พวกเราทุกคนต้องเคยเห็นรูปผู้ชายคนนึง มีหนวดเครา ผมยาว สวมหมวกเบเร่ต์ติดดาวทอง หน้าขมึงทึง สายตามุ่งมั่น ติดอยู่บนเสื้อหรือกาแพงทั่วทั้งโลก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าคนๆ นั้นคือใคร มาจากไหน หรือดังเพราะอะไร เมื่อเราเจาะเข้าไปในตัวและประวัติของเขาแล้ว ก็จะพบคนที่มีอุดมการณ์แข็งแกร่ง ทั้งโหดร้ายและรักคนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “นักสู้” แท้จริง และเป็นบุคคลสาคัญของโลกที่น่าศึกษา
ภาพที่ 1 แอร์เนสโต เกวารา หรือ “เช” ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)
แหล่งที่มาภาพ: Alberto Korda,Guerrillero Heroico, online image, Wikimedia Commons, 1960, https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/58/CheHigh.jpg [accessed 19 June 2021].
แอร์เนสโต เกวารา เริ่มต้นชีวิตในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) เป็นลูกชายของครอบครัวมั่งคั่งชาวอาร์เจนตินา ตั้งแต่วัยเด็ก แอร์เนสโตก็แตกต่างจากเด็กอื่นๆในย่านนั้นและที่โรงเรียนเพราะมักใช้เวลากับการอ่านหนังสือและไม่ชอบเข้าสังคมมากนัก ระหว่างเติบโต แอร์เนสโตก็พัฒนาทัศนคติของเขาด้วยการท่องเที่ยวในอเมริกาใต้ ขณะที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ สหรัฐอเมริกาก็ขยายอำนาจทั่วโลก ทั้งเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การได้มาซึ่งแรงงานกับทรัพยากรราคาถูก และเพื่อหยุดยั้งการรุกคืบของอำนาจคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต โดยสหรัฐอเมริกามักจะสนับสนุนและจ่ายเงินให้กองทัพและกลุ่มอิทธิพลฝ่ายขวาในชาติเป้าหมาย หรือให้การอุปถัมภ์ด้านการพัฒนาประเทศมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐแบบที่ทำในประเทศไทย
ระหว่างปี ค.ศ. 1950 ถึง 1970 มีรัฐประหารบ่อยครั้งทั้วโลก รวมทั้งในไทยและอเมริกาใต้ มีการใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเอนซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย สร้างรัฐเผด็จการที่เข้าข้างสหรัฐแทน แอร์เนสโตได้พบเจอกับเหตุเหล่านี้และรับรู้ความทุกข์ของชาวบ้านที่ถูกกดขี่และต้องทำงานหนักเพื่อบริษัทต่างชาติโดยตัวเองต้องใช้ชีวิตยากจน เขาไม่พอใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น โลกทัศน์ของเขาก้าวไปทางซ้ายจัด เขาจึงพยายามหาวิธีเผด็จศึกกับระบอบทุนนิยม ฝ่ายขวา กับอเมริกา เขาได้เดินทางไปเม็กซิโกและได้พบกับฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติชาวคิวบาที่ถูกเนรเทศหลังนำกองกำลังโจมตีค่ายทหาร ต่อต้านผู้นำเผด็จการฟูลเจนซิโอ บาทิสตาของประเทศนั้น ไม่สำเร็จ ทั้งสองคนพูดคุยกันได้ถูกคอและแอร์เนสโตได้เข้าร่วมขบวนการของคาสโตร หลังการฝึกฝนแอร์เนสโตได้รับชื่อเล่นว่า “เช” ซึ่งเป็นคำที่ชาวอาร์เจนตินาใช้กับเพื่อน เชกลายเป็นที่รู้จักว่ามีทักษะการต่อสู้และมีความเป็นผู้นำสูง
ในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) ฟิเดล เช กับผู้ร่วมก่อการอีก 80 คนได้ออกเดินทางไปคิวบา แม้ต้องผจญภัยร้ายทั้งทางธรรมชาติและจากศัตรู สูญเสียอุปกรณ์และกำลังส่วนใหญ่ ขาดการติดต่อกับผู้สนับสนุน ถูกหักหลังและโดนกองทัพตามล่า แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้และได้ใช้เวลาช่วง 1956-1958 สร้างกองกำลังขึ้นใหม่ในชนบทโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมในเมืองและเปิดฉากโจมตีเมืองกับฐานทัพแบบกองโจร ในตอนนี้รัฐบาลเผด็จการของบาทิสตา ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกงค์มาเฟียอเมริกาและมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ได้กลายเป็นที่เกลียดชังมากในคิวบา ขบวนการต่อต้านจึงมีแรงสนับสนุนอยู่ทั่วประเทศ กลยุทธ์กองโจรทำให้กองทัพและรัฐบาลเสียอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปลายปีค.ศ. 1958 ฝ่ายต่อต้านทำการรุกฆาต บุกเมืองใหญ่ๆในคิวบาจนไล่บาทิสตาได้สำเร็จออกจากประเทศได้ช่วงต้นปีค.ศ. 1959
ภาพที่ 2 เช เกวารา บนหลังม้าระหว่างบังคับบัญชากองกำลังต่อต้านบาทิสตาในคิวบา
แหล่งที่มาภาพ: Perfecto Romero, Che Guevara on mule in Cuba, 1958, online image, Wikimedia Commons, 1958, https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/ab/CheMuleFull.jpg [accessed 21 June 2021].
หลังชัยชนะ คาสโตรก็สร้างคิวบาใหม่ในแบบคอมมิวนิสต์ ลดทอนอำนาจสหรัฐอเมริกา และเชื่อมสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต เชรับหน้าที่หลากหลาย เช่นเป็นผู้คุมทางเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และผู้พิทักษ์ระบอบใหม่ ในหน้าที่นี้ เชมีส่วนร่วมโดยตรงกับการกำจัดกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยได้จับกุมและประหารชีวิตคนจำนวนมาก ทำให้เชกลายเป็นที่รู้จักว่าเข่นฆ่าผู้อื่นได้อย่างเย็นชา และเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวและโหดเหี้ยมกับทั้งตนเองกับลูกน้อง เพื่อสานต่อความฝันสร้างประเทศคอมมิวนิสต์แท้จริง
ในขณะเดียวกัน เชเริ่มแตกคอกับเพื่อน เพราะเขาเห็นว่าการเข้ากับสหภาพโซเวียตไม่ต่างอะไรกับเป็นฝ่ายอเมริกา จนสุดท้ายโซเวียตก็กดดันฟิเดล คาสโตรให้ส่ง เช ออกจากคิวบา เชก็ยินยอมและออกเดินทางในช่วง ค.ศ. 1960-1964 (พ.ศ. 2503-2507) อย่างทูตเร่ร่อน เยือนประเทศทั่วโลกเช่นสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และประเทศไทย แต่เชอยากจะกลับไปช่วยการปฏิวัติมากกว่า ในปีค.ศ. 1965 เชประกฎตัวที่คองโกในแอฟริกา เพื่อที่จะช่วยการปฏิวัติที่นั่นแต่ไม่สำเร็จ ทำให้เชต้องถอยกลับคิวบาอย่างลับๆ
ภาพที่ 3 เช เกวารา ในโบลิเวีย
แหล่งที่มาภาพ: Unknown, Che Guevara in Bolivia, 1967, online image, Wikimedia Commons, 1967, https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/34/CheinBolivia1.jpg [accessed 23 June 2021].
ในปีค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) เชนำกองกำลังเล็กๆเข้าไปในประเทศโบลิเวียด้วยหวังว่าจะจุดประกายสงครามคว่ำระบอบอเมริกันในอเมริกาใต้ ถึงเขาจะไม่รู้จักพื้นที่หรือคนท้องถิ่นดีนัก เชก็มั่นใจในยุทธวิธีของเขา เมื่อเริ่มปฏิบัติการจริงสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด กองทัพกับรัฐบาลโบลิเวียไหวตัวทันกับภัยใหม่และตามล่าฝ่ายกบฏได้พร้อมกับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ชาวบ้านในท้องถิ่นก็ไม่สนับสนุนการปฏิวัติ ทำให้กองกำลังสูญเสียปัจจัยความสำเร็จทั้งหมด การไล่ล่าจบลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ เชเองก็ถูกจับกุม ไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลโบลิเวียก็ออกคำสั่งให้ประหารชีวิตเขา
เมื่อเชสิ้น รัฐบาลโบลิเวียจัดศพของเขาให้สื่อทั่วโลกถ่ายภาพ มุ่งหวังจะทำลายมนต์ขลังนักปฏิวัติของเขา แต่ล้มเหลวอย่างจัง เพราะรูปที่ออกมาทำให้เชดูเหมือนผู้เสียสละ คล้ายกับพระเยซูคริสต์ ที่พลีชีพเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม ทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้สำหรับฝ่ายซ้าย หลายทศวรรษต่อมา ชัดเจนว่าเชกับความคิดของเขาได้เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล เขาเป็นคนที่ซับซ้อน ที่เป็นทั้งผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนธรรมดา ที่ไม่เคยเบี่ยงเบนจากอุดมการณ์ และเป็นฆาตกรที่ไม่ประนีประนอมและโหดร้ายกับผู้เห็นต่างหรือที่ทำไม่ถึงมาตรฐานที่สูงมากของเขา การตัดสินใจว่าจะมอง เช เกวารา อย่างไรต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด เหมือนกับบุคคลอื่นๆในประวัติศาสตร์ที่หลุดจากการตีตราง่ายๆตื้นๆว่า “วีรบุรุษ” หรือ “วายร้าย”
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Che Guevara, Guerrilla Warfare, (Melbourne and New York, Ocean Press, 2006).
Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand, 9th eds. (Bangkok, Matichon, 2019).
Jon Lee Anderson, Che: A Revolutionary Life, Revised Edition, (New York: Grove Press, 2010).
Gordon H. McCormick and Mark T. Berger, Ernesto (Che) Guevara: The Last Heroic Guerrilla in Studies in Conflict and Terrorism 42:4 (2019) pp. 336- 362.
Ian Beckett, Modern Insurgencies and Counter-Insurgencies: Guerrillas and their Opponents since 1750, (London and New York: Routledge, 2004).
กษิดิศ ตั้งจิตตชอบ