“ทูลฝ่าบาท บางสิ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อน บัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว” คือคำประกาศที่จารึกไว้ในงานประพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุดบนโลกของเรา ถ้าให้ลองเดาดูว่าคนที่เขียนถ้อยคำนี้คือใคร หลายคนอาจจะเดาว่าเป็นกวีโฮเมอร์ ผู้แต่งมหากาพย์อีเลียดกับโอดิสซี ซือหม่าเชียน ผู้บันทึกเอกสารประวัติศาสตร์ฉื่อจี้ หรือไม่ก็นึกถึงฤๅษีวาลมีกิ ผู้เขียนเรื่องรามายณะ
แต่เจ้าของถ้อยคำดังกล่าว แท้จริงแล้วอยู่ในยุคเก่ากว่าบรรดานักเขียนทั้งหมดที่กล่าวมา ในดินแดนแรกที่มนุษยชาติเริ่มมีการประดิษฐ์อักษร นางถูกกาลเวลาลืมเลือนไปจนไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไรนักในทุกวันนี้ คือ เอนเฮดูอันนา (En-hedu-Anna) เจ้าหญิงและนักบวชแห่งเมโสโปเตเมีย
ภาพที่ 1 แผ่นหินแกะสลักรูปเอนเฮดูอันนาอยู่ตรงกลาง ทำพิธีทางศาสนากับผู้ช่วย 3 คน
Museum of Archaeology and Anthropology, University of Pennsylvania, Image courtesy of the Penn Museum, Image #295918, Object B16665. (2020, June). Calcite disk. ResearchGate. https://www.researchgate.net/figure/Calcite-disk-Ur-circa-2300-BCE-found-in-a-1927-archaeological-excavation-that_fig1_335008365.
เมโสโปเตเมียเป็นดินแดนโบราณลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส (ปัจจุบันคือบริเวณประเทศอิรัก อิหร่าน ตุรกี ซีเรีย และคูเวต) ซึ่งมีร่องรอยอารยธรรมมนุษย์อยู่ตั้งแต่การปฏิวัติยุคหินใหม่ที่เราเริ่มทำเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก เมื่อ 12,000-9,000 ปีก่อนคริสตกาล ครั้นเมื่อการค้าและการคำนวณรุ่งเรืองขึ้นในช่วงราว 4,000-3,500 ปีก่อนคริสตกาล ภูมิภาคนี้ก็ประดิษฐ์อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform) เขียนโดยใช้กิ่งต้นกกหรือวัสดุปลายแหลมอื่น ๆ มากดจารบนแผ่นดินเหนียวเพื่อบันทึกจำนวนผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก
เอนเฮดูอันนาถือกำเนิดในสมัย 2,286 ปีก่อนคริสตกาล (ตรงกับ 3,524 ปีก่อนการก่อตั้งกรุงสุโขทัย) บิดาของนางคือ พระเจ้าซาร์กอนมหาราช (Sargon the Great) กษัตริย์นักรบผู้สถาปนาจักรวรรดิอัคคาด (Akkad) หลังจากทำสงครามรวบรวมเมโสโปเตเมียภาคเหนือและภาคใต้เข้าเป็นปึกแผ่น ถือได้ว่าพระองค์เป็นจักรพรรดิองค์แรกในโลกของเรา
เมโสโปเตเมียในยุคนั้นประกอบด้วยหลายๆ นครรัฐของกลุ่มชนต่างเชื้อชาติต่างภาษา นอกจากชาวอัคคาเดียนอย่างพระเจ้าซาร์กอนแล้ว ยังมีชาวอัสซีเรียน ชาวฮิตไทต์ ชาวบาบิโลเนียน และกลุ่มสำคัญที่มีจำนวนมากและครองอำนาจในบริเวณนี้มาก่อนก็คือชาวสุเมเรียน การก่อตั้งจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่แค่รบชนะแล้วก็จบ พระเจ้าซาร์กอนทรงตระหนักว่าชาวสุเมเรียนพร้อมจะก่อกบฏเพื่อประกาศอิสรภาพจากพระองค์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สายพระเนตรอันกว้างไกลเล็งเห็นว่าแผนการสร้างความจงรักภักดีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของราษฎรจะต้องใช้สิ่งที่มากกว่าการบังคับด้วยกำลังภายนอก ทว่าเป็นการหล่อหลอมความคิดจิตใจภายใน นั่นก็คือ ศาสนา
เมโสโปเตเมียมีเทพเจ้าอยู่มากมาย แต่ที่ชาวสุเมเรียนศรัทธาร่วมกันมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเทพฝาแฝดชายหญิง นันนา (Nanna) เทพแห่งดวงจันทร์และปัญญา ผู้พิทักษ์เมืองอูรุค (Uruk) กับ อินันนา (Inanna) เทวีแห่งความรักและสงคราม ผู้พิทักษ์เมืองอูร์ (Ur) ทั้งสองเมืองนี้อยู่ทางใต้ริมแม่น้ำยูเฟรตีสใกล้อ่าวเปอร์เซีย อันเป็นแหล่งที่ชาวสุเมเรียนอาศัยอยู่มากที่สุด ดังนั้น พระเจ้าซาร์กอนจึงทรงมีพระราชโองการส่งเอนเฮดูอันนา ในฐานะพระธิดาองค์โตที่ทรงไว้วางพระทัยยิ่งเดินทางออกจากเมืองหลวงลงใต้ไปเป็นนักบวชแห่งวิหารเมืองอูร์ ในตำแหน่ง เอน “สังฆราชินี” (En – The High Priestess) ที่เราเรียกเป็นคำนำหน้าชื่อของนางนี้เอง เพื่อรับผิดชอบจัดการทรัพยากรและปรับความรู้สึกของชาวสุเมเรียนอย่างใกล้ชิด
ภาพที่ 2 ตราจักรวรรดิอัคคาด เป็นภาพเทวีอินันนาทรงกำราบสิงโต
Sailko - Own work, CC BY 3.0. Akkadian antiquities in the Oriental Institute Museum. https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=65576561
ในเมืองอูร์ เอนเฮดูอันนาต้องปกครองราษฎรกว่า 34,000 คนเป็นเวลากว่า 40 ปี วิหารของนางมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างชลประทาน เก็บสะสมและบริหารเมล็ดพันธุ์พืช จัดพิธีกรรมทางศาสนาทุกเดือน และเปิดให้ผู้คนเข้าพบเพื่อรับฟังปัญหาหรือทำนายความฝัน แต่สิ่งที่ทำให้เอนเฮดูอันนาพิเศษกว่านักบวชคนอื่น ๆ ที่โลกเคยมีมา ก็คือไม่เพียงแต่นางผสมผสานความเชื่อของราษฎรเข้าด้วยกันโดยสร้างเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้าในภาคเหนือกับภาคใต้ และใช้เทพเจ้าสนับสนุนความชอบธรรมของพระเจ้าซาร์กอนตามพระราชประสงค์เท่านั้น ทว่านางมีมุมมองความคิดเกี่ยวกับ “การเล่าเรื่องทางจิตวิญญาณ” ที่แปลกน่าสนใจ
แทนที่จะระบุกฎศาสนาเป็นข้อ ๆ ว่าควรทำอะไรหรือห้ามทำอะไร หรือเล่าว่าเทพเจ้าสนับสนุนจักรพรรดิอย่างไร ชาวสุเมเรียนจึงควรเชื่อฟัง แต่นางกลับเล่าเรื่องราวทางศาสนาในลักษณะที่เป็นวรรณคดี ทำให้บรรดาเทพเจ้าที่เดิมเป็นตัวแทนของพลังธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ (Humanization) มีจุดเด่นจุดด้อย มีความรักความเกลียด มีอดีตฝังใจ ขัดแย้งต่อสู้กัน และไม่อาจหนีพ้นความเจ็บปวดโศกเศร้า แต่ละองค์สามารถได้ยินและตอบสนองต่อคำอธิษฐานวิงวอนของกษัตริย์หรือราษฎรตามเหตุผลของตน นางยังใช้เทคนิคการโน้มน้าวผู้คนให้ศรัทธาด้วยข้อถกเถียงเชิงวาทศิลป์ (Rhetorical strategies) ด้านการใช้เหตุผล อารมณ์ และศีลธรรม ซึ่งล้วนเป็นวิธีประพันธ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน (กว่าชาวกรีกจะตั้งทฤษฎีวาทศิลป์เหล่านี้เป็นกิจจะลักษณะ ก็เกือบ 2,000 ปีหลังจากยุคของนาง)
อีกหนึ่งประเด็นที่อาจจะดูธรรมดาในสมัยนี้ แต่แปลกใหม่มากในสมัยนั้น คือการลงชื่อ ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวเองว่า “I” (ฉัน) และใส่ประวัติส่วนตัวผู้เขียนลงในผลงาน ระหว่าง 40 ปีแห่งการเป็นนักบวชนี้ เอนเฮดูอันนาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ทว่าต้องต่อสู้กับกลุ่มราษฎรภาคใต้ที่กระด้างกระเดื่องอยู่เรื่อยๆ เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดนำโดยนายทหารสุเมเรียน ลูกัลอาเน (Lugal-Ane) เขาทำรัฐประหารหลังพระเจ้าซาร์กอนสวรรคต บุกเข้าถึงตัวเอนเฮดูอันนาในวิหารเมืองอูร์ และเนรเทศนางออกไปในทะเลทราย
เอนเฮดูอันนาเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว(ที่เป็นบันทึกอัตชีวประวัติ) ผสมไปกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้า(ที่เป็นเรื่องแต่ง) นางระบุว่าในที่สุดเทพเจ้าตอบรับคำอธิษฐานของนาง โดยประทานชัยชนะแก่ลูกพี่ลูกน้องของนางคือ พระเจ้านารามซิน (Naram-Sin) ผู้ปราบลูกัลอาเนและกลุ่มกบฏในเมืองต่างๆ ของจักรวรรดิลงได้ราบคาบ ช่วยให้เอนเฮดูอันนาได้กลับมาเป็นนักบวชเมืองอูร์ดังเดิม นอกจากนั้นแล้ว นางยังบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของนักเขียนเวลาประสบอาการ “สมองตัน” ดองงานไว้เพราะคิดไม่ออก ในแง่นี้ดูเหมือนว่าผู้ทำอาชีพสร้างสรรค์ยุคเมโสโปเตเมียกับยุคปัจจุบันจะคล้ายกันมากทีเดียว
ผลงานเขียนของเอนเฮดูอันนาจารึกไว้บนแผ่นดินเหนียวด้วยอักษรรูปลิ่ม ที่หลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ให้เราได้ค้นพบมีจำนวน 5 ผลงาน ความยาวประมาณ 120-300 บรรทัดต่อเรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทวีอินันนาซึ่งเอนเฮดูอันนานับถือมากเป็นพิเศษ ได้แก่ นินเมซาร์รา (Nin-me-šara) “คำสรรเสริญเทวีอินันนา”, อินนิน ซากูร์รา (In-nin ša-gur-ra) “เทวีผู้มีหัวใจอันยิ่งใหญ่”, อินนิน เมฮุสซา (In-nin me-huš-a) “เทวีผู้สยบภูเขาเอบิห์”, เพลงสวดต่อเทพนันนา (Hymn to Nanna) และ เพลงสวดในวิหาร 42 บท (The Temple Hymns)
ภาพที่ 3 แผ่นดินเหนียวจารึกเพลงสวดด้วยอักษรรูปลิ่ม
Walters Art Museum, Maryland, USA. (2014). CDLI Literary 000751, ex. 041. CDLI - Cuneiform Digital Library Initiative. https://cdli.ucla.edu/dl/photo/P272905.jpg
หลังจากเอนเฮดูอันนาเสียชีวิต เมื่อ 2,251 ปีก่อนคริสตกาล นางได้ถูกยกฐานะเป็นกึ่งเทพ (Semi-divine) ชาวเมโสโปเตเมียคัดลอกผลงานของนางใช้เป็นเพลงสวดตามที่ต่างๆ มากมาย ทำให้เรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเป็นมนุษย์และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้เช่นนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่งอิทธิพลต่องานประพันธ์ยุคสมัยหลัง เช่น คัมภีร์พันธสัญญาเดิมฮีบรู มหากาพย์อีเลียด และเพลงสวดในคริสต์ศาสนา
เทวีอินันนาก็ได้เป็นต้นแบบของเทพสตรีที่ทรงอำนาจทางเพศและการรบในความเชื่ออื่นๆ เช่น เทวีอิชตาร์ (Ishtar) ของชาวอัสซีเรียน, เทวีซาอุสกา (Šauška) ของชาวฮิตไทต์, เทวีอัสทาร์ต (Astarte) ของชาวฟีนีเชียน, เทวีอะโฟรไดท์ (Aphrodite) ของชาวกรีก หรือที่เรียกว่าวีนัส (Venus) ของชาวโรมัน เป็นต้น (หมายเหตุ ชาวกรีกโรมันไม่นิยมให้เทวีองค์นี้ออกรบโดยตรง จึงเอนเอียงมามีอำนาจเฉพาะทางเพศและความรัก แล้วจัดให้อยู่คู่กับชู้รักของนางคือ อาเรส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) เทพแห่งสงคราม)
ในฐานะนักเขียนคนแรกที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ และในฐานะผู้หญิงสมัยโบราณคนหนึ่ง เอนเฮดูอันนาเพิ่งจะได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่จะศึกษาผลงานของนางมากขึ้นเมื่อแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) เริ่มเป็นที่ยอมรับของสังคมกระแสหลักในปีหลังๆ มานี้ เนื่องในวันสตรีสากลปีค.ศ. 2014 องค์กรบริติช เคานซิล (British Council) เตรียมจัดงานวรรณคดีสตรีสุเมเรียนนานาชาติ (NINITI International Literature Festival) เมืองเออร์บิล ประเทศอิรัก จึงเปิดการอภิปรายเรื่องเอนเฮดูอันนา และมีผู้เข้าร่วมงานนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อบนเวที TED Talk ซึ่งเป็นสื่อไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยี ความบันเทิง และการออกแบบ (Technology, Entertainment, Design – TED) ของสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปีค.ศ. 2015 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union – IAU) ก็ตกลงตั้งชื่อปล่องภูเขาไฟหมายเลข 15323 บนดาวพุธตามชื่อของนาง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงความสำคัญด้านวรรณคดีของนักเขียนหญิงผู้ถูกวงการประวัติศาสตร์โลกละเลยไปแสนนาน เอนเฮดูอันนาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าแพรวพรายที่พวกเราทุกคนเงยหน้าชื่นชมและค้นหาแรงบันดาลใจได้ตลอดไป
บรรณานุกรม
British Council. (2014, March 5). Poem for International Women's Day & NINITI International Festival of women writers in Iraq. British Council Literature. https://web.archive.org/web/20150915064359/http://literature.britishcouncil.org/news/2014/march/niniti-literature-festival.
Foster, B. R. (2016). The Age of Agade: Inventing Empire in Ancient Mesopotamia. London Routledge, Taylor & Francis Group.
International Astronomical Union (IAU) Working Group for Planetary System Nomenclature (WGPSN). (2015, April 30). Planetary Names: Crater, craters: Enheduanna on Mercury.
Gazetteer of Planetary Nomenclature. https://planetarynames.wr.usgs.gov/Feature/15323.
Mark, J. J. (2021, June 29). Enheduanna. World History Encyclopedia. https://www.worldhistory.org/Enheduanna/
Shong, M. B. D. (2010). Princess, priestess, poet: the Sumerian temple hymns of Enheduanna. University of Texas Press.
University of Oxford. (2000, January 21). The exaltation of Inana (Inana B): translation. The Electronic Text Corpus of Sumerian Literature. http://etcsl.orinst.ox.ac.uk/section4/tr4072.htm.
University of Oxford. (1999, November 27). The temple hymns, a translation. The Electronic Text Corpus of Sumerian Literature. http://etcsl.orinst.ox.ac.uk/section4/tr4072.htm.
พีริยา จำนงประสาทพร