สถานที่: พิพิธภัณฑ์กู้กง หรือ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum) ไต้หวัน
หลังจากที่ท่องพิพิธภัณฑ์มานาน ฉันก็เริ่มสังเกตว่า พิพิธภัณฑ์ที่ฉันโปรดปรานมักจะมีอย่างหนึ่งคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แบบไหน (ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ) นั่นคือ ความสามารถในการคัดสรรของจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มาจัดนิทรรศการชั่วคราว ให้ความหมายใหม่หรือชวนให้ผู้มาเยือนได้มองของเก่าในมุมใหม่
นิทรรศการที่ฉันชอบที่สุดครั้งหนึ่ง ชื่อ “Story of an Imperial Brand Name” (เรื่องราวของแบรนด์จักรพรรดิ) จัดโดยพิพิธภัณฑ์กู้กง หรือชื่ออย่างเป็นทางการ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum) ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ฉันโชคดีได้มีโอกาสไปเยือนในปี พ.ศ. 2560
พิพิธภัณฑ์นำเสนองานนี้อย่างน่าสนใจว่า ไม่ได้แสดงสมบัติของจักรพรรดิเฉียนหลง ฮ่องเต้ที่โด่งดังที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน (ราชวงศ์ชิง, ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1736-1795) แต่แสดง “บรรจุภัณฑ์” ที่ใส่สมบัติล้ำค่าของพระองค์อีกที!
จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะทุกแขนง ในรัชสมัยของพระองค์ไม่เพียงแต่ศิลปะเบ่งบาน แต่เทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและงานช่างก็รุ่งเรืองก้าวหน้าตามไปด้วย โดยเฉพาะเครื่องเคลือบ ซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลงทรงโปรดให้รังสรรค์สไตล์ใหม่ “หยางไฉ่” ในรัชสมัยของพระองค์ จุดสุดยอดของเครื่องเคลือบจีนที่ผนวกผสานการวาดภาพลายดอกไม้หรือทิวทัศน์โดยใช้เทคนิคจากตะวันตก เข้ากับเทคโนโลยีการหล่อเครื่องเคลือบเนื้อเนียนขาวได้อย่างลงตัว
นิทรรศการบรรจุภัณฑ์เฉียนหลง ทำให้ฉันทึ่งในความหมกมุ่นและจริงจังของจักรพรรดิองค์นี้ไปอีกระดับ เพราะแสดงให้เห็นว่า นอกจากจะเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยงแล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงยังอุทิศเวลามากมายไปกับการหาวิธี “เก็บรักษา” “จัดหมวดหมู่” และ “จัดแสดง” คอลเล็กชันของพระองค์ ทั้งงานศิลปะที่ทรงบัญชาให้สร้าง ตกทอดมาเป็นมรดกจากฮ่องเต้องค์ก่อนๆ และที่ได้รับเป็นเครื่องบรรณาการจากต่างแดน
นิทรรศการนี้ทำให้ฉันอึ้งกับความประณีตของบรรจุภัณฑ์นานาชนิดที่ออกแบบมาสำหรับงานชิ้นนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ต้องเรียกว่า “คัสตอมไมซ์” มาให้ตรงกับจริตของลูกค้าเลยทีเดียว
งานศิลปะทั้งหลายในรัชสมัยของเฉียนหลง ทำให้เราเห็นความช่ำชองและพรสวรรค์ของศิลปินหรือช่างผู้สรรค์สร้าง ส่วน “บรรจุภัณฑ์” ที่บรรจุงานเหล่านั้น ทำให้เราเห็นวิธีคิด จริต และรสนิยมอันละเมียดละไมของจักรพรรดิผู้ครอบครอง
ถูกต้องแล้วที่พิพิธภัณฑ์ใช้คำว่า “แบรนด์เนม” ในการตั้งชื่อนิทรรศการ เพราะใครที่เข้ามาดูจะทึ่งกับนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงามของการออกแบบบรรจุภัณฑ์กว่าสองร้อยปีที่แล้ว ซึ่งจวบจนปัจจุบันยังไม่ล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย แถมยังตรงกับแนวคิดสมัยใหม่เรื่องนวัตกรรมและการสร้างแบรนด์ด้วย
ลองมาดูตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ในนิทรรศการนี้สองสามชิ้นที่ฉันชอบเป็นพิเศษ
ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้หนีไม่พ้นกล่องไม้สลักลายมังกรงดงาม ตั้งชื่อน่าค้นหาว่า “กล่องร้อยชิ้น” เพราะสามารถเก็บของได้นับร้อยชิ้นจริงๆ อย่างเช่นกล่องมังกรที่เอามาแสดงในนิทรรศการ จัดวางให้เราเห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจว่าข้าวของด้านในมีอะไรบ้าง ซึ่งก็มีตั้งแต่เครื่องประดับหยกนานาชนิด ขวดยานัตถุ์จากตะวันตก ถ้วยชา เครื่องเคลือบขนาดจิ๋ว ที่ทับกระดาษ ตราประทับพระราชลัญจกรทำจากหยก เครื่องเขินจากญี่ปุ่น ชุดเครื่องเขียน และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ม้วนกระดาษลายมือพู่กัน จารึกบทกวีที่เฉียนหลงทรงโปรดปราน
ฉันนับข้าวของในกล่องนี้ได้ราวสี่สิบชิ้น ภายในกล่องแบ่งสัดส่วนชัดเจนเป็นชั้นบนกับชั้นล่าง ชั้นบนหยก ของที่ล้ำค่าที่สุด ส่วนชั้นล่างใส่ของอื่นๆ
ความประณีตของบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นน่าตื่นตาอย่างยิ่ง ลำพังถาดใส่หยกแผ่นบางถาดเดียวใน “กล่องร้อยชิ้น” กล่องนี้ ก็วาดภาพสีรูปเป็ด ปลา และดอกไม้นานาพรรณ ควบคู่ไปกับบทกวีที่เฉียนหลงทรงโปรดปราน ไว้บนกระดาษบุถาด ซึ่งแน่นอนว่าบทกวีเหล่านั้นก็เข้ากันพอดีกับหยกแต่ละชิ้นที่วางเข้าล็อกกับรูปร่างของมันบนถาด
ฉันเพลิดเพลินกับความวิจิตรพิสดารของการออกแบบกล่องเก็บหยกทุกขนาด อย่างกล่องในภาพด้านล่างนี้เก็บหยกสี่ชิ้น ออกแบบอย่างบรรจงตั้งแต่ลวดลายบนกล่อง ด้านในฝากล่องเปิดมาเจอบทกวีเขียนตัวบรรจงบนกระดาษ ติดบนกำมะหยี่อีกชั้น ส่วนด้านในกล่องตัดเป็นช่องสี่ช่อง ขนาดและรูปทรงพอดีกับชิ้นหยกแต่ละชิ้น ไม่มีวันเก็บผิดช่อง แต่ละช่องฉลุลายและวาดพื้นเป็นภาพเขียนสีน้ำขนาดจิ๋ว สี่ช่องก็สี่ภาพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่องใส่หยกนี้ในตัวมันเองจึงเป็น “งานศิลปะ” ชิ้นเอก ไม่ต่างจากหยกที่มันถูกออกแบบมาใส่เลย
ไม่ใช่เพียงกล่องใส่หยกแบนเท่านั้นที่สวยงาม กล่องใส่รูปปั้นหยกสามมิติก็วิจิตรบรรจงไม่แพ้กัน อย่างชิ้นด้านล่างนี้ที่ฉันชอบ แกะสลักไม้จันทน์หอมเป็นห้องหับทรงสูงสี่ห้อง ประดับประดาด้วยไม้ไผ่แกะสลัก แต่ละห้องวาง (โชว์) หยกสามมิติหลายชิ้น แต่ละชิ้นวางแล้วลงล็อกในตัวเอง และเมื่อถอยมาดูจากระยะไกล ก็ชัดเจนว่าศิลปินผู้ออกแบบกล่องไม้นี้ตั้งใจแบ่งพื้นที่ภายในห้องไม่ให้เท่ากันทุกช่องอย่างน่าเบื่อ แต่ตัดแบ่งตามขนาดและทรวดทรงของหยก ทำให้ภาพรวมออกมากลมกลืนลงตัว แม้สองฝั่งถ้าแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตรกันก็ตาม
นิทรรศการบรรจุภัณฑ์เฉียนหลง นอกจากจะทำให้ผู้มาเยือนอย่างฉันได้ถึงบางอ้อว่า “แบรนด์” ของจักรพรรดิองค์นี้เป็นอย่างไร บรรจุภัณฑ์สามารถเป็นงานศิลปะได้อย่างไร ยังทำให้ทึ่งกับภูมิปัญญาและนวัตกรรมการออกแบบ ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงใดก็ไม่รู้สึก “ล้าสมัย” เลยแม้แต่น้อย
หมายเหตุ: นิทรรศการจบลงไปหลายปีแล้ว แต่โชคดีที่พิพิธภัณฑ์กู้กงเก็บรักษาส่วนหลักๆ ของนิทรรศการนี้ให้เราได้ชื่นชมต่อไปในรูปแบบออนไลน์ โดยความร่วมมือกับกูเกิล สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://artsandculture.google.com/story/story-of-an-imperial-brand-name-national-palace-museum-taiwan/pQUxoZ0Vm5xrQg?hl=en
สฤณี อาชวานันทกุล