นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างรู้ดีว่า “นครปารีส” เป็นเมืองเอกของงานศิลปะที่หลากหลาย มีชิ้นงานศิลปะระดับเวิล์ดมาสเตอร์พีซจากทั่วมุมโลกมารวมไว้ในทุกแขนงทั้งศิลปะโบราณเก่าแก่หลายพันปีจนถึงศิลปะยุคโพสโมเดิร์น ดังนั้นสิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อได้ไปเยือนปารีสก็ต้องไปแวะเยี่ยมชมงานศิลปะตามแต่ใจชอบ หรือสนใจไปพิพิธภัณฑ์ที่ใดสักแห่งที่มีให้เลือกมากมายในปารีส
ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกไปเช็คอินที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) พิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งเยี่ยมชมผลงานศิลปะทุกยุคสมัยทั่วโลก เรียกได้ว่าแค่เดินชมห้องนิทรรศการต่างๆ ให้ครบทุกห้องก็กินเวลาไปทั้งวันแล้ว หรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อเดินตามหาเฉพาะชิ้นงานมาสเตอร์พีซที่โด่งดังให้ครบตามเช็คลิสต์ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องได้ยลโฉม ‘โมนาลิซ่า’ ที่ใครๆ ต่างก็อยากไปยืนสบตาใกล้ๆ สักครั้งหนึ่ง
แต่ผู้เขียนจะชวนไปเที่ยวชมที่พิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแซน และไม่ไกลจากหอคอยไอเฟล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ พิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่ (Museé du Quai Branly) ซึ่งหากเทียบเคียงกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นแล้วก็อาจกล่าวได้ว่า
“เก บร็องลี่” เป็นพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ของเมืองปารีส โดยเริ่มเปิดให้บริการแก่สาธารณะเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2006 แม้อายุตัวพิพิธภัณฑ์จะยังไม่มากแต่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ
การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่ นั้นเป็นแนวคิดมาจากนายฌัก ชีรัก (Jacques Chirac) อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ด้วยต้องการให้มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงชิ้นงานศิลปะที่ฝรั่งเศสสะสมมาแต่ครั้งยุคโคโรเนียลให้เป็นกิจจะลักษณะ มีการแยกและย้ายศิลปวัตถุสะสมจากพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา (Museé de l’ Homme) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล มารวมเข้ากับศิลปะสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแอฟริกันและโอเชียเนีย (เดิม) แล้วก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่รวมการจัดแสดง เผยแพร่ ศึกษาวิจัย และอนุรักษ์ชิ้นงานศิลปะและวัตถุทางวัฒนธรรมที่มิใช่ฝีมือชาวยุโรป ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่ ถือครองศิลปวัตถุมากกว่า 370,000 ชิ้น ซึ่งเป็นชิ้นงานศิลปะหลายพื้นที่ทั้งจากทวีปแอฟริกา โอเชียเนีย อเมริกาและเอเชีย
หลังจากรู้ประวัติคร่าวๆ ของพิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่แล้วก็พอจะเดาออกว่า เราจะได้เจอกับศิลปะพื้นเมืองจากดินแดนห่างไกลที่เราพบเห็นได้น้อยในหนังสือศิลปะส่วนใหญ่ที่มักนิยมศิลปะยุโรป
จากลักษณะแผนผังพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบอาคารเป็นแนวยาวขนานตัวไปกับแม่น้ำแซน และแบ่งโซนการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 4 ส่วนตามทวีปที่เป็นแหล่งที่มาของวัตถุจัดแสดง แต่ขนาดไม่เท่ากัน ทั้งนี้พื้นที่จัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดเป็นของศิลปะพื้นเมืองจากแอฟริกา รองลงมาเป็นโอเชียเนีย อเมริกา และเอเชีย ตามลำดับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะฝรั่งเศสมีเขตปกครองอาณานิคมอยู่หลายส่วนในทวีปแอฟริกา
สำหรับผู้เขียนแล้วการจัดแสดงศิลปะพื้นเมืองของพิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่ มีความตื่นตา น่าสนใจ และรู้สึกสนุกเพลิดเพลินที่ได้เห็นชิ้นงานศิลปะที่ทำจากวัสดุหลากหลาย ลวดลายและสีสันที่ดูแปลกตา ในตู้จัดแสดงวัตถุบางชิ้นดูแล้วรู้สึกได้ถึงพลังงานบางอย่าง บางชิ้นก็ดูครบสมบูรณ์ สะอาดเอี่ยมเหมือนของใหม่ที่ไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน ตัวอย่างเช่น ขวดหรือโถที่ทำจากดินเผารูปทรงแปลกตาจากโซนนิทรรศการศิลปะอเมริกาใต้ที่ชวนให้สงสัยว่า ในอดีตช่างปั้นในกลุ่มชนเผ่าชาวอินคาคิดทำสิ่งนี้ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อะไร
ภาพที่ 1 ขวดหรือโถที่ทำจากดินเผาและเขียนด้วยลวดลายกราฟิกสีสด เมื่อถอดแบบลวดลายออกมาแล้วก็แสดงให้เห็นถึง
ความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างชิ้นงานที่ต้องการถ่ายทอด หรือบันทึกสภาพชีวิตของคนในสังคมไว้ด้วย
ภาพที่ 2 หุ่นจำลองขนาดเท่าจริงที่ใช้ในพิธีศพสำหรับชายที่มีตำแหน่งสูงในเผ่าที่จะได้รับการเลื่อนสถานะไปเป็นบรรพบุรุษ
ซึ่งใช้หัวกะโหลกจริงของผู้ตายมาเป็นแบบปั้นขึ้นรูป ใบหน้าของหุ่นจึงเหมือนจริงมาก แต่ตัวหุ่นจะถูกทิ้งไปหลังจบพิธี
เฉพาะส่วนหัวกะโหลกจะถูกนำไปเก็บไว้ในเรือนบรรพบุรุษ (House of Men) ตอนยืนอยู่หน้าตู้นี้
ความสมจริงทั้งหมดทำเอาผู้เขียนรู้สึก “ขนลุก” อย่างไม่ต้องสงสัย
ในตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่าวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณ จนกระทั่งในช่วงท้ายของนิทรรศการศิลปะทวีปอเมริกาใต้ก็สะดุดตากับตู้ที่จัดแสดงชุดแต่งกายดูแปลกตาแต่ใช้วัสดุทันสมัย เมื่อได้อ่านแคปชั่นก็เข้าใจได้ทันทีว่าพิพิธภัณฑ์ต้องการนำเสนอถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะของคนพื้นถิ่นปัจจุบันด้วย เครื่องแต่งกายเหล่านั้นเป็นชุดที่ชาวโบลิเวียบรรจงตัดเย็บขึ้นเพื่อใช้ในงานเต้นพื้นเมือง โดยออกแบบขึ้นจากการตีความเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับซาตานแบบคาทอลิกผสานเข้ากับความเชื่อท้องถิ่น กลายเป็นชุดของลูซิเฟอร์ (Diablada Lucifer Naupa) และภรรยาชื่อ ชีน่า ซูเพย์ (Diablo China Supay) ซึ่งมีความฉูดฉาดและสุดครีเอท
ภาพที่ 3 ชุดเครื่องแต่งกายจำแลงภาพลูซิเฟอร์และชีน่า สำหรับใส่เต้นในงานคานิวัลของชาวโบลิเวีย
ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงชุดของนักร้องที่สวมหน้ากากในรายการทีวีหนึ่งอย่างเสียไม่ได้
ถัดมาท่ามกลางกลุ่มรูปประติมากรรมขนาดใหญ่ 3 ชิ้นที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นในโซนศิลปะแอฟริกาที่เป็นงานแกะสลักไม้ ความประหลาดตาดึงดูดให้ผู้เขียนเดินรี่เข้าไปดูใกล้ๆ โดยเฉพาะรูปแกะสลักที่มีส่วนลำตัวและใบหน้าดั่งปลาตัวใหญ่ แต่มีขาแขนเหมือนมนุษย์ ทันใดนั้นตัวละครซุปเปอร์ฮีโร่ที่เป็นสัตว์จำแลงอย่าง “ไอ้มดเอ็กซ์” ก็แว่บเข้ามาในความคิด ผู้เขียนกลั้นเสียงขำไว้ในลำคอพลางคิดในใจว่า ผู้ที่แกะสลักนั้นช่างมีความคิดและจินตนาการสร้างสรรค์ที่ล้ำยุคมากๆ หากแต่เมื่อได้อ่านคำอธิบายชิ้นงานวัตถุแล้วกลับต้องอึ้งไป ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890s เป็นดั่งรูปอุปมาอุปไมยราชันย์ฉลาม ((King Shark) ซึ่งเป็นสมัญญานามของเบฮันซิน (Béhanzin) กษัตริย์แห่งอาณาจักรดาโฮมี หรือประเทศเบนินในปัจจุบัน) ที่พยายามต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานอย่างฝรั่งเศส ซึ่งภายหลังการแพ้สงครามรูปสลักนี้ก็ถูกขโมยพร้อมชิ้นอื่นๆ และส่งตรงไปสะสมไว้ยังปารีส จนเมื่อเร็วๆ นี้ (9 พฤศจิกายน) รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งมอบศิลปวัตถุจำนวน 26 ชิ้น ที่พิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่เคยครอบครองคืนกลับให้ประเทศเบนินอย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงประติมากรรมไม้ชุดนี้ด้วย
ภาพที่ 4 ประติมากรรม King Shark ที่ทรงคุณค่าและความหมายเชิงจิตวิญญาณในสังคมวัฒนธรรมเดิม
แต่กลายเป็นเพียงชิ้นงานศิลปะสำหรับคนนอกสังคม
ผู้เขียนใช้เวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ไปนานกว่า 4 ชั่วโมง เพราะห้องจัดแสดงนิทรรศการมีขนาดใหญ่มาก และแต่ละโซนก็มีสิ่งน่าสนใจต่างกันไป โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบที่พิพิธภัณฑ์จัดให้บางส่วนของแกลอรี่ ทำเป็นตู้กระจกขนาดใหญ่มองเห็นชั้นเก็บวัตถุที่ยังไม่มีโอกาสได้นำออกมาจัดแสดงในนิทรรศการอย่างเป็นทางการ แต่การโชว์คลังเปิด (Open Storage) ก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นว่าวัตถุประเภทเดียวกันนั้นยังมีอีกหลากหลายทั้งรูปทรง ลวดลาย และขนาด แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพสูงในเชิงความคิดและการสร้างสรรค์
ภาพที่ 5 สภาพของชั้นวางวัตถุในตู้โชว์คลังแบบเปิดภายในห้องนิทรรศการ
นอกจากห้องนิทรรศการปกติแล้ว อีกโซนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่น่าประทับใจมากเป็นนิทรรศการที่ออกแบบพิเศษเพื่อการเรียนรู้ของผู้พิการโดยเฉพาะ เริ่มจากบอร์ดนิทรรศการใช้วัสดุประเภทไฟเบอร์ (ทานทนต่อสัมผัสและทำความสะอาดง่าย) สร้างเป็นรูปนูนต่ำแสดงลักษณะจำลองของแผนผังเมือง รูปสัตว์ และรูปลักษณ์ของวัตถุอื่นๆ โดยสัดส่วนความสูงของบอร์ดจะอยู่ในระดับที่คนนั่งรถเข็นก็สามารถใช้บริการได้พอดี ใช้คำอธิบาย 2 แบบ ทั้งอักษรปกติและอักษรเบรลล์ที่เอื้อให้คนตาดีได้เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ที่บกพร่องการมองเห็น พร้อมกับมีหูฟังเสียงบรรยายด้วย แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์คำนึงถึงผู้ใช้บริการทุกคนอย่างแท้จริง
ภาพที่ 6 ตัวอย่างแบบจำลองนูนต่ำที่ออกแบบพิเศษ มีรายละเอียดการเปรียบเทียบขนาดจริงของวัตถุ
กับสเกลร่างกายมนุษย์เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจได้อย่างชัดเจน
ตามธรรมเนียมก่อนก้าวเท้าออกจากพิพิธภัณฑ์เก บร็องลี่ ผู้เขียนได้แวะเข้าไปเยี่ยมชมมิวเซียมช็อป และระหว่างสำรวจหาของที่ระลึกก็พบว่ามีสินค้าหลายชิ้นที่ถูกผลิตขึ้นมาขายเป็นของขวัญด้วยการอ้างอิงจากวัตถุที่จัดแสดงในนิทรรศการ เช่น ตุ๊กตาอินเดบีเล (Ndebele dolls) ซึ่งตามความเชื่อของสังคมพื้นเมืองแอฟริกาดั้งเดิม ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกทำขึ้นเป็นเครื่องรางสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ (fertility) ทำจากเครื่องถักและประดับด้วยลูกปัดหลากสีสันสดใสอันเป็นลักษณะเดียวกับเครื่องแต่งกายของสาวๆ ในชนเผ่า แต่เมื่อกลายมาเป็นสินค้าวางขายในร้านค้าของพิพิธภัณฑ์กลับเป็นตุ๊กตาไร้สีสัน มีเพียงสีขาวดำที่อาจถูกควบคุมจากกลไกของธุรกิจทุนนิยม
ยิ่งตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตระหนักได้ว่า วัตถุทางวัฒนธรรมใดก็ตามเมื่อถูกย้ายหรือเปลี่ยนบริบทไปอยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมอื่น คุณค่าและความสำคัญต่อจิตใจที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ย่อมถูกลดทอนลง มีเพียงรูปลักษณ์ทางศิลปะที่สามารถใช้ประเมินคุณค่าได้เท่านั้น เช่นเดียวกับ ประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนาความเชื่อเมื่อถูกจัดวางในอาร์ตแกลอรี่ก็กลายเป็น “ศิลปวัตถุ” คงเหลือเพียงเรื่องเล่าบนป้ายคำบรรยาย ซึ่งการตัดสินใจส่งศิลปวัตถุ “กลับบ้าน” ไปหาเจ้าของวัฒนธรรมตัวจริง นอกจากจะช่วยคืนคุณค่าและความหมายให้กับวัตถุวัฒนธรรมแล้วยังแสดงให้เห็นว่าหลายประเทศได้เปิดใจกว้างขึ้น และวงการพิพิธภัณฑ์ได้ก้าวหน้าเข้าสู่ยุคโพสโคโลเนียลแล้ว
ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล