ที่โอซากะมีพิพิธภัณฑ์อยู่มากมายจนดูเท่าไรก็ไม่หมดสักที พิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะ (Peace Osaka Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่เพื่อนเชียร์ให้ไปดูเมื่อรู้ว่าผู้เขียนจะไปโอซากะ แต่กว่าผู้เขียนจะได้ไปชมก็ตอนไปโอซากะครั้งที่สองในปี ค.ศ.2015 ซึ่งสายเกินไป เมื่อผู้เขียนได้กลับมาเล่าถึงสิ่งที่ได้ไปดูมา เพื่อนก็ทำหน้างงๆ ว่านี่ไปผิดที่หรือเปล่า ไม่ผิดหรอก แต่พิพิธภัณฑ์ได้เปลี่ยนไปเสียแล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับพิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะ ?
พิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะอตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1991 นิทรรศการดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์เคยได้รับการยกย่องจากนานาชาติและผู้เข้าชม (โดยเฉพาะชาวต่างชาติ) ถึงความก้าวหน้าของแนวความคิด ที่กล้าพูดถึงบทบาทของญี่ปุ่นในการเป็นผู้รุกรานและก่ออาชญากรรมสงครามในเอเชียอาคเนย์ จีน เกาหลี พิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นความโหดร้ายของสงครามทั้งในมุมมองที่ญี่ปุ่นเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เพื่อสื่อถึงความสำคัญของสันติภาพ ในตอนท้ายพิพิธภัณฑ์ได้ตั้งคำถามกับผู้ชมว่านอกจากการฟื้นฟูบูรณะเมืองโอซากะขึ้นมาใหม่แล้ว ชาวญี่ปุ่นยังมีอะไรที่ควรคิดควรทำต่อไปอีกหรือไม่
การจัดแสดงกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์นิยมและชาตินิยม เพียงไม่กี่ปีพิพิธภัณฑ์ก็กลายเป็นเป้าหมายที่จริงจังของกระแสอนุรักษ์ซึ่งมีกำลังแรงเพื่อให้แก้ไขการจัดแสดงเสียใหม่ ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาคือภาพความรุนแรงทำให้นักเรียนที่เข้าชมตกใจกลัว อีกทั้งมีกลุ่มนักวิชาการที่ชี้ว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นด้วยอคติ หาได้เป็นความจริงไม่ ในท้ายที่สุดเมื่อเมืองโอซากะขู่จะตัดเงินอุดหนุน พิพิธภัณฑ์ก็ไม่อาจทานกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยอาศัยแต่เพียงค่าเข้าชม
นิทรรศการใหม่จึงตัดเรื่องอาชญากรรมสงครามของญี่ปุ่น หันไปเน้นเนื้อหาของเมืองโอซากะในสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตประจำวันของผู้คนระหว่างสงคราม เหตุการณ์ในคืนที่เมืองถูกปูพรมทิ้งระเบิดอย่างหนัก ความพังพินาศของเมืองและผู้คน การฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ และสุดท้ายว่าด้วยสงครามในส่วนอื่นๆ ทั่วโลก โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้สึกว่านิทรรศการชุดสุดท้ายที่พยายามจะสื่อถึงสงครามและสันติภาพที่ไกลเกินตัวนี้ดูไม่ค่อยจะเข้าพวกสักเท่าไหร่
พ้นไปจากการตั้งคำถามกับเนื้อหา ในส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะหลังปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ.2015 มีที่น่าสนใจอยู่หลายช่วง การเล่าเรื่องชีวิตผู้คนที่เป็นเหยื่อของสงครามเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจและอารมณ์ร่วมได้เสมอ สิ่งที่จะน่าตื่นเต้นสำหรับคนชอบเข้าพิพิธภัณฑ์ก็อาจคล้ายคนเข้าชมภาพยนตร์คือลุ้นว่าคราวนี้เขาจะใช้กลวิธีอะไรมาสร้างประสบการณ์และความจดจำถึงเรื่องราวที่เขาอยากจะบอกเล่า
พิพิธภัณฑ์สงครามมักเลือกที่จะคุมโทนดาร์คๆ ไว้ให้ชีวิตดูมืดหม่น พิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะก็เช่นกันแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เขาทำให้ส่วนหนึ่งดูมืดเพราะเขาเล่าถึงการโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ส่วนที่ผู้เขียนชอบคือการจำลองเหตุการณ์ในคืนที่เครื่องบินทิ้งระเบิดส่งเสียงกระหึ่มและเงารางๆ ของฝูงบินผ่านหัวเราไป กับการจำลองหลุมหลบภัยที่อุดอู้และให้ความรู้สึกกดดันถึงความโลกาวินาศที่อยู่ข้างบน
จากความจัดเต็มในโซนระเบิดลง เราได้เดินพ้นจากความมืดหม่นมาสู่แสงสว่างและบอร์ดจัดแสดงที่แสนเรียบง่าย แสดงออกน้อยแต่สะเทือนใจมากแบบที่เรามักเจอในภาพยนตร์ญี่ปุ่น ด้วยบอร์ดสีขาวขนาดใหญ่ที่มีตัวหนังสือเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ประสบภัยสงครามเพียงไม่กี่บรรทัด กับกำแพงทางเดินที่แสดงภาพเขียนจากความทรงจำอันพร่าเลือนพร้อมกับคำบรรยายสั้นๆ จากผู้สูญเสียในเหตุการณ์
“ศพวางเรียงรายอยู่บนพื้นโรงยิมของโรงเรียน ใบหน้าของพวกเขาผิดรูปดูเหมือนทำจากดินเผา ฉันรู้ว่าเป็นแม่จากเสื้อผ้าของเธอ ส่วนพี่ชายฉันจำหมวกเหล็กของเขาได้ ฉันกลัวมาก กลัวจนตัวสั่นไม่หยุด”
ไม่มีภาพความรุนแรง แต่ใครจะบอกได้ว่าระหว่างรูปภาพกับคำบรรยายดังเช่นที่ยกมา อะไรจะสร้างจินตนาการที่ประทับตราตรึงลงในจิตใจมากกว่ากัน
ผู้เขียนใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์นี้ประมาณสองชั่วโมง เมื่อเดินออกมาพบกับแสงแดดในสวนญี่ปุ่นทางด้านนอก ความสุขสงบของบรรยากาศในสวนช่างตรงกันข้ามกับเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ ทำให้รู้สึกสับสนกับเวลาและสถานที่จนต้องยืนนิ่งๆ เพื่อทบทวนความรู้สึกของตนเองอยู่ชั่วขณะหนึ่ง สวนญี่ปุ่นที่อยู่ภายนอกห้องจัดแสดงคงกำลังเล่นบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ในการสื่อถึงสันติภาพ
สุดท้ายนี้ ถ้ามีผู้อ่านท่านใดได้เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในช่วงก่อนปรับปรุง โปรดเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
แหล่่งอ้างอิง
พิพิธภัณฑ์สันติภาพโอซากะhttp://www.peace-osaka.or.jp/
Philip Seaton, “The Nationalist Assault on Japan’s Local Peace Museums: The Conversion of Peace Osaka”, The Asia-Pacific Journal, July 27, 2015
https://apjjf.org/2015/13/30/Philip-Seaton/4348.html
กระต่ายหัวฟู