เมื่อหลายสิบปีก่อน เวลาผู้เขียนนึกถึงพิพิธภัณฑ์ก็มักจะจินตนาการถึงเครื่องถ้วยชาม เทวรูป เครื่องประดับล้ำค่า งานศิลปะหัตถกรรม ชุดเกราะ หุ่นในเครื่องแต่งกายแปลกๆ โมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองเหตุการณ์สถานที่ต่างๆ และก็จะนึกไปถึงห้องคลังของพิพิธภัณฑ์ที่มีสิ่งเหล่านี้เก็บอยู่มากกว่าที่เอามาจัดแสดงเป็นร้อยเท่า หรือเป็นหมื่นๆ แสนๆ เท่าสำหรับพิพิธภัณฑ์มหาอำนาจ
จนกระทั่งผู้เขียนไปพบกับพิพิธภัณฑ์เอกสารประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งนาโปลี (Museo dell’ Archivio Storico del Banco di Napoli) พิพิธภัณฑ์ที่ในคลังมีแต่กระดาษอายุสามสี่ร้อยปีอยู่บนชั้นที่สูงจรดเพดานคิดเป็นความยาวหลายสิบกิโลเมตร และพิพิธภัณฑ์ของศูนย์ตีความมรดกวัฒนธรรมแห่งเมืองเก่าวอร์ซอ (Warsaw's Old Town Heritage Interpretation Center) ซึ่งมีคลังเป็นกระดาษแบบแปลนและภาพวาดลายเส้นของอาคารเก่ากว่า 40,000 ชิ้น ห้องสมุดที่ประเทศนอร์เวย์ก็ทำสิ่งที่ไม่แตกต่างกัน
พวกเขาเอาหนังสือและเอกสารออกมาจัดแสดงร้อยเรียงเป็นเรื่องราว
ผู้เขียนไปประเทศนอร์เวย์เมื่อปี คศ.2010 หรือ 11 ปีมาแล้ว ได้ไปดูห้องสมุดของเขา 2 แห่งที่ต่างก็เอาทรัพยากรห้องสมุดออกมาใช้จัดนิทรรศการ ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับห้องสมุดเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ขนาดที่สภามีการออกกฎหมายว่าด้วยห้องสมุดโดยเฉพาะที่เรียกว่า Norwegian Library Act of 1985 ซึ่งเป็นแม่บทในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ของห้องสมุดสาธารณะต่างๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดเมือง และห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
หอสมุดแห่งชาตินอร์เวย์
ที่หอสมุดแห่งชาตินอร์เวย์ (National Library of Norway) ในกรุงออสโล (Oslo) มีคอลเลคชั่นเกี่ยวกับดนตรีและภาพยนตร์จำนวนมาก เช่น สมุดโน้ตดนตรี บทละคร สคริปต์ ฟิล์ม และสื่อโสตทัศน์ต่างๆ ผู้เขียนจะไม่รู้เลยว่าในห้องสมุดมีห้องที่ให้บริการทรัพยากรเหล่านี้โดยเฉพาะ ถ้าไม่เพราะในช่วงที่ผู้เขียนไปนั้นพอดีเป็นเวลาครบรอบ 100 ปีการเสียชีวิตของบีเยินส์จาเนอ มัตตีนีอุส บีเยินซอน (Bjørnstjerne Martinius Bjørnson (1832-1910)) นักประพันธ์ชาวนอร์เวย์ที่มีชื่อเสียง หอสมุดแห่งชาตินอร์เวย์จึงได้จัดนิทรรศการชีวประวัติและผลงานของเขา บีเยินซอนมีผลงานทั้งที่เป็นนิยาย เรื่องสั้น บทละคร บทกวี และบทเพลง นอกจากนั้นเขายังเป็นนักหนังสือพิมพ์และผู้กำกับการแสดงละครเวทีอีกด้วย เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1903
นิทรรศการนี้ไม่ได้ขี้เหร่เลย มีการออกแบบและใช้สื่อจัดแสดงที่สวยงาม มีสื่อโสตทัศน์ที่มีหูฟังให้บริการ ผู้จัดแสดงค้นคว้าเรียบเรียงข้อมูลจากทรัพยากรที่มีอยู่ นำหนังสือ เอกสารเก่า และสื่อของหอสมุดออกมาจัดแสดง เช่น สมุดโน้ตเพลง บทละคร กฤตภาค (ข่าว/บทความจากหนังสือพิมพ์) นิทรรศการนี้นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของบีเยินซอนแล้วยังทำให้เราทราบว่าหอสมุดมีคอลเลกชันที่น่าสนใจ ติดตามเข้าไปยังห้องสมุดของเขาและได้พบขุมทรัพย์อันเลอค่าน่าอัศจรรย์
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทรอมโซ
มหาวิทยาลัยทรอมโซ (University of Tromsø) เป็นมหาลัยวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าในสถานที่ที่หนาวเย็นขนาดนั้นเราจะได้พบรูปปั้นครึ่งตัวของมหาตมะ คานธี ตั้งอยู่ในสวน (ซึ่งในบางวันจะมีนักศึกษาที่ปรารถนาดีเอาผ้าลายดอกไปห่มให้คลายหนาว) และเมื่อเข้าไปในห้องสมุดด้านวัฒนธรรมและสังคมศาสตร์ (Culture and Social Sciences Library) ก็พบนิทรรศการเกี่ยวกับมหาตมะ คานธี นิทรรศการเล่าเรื่องราวในช่วงที่คานธีไปทำงานที่ประเทศแอฟริกาใต้ และก็มีส่วนหนึ่งที่นิทรรศการกล่าวถึงคานธีกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
นายอัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลซึ่งเป็นชาวสวีเดนได้ระบุให้ประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลนี้มีพิธีมอบที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์มาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว จากเนื้อหาของนิทรรศการผู้เขียนก็เพิ่งจะรู้ว่าคานธีได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 5 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1937, 1938, 1939 (เว้นไปในช่วงสงครามโลก) 1947 และท้ายสุดในปี ค.ศ. 1948 ซึ่งเขาได้รับรางวัลแต่ก็ช้าไปเสียแล้ว เขาไม่ได้มารับเพราะถูกยิงเสียชีวิต
มหาวิทยาลัยทรอมโซมีศูนย์สันติศึกษา (Peace Study Center) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยจึงได้มีทรัพยากรการศึกษาเกี่ยวกับมหาตมะ คานธีไว้ให้บริการจำนวนมาก จากฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทรอมโซมีทรัพยากรว่าด้วยคานธีอยู่กว่า 50,000 รายการ ประกอบด้วยหนังสือ เอกสารจดหมายเหตุ วิทยานิพนธ์ บทความ ข่าวหนังสือพิมพ์ และสื่อโสตทัศน์
เมื่อหลายสิบปีก่อน เวลาที่บรรณารักษ์จะทำประชาสัมพันธ์แนะนำหนังสือ (หรือทรัพยากรอื่นๆ ของห้องสมุด) เขาก็มักจะเอาหนังสือออกมาวางไว้บนชั้นหรือในตู้โชว์ อาจมีคำบรรยายประวัติผู้เขียนและสรรพคุณของหนังสือโดยคัดออกมาจากคำนิยมที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนั้น วิธีนี้ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย แต่ในปัจจุบันผู้เขียนคิดว่าคงจะมีห้องสมุดหลายแห่งที่นำทรัพยากรในห้องสมุดออกมาเป็นสิ่งจัดแสดงที่เชื่อมโยงเรื่องราวมากมายในโลกได้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนหวังว่าเรื่องเล่าจะช่วยลดความสงัดเงียบในบรรยากาศของห้องสมุด ปลุกหนังสือและเอกสารเก่าๆ ขึ้นจากความหลับใหล อีกทั้งยังช่วยสร้างจินตนาการและแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้าให้แก่ผู้ใช้บริการได้อีกด้วย
หอสมุดแห่งชาตินอร์เวย์ https://www.nb.no/en/the-national-library-of-norway/
มหาวิทยาลัยทรอมโซ ปัจจุบันปรับโครงสร้างเป็น The Arctic University of Norway https://en.uit.no/om
กระต่ายหัวฟู