คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหม?
“ไปหยิบกะละมังสีเขียวให้ย่าที”
“มีแต่กะละมังสีฟ้า ใช้แทนกันได้ไหมย่า”
“อันเดียวกันนั่นแหละ หยิบๆ มาเถอะ”
แล้วคุณก็เดินงง ๆ หยิบกะละมังสีเขียว (ทั้งที่มันสีฟ้าชัดๆ ) กลับไปให้คุณย่า
ว่าแล้วก็ยังข้องใจ ลองกลับไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมดูอีกที เผื่อว่าข้อสงสัยนี้จะกระจ่างขึ้นมา
สีเขียว เป็นคำเรียกสีพื้นฐานสีหนึ่งในภาษาไทย แต่เดิมนั้นความหมายของสีเขียวกินความกว้างกว่าปัจจุบันมาก ในสมัยสุโขทัย สีเขียวมีความหมายรวมไปถึงสีน้ำเงินและสีม่วงอีกด้วย (ศุภมาส เอ่งฉ้วน, 2543) เราจึงเคยได้ยินสำนวนว่า "สุดหล้าฟ้าเขียว" หรือเคยได้ยินประโยคที่ว่า "เดินชนโต๊ะจนเข่าเขียว" (ทั้งที่มันสีม่วงชัดๆ ) ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย เราจึงเริ่มพบหลักฐานของคำเรียกสีฟ้าและสีม่วง (วิพาที ทิพย์คงคา, 2553) และเริ่มพบคำเรียกสีน้ำเงินในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้เอง (ธนัฏฐากุล พรทิพยพานิช, 2557)
ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานเส้นทางและความหมายของสีเขียวในภาษาไทยได้ว่า จากเดิม “เขียว (เขียว, น้ำเงิน, ม่วง)” กลายมาเป็น “เขียว (อย่างเดียวเท่านั้น)” ในปัจจุบัน
เมื่อค้นข้อมูลให้ลึกลงไป เรายังพบว่าคำว่า “เขียว” ยังมีความสัมพันธ์กับภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเราอีกด้วย
คำว่า ខៀវ (เขียว) ในภาษาเขมร ถ้าดูตามรูปก็จะเห็นได้ว่าเป็นอีกคำที่เขียนเหมือนกับภาษาไทยและใช้เป็นคำเรียกสีเช่นเดียวกัน สมเกียรติ วัฒนาพงษากุล (2548) สันนิษฐานว่าภาษาเขมรรับคำนี้มาจากภาษาไทย โดยรับอย่างมาอย่างน้อยตั้งแต่ภาษาเขมรสมัยกลาง (พุทธศตวรรษที่ 21 - 22) จากช่วงระยะเวลาการยืมและเกณฑ์ของสมเกียรติที่ไม่จัดให้คำที่ยืมเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมและเทคโนโลยีเป็นคำเรียกสีพื้นฐาน คำเรียกสีเขียวในภาษาเขมรจึงได้รับการพิจารณาให้เป็นคำเรียกสีพื้นฐานสีหนึ่งในภาษาเขมร ทว่าสีเขียวในภาษาเขมรปัจจุบัน ไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกับสีเขียวในภาษาไทยปัจจุบันนี่สิ เพราะมันดันมีความหมายว่า "สีน้ำเงิน"
สมเกียรติสันนิษฐานว่า ខៀវ (เขียว) ในภาษาเขมรแต่เดิมนั้น มีความหมายกินความทั้งสีเขียวและสีน้ำเงิน เช่นเดียวกับความหมายในภาษาไทยสมัยสุโขทัย ต่อมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่มีพลวัตในการใช้ จึงเหลือเฉพาะความหมายว่าสีน้ำเงินเท่านั้น
แล้วสีเขียว (ที่หมายถึงสีเขียวจริง ๆ ) ในภาษาเขมรปัจจุบันล่ะ ใช้คำว่าอะไร?
ในภาษาเขมรเรียกสีเขียวว่า "បៃតង" (ไบตง - ใบตอง) คำนี้ก็เป็นคำยืมจากภาษาไทยอีกเช่นเดียวกัน (สมเกียรติ วัฒนาพงษากุล, 2548) เอาใบตองมาใช้เรียกแทนสีเขียวแบบนี้ เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพมากจริง ๆ
ดังนั้นจึงอาจสรุปเส้นทางคำว่า ខៀវ (เขียว) ในภาษาเขมรได้ว่า จากเดิม ខៀវ (เขียว, น้ำเงิน) กลายมาเป็น ខៀវ (น้ำเงิน)
จาก “เขียว” เดียวกัน ก็เปลี่ยนความหมายและการใช้ออกไป อย่างน้อยประเด็นนี้ก็ทำให้เราเห็นธรรมชาติของภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และยังทำให้เราเห็นมิติการยืมคำที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่เราที่ยืมคำจากภาษาอื่นเข้ามา เราเองก็ส่งอิทธิพลต่อภาษาอื่นด้วยการให้เขายืมคำไปใช้เช่นเดียวกัน
...แล้วที่ย่าเรียกกะละมังสีฟ้าว่ากะละมังสีเขียว ย่าคงกำลังแยกสีตามแบบภาษาไทยสมัยสุโขทัยอยู่สินะ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ธนัฏฐากุล พรทิพยพานิช. 2557. "คำเรียกสีในภาษาไทยสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิพาที ทิพย์คงคา. 2553. "คำเรียกสีในภาษาไทยสมัยอยุธยา" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศุภมาส เอ่งฉ้วน. 2543. "คำเรียกสีและมโนทัศน์เรื่องสีในภาษาไทยสมัยสุโขทัยและสมัยปัจจุบัน" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมเกียรติ วัฒนาพงษากุล. 2548. "สีในภาษาเขมร : การรับรู้และโครงสร้างทางไวยากรณ์" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
กฤตกร สารกิจ