บนโลกนี้น้อยคนนักที่ไม่รู้จักผู้ชายชื่อ ไอน์สไตน์ (Einstein) เขาคือนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ภาพของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ทฤษฎีต่างๆ ของเขาถูกนำมาพัฒนาและต่อยอดกลายเป็นนวัตกรรมมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory, E=MC2) หรือปรากฏการณ์โฟตอน (Photoelectric Effect) แต่มีสักกี่คนที่รู้ว่าเขาสร้างผลงานเหล่านี้ตอนที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเล็กๆ ที่กรุงเบิร์น และปัจจุบันเปิดทำการเป็นพิพิธภัณฑ์ “บ้านไอน์สไตน์” หรือ “ไอน์สไตน์อพาร์ทเมน” เพื่อให้สาธารณชนเข้าไปเยี่ยมชมความเป็นอยู่ขณะที่นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้คิดค้นทฤษฎีที่ต่อมากลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมานานนับศตวรรษ บทความนี้เราจะพาท่านไปซึมซับบรรยากาศและลองจินตนาการย้อนกลับไปหาช่วงปาฏิหาริย์ของไอน์สไตน์กันค่ะ
หากคุณมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันถึงทิวเขาน้ำแข็งที่สวยงามหรือทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่มีอยู่ในหลายเมือง เรื่องเล่าแบบนั้นสามารถหาอ่านได้มากมายตามบล็อกท่องเที่ยวทั่วไป คราวนี้เราไปเที่ยวกันในเมืองเล็กๆ เดินไปบนถนนปูอิฐตามแบบฉบับของยุโรปสมัยก่อนแล้วเลี้ยวเข้าไปดูบ้านหรือแฟลตหลังเล็กๆ ที่มีหน้าต่างมองออกไปทางซ้ายมือก็จะเจอกับหอระฆังจากยุคอดีต และที่แฟลตแห่งนี้ใครจะคาดคิดว่าเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของสมการหรือทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ในระดับจักรวาลกันเลยทีเดียว
บ้านไอน์สไตน์ (Einsteinhaus) เป็นคูหาที่ 49 บนถนนแครมกลาส (Kramgasse) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก หลุมหมี (Bear Pit) ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำกรุงเบิร์น (Bern) มากนัก สามารถเดินทอดน่องไปได้ และสุดปลายถนนแครมกลาสยังเป็นที่ตั้งของ “ซิกลอกเก้” (Zytglogge) หรือหอระฆัง (Time bell) ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 เป็นจุดเช็คอินที่น่าสนใจอีกแห่งของกรุงเบิร์นด้วย
เมื่อคุณเดินเข้าไปที่ต้นถนนแครมกลาส และมองไปที่สุดปลายถนนเป็นหอระฆัง บนถนนแคบๆ เส้นนี้ สองฝั่งถนนเป็นที่ตั้งของอาคารสูง 4 ชั้น เรียงรายนับตั้งแต่ต้นจนสุดปลายถนน ลองสังเกตอาคารด้านซ้ายมือจะพบกับป้ายสลักตัวอักษรสีแดงบนผนังเป็นภาษาเยอรมัน บอกเล่าสั้นๆ ถึงความสำคัญของห้องคูหาหนึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1903-1905 ถูกเรียกว่า พิพิธภัณฑ์บ้านไอน์สไตน์
ภาพที่ 1 ป้ายสลักภาษาเยอรมันที่ระบุถึงบ้านที่ไอน์สไตน์เคยอยู่ช่วงปี ค.ศ.1903-1905
ภาพที่ 2 หอระฆัง บนถนนแครมกลาสใกล้ๆ กับบ้านไอน์สไตน์
ในปัจจุบันแฟลตหรือห้องที่ไอน์สไตน์เคยอาศัยอยู่นั้นต้องเดินผ่าน ร้านกาแฟน่ารักที่ชั้น 1 ทะลุเข้าไปยังบันไดตรงท้ายตึกเพื่อเดินขึ้นไปยังชั้นที่ 2 อันเป็นที่ตั้งของบ้านไอน์สไตน์ที่เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกเมื่อครั้งที่เขาเพิ่งย้ายมาอาศัยอยู่ที่กรุงเบิร์น และทำงานเป็นพนักงานตรวจทานสิทธิบัตรระดับที่ 1 ในสำนักงานสิทธิบัตรแห่งกรุงเบิร์นเมื่อปี ค.ศ. 1903 ซึ่งในขณะนั้นตัวเขากำลังเรียนปริญญาเอกควบคู่ไปด้วย
บนชั้น 2 ของคูหาที่ 49 นี้ถูกอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนกับเมื่อร้อยปีก่อนก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเห็นบรรยากาศและสถานที่อันเป็นที่อยู่อาศัยจริงของไอน์สไตน์ด้วยการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ให้เหมือนกับในอดีตเพื่อให้ได้อารมณ์เสมือนจริง เหมือนกับว่าเราได้ไปอยู่ร่วมกับนักฟิสิกส์ก้องโลกคนนี้เลยทีเดียว ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีในการแสดงตัวหนังสือหรือต้นฉบับที่ไอน์สไตน์เขียนขึ้นหรือบันทึกไว้ในระหว่างช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ที่แฟลตหลังนี้ แน่นอนว่าต้นฉบับต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นบทความทางวิทยาศาสตร์และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1905 ซึ่งไอน์สไตน์ให้คำจำกัดความว่า “ปีแห่งปาฏิหาริย์” ของเขา และต่อมาอีกเกือบ 20 ปี บทความหรือการค้นพบครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่นี่ได้กลายเป็นตำนานของมนุษยชาติ เนื่องจากได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทางฟิสิกส์ หรือรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1921 และเป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวางว่า “ทฤษฎีสัมพันธภาพ” (Relativity Theory)
เหนือจากชั้น 2 ที่ไอน์สไตน์อาศัยอยู่ บนชั้น 3 ของคูหานี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นพื้นที่นิทรรศการสำหรับจัดแสดงประวัติและผลงานของไอน์สไตน์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความหรือข้อความสำคัญๆ ที่ปัจจุบันคนทั่วไปมักใช้เป็นคำอ้างอิงถึงเขาเสมอ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์บ้านไอน์สไตน์แห่งนี้ไม่ควรพลาดคือบันไดวนที่พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ไว้ให้คงแบบเดิมมากที่สุด ทำให้ผู้มาเยือนสามารถจินตนาการถึงการเดินขึ้นลงวันละหลายๆ รอบเหมือนกับในอดีตของไอน์สไตน์ บันไดวนนี้ทำจากไม้ ตัวโครงของบันได มีขนาดไม่กว้างมากนัก แต่เพียงพอสำหรับคน 2 คนที่เดินสวนกันระหว่างเดินขึ้นลงได้ จากที่ลองเดินขึ้นๆ ลงๆ อยู่หลายรอบบอกได้ว่าบันไดนี้ “วน” จริงๆ และนี่กระมังที่เป็นเสน่ห์ของบันไดช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่น รับรู้ได้ถึงคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในคูหาหลังนี้
อีกหนึ่งสิ่งที่คิดว่าเป็นเสน่ห์ของบ้านไอน์สไตน์แห่งนี้ คือ หากใครที่ได้ไปเยือนแล้วมีโอกาสแล้วอยากให้ลองนั่งที่ชั้น 2 แล้วมองลงไปด้านล่างบนถนนแครมกลาส จะสังเกตเห็นน้ำพุกลางถนนที่มีการตกแต่งไว้อย่างสวยงามที่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของเมือง ซึ่งน้ำพุเหล่านี้มีอยู่มากมายกระจายทั่วกรุงเบิร์น น้ำพุต่างๆ นี้ก็คือระบบน้ำประปาของเมืองในสมัยก่อนเมื่อครั้งที่เมืองเบิร์นยังไม่มีการวางท่อน้ำเข้าไปในแต่ละบ้านอย่างปัจจุบันนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองไม่ต้องไปแบกขนน้ำจากแม่น้ำที่ตั้งอยู่ห่างออกไป เพียงแค่เดินออกมาตรงถนนส่วนกลางก็มีน้ำที่ใช้ได้ทั้งอุปโภคและบริโภค
ภาพที่ 3 น้ำพุหมี บนถนนแครมกลาส ซึ่งในอดีตคือระบบประปาของเมือง
ในบรรดาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกยังมีอีกหลายแห่งที่มักใช้ตัวบ้านหรือสถานที่จริงมาปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้เป็นแหล่งบอกเล่าความรู้ความสำคัญของตัวอาคารหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง หรืออีกนัยหนึ่งก็นับว่าเป็นการให้เกียรติกับสถานที่ หรือบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น บ้านที่กาลิเลโอเคยอาศัยอยู่ในอิตาลีตอนที่เขาคิดค้นกล้องส่องทางไกล (spyglass) หรือสถานที่ที่นายเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นั่งคำนวณวิถีโคจรดาวหางฮัลเลย์ในเมือง
ออกซฟอร์ด (Oxford) ประเทศอังกฤษ หลายคนอาจเคยเดินผ่านสถานที่เหล่านี้แต่อาจไม่รู้ว่า ณ สถานที่เหล่านี้จริงๆ แล้วนั้นเป็นรังเล็กๆ ของการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาก็ได้
STAROORT