ข้อความในพงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงเรื่องราวอันเป็นที่มาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองปัตตานีคือ ‘เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ เอาไว้ว่า
“...พลเมืองในปัตตานีได้ทราบกันทั่วไปมาจนเดี๋ยวนี้ ว่าเปนที่หล่อปืน แลนายช่างผู้ที่หล่อปืน 3 กะบอกนั้น สืบได้ความว่าเดิมเปนจีนมาจากเมืองจีน เปนชาติหกเกี้ยนแซ่หลิม ชื่อเคี่ยม เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะ
จีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าศาสนามลายูเสียด้วย พวกมลายูสมมุติเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมตลอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้
แลในตำบลกะเสะซึ่งหลิมโต๊ะเคี่ยมอยู่มาก่อนนั้น พลเมืองที่อยู่ต่อมาจนเดี๋ยวนี้ ยังนับถือหลิมโต๊ะเคี่ยมว่าเปนต้นตระกูลของพวกหมู่บ้านนั้น แลยังกล่าวกันอยู่เนืองๆ ว่าเดิมเปนจีน
หลิมโต๊ะเคี่ยมนายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวหลิมโต๊ะเคี่ยมชื่อเก๊าเนี่ยวตามมาจากเมืองจีน มาปะหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี อยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายูกลับไปเมืองจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไป เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปี หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมไปแขงอยู่ เก๊าเนี่ยวซึ่งเปนน้อง มีความเสียใจหลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ชายจึงผูกคอตายเสีย
ครั้นเก๊าเนี่ยวน้องสาวผูกคอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้พี่ก็จัดแจงศพเก๊าเนี่ยวน้องสาวฝังไว้ในตำบลบ้านกะเสะ ทำเปนฮ่องสุยปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พวกจีนก็เลยนับถือว่าเปนผู้หญิงบริสุทธิ์อย่าง 1 เปนคนรักชาติตระกูลอย่าง 1 ได้มีการเส้นไหว้เสมอทุกปีมิได้ขาดที่ศพเก๊าเนี่ยวนี้...” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกขึ้นโดยผู้เขียน)
ข้อความในพงศาวดารปัตตานี ซึ่งถือเป็นหลักฐานฉบับทางการที่เก่าแก่ที่สุด ที่กล่าวถึงที่มาของคติการบูชาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ระบุเอาไว้เพียงเท่านี้ ไม่มีทั้งตำนานเรื่องคำสาปไม่ให้มัสยิดกรือเซะสร้างเสร็จ หรือรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ ดังที่ตำนานมุขปาฐะ ในสมัยหลังและรวมมาถึงปัจจุบันนี้มักจะอ้างถึง
ภาพที่ 1: เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวครองอาภรณ์สีแดง เป็นประธานตั้งอยู่ในศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี
แหล่งที่มาภาพ: http://pattaniheritagecity.psu.ac.th/demo/wp-content/uploads/2018/12/kerdajino-037-1.jpg
และถ้าจะว่ากันตามข้อมูลในพงศาวดารเมืองปัตตานีฉบับนี้ ที่ผู้ชำระ (คือการเรียบเรียง ซึ่งก็แน่นอนว่า ย่อมมีการตัดบางอย่างออกไป เพิ่มตรงโน้นเข้ามา ตามแต่แว่นที่ผู้ชำระใช้มอง และหัวโขนที่ผู้ชำระสวมอยู่) คือ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้เคยเป็นทั้งผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และจางวางเมืองสงขลาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ประหลาดดีพิลึกนะครับ ที่ชาวเมืองปัตตานี ‘เลือก’ ที่จะนับถือบูชาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แทนที่จะเป็น ‘ลิ้มเคี่ยม’ หรือที่มักจะคุ้นกันมากกว่าในชื่อ ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ (‘โต๊ะ’ หรือ ‘ดาโต๊ะ’ แปลว่า ผู้อาวุโส)
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ นอกจากคนที่บ้านกรือเซะ (หรือที่ในพงศาวดารเรียกว่า บ้านกะเสะ) จะนับถือว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นต้นตระกูลแล้ว ในพงศาวดารฉบับเดียวกันยังได้อ้างถึงวีรกรรมของเขาเอาไว้อีกว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้กล่าวคำปฏิญาณว่า ขอใช้ชัวิตตนเองเป็นเครื่องเซ่นบูชาเพื่อให้หล่อปืนใหญ่กระบอกหนึ่งที่ชื่อว่า ‘มหาหล่าหลอ’ ได้สำเร็จ ซึ่งเมื่อหล่อสำเร็จแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็สั่งให้ลูกน้องสังหารตนเองด้วยปืนใหญ่กระบอกนั้น
ถึงแม้ว่าในพงศาวเมืองปัตตานีจะไม่ได้บอกถึงจุดประสงค์ในการหล่อปืนใหญ่กระบอกนี้ แต่ก็บอกรายละเอียดเอาไว้ด้วยว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้หล่อปืนใหญ่กระบอกนี้ร่วมกับปืนใหญ่อีก 2 กระบอกคือ ‘นางปัตตานี’ และ ‘ศรีนครี’ แถมยังอ้างต่อไปว่าเมื่อคราวสงคราม 9 ทัพ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ได้ลงมาตีเมืองปัตตานี แล้วได้ยึดเอาปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอกนี้ แล้วพยายามนำกลับมากรุงเทพฯ แต่ระหว่างที่เคลื่อนย้ายลงเรือ เกิดพายุซัดเอาปืนศรีนครจมลงทะเล จึงได้มาแต่ปืนใหญ่นางปัตตานีกลับมา โดยรัชกาลที่ 1 ได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น ‘พญาตานี’ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลโหม ส่วนปืนใหญ่มหาหล่าหลอนั้น ไม่ปรากฏในความส่วนนี้
(อันที่จริงแล้ว ปืนใหญ่พญาตานีนั้นมีประวัติการสร้างอีกสำนวนหนึ่งที่แตกต่างออกไป ดังปรากฏในหนังสือสยาเราะห์เมืองตานี ของหะยีหวันหะซัน ที่เล่าว่า ครั้งหนึ่งนายเรือสำเภาจีนได้นำเอาปืนและลูกกระสุนมาถวายพญาอินทิรา ผู้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนแรกที่เข้ารีตนับถืออิสลาม พญาอินทิราละอายต่อนายเรือจีนคนนั้น เพราะตนเองไม่มีปืนใหญ่ไว้ปกป้องบ้านเมือง จึงสั่งให้ห้ามนำทองเหลืองออกนอกเมือง และรับสั่งให้จัดหาทองเหลืองและช่างมาหล่อปืนใหญ่ให้ได้ภายใน 3 ปี เมื่อได้ทองเหลืองเพียงพอแล้ว จึงสั่งให้ช่างโรมัน [ในที่นี้หมายถึง ชนชาว ‘Roum’ หรือ ‘รูม’ คือคนในวัฒนธรรมโรมันที่เคยอยู่ในเขตพื้นที่ตุรกี และกลายเป็นมุสลิมไปในที่สุด คนไทยออกเสียงคำนี้ว่า ‘หรุ่ม’] ชื่ออับดุลซามัค มาเป็นผู้ทำการหล่อปืนจนแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ที่มาของปืนใหญ่พญาตานี ไม่ใช่ประเด็นถกเถียงในข้อเขียนชิ้นนี้)
ดังนั้นปืนใหญ่ทั้ง 3 กระบอกนี้จึงเป็นของสำคัญ ซึ่งก็สำคัญขนาดที่ต้องมีการบันทึกประวัติการสร้างเอาไว้ในพงศาวดาร และเอกสารอื่นๆ ทั้งที่เขียนขึ้นโดยคนนอก และในพื้นที่/วัฒนธรรมปัตตานี แต่เกียรติภูมิในการสร้างปืนใหญ่ ที่พงศาวดารเมืองปัตตานีอ้างว่า ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อให้หล่อปืนใหญ่สำหรับทั้ง 3 กระบอกนั้น กลับไม่เป็นที่นับถือเท่าการเป็นสาวบริสุทธิ์ และรักในวงศ์ตระกูลของลิ้มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้องสาวมันเสียอย่างนั้น?
ภาพที่ 2: ปืนใหญ่พญาตานี ที่พงศาวดารเมืองปัตตานีอ้างว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้สร้าง
ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ
แหล่งที่มาภาพ: http://www.siammanussati.com/?p=1723
อันที่จริงแล้ว เราก็ไม่เคยรู้เลยว่า น้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อว่าอะไรแน่? เพราะคำว่า ‘กอเหนี่ยว’ ในสำเนียงฮกเกี้ยนนั้นตรงกับคำว่า ‘กูเหนียง’ ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งก็คือคำเดียวกับคำว่า ‘โกวเนี้ย’ ในสำเนียงแต้จิ๋ว ที่ผู้อ่านนิยายกำลังภายในในไทยคุ้นเคยกันดี โดยมีความหมายว่า ‘แม่นาง’
ดังนั้นคำว่า ‘ลิ้มกอเหนี่ยว’ ในสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ ‘หลินกูเหนียง’ ในสำเนียงจีนกลางนั้น จึงมีความหมายตรงตัวว่า ‘แม่นางแซ่ลิ้ม’ หรือ ‘แม่นางแซ่หลิน’ เท่านั้น ต่างกันกับ ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ ที่พงศาวดารเมืองปัตตานีระบุเอาไว้ชัดเจนว่าชื่อ ‘ลิ้มเคี่ยม’ ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะคำว่า ‘หลินกูเหนียง’ นั้น เป็นชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญองค์หนึ่งตามความเชื่อของชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล นั่นก็คือ ‘เจ้าแม่ทับทิม’
ชาวจีนนับถือ ‘เจ้าแม่ทับทิม’ ในฐานะเทพีแห่งการเดินเรือ เทพีประจำอาชีพประมง นอกจากนั้นยังมีฤทธานุภาพทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรืออีกบานตะเกียง แม้กระทั่งการรบ ที่สำคัญก็คือชาวเรือในจีนยังมีคำใช้เรียกเจ้าแม่องค์นี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางว่า ‘ฉวนโถวเหนียง’ แปลตรงตัวว่า ‘พระแม่หัวเรือ’ เพราะเชื่อกันว่าเจ้าแม่องค์นี้สถิตอยู่ที่หัวเรือ ใกล้เคียงกับความเชื่อเรื่อง ‘แม่ย่านาง’ ของไทยเรา ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่จะพบศาลเจ้าแม่ทับทิมได้ทั่วไป ในบริเวณที่ชาวจีนโพ้นทะเลฝ่าคลื่นลม รอนแรมทางบนเรือมาแล้วตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นั่น
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษาระดับหาตัวจับยากในปัจจุบันอย่าง อ. ถาวร สิกขโกศล เคยอธิบายไว้ว่า โดยปกติแล้วชาวจีนมักจะเรียก ‘เจ้าแม่ทับทิม’ ตามสำเนียงจีนกลางว่า ‘มาจู่’ ฮกเกี้ยนเรียก ‘หมาจ่อ’ ส่วนแต้จิ๋วออกเสียงว่า ‘มาโจ้ว’ คำว่า ‘หมา’ หรือ ‘ม่า’ ในภาษาถิ่นฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว แปลว่า ‘ย่า’ หรือ ‘ยาย’ ใช้เรียกหญิงสูงอายุด้วยความยกย่อง ส่วนคำว่า ‘จ่อ’ หรือ ‘โจ้ว’ แปลว่า ‘บรรพชน’ เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง หญิงสูงอายุผู้มีคุณธรรมสูง เป็นชื่อที่เรียกด้วยความเคารพรักดั่งเป็นบรรพชน
แถม อ. ถาวร ยังบอกต่อไปอีกด้วยว่า ในจีนนั้นมีความเชื่อว่าเจ้าแม่ทับทิมมีตัวตนอยู่จริง โดยมีอยู่มากมายหลายตำนาน แต่ที่แพร่หลายที่สุดคือ ตำนานที่เชื่อว่า เจ้าแม่องค์นี้เป็นธิดาของหลินย่วน ผู้บัญชาการทหารแห่งอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (คือ ฮกเกี้ยน) ในรัชสมัยชองพระเจ้าซ่งไท่จู (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1503-1519) ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกเจ้าแม่ทับทิมอีกอย่างหนึ่งว่า ‘หลินกูเหนียง’ หรือ ‘ลิ้มกอเหนี่ยว’ ตามสำเนียงฮกเกี้ยน
ภาพที่ 3: ภาพเขียนเจ้าแม่ทับทิม หรือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่นักเดินทางชาวจีนในสมัยโบราณ
จะบวงสรวงบูชาทุกครั้งก่อนออกเดินเรือ
แหล่งที่มาภาพ: https://www.silpa-mag.com/culture/article_41855
เจ้าแม่ทับทิมหรือ ‘ลิ้มกอเหนี่ยว’ จะเคยมีชีวิตอยู่ที่ฮกเกี้ยน คือมณฑลฝูเจี้ยนจริงหรือเปล่า? ก็คงเป็นคำถามในทำนองเดียวกับที่ควรจะมีการตั้งคำถามถึง ‘เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ ที่ปัตตานี โดยเฉพาะเมื่อพงศาวดารเมืองปัตตานีระบุชัดว่า ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ ผู้เป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น เป็นจีนฮกเกี้ยน
และเมื่อมีชุมชนจีนฮกเกี้ยนอยู่ที่บ้านกรือเซะ การที่จะมีศาลบูชาเจ้าแม่ทับทิมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยสักนิด แต่ยิ่งน่าสนใจเสียด้วยซ้ำไปว่า ชาวปัตตานีเชื้อสายฮกเกี้ยน ที่ก่อสร้างศาลขึ้นมานั้นยังจดจำชื่อ ‘ลิ้มกอเหนี่ยว’ ของเจ้าแม่ได้ ต่างจากชาวจีนที่อื่นๆ ในไทย โดยเฉพาะจีนฮกเกี้ยนด้วยกันเอง ที่หันไปเรียกเจ้าแม่องค์นี้ด้วยชื่ออื่นๆ จนเรียกด้วยชื่อไทยว่า ‘เจ้าแม่ทับทิม’ ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเรียกตามเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับของเจ้าแม่องค์นี้ ซึ่งมักจะมีการถวายเครื่องทรงสีแดง อันเป็นสีของทับทิมให้กับเจ้าแม่
เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ได้เพียงแค่แม่นางลิ้มเท่านั้นที่อาจจะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง แต่หมายรวมถึงพี่ชายของเธอก็คือ ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ ด้วยที่อาจจะไม่ได้เป็นผู้สร้างปืนใหญ่ทั้ง 3 กระบอกอย่างที่ พระยาวิเชียรคีรี เขียนอ้างไว้ในพงศาวดารเมืองปัตตานี ในเมื่อมีประวัติการสร้างปืนใหญ่เหล่านี้ในสำนวนอื่นซึ่งเขียนขึ้นโดยคนใน
ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากว่า ‘ลิ้มโต๊ะเคี่ยม’ เองก็ไม่มีตัวตนอยู่จริงในอดีตของปัตตานีแล้ว ตำนานที่พระยาวิเชียรคีรีไม่ได้บันทึกเอาไว้อย่างเรื่อง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปผูกคอตาย ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์หน้ามัสยิดกรือเซะ เพื่อสาปแช่งไม่ให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างมัสยิดแห่งนี้สำเร็จ (ความในพงศาวดารเมืองปัตตานีก็กล่าวถึงมัสยิดแห่งนี้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงคำสาปที่ว่า และยิ่งไม่ได้ระบุว่าเกี่ยวข้องกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมเลยสักนิด) ตำนานของคำสาปดังกล่าว ก็น่าจะเป็นร่องรอยสัญลักษณ์ของปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเล กับชาวมุสลิมท้องถิ่น ที่บ้านกรือเซะ และอาจจะรวมถึงปัตตานีทั้งรัฐ ในช่วงเวลานั้น
ภาพที่ 4: มัสยิดกรือเซะ ที่มีตำนานว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่งไม่ให้สร้างเสร็จ
แหล่งที่มาภาพ: https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/general-knowledge/news_4020264
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ