Museum Core
‘ตะกั่วป่า’ ตลาดชุมชนเหมืองแร่: ภาพและความทรงจำ
Museum Core
18 ต.ค. 64 2K

ผู้เขียน : สุพิตา เริงจิต

    

         

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายที่ว่านี้ชื่อ Takua Pa (Thailand), Chinese neighborhood เป็นผลงานของ โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ดินและศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทย ช่วงกลางทศวรรษ 1930 ถึงทศวรรษ 1950

แหล่งที่มาภาพ:  https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/1124

 

          ตรงนี้เป็นถนนหน้าบ้านยาย ถ้าเขาถ่ายขึ้นมาอีกนิดก็จะเห็นบ้านยายด้วย ยายพูดแบบเสียดายเมื่อได้ดูภาพถ่ายเก่าของตลาดเมืองตะกั่วป่า

          ผู้ถ่ายภาพ บันทึกรายละเอียดไว้ว่า ตลาดใหญ่ของพ่อค้าชาวจีนในตะกั่วป่า เขตทำเหมืองแร่ดีบุก คาบสมุทร ประเทศไทย (The Big Market' of Chinese merchants in the Takuapa [Takua Pa] tin mining district, Peninsula Thailand) แม้ไม่มีข้อมูลวันเวลาที่บันทึกภาพระบุไว้ แต่จากชีวประวัติของเพนเดิลตัน เขาเสียชีวิตที่ประเทศไทย ปีค.ศ. 1957 (พ.ศ.2500) อายุของภาพจึงไม่น้อยกว่า 64 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าจะเก่ากว่านั้น ทั้งนี้เพราะยังมีภาพแม่น้ำในจังหวัดพังงาน่าจะเป็นแม่น้ำตะกั่วป่า เพียงแต่เพนเดิลตันสะกดต่างออกไปเป็น ‘Tagoapa’ ระบุวันที่ถ่ายภาพเป็น ตุลาคม ค.ศ.1936

 

 

 

ภาพที่ 2 ภาพแม่น้ำตะกั่วป่าที่ถ่ายเมื่อ 85 ปีทีแล้ว เมื่อเทียบกับภาพตลาดถ่ายที่คาดว่าถ่ายในเวลาเดียว

และมีอายุเท่าๆ กับอายุของยาย

แหล่งที่มาภาพ: https://collections.lib.uwm.edu/digital/collection/agsphoto/id/1169/rec/3

 

          จากความทรงจำของยายและข้อมูลบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถนนเส้นที่เห็นในภาพคือ ‘ถนนศรีตะกั่วป่า’ เชื่อมกับ ‘ถนนอุดมธารา’ ซึ่งเป็นถนนเส้นแรกของเมืองตะกั่วป่า ตัดผ่านจวนเจ้าเมืองเก่าต่อไปยังวัดหน้าเมืองและสิ้นสุดบริเวณที่เคยเป็นท่าน้ำของแม่น้ำตะกั่วป่า

 

          บันทึกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง พระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร โดยตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ในปี พ.ศ.2452 และแวะประทับแรมที่ตะกั่วป่า กล่าวถึงถนนที่น่าจะเป็นถนนอุดมธารากับตึกแถวสองชั้นที่เห็นตรงกลางภาพข้างต้น ความว่า เส้นทางไปบ้าน พระยาตะกั่วป่า มีตึกแถวอย่างจีนสองข้างถนน อยู่ในสภาพทรุดโทรม

 

 

          ภาพที่ 3 ตึกที่เห็นในภาพถ่ายเก่าบนถนนอุดมธารา ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2551 ต่อมาตึกถล่มพังลงมาทั้งหลังในปี พ.ศ.2555

เนื่องจากตึกอยู่ในสภาพทรุดโทรมและฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

 

 

          นั่นเป็นเพราะนับถึงเวลานั้น ตึกแถวดังกล่าวมีอายุไม่น้อยกว่า 60 ปีแล้ว อาคารชุดนี้สร้างขึ้นพร้อมกับถนนอุดมธาราในช่วงปี พ.ศ. 2383-2390 คราวตั้งเมืองตะกั่วป่าขึ้นใหม่หลังจากถูกพม่าตีแตก ในปี พ.ศ. 2352 เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ย้ายจากจุดเดิม มาอยู่บริเวณบ้านตลาดใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของผู้ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก

 

          ชุมชนเก่านี้ตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำของแม่น้ำตะกั่วป่าที่อุดมด้วยสินแร่ ยายเล่าว่าเดิมมีตึกแถวรุ่น ก่อนตึกบนถนนอุดมธาราเป็นตึกแบบจีนชั้นเดียว กำแพงหนามาก ยายไม่แน่ใจว่าจะเป็นกำแพงดินหรืออิฐ ต่อมาถูกไฟไหม้และพังไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับตึกเก่าบนถนนอุดมธาราที่ปัจจุบันพังไปเกือบหมดสิ้น

 

          ส่วนถนนศรีตะกั่วป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านของยาย เป็นถนนเส้นหลักในเวลาต่อมา ตึกสองข้างถนนสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 (ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) อันเป็นยุครุ่งเรืองของกิจการเหมืองแร่ดีบุก สืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความต้องการดีบุกของตลาดโลก  

 

         ถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของบริษัทเหมืองแร่ ร้านรับซื้อแร่ โรงแรม ร้านค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ร้านตัดผม ร้านตัดผ้า รวมถึงศาลเจ้า ซึ่งเรียกกันว่า โรงพระ ที่เห็นในภาพเป็นเพิงหลังคายื่นออกมาคือ โรงพระตลาดใต้หรือศาลเทพเจ้ากวนอู

 

 

ภาพที่ 4 ศาลเทพเจ้ากวนอู ถ่ายในปี พ.ศ.2551

 

          ถ้าสังเกตในภาพเก่า จะเห็นว่าตึกอยู่สูงกว่าถนนซึ่งเป็นทางเกวียนเดิมมาก ด้วยเหตุว่า ถนนอุดมธาราและศรีตะกั่วป่าเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำตะกั่วป่าล้นเข้ามาท่วมสูงมากกว่าครึ่งของชั้นล่างตึกแถวแบบเดิม

 

          ตึกแถวรุ่นใหม่บนนถนนศรีตะกั่วป่าเป็นแบบชิโนโปรตุกีสสร้างตามอย่างตึกในปีนังยุคนั้น ทั้งนี้เพราะชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาทำเหมืองในตะกั่วป่า พังงา และภูเก็ต มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวจีนฮกเกี้ยนในปีนัง 

 

          ทุกอาทิตย์มีเรือกลไฟระหว่างภูเก็ตกับปีนัง เรือออกจากภูเก็ตตอนเช้าราว 10  นาฬิกา ถึงปีนัง 6 นาฬิกาของเช้าวันถัดมา เรือขนแร่และยางพาราไปขาย พร้อมกับบรรทุกเครื่องจักรสำหรับเหมืองและสินค้าอุปโภค บริโภค รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือย จากอังกฤษและปีนังกลับเข้ามาในเวลานั้น การเดินทางไปปีนังสะดวกกว่าการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

 

          หม้อชามรามไหของร้านค้าในภาพ จึงเป็นสินค้าจากปีนัง เด็กผู้หญิงที่ยืนหน้าร้านไม่ได้นุ่งผ้าถุง แต่สวมชุดกระโปรงแบบตะวันตก ที่เรียกว่า “กุ๋น” ส่วนเด็กผู้ชายที่เดินบนถนนไม่ใส่เสื้อ ใส่แต่ “ค้อ” หรือกางเกง  มือถือถาดที่ยายบอกว่าน่าจะเป็นถาดขนม สมัยก่อนไม่มีตลาดสด แต่ละบ้านมีอะไร ก็จะเอาออกมาวางขายหน้าบ้าน บางคนทำขนมก็จ้างเด็กเอาออกเร่ขาย

 

          ขนมที่ออกเร่ขายจะเป็นขนมสดที่ต้องรับประทานในวันนั้น เช่น อาโป๊ง โกซุ้ย(ขนมจอก) ข้าวเหนียวหีบหน้าสังขยา เป่าล้าง (คล้ายข้าวเหนียวปิ้งแต่ไส้กุ้ง) ฯลฯ บางครั้งก็จะมีห่อหมกด้วย ส่วนขนมแห้งที่เก็บได้นาน มีขายตามร้านกาแฟและร้านของชำ เช่น เต้าส้อ ขนมพริก บี้พ้าง (ข้าวพอง) ก้องถึง(ตุ๊บตั๊บ) ฯลฯ

 

 

ภาพที่ 5 ขนมแห้ง: ม่อหลาว(งาพอง) ขนมจีบใส้สังขยา และขนมไข่ปลางาดำ

 

 

            สินค้าในตลาดตะกั่วป่า จึงมีอยู่สองส่วนคือ ผลผลิตของท้องถิ่นและของนำเข้าจากปีนัง ในช่วงยุคเหมืองแร่รุ่งเรือง ตลาดคึกคักด้วยผู้คนจากบริเวณพื้นที่ทำเหมืองรอบนอก เช่น ปากถัก เหล กะปง ตำตัว ฯลฯ ที่เข้ามาขายแร่ หรือเอาสินค้าเกษตร พวกไก่ หมู ผัก น้ำตาล เข้ามาขาย พร้อมกับซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคอื่นๆ กลับไป

 

           ยายเล่าว่าที่บ้านบนโตน (ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขา) ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองของครอบครัวมักซื้อหมูไว้ครั้งละมากๆ ทำเป็นหมูเค็ม ใส่หมอหู้หิ้วขนาดใหญ่มีฝา แขวนไว้เหนือเตาไฟ ค่อยๆ แบ่งออกมาใช้ทำอาหารประจำวัน

 

           จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.2484- 2488 ญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านประเทศไทย ยายจำได้ว่า ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเดินในตลาดแขวนดาบซามูไรที่เอว ดาบยาวลากดิน และที่น่าตื่นเต้นโจษกันไปก็คือ พวกทหารญี่ปุ่นถอดเสื้อผ้ากระโดดอาบน้ำในแม่น้ำ กลายเป็นศัพท์ที่มาของคำว่า อาบแบบญี่ปุ่น

 

           ช่วงสงครามปีนังถูกยึดครองโดยอังกฤษ เส้นทางการค้าระหว่างภูเก็ต ตะกั่วป่า และปีนังถูกตัดขาด จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและปิดประเทศ จึงไม่มีชาวจีนอพยพเข้ามาอีก นับจากปีค.ศ. 1949 (พ.ศ.2492) เป็นต้นมา ทว่า ปีนังยังคงกลับมามีความสำคัญทางการค้าด้วยความสะดวกของการขนส่ง

 

           แม้ในปี พ.ศ. 2499 ยายย้ายเข้ามาเรียนต่อที่วิทยาลัยพยาบาลในกรุงเทพฯ การเดินทางก็ยังคงยากลำบาก ต้องลงเรือไประนองแล้วขึ้นรถจากระนองไปต่อรถไฟที่ชุมพร ถนนก็ไม่ดี ต้องคอยเข็นรถดันรถ ยายว่าของส่วนใหญ่มาจากปีนัง หรือไม่ก็พม่า ของจากกรุงเทพฯ มาน้อย จนกระทั่งสร้างสะพานเสนาแล้วการเดินทางจึงสะดวกขึ้น

 

          สะพานเสนา เป็นส่วนหนึ่งของถนนเพชรเกษม เส้นทางเชื่อมภาคใต้ทั้งหมดรวมทั้งตะกั่วป่า เข้ากับกรุงเทพ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 โดยมีเป้าหมายรวบรวมสินค้าเกษตรเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อส่งออกตลาดโลก และกระจายสินค้าอุตสาหกรรมออกสู่ตลาดในภูมิภาค

 

          การเดินทางโดยรถยนต์เข้ามาแทนที่เส้นทางเรือ หลังจากนั้นตะกั่วป่าก็ไม่ต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่พึ่งพากรุงเทพฯ เป็นหลัก ส่วนแรงงานในกิจการเหมืองแร่เปลี่ยนเป็นแรงงานจากภาคอีสาน และแรงงานจากพม่าในเวลาต่อมา

 

 

ภาพที่ 6 ถนนศรีตะกั่วป่าเมื่อปี พ.ศ.2551 ความเงียบสงบในวันธรรมดา

 

 

          ในห้วงเวลาอันยาวนานนี้ สินแร่ดีบุกที่เคยเป็นแหล่งที่มาของรายได้นับแต่ศตวรรษที่ 18 หมดสิ้นลง แม่น้ำตะกั่วป่าตื้นเขินด้วยทรายจากการทำเหมืองกลายสภาพเป็นคลอง เหลือไว้เพียงซากหม้อสตีมไอน้ำเรือกลไฟบริเวณท่าเรือเก่า เป็นหลักฐานว่าท้องน้ำเคยกว้างและลึกพอให้เรือเดินทะเลเข้ามาได้

 

          การทำเหมืองแร่ดีบุกย้ายจากชายฝั่งลงไปขุดในทะเล พร้อมกับที่เกิดศูนย์กลางหน่วยงานราชการ และพื้นที่การค้าใหม่ ใกล้ถนนเพชรเกษม ต่อเนื่องกับ ‘ตลาดย่านย่าว’ ซึ่งเป็นบริเวณท่าเรือใหม่ อยู่ใกล้ทะเลกว่าท่าเรือเดิมที่ลำน้ำตื้นเขินลง ชื่อเรียก ‘ตลาดใหญ่’ กลายเป็น ‘ตลาดเก่า’

 

          ต่อมาเมื่อราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำลง ประกอบกับผลกระทบของเหมืองแร่ต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยห้ามทำเหมืองแร่ นับแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ตะกั่วป่าในฐานะแหล่งผลิตแร่ดีบุกก็สิ้นสุดลงไปพร้อมกัน

          ส่วนยายย้ายกลับมาก็ทำงานในโรงพยาบาลที่ตะกั่วป่า นับแต่ปี  พ.ศ.2508 และสร้างบ้านใหม่อยู่ใกล้ๆ ตลาดย่านยาว บ้านในตลาดเก่าที่เป็นของพี่สาวยายและเคยขายของชำก็ปิดตัวลง เช่นเดียวกับบริษัทเหมืองแร่ โรงแรม และร้านค้าส่วนใหญ่บนถนนเส้นเดียวกัน

 

 

ภาพที่ 7 ถนนศรีตะกั่วป่า พ.ศ. 2560 ชีวิตของตลาดในวันอาทิตย์


          ตลาดใหญ่ที่เคยคึกคักด้วยมหรสพและผู้คน มีเพียงคนเก่าคนแก่อาศัยอยู่หลังบานประตูเหล็กยืดที่ปิดไว้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2551 ชุมชนและองค์กรรัฐร่วมกันจัดทำโครงการถนนสายวัฒนธรรม ตะกั่วปา เมืองเกา เลาความหลัง จัดตลาดนัดทุกวันอาทิตย์บนถนนศรีตะกั่วปา ทำให้คนเก่าแก่ได้ออกมาทำอาหารและขนมแบบดั้งเดิมขายทุกวันอาทิตย์ พี่สาวของยายก็เช่นกัน ออกมาตั้งโต๊ะเล็กๆ หน้าบ้าน ขายอาโป๊ง อาจาด ฯลฯ ตลาดเก่าจึงกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพังงา ก่อนที่ต้องปิดตัวลง อีกครั้งหลังการระบาดของโควิด 19

 

แหล่งข้อมูลค้นคว้า

สัมภาษณ์  นางเพ็ญจิต เริงจิต อายุ  84 ปี  วันที่  30 พฤษภาคม  พ.ศ.2564

 

เอกสารออนไลน์

กองบรรณาธิการ. “ตะกั่วป่าเมืองเก่ากับเรื่องเล่าไม่รู้จบ” วารสารเมืองโบราณ

แหล่งที่มา http://www.muangboranjournal.com/post/Takuapa_Naver_Ending_Stories

 

เทศบาลเมืองตะกั่วป่า. “ถนนวัฒนธรรม เมืองเก่าตะกั่วป่า”

แหล่งที่มา https://www.takuapacity.go.th/travel/detail/197

 

ตะกั่วป่าบ้านเรา. ข่าวตึกโบราณถล่ม https://www.kuapa.com/ตึกโบราณถล่ม/

 

ตะกั่วป่าบ้านเรา. ตำนานสะพานเสนา ฉบับเล่าสู่กันฟัง https://www.kuapa.com/ ตำนานสะพานเสนาฉบับเล่า

 

วชิรญาณ. “สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2478 . อธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า ตอนที่ 2 ว่าด้วยประวัติเมืองตะกั่วป่า” แหล่งที่มา : https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๗๘/พฤศจิกายน/อธิบายเรื่อง เมืองตะกั่วป่า -ตอนที่-๒

 

สกาวรัตน์ บุญวรรโณ และ เก็ตถวา บุญปราการ. “พื้นที่ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า : การประกอบสร้าง อัตลักษณ์ เพื่อการท่องเที่ยวถวิลหาอดีต Old Town Takuapa: Identity Construction  for Nostalgia Tourism” วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 12(1) ม.ค.-มิ.ย.2560,น.61-77.  แหล่งที่มา https://so04.tci-thaijo.org

 

สกาวรัตน์ บุญวรรโณ.ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า:พื้นที่โหยหาอดีตสกู่ารกลายเป็นสินค้าในกระแส การท่องเที่ยว Old Town Takuapa: From a Nostalgic Area to Commoditization in Tourism. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2559. แหล่งที่มา https://kb.psu.ac.th 

 

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม. โครงการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า เมืองเก่าตะกั่วป่า.

แหล่งที่มา http://www.onep.go.th/nced/wp-content/uploads/2016/09/ตะกั่วป่า.pdf

 

Khoo Salma Nasution. “Connection and the Emergence of the Phuket Baba Community”. Journal of the Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society Vol. 82, No. 2 (297), [Peranakan Chinese in Penang and the Region] (December 2009), pp. 81-112 (32 pages) Published by: Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society.

แหล่งที่มา https://www.jstor.org/stable/i40072975

 

สุพิตา  เริงจิต

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ