Museum Core
อนุสรณ์วีรชนในเหตุการณ์ลอบสังหารไรน์ฮาร์ด ฮายดริช
Museum Core
09 ส.ค. 64 2K
ประเทศเช็กเกีย

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

 

          ภายใต้โบสถ์แห่งหนึ่งในกรุงปราก (Prague) มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ทำขึ้น เพื่อระลึกถึงวีรชนชาวเช็กและสโลวัค รวมทั้งเหยื่อของการสืบสวนและการล้างแค้นของนาซี สืบเนื่องมาจากการลอบสังหารนายพลคนสำคัญที่ทรงอำนาจเป็นอันดับสามในอาณาจักรไรซ์ ไรน์ฮาร์ด ฮายดริช (Reinhard Heydrich)

 

ไรน์ฮาร์ด ฮายดริช (Reinhard Heydrich)

         นายทหารหนุ่มที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) วางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจของเขาในอนาคต ฮายดริชเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้แผนการกำจัดชาวยิวเป็นรูปธรรม วางระบบของอุตสาหกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และผลักดันให้มันเดินเครื่อง แต่เขาไม่ได้อยู่ชื่นชมผลสำเร็จเพราะความอหังการ์ของตนเอง

 

         ปลายปี ค.ศ.1941 ฮายดริชได้รับมอบหมายให้เข้าไปควบคุมดูแลรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวีย (Protectorate of Bohemia and Moravia เป็นดินแดนส่วนใหญ่ของเชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia)) เพื่อปราบปรามผู้ต่อต้าน ใช้กฎเหล็กจัดการให้ดินแดนดังกล่าวรองรับหน้าที่ในการเป็นศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อผลิตส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพ ฮายดริชมีนโยบายในการทำให้เป็นเยอรมันและกำจัดผู้ไม่พึงประสงค์อย่างเด็ดขาด เพียงไม่นานเขาก็สามารถควบคุมการก่อการร้ายให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและดินแดนในอารักขาก็เริ่มทำผลผลิตเพิ่มขึ้น

 

         ในช่วงเวลาเดียวกัน หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ (โดยความประสงค์ของรัฐบาลพลัดถิ่นเชโกสโลวาเกีย) ได้เรียกอาสาสมัครจากกองกำลังพลัดถิ่นเข้ารับการฝึกเพื่อเตรียมปฏิบัติการลอบสังหารที่ภายหลังรู้จักกันในชื่อปฏิบัติการแอนโธรพอยด์ (Operation Anthropoid) ในวันใกล้สิ้นปี ค.ศ.1941 โยเซฟ แกบชิค (Jozef Gabčík) ยาน คูบิส (Jan Kubiš) กับทีมคอมมานโดโดดร่มลงในดินแดนเชโกสโลวาเกียและค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในกรุงปราก

 

วันลอบสังหาร

          ฮายดริชมักไปไหนมาไหนในกรุงปรากด้วยรถเปิดประทุนและไม่มีขบวนคุ้มกัน ด้วยความอหังการ์ราวกับว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ มาแผ้วพานเขาได้ การลอบสังหารเกิดขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1942 เป็นการลอบสังหารที่หวุดหวิดจะไม่สำเร็จ ในวินาทีที่โยเซฟ แกบชิค ยิงใส่ฮายดริชด้วยปืนสเตนที่ขัดลำกล้อง หากฮายดริชจะสั่งให้คนขับเร่งเครื่องหนีจากจุดเกิดเหตุเขาคงจะมีชีวิตรอดไปก่อกรรมทำเข็ญได้อีกมาก แต่เขากลับสั่งให้หยุดรถและยืนขึ้นชักปืนพกเพื่อจะยิงตอบโต้อย่างใจเย็น ในจังหวะนั้นเองที่ ยาน คูบิส โยนระเบิดมือที่ดัดแปลงจากระเบิดต่อต้านรถถังเข้าใส่รถของฮายดริช ด้วยมือที่สั่นด้วยความตื่นเต้น...ระเบิดพลาดเป้าไปตกลงใกล้ล้อหลังด้านขวา แต่ก็ทำให้ฮายดริชได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตใน 8 วันต่อมา ความตายของฮายดริชเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลต่อจุดเปลี่ยนของสงคราม

 

 

 ภาพ 1: ร่องรอยกระสุนปืนกลที่ผนังด้านนอกโบสถ์เซนต์ซีริลและเมโทเดียส

 

ผลที่ตามมา

         ฮิตเลอร์โกรธมาก สั่งสังหารประชาชนเพื่อล้างแค้นไปประมาณ 5,000 คน หมู่บ้านลิดิช (Lidice) และเลซากี (Lezaky) ซึ่งให้ที่พักพิงกับทีมลอบสังหารถูกทำลายราบลงกับพื้นดิน ผู้ชายถูกฆ่า ผู้หญิงและเด็กถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ทีมลอบสังหารหนีไปซ่อนในสุสานใต้ดินของโบสถ์เซนต์ซีริลและเมโทเดียส (Cathedral Church of Saints Cyril and Methodius) ในกรุงปรากได้สิบกว่าวัน ก่อนที่จะมีผู้ขายความลับของที่ซ่อนให้แก่นาซี

 

         ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1942  โบสถ์เซนต์ซีริลและเมโทเดียสจึงได้เป็นประจักษ์พยานของหลายชั่วโมงอันยาวนานที่กองกำลังเอสเอสกว่า 700 นาย กดดันทุกวิถีทางเพื่อจะจับกุมทีมลอบสังหาร 7 นาย  ตั้งแต่การระดมยิงใส่ด้วยปืนกลหนัก ใช้แก๊สน้ำตา ใช้ระเบิดนานาชนิด การอัดน้ำลงไปในสุสานใต้ดินเพื่อให้คนในนั้นยอมออกมามอบตัว แต่พวกเขาไม่ยอมให้จับเป็นและไม่ยอมแพ้ ในที่สุดสามคนถูกยิงเสียชีวิตในโบสถ์และอีกสี่คนฆ่าตัวตายในสุสานก่อนที่พวกเอสเอสจะบุกมาถึงตัว

 

พิพิธภัณฑ์

         ภายหลังจากสาธารณรัฐเชคได้สถาปนาขึ้น พวกเขาทำนิทรรศการภายในสุสานใต้ดินในปี ค.ศ.1995 เพื่ออุทิศให้แก่วีรกรรมของทหารทั้ง 7 นาย ต่อมาในปี ค.ศ.2011 มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเป็นอนุสรณ์สถานและต่อเติมช่วงใต้บันไดของโบสถ์เป็นห้องนิทรรศการเล็กๆ ทำทางเดินทะลุไปยังสุสานใต้ดินซึ่งแต่เดิมสามารถเข้าถึงได้จากประตูลับบริเวณพื้นหน้าแท่นบูชาภายในตัวโบสถ์  ห้องนิทรรศการมีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย  ส่วนใหญ่เป็นบอร์ดเล่าเรื่องราวเรียงไปตามลำดับ ตั้งแต่การปูพื้นฐานเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประวัติไรน์ฮาร์ท ฮายดริช ประวัติทีมผู้ลอบสังหาร ครอบครัวและผู้ให้ความช่วยเหลือ การฝึกและเตรียมปฏิบัติการ เหตุการณ์ในวันลอบสังหาร การล้างแค้นของนาซี และเหตุการณ์ในวันสุดท้าย สิ่งจัดแสดงเพียงไม่กี่ชิ้นช่วยปลุกให้เรื่องเล่าดูมีชีวิต และนำไปสู่สถานที่เกิดเหตุที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ก้าว

 

 

ภาพ 2: หนังสือเปื้อนเลือดของวีรชน

 

          เขาทำประตูเหล็กสีดำหนาหนักดูน่ากลัวกั้นระหว่างห้องนิทรรศการกับทางเดินไปสุสานใต้ดินให้ผู้เข้าชมต้องออกแรงผลักเข้าไป ภายในนั้นนอกจากรูปปั้นครึ่งตัวของเหล่าวีรชนที่ดูสงบและถ่อมตน ตัวสถานที่นั้นเองคือสิ่งจัดแสดง ร่องรอยของกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิด ซากปรักหักพัง ช่องที่พวกเอสเอสหย่อนแก๊สน้ำตา ช่องใกล้ทางเท้าที่ใช้สอดท่อสูบน้ำลงมา ผู้เขียนรู้สึกว่าในบรรดาพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นในสถานที่เกิดเหตุ (Site Museum) ที่เคยชมมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และสร้างความสะเทือนใจได้อย่างลึกซึ้ง

 

           ในห้องใต้ดินที่เรายืนอยู่นี้เคยมีผู้ล้มลงเสียชีวิตเมื่อหลายสิบปีก่อน ภายหลังจากที่ต้องอดทนกับความกดดันและทารุณจิตใจ ด้วยสถานที่ที่ทั้งแคบและมืดของสุสานทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกจนมุมและการต่อสู้ที่รู้ว่าจะจบลงด้วยความตาย เมื่อนึกไปว่าคนอย่างเราจะต้องการความกล้าหาญประมาณไหนกันในสถานการณ์ข่มขวัญขนาดนั้น นำไปสู่การยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัยถึงวีรกรรมความกล้าหาญของพวกเขา

 

          กรุงปรากไม่ได้มีเพียงโบราณสถานที่สวยงามเท่านั้น ยังมีสถานที่ที่สะท้อนบทบาทของชาวเช็กในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่มีความโดดเด่น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานวีรชนในเหตุการณ์ลอบสังหารไรน์ฮาร์ท ฮายดริชสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้เข้าชมจากทั่วโลก ผู้ชมหลายคนกล่าวว่ามันสร้างประสบการณ์ที่เปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของพวกเขา สำหรับผู้เขียนมันทำให้เห็นสาธารณรัฐเช็กในมุมมองใหม่และกระตุ้นให้อยากศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เช็กย้อนไปอีกยาวไกล

 

แหล่งอ้างอิง

https://english.radio.cz/last-days-heroes-operation-anthropoid-pragues-cyril-and-methodius-church-8191745

 

https://prague-now.com/history/heydrich-terror-museum-memorial-to-czech-heroes/

 

https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/reinhard-heydrich-in-depth

 

http://www.bbc.com/travel/story/20170831-a-prague-church-that-defied-nazi-rule

 

ภาพยนตร์ที่เล่าเหตุการณ์นี้ เช่น ATENTÁT (The Assassination (1964) เป็นภาพยนตร์เช็ก), Anthropoid (2016),  The Man with the Iron Heart (2017)

 

กระต่ายหัวฟู

Flag Counter

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ