โมหันดาส กรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในฐานะมหาตมะ (ผู้มีจิตใจอันสูงส่ง) เป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพผู้ปลดแอกชาติอินเดียจากอังกฤษ มหาตมะคานธีได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำทางความคิดด้านการเมืองและผู้นำทางจิตวิญญาณ การต่อสู้แบบอหิงสาหรือการไม่ใช้ความรุนแรงของคานธีดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคงจนนำมาซึ่งเอกราชมาสู่อินเดียในปีค.ศ. 1947 และแม้ว่าอินเดียจะเป็นเอกราชจากอังกฤษมาหลายทศวรรษแล้ว แต่คุณูปการของมหาตมะยังคงเป็นที่จดจำของคนอินเดียและชาวโลกทุกคนจนได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาผู้ก่อตั้งชาติอินเดียอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคานธีจะได้รับการสรรเสริญจากคนนับล้าน ทว่าเขาเองก็ตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในกลุ่มชาวฮินดู นักคิดสตรีนิยม และชาวแอฟริกันตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีชีวิต ครั้งหนึ่งยวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดียเคยกล่าวในฐานะสหายร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชของคานธีว่า เขาอยากให้ชาวโลกจดจำคานธีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้วิเศษ เพราะคานธีเองก็มีความเป็นมนุษย์ที่สามารถทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกับเราทุกคน ผู้เขียนจึงอยากชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน ณ ที่นี้ว่า บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อโจมตีมหาตมะหรือใส่ร้ายป้ายสีท่านแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการนำเสนออีกด้านหนึ่งของโมหันดาส กรัมจันท์ คานธีก่อนจะถูกยกย่องให้เป็นมหาตมะที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เท่านั้น
ภาพที่ 1: โมหันดาส กรัมจันท์ คานธีในวัยหนุ่มเมื่อครั้งทำงานในแอฟริกาใต้
หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายจากอังกฤษและการกลับไปอินเดียเป็นระยะเวลาสั้นๆ คานธีในวัย 24 ปีได้เดินทางมาทำงานเป็นนักกฎหมายในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษในขณะนั้น คานธีใช้เวลาในแอฟริกาใต้กว่า 21 ปีตั้งแต่ค.ศ. 1893 จนถึงค.ศ. 1914 ตลอดเวลานั้นเขาอุทิศตนในฐานะผู้แทนสภาชาวอินเดียแห่งนาตาล (Natal Indian Congress) เพื่อเรียกร้องให้ชาวอินเดียที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในแอฟริกาใต้ได้รับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับคนขาวซึ่งเป็นเจ้าของอาณานิคม การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในแอฟริกาใต้นี้เองที่นำไปสู่การปลดแอกอินเดียจากอังกฤษในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคานธีในวัยหนุ่มจะประสบพบเจอเหตุการณ์เลวร้ายอันมีสาเหตุมาจากการแบ่งแยกเชื้อชาติของชาวยุโรปด้วยตนเองมานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าเขากลับมีทรรศนะไม่ต่างจากคนเหล่านั้นเมื่อเปรียบเทียบระหว่างชาวอินเดียกับคนพื้นเมืองในแอฟริกาใต้ คานธีในวัยหนุ่มไม่เคยมองว่าคนเหล่านั้นมีสถานะเท่าเทียมกับตนหรือเพื่อนร่วมชาติ เขากล่าวถึงคนพื้นเมืองหลายครั้งในบันทึกส่วนตัวและเอกสารราชการโดยใช้คำเรียกว่า กาฟิร (Kaffir) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับที่มีความหมายว่าคนนอกรีตที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ทว่ากาฟิรในที่นี้ไม่ได้มีความหมายนัยตรงเช่นนั้น เมื่อครั้งที่ชาวยุโรปเข้ามาตั้งรกรากในแอฟริกาใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พวกเขาเรียกคนพื้นเมืองแอฟริกาใต้ว่ากาฟิรด้วยนัยยะดูถูกไม่ต่างจากคำว่านิโกร (Negro) ที่ใช้เรียกรวมกลุ่มคนที่มีผิวสีดำ และตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลแอฟริกาใต้ก็ได้ร่างบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการแบ่งแยกเชื้อชาติที่ไม่เป็นธรรม (Prevention of Unfair Discrimination Act) หนึ่งในนั้นคือการห้ามใช้คำพูดที่มีนัยยะเหยียดชาติพันธุ์ ซึ่งคำว่ากาฟิรก็เป็นหนึ่งในคำพูดที่ถูกระบุไว้เช่นกัน
นอกจากการใช้คำพูดที่มีนัยยะดูถูกชาติพันธุ์แล้ว คานธียังได้แสดงทรรศนะของเขาที่มีต่อชาวพื้นเมืองแอฟริกาใต้อีกหลายครั้ง เขามองว่าคนขาวมีความเหมาะสมทุกประการในการปกครองคนเหล่านี้ เนื่องจากชาวพื้นเมืองเป็นพวกชอบสร้างปัญหา ป่าเถื่อน และสกปรกไม่ต่างกับสัตว์ ในปีค.ศ. 1904 คานธีได้เขียนจดหมายไปถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อเรียกร้องให้แยกสถานที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ออกเป็นสัดส่วนระหว่างชาวอินเดียและคนพื้นเมืองเพื่อไม่ให้ชาวอินเดียติดเชื้อโรคจากคนเหล่านั้น เขาขอให้เจ้าหน้าที่อังกฤษช่วยแยกทางเข้าไปรษณีย์และสถานที่ราชการอื่นๆ สำหรับคนอินเดียและแอฟริกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า ในเวลาเดียวกันนั้นเองที่คานธีพยายามต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนอินเดียกับคนขาว และเขาได้สนับสนุนให้คนทุกวรรณะในสังคมอินเดียปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมในเวลาต่อมา ทว่าเขากลับไม่เคยมองคนชาติพันธุ์อื่นว่าเป็นเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับตนเลยแม้แต่ครั้งเดียว
จากบันทึกและข้อเรียกร้องต่างๆ ของคานธีเมื่อครั้งที่เขาอยู่ในแอฟริกาใต้ทำให้เข้าใจได้ว่า สำหรับคานธีที่เกิดและเติบโตใต้เงาอาณานิคมและได้รับการศึกษาแบบอังกฤษนั้น เขาในวัยหนุ่มเป็นพวกนิยมคนขาวและชื่นชมว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้มีอารยะ ในฐานะชาวอินเดียฐานะดี คานธีมองว่าตัวเขาและเพื่อนร่วมชาติเองก็มีวัฒนธรรมที่ดีงามไม่ต่างกับชาวยุโรป ทว่าเขากลับตัดสินคนพื้นเมืองแอฟริกาใต้ด้วยอคติเช่นเดียวกับคนขาวว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ไร้อารยะและไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้ ความคิดดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ชาวแอฟริกันทั้งในและนอกทวีปมองว่าคานธีสนับสนุนอังกฤษให้ปกครองแอฟริกาใต้ต่อไปในขณะนั้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าคานธีต้องการให้อังกฤษปกครองแอฟริกาใต้และอาณานิคมอื่นๆ ในแอฟริกาต่อไปหรือไม่ แต่ความจริงที่ว่าคานธีไม่เคยมองคนเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
แน่นอนว่ากลุ่มผู้นิยมและสนับสนุนคานธีออกมาคัดค้านข้อกล่าวหาดังกล่าว รามจันทร์ คูหะ (Ramachandra Guha) ผู้เขียนชีวประวัติมหาตมะคานธีให้เหตุผลที่สอดคล้องกับคำพูดของเนห์รูที่กล่าวถึงก่อนหน้าว่า คานธีเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาใช้เวลาหลายปีก่อนจะกลายมาเป็นมหาตมะที่ผู้คนนับถือ คูหะกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งหากจะกล่าวหาว่าคานธีเป็นคนเหยียดเชื้อชาติเพียงเพราะบันทึกของเขาในวัยหนุ่ม เห็นได้ชัดว่าคานธีในวัยกลางคนได้เปลี่ยนทรรศนะเรื่องความเท่าเทียมไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ทำให้เขาได้ออกมาเรียกร้องสิทธิของชาวดาลิต (Dalit) หรือจัณฑาล (Chandala) กลุ่มคนนอกวรรณะในสังคมอินเดีย รวมถึงชนกลุ่มน้อยและคนวรรณะต่ำในอินเดียอีกมากมายนับไม่ถ้วน
ภาพที่ 2: รูปปั้นคานธีในเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่ถูกวัยรุ่นแอฟริกันสาดสีใส่
ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าทัศนคติที่คานธีมีต่อชาวแอฟริกันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือไม่ คงไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้ดีไปกว่าตัวคานธีเอง อย่างไรก็ตาม กระแสความเกลียดชังที่มีต่อมหาตมะผู้ยิ่งใหญ่ในแอฟริกายังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปีค.ศ. 2015 โมเลส ไมเล (Molese Maile) วัยรุ่นแอฟริกันอายุ 21 ปีถูกตำรวจจับกุมในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้หลังสาดสีขาวใส่รูปปั้นมหาตมะคานธีที่ใจกลางเมือง การกระทำอุจอาจของไมเลทำให้เกิดแฮชแท็ก #GandhiMustFall ในหมู่ชาวแอฟริกันทั้งในและนอกทวีปทั่วโลกโซเชียล พวกเขาต้องการทำให้ชาวโลกได้ตระหนักว่ามหาตมะคานธีที่ผู้คนสรรเสริญเป็นเพียงคนเหยียดเชื้อชาติธรรมดาเท่านั้น และในปีค.ศ. 2016 มหาวิทยาลัยกานา (University of Ghana) ในกรุงอักกรา (Accra) ได้มีมติให้ย้ายรูปปั้นมหาตมะคานธีออกจากมหาวิทยาลัยหลังมีการเรียกร้องจากคณาจารย์และนักศึกษา กระแสต่อต้านคานธีในแอฟริกายังคงดำเนินต่อไป รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์มหาตมะในประเทศอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ภาพที่ 3: รูปปั้นคานธีถูกเคลื่อนย้ายออกจากมหาวิทยาลัยกานา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคานธีจะไม่เคยมองชาวแอฟริกันผิวดำอย่างเท่าเทียม ทว่าคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ว่า คานธีไม่มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ในปีค.ศ. 1906 หลังอังกฤษประกาศสงครามกับชนเผ่าซูลู (Zulu) ในแอฟริกาใต้ คานธีและกลุ่มชาวอินเดียกว่า 20 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครรักษาพยาบาลทหารซูลูที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ในตอนนั้นเองที่คานธีได้บันทึกถึงความเห็นอกเห็นใจที่เขามีต่อเผ่าซูลู และนั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โมหันดาส กรัมจันท์ คานธี นักกฎหมายผู้ทะเยอะทะยานได้กลายมาเป็นมหาตมะ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่นำทางผู้คนนับล้านไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม ตามที่เนห์รูได้กล่าวไว้ในปีค.ศ. 1962 เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษมาสัมภาษณ์เขาเพื่อทำภาพยนตร์ชีวประวัติคานธีว่า
“ท่าน (มหาตมะคานธี) เป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านเองก็มีด้านที่อ่อนแอ อ่อนไหว และล้มเหลวเช่นกัน
ได้โปรดอย่าสร้างให้ท่านกลายเป็นนักบุญ เพราะว่าท่านเองก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง”
หนังสือและบทความอ้างอิง
Desai, Ashwin and Vahed, Goolem. The South African Gandhi: Stretcher-Bearer of Empire (South
Asia in Motion). Redwood City: Stanford University Press, 2015.
Gandhi, M.K. Satyagraha in South Africa. Ahmedabad: Navajivan Publishing House, 2008.
Guha, Ramachandra. Gandhi: The Years that changed the World. Delhi: Penguin Allen Lane, 2018.
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ