมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งที่มาภาพ: Meylan, V. (2020, March 20). House of mellerio: Jeweler to Queens. Retrieved from https://www.sothebys.com/en/articles/house-of-mellerio-jeweler-to-queens, Besse, E.(2019, January 15). Mellerio aux Galeries Lafayette Haussmann. Retrieved from https://www.carnetsduluxe.com/business/mellerio-aux-galeries-lafayette-haussmann/
ปีค.ศ. 1848 ฝรั่งเศสพลิกกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกรอบ หลานชายจักรพรรดินโปเลียนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จากนั้นก็ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิซ้ำรอยลุง ถึงตอนนี้ สมาชิกครอบครัวเมลเลริโอบางคนก็ชักจะหน่ายสถานการณ์การเมืองของประเทศน้ำหอมเต็มทน หนึ่งในนั้นคือ ฌ็อง เมลเลริโอ (Jean Mellerio) เขาตัดสินใจเดินทางไปสเปน สร้างผลงานและค้าขายอยู่ไม่นานก็ได้รับสิทธิ์ให้เข้าเฝ้าถวายเครื่องทรงแก่ราชวงศ์สเปน เมลเลริโอจึงเปิดร้านสาขากรุงมาดริดในปีค.ศ. 1850
ที่สเปนนี้เอง เมลเลริโอมีโอกาสแสดงฝีมือทำเครื่องประดับที่ขนาดใหญ่และโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ชิ้นที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ มงกุฎรัดเกล้าทรงเปลือกหอย (The Mellerio Shell Tiara) อันเป็นของขวัญวันราชาภิเษกสมรส ที่สมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาที่ 2 ราชวงศ์บูร์บงแห่งสเปน (Isabella II, House of Bourbon) พระราชทานให้แก่พระธิดา คือ เคาน์เตสอินฟันตา อิซาเบลลา (Infanta Isabel, Countess of Girgenti) เป็นที่น่าสนเท่ห์อย่างยิ่งว่า มงกุฎนี้มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์แปลกตา แต่ไม่ได้แปลกเกินจนดึงความสนใจไปจากพระพักตร์ราชนิกุล อีกทั้งไม่เคยดูล้าสมัย ราชวงศ์สเปนจึงใช้ออกสู่สาธารณชนมาโดยตลอด ตกทอดมายังสมเด็จพระราชินีเลตีเซีย (Queen Letizia) ในปัจจุบัน
ภาพที่ 3 มงกุฎรัดเกล้าทรงเปลือกหอยของราชวงศ์สเปน
แหล่งที่มาภาพ: Baciero, C. A. (2021, January 11). La borbónica vida de "La Chata" y su tiara de las conchas, el regalo nupcial que llegó hasta Letizia. Retrieved from https://www.revistavanityfair.es/realeza/articulos/isabel-la-chata-vida-tiara-mellerio-las-conchas/48113
นอกจากชนชั้นปกครองของฝรั่งเศสและสเปนแล้ว ร้านเมลเลริโอซึ่งบัดนี้มีชื่อเสียงขจรไกลยังได้ต้อนรับลูกค้าสำคัญจากนานาประเทศ เช่น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 (William III) แห่งฮอลแลนด์ พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 (Vittorio Emanuele II) แห่งอิตาลี เหล่าเจ้าชายราชสกุลยูซูพอฟ (Yuzupov) แห่งรัสเซีย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) แห่งอังกฤษ มหาราชาแห่งเมืองกปุรถละ (Maharaja of Kapurthala) รัฐปัญจาบในอินเดีย เป็นต้น โดยมีการจดบันทึกข้อมูลลูกค้า ยอดขาย และดีไซน์ชิ้นงานอย่างละเอียดมากกว่า 100,000 ชิ้น
ในปีค.ศ. 1981 ครอบครัวเมลเลริโอก้าวออกจาก comfort zone ที่ผลิตเครื่องเพชรพลอย มาฝึกความเชี่ยวชาญในงานโลหะสวยงามชนิดอื่น ๆ ดูบ้าง และพวกเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ทำถ้วยรางวัลกีฬา คู เดส์ มูส์เกแตร์ (Coupe des Mousquetaires) สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งเทนนิสเฟรนช์โอเพน (French Open) ทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับเลือกให้เป็นช่างตีดาบสำหรับใช้ในพิธีการของราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส (Académie Française) ดาบแต่ละเล่มจะจารึกเครื่องหมายความสำเร็จของบัณฑิตแต่ละคนบนด้ามไว้โดยไม่มีซ้ำกัน
ภาพที่ 4 ถ้วยรางวัลเฟรนช์โอเพนของราฟาเอล นาดาล
แหลงที่มาภาพ: Mittal, B. (2020, August 19). Reports: Rafael Nadal tranfers his age-old account from Banco Sabadell. Retrieved from https://www.essentiallysports.com/reports-rafael-nadal-transfers-his-age-old-account-from-banco-sabadell-atp-tennis-news/
ทุกวันนี้ เมลเลริโอเป็นหนึ่งในร้านเครื่องประดับไม่กี่ร้านบนถนนรู เดอ ลา เปซ์ บริเวณซึ่งกลายมาเป็นย่านแบรนด์เนมของกรุงปารีส ที่ยังคงเป็นร้านอิสระขนาดกลาง พวกเขามีหน้าร้านเพียง 3 สาขาเท่านั้น ได้แก่ ที่ฝรั่งเศสบนถนนเส้นนี้ ลักเซมเบิร์ก และญี่ปุ่น ที่สำคัญ ไม่ได้ถูกซื้อกิจการไปโดยเครือธุรกิจใหญ่อย่าง LVMH, Kerring หรือ Hermes International
ประสบการณ์และความสำเร็จของร้านเมลเลริโอเป็นตัวอย่างเรื่องราวกิจการครอบครัวที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เปรียบได้กับ “กงสี” ที่คุ้นเคยกันในบ้านเรา แต่นอกจากจะอาศัยสินค้าคุณภาพดีที่คนทุกชาติทุกภาษาล้วนชื่นชอบ และความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัวแล้ว เมลเลริโอยังทำให้เราได้เห็นว่า มีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่ส่งผลให้ธุรกิจอยู่รอดถึง 15 รุ่น ไม่ว่าจะเป็นความกล้าที่จะเดินทางโยกย้าย การเรียนรู้และฝึกฝนสิ่งใหม่ตามยุคสมัย ไหวพริบจิตวิทยาในการรักษาชื่อเสียงและความสัมพันธ์กับลูกค้า การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระเบียบโปร่งใส ฯลฯ
สินค้าแฟชั่นของเมลเลริโอยังเป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์ชั้นดี ทั้งด้านเทคโนโลยี ดีไซน์ และสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง เพราะเครื่องประดับชั้นสูงและศิลปะสวยงามในแง่หนึ่งก็คือ เครื่องหมายของลาภยศสรรเสริญ ในอดีต ผลงานเลอค่าของเมลเลริโออาจเป็นสิ่งที่คู่ควรแก่ชนชั้นปกครองเป็นหลัก แต่อิทธิพลของพ่อค้า ทหาร และชนชั้นกลางในสมัยปฏิวัติ ก็ทำให้มันสามารถเป็นเครื่องแต่งตัวของดารานักแสดงและหนุ่มสาวทั่วไป สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็นรางวัลของนักเทนนิสและบัณฑิต
หากว่าเตาหลอมและทั่งตีเหล็กของเมลเลริโอพูดได้ มันก็คงจะเล่าถึงพัฒนาการแนวคิดในสังคมฝรั่งเศส จากวันที่ให้ความสำคัญแก่อำนาจยศศักดิ์ เงินตรา รูปลักษณ์ มาจนถึงวันที่ทุกคนยกย่องความรู้ความสามารถของคนในระดับชาติอย่างวันนี้
บรรณานุกรม
Académie Française. (2021). L'habit vert et l'épée. Accueil. Retrieved from https://www.academie-francaise.fr/les-immortels/lhabit-vert-et-lepee.
Eszter. (2015, September 22). Maison of hidden treasures. Retrieved from https://loupiosity.com/2012/12/maison-of-hidden-treasures/
Meylan, V. (2020, March 20). House of mellerio: Jeweler to Queens. Retrieved from https://www.sothebys.com/en/articles/house-of-mellerio-jeweler-to-queens
The Court Jeweller. (2017, July 1). The Mellerio Shell Tiara. Retrieved from http://www.thecourtjeweller.com/2017/07/the-mellerio-shell-tiara.html.
The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2020, September 10). French Revolution. Encyclopædia Britannica. Retrieved from https://www.britannica.com/event/French-Revolution.
The Natural Diamond Council. (2021, April 6). Mellerio: The Oldest Jeweler in the World. Only Natural Diamonds. Retrieved from https://www.naturaldiamonds.com/epic-diamonds/mellerio-the-oldest-jeweler-in-the-world/.
พีริยา จำนงประสาทพร