Museum Core
เปิดมุมมองพิพิธภัณฑ์ลาวผ่าน Traditional Arts and Ethnology Centre
Museum Core
01 พ.ย. 64 1K
ประเทศลาว

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

          หลวงพระบาง จัดเป็นเมืองอันดับสองรองจากเมืองหลวงเวียงจันทร์ เสน่ห์ที่เป็นภาพจำของหลวงพระบางเป็นบ้านเมืองหลงยุคที่ให้กลิ่นอายของอดีตสมัยเมื่อ 50-80 ปีที่แล้ว วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเนิบช้าของชาวบ้าน ภาพขบวนพระสงฆ์ที่รวมแถวเดินเรียงยาวเป็นร้อยเมตรเพื่อรับบาตรข้าวเหนียวจากชาวบ้าน รวมถึงสภาพป่าและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยังคงสมบูรณ์ ทำให้ได้รับการประกาศจากยูเนสโก้ให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี ค.ศ. 1996 แต่ละปีที่นี่จึงมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่โหยหาความสโลว์ไลฟ์ไปเยือนเป็นจำนวนมาก

 

           แน่นอนว่า เมื่อลาวเริ่มแคมเปญเปิดประเทศครั้งแรก (Visit Laos 1999-2000) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว การพัฒนาเมืองในลาวก็ทยอยปรับเปลี่ยนไปให้เจริญและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นตามเมืองท่องเที่ยว รวมถึงหลวงพระบางด้วย จนถึงปัจจุบันหลวงพระบาทมีจำนวนโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นเยอะมาก ร้านรวงต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งร้านขายฝากและของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ มีแถบทุกตรอกซอกซอย ตลาดขายสินค้าพื้นเมืองตอนกลางคืน (Night Market) ก็ขยายทั้งพื้นที่และเวลาซื้อขาย จากเดิมที่ตลาดเคยวายไม่เกินสามทุ่มก็กลับยาวนานขึ้น

 

          ทว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงและทำให้เมืองหลวงพระบางสมบูรณ์ขึ้น นั่นคือการเพิ่มจำนวนของหอศิลปะ มิวเซียมและศูนย์ข้อมูลเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนลาวได้ดียิ่งขึ้น จากที่ผู้เขียนได้ไปเยือนหลวงพระบางครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2016 ก็พบว่ามีมิวเซียมที่น่าสนใจมากและอยากแชร์ประสบการณ์ความประทับใจในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมชนเผ่า (Traditional Arts and Ethnology Centre – TAEC) ให้กับคนที่สนใจอยากไปเที่ยวหลวงพระบางได้แวะไปศึกษาทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พบเห็นในประเทศลาว

 

          TAEC ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ด้วยความตั้งใจของผู้หญิง 2 คน คือ คุณตารา กุชาธูร (Tara Gujadhur) และคุณทองคูณ สุดทิวิไล (Thongkhoun Soutthivilay) ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันทำงานทุกอย่างด้วยกันตั้งแต่เริ่มต้น ควบรวมบทบาททั้งผู้ก่อตั้ง บริหารจัดการ และภัณฑารักษ์ ออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการ โดยวางเป้าหมายไว้ว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลความรู้และจัดแสดงให้เห็นถึงความงดงามของศิลปะดั้งเดิม วิถีแห่งชีวิต และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีมากถึง 50 กลุ่มในลาว เพื่อให้ผู้ที่สนใจ นักเรียนและคนในท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้

 

          อาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเก่าชั้นเดียวที่ถูกปรับปรุงให้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ เช่น พื้นที่จัดกิจกรรมเรียนรู้และเวิร์คช้อป โซนร้านค้าและสำนักงานของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ภัณฑารักษ์ทั้งสองจึงได้วางแผนบริหารการจัดนิทรรศการเป็นลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องตามวาระไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลาว จึงไม่มีนิทรรศการหลักแบบถาวร

 

ภาพที่ 1 ห้องจัดแสดงนิทรรศการที่มีพื้นที่จำกัด แต่เนื้อหาเป็นสัดส่วนชัดเจนง่ายต่อการติดตาม

 

           ในตอนนั้นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเรื่อง “ผู้ดูแลเป็นผู้รักษาวัฒนธรรม: เรื่องราวของผู้หญิงในลาวที่กำลังเปลี่ยนไป” (Caregivers to Culture Keepers: Stories from Women in a Changing Laos) เพื่อแสดงมุมมองของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสังคมลาวร่วมสมัย บอกเล่าด้วยภาพถ่าย วีดิโอสารคดี และวัตถุจัดแสดงต่างๆ ที่สะท้อนถึงการทำงาน ครอบครัว สุขภาพ มรดกวัฒนธรรมและหัตถกรรมต่างๆ ที่บันทึกถ่ายทำเองโดยกลุ่มเด็กสาวและผู้หญิงที่อยู่ในเขตลาวตอนเหนือ

 

ภาพที่ 2 มุมจัดแสดงภาพถ่ายและวีดิโอสารคดีที่ผู้รักษาวัฒนธรรมมีส่วนร่วมเลือกนำเสนอด้วยตัวเอง

 

           โดยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเริ่มต้นจากชุดข้อมูลการปูพื้นให้ผู้ชมมีความเข้าใจถึงภาพรวมของกลุ่มคนในประเทศลาวที่แบ่งออกตามกลุ่มภาษาที่ใช้พูดได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอเชียใต้ (ออสโตรเอเชียติก) กลุ่มม้ง-เย้า กลุ่มไต-กะได และกลุ่มจีน-ธิเบต ประกอบกับภาพถ่าย รูปวาด แผนที่ พร้อมกับวัตถุจัดแสดง เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับศีรษะ เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะจักสาน อุปกรณ์การทอผ้า แบบโมเดลจำลองบ้าน ฯลฯ ซึ่งถูกคัดเลือกมาแล้วอย่างดีให้สื่อสารได้ชัดเจน

 

 

ภาพที่ 3 ตัวอย่างการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของหญิงชาวลาว

 

         
           ครั้งแรกที่กวาดสายตาไปรอบๆ ห้องนิทรรศการขนาดไม่กี่ร้อยตารางเมตรก็คิดว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก แต่การเล่าเรื่องสามารถดึงให้ผู้ชมหยุดใช้เวลาช้าๆ ในการอ่านเนื้อหาของนิทรรศการที่ถูกตีความและย่อยแล้วเรียบเรียงเป็นคำอธิบายที่สั้นกระชับด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เมื่อรวมกับข้าวของสิ่งจัดแสดงอื่นๆ ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี ช่วยเสริมให้เข้าใจคอนเทนต์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่นิทรรศการเล็กๆ นั้นกว่าจะเดินดูจนจบก็เพิ่งรู้ตัวว่าใช้เวลาจมจ่อมไปนานเป็นชั่วโมงกว่าเลยทีเดียว 

 

            มีมุมเล็กๆ 2-3 จุดในนิทรรศการที่แบ่งให้เป็นพื้นที่กิจกรรมแบบ Hands-on เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์จริงที่กล่าวแสดงไว้ในเนื้อหาอย่างเช่น การทดลองสวมเป้ผ้าอุ้มเด็กแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันของบรรดาแม่ๆ ที่ต้องทำงานไปด้วยพร้อมกับเลี้ยงดูลูกน้อยที่แบกไว้แนบหลัง ด้วยบทบาทสมมติแต่สร้างความรู้สึกที่สัมผัสได้จริงด้วยตัวเองนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้มาก

 

ภาพที่ 4 ตัวอย่างมุมกิจกรรมแบบ Hands-on

 

           สิ่งที่จัดแสดงอย่างเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่โชว์ไว้ในนิทรรศการอย่างตั้งใจก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่ใช่ชิ้นงานที่ทรงคุณค่าด้วยความเก่าแก่ แต่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะเป็นผู้เก็บรักษา (keeper) ทำหน้าที่ดูแลสิ่งตกทอดที่เป็นมรดกวัฒนธรรมในสังคมลาวได้อย่างดี

 

ภาพที่ 5 ตัวอย่างเครื่องแต่งกายชนเผ่าที่เก็บรักษาเป็นอย่างดีเพื่อส่งทอดต่อเป็นมรดก

 

          นอกเหนือจากบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการจัดแสดงและให้ข้อมูลความรู้แล้ว TAEC ยังรับผิดชอบทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยส่งเสริมให้เจ้าของวัฒนธรรมกลุ่มต่างๆ ในลาวได้มีพื้นที่เผยแพร่และขายสินค้าหัตถกรรมต่างๆ ที่ผลิตขึ้นใหม่ด้วยแนวคิดที่ยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมแต่ประยุกต์ให้มีรูปแบบรูปทรงที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้สอยของนักท่องเที่ยว รวมถึงพิพิธภัณฑ์ยังเป็นตัวแทนพิทักษ์สิทธิ์เรียกร้องความถูกต้องในการเป็นเจ้าของวัฒนธรรมดั้งเดิมเมื่อถูกภาคธุรกิจทุนนิยมฉกฉวยไปอย่างไม่เป็นธรรมด้วย ความรู้สึกหลังจากได้ชมพิพิธภัณฑ์จบ คิดว่าพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ทำหน้าที่ต่อสังคมได้ครบถ้วนมาก   

 

ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ