ใครๆ ก็รู้กันดีว่า เดือนธันวาคมคือเดือนสุดท้ายในทุกๆ รอบปี แต่ทำไมถึงต้องเป็นเดือนนี้ด้วย?
อันที่จริงแล้วแต่ดั้งเดิมนั้น ในแต่ละสังคมวัฒนธรรมนั้น มีช่วงเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดรอบปีแตกต่างกันไป ในกรณีของไทยนั้น ก็มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า แต่เดิมเดือนสุดท้ายของปี ไม่ได้ตรงกับช่วงเดือนธันวาคมเสียหน่อย
วิธีนับเดือนปีของคนไทยแต่ดั้งเดิม เดือนแรกของปีคือ ‘เดือนอ้าย' ซึ่งตรงกับช่วงเวลาประมาณเดือน 'ธันวาคม' ตามปฏิทินแบบอธิกสุรทินแบบที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากคำว่า 'อ้าย' ในภาษาไทย เป็นทั้งคำเรียงลำดับ และนับคำนวน แปลว่า 'หนึ่ง' หรือ 'แรก' ดังนั้นเดือนสุดท้ายก็ตรงกับช่วงเดือนสิบสอง คือราวๆ กลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนพฤศจิกายนต่างหาก
แรกเริ่มนั้น คนไทยนับช่วงเวลาประมาณเดือนธันวาคมเป็นช่วงเริ่มต้นของรอบปีใหม่ รอบฤดูกาลใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงสภาพการณ์เฉพาะของกลุ่มคนที่อยู่ทางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันเท่านั้น ในพื้นที่บริเวณอื่นซึ่งได้รับผลกระทบของลมมรสุม ซึ่งยังผลให้เกิดการปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่เหมือนกัน และมีรอบของฤดูกาลแตกต่างกันก็จะนับรอบปี และรอบฤดูกาลแตกต่างออกไป
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่เครือข่ายทางวัฒนธรรมของล้านนามาก่อน โดยล้านนาจะนับรอบปีเร็วกว่าพื้นที่ทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันราวสองเดือน
พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า แม้แต่ในดินแดนเล็กๆ อย่างประเทศไทยในปัจจุบันนั้น วันสิ้นปีในธรรมเนียมแต่เดิมของแต่ละภูมิภาค และวัฒนธรรมยังไม่ตรงกันเลยเสียด้วยซ้ำ
ต่อมาเมื่ออุษาคเนย์ (ซึ่งมีไทยเป็นส่วนหนึ่งในนั้น) ได้ยอมรับเอาศาสนา และอื่นๆ ที่เป็นแพ็คเกจพ่วงมาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็จึงได้เปลี่ยนช่วงขึ้นปีใหม่ และท้ายปีให้ตรงกันกับพวกแขกจึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับ ‘วันมหาสงกรานต์’ คือวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน)
ทั้งหมดนี้ก็เพราะในสมัยโบราณ ศาสนาเป็นเรื่องของ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ และเวลาคือ ฤกษ์ยาม ก็เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ด้วย การนับรอบปีจึงต้องเปลี่่ยนตาม
ต่อมารัชกาลที่ 5 เป็นผู้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แทน ถึงแม้ว่าไม่มีหลักฐานบอกกล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเปลี่ยน แต่ก็คงเป็นไปเพื่อความสะดวก เพราะเป็นการนับตามปฏิทินตามแบบสุริยคติ ซึ่งใช้กันตามอย่างนานาอารยประเทศในสมัยนั้น (และจวบจนปัจจุบันนี้) จนกระทั่งค่อยมาเปลี่ยนเป็นการนับวันที่ 1 มกราคม ก็เมื่อ พ.ศ. 2483 ตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศฉบับนี้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จอมพลที่มีชื่อว่าแปลกท่านนี้ ไว้ชัดๆ ใน ‘ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่’ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เลยว่า
“...นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่...”
ดังนั้นในกรณีของไทยเราจึงมีเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี เพราะต้องการอะไรที่เรียกว่า ‘ความศิวิไลซ์’ ตามอย่างฝรั่งในโลกตะวันตก แต่ทำไมพวกฝรั่งจึงนับว่าเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปีกัน?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะระบบปฏิทินของฝรั่งนั้น สืบทอดมาจากระบบการนับรอบปีที่พัฒนาขึ้นในวัฒนธรรมโรมันนั่นเอง
ภาพที่ 1: จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยจากวันที่ 1 เมษายนของทุกปี
มาเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปีตามแบบสากล
แหล่งที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/
ภาพที่ 2: โปสเตอร์วัฒนธรรมไทย สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชักชวนให้คนไทยศิวิไลซ์ และการนับวันที่ 1 มกราคม
เป็นวันขึ้นปีใหม่ก็คือส่วนหนึ่งของความศิวิไลซ์
ที่มาภาพ: https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_11633
หลักฐานมีอยู่ทนโท่ในชื่อเรียกเดือนของโลกภาษาอังกฤษ ด้วยเป็นมรดกตกทอดที่ได้มาจากชื่อของเดือนที่พวกโรมันเรียกมาก่อนอีกทอดหนึ่ง และนั่นก็แสดงให้เห็นร่องรอยที่ว่า แต่เดิมช่วงเวลาหนึ่งปีของพวกโรมันนั้นประกอบไปด้วยจำนวนเดือนเพียง 10 เดือนเท่านั้น
จะสังเกตได้ว่า ชื่อเดือนที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันอย่าง September (กันยายน), October (ตุลาคม), November (พฤศจิกายน) และก็ December (ธันวาคม) นั่นเอง
พวกโรมันเรียกชื่อเดือนกันยายนเรื่อยไปจนถึงธันวาคมด้วยภาษาละตินว่า septem, octo, novem และ decem ที่แปลว่า 7, 8, 9 และ 10 ตามลำดับ
ส่วนคำว่า ‘-ber’ ที่ต่อท้ายชื่อทั้ง 4 เดือนในภาษาอังกฤษ มีผู้รู้สันนิษฐานเอาไว้ว่า เพี้ยนมาจาก ‘-bris’ (หากสังเกตว่าในภาษาฝรั่งเศสเดือนเหล่านี้จะลงท้าย ด้วยคำว่า ‘-bre’ นั้นก็เพราะกลายมาจากคำนี้ ก่อนที่จะส่งทอดให้ภาษาอังกฤษในยุคกลางนี่เอง) ที่กลายมาจากคำว่า ‘mens’ หรือ ‘mensis’ ในภาษาละติน ที่แปลว่า ‘เดือน’ อีกทอดหนึ่ง
ชื่อเดือนที่เรียกด้วยตัวเลข หรือจำนวนนับของโรมันมีเพียงเท่านี้ ไม่มีเดือนที่ 11 หรือเดือนที่ 12 ดังนั้นจึงใช้เป็นหลักฐานที่ใช้ยืนยันได้ว่า แต่เดิมปีหนึ่งๆ ของพวกโรมันมีเพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้น วิธีการนับเดือนด้วยจำนวนนับอย่างนี้ ก็ไม่ได้ต่างไปจากวิธีการนับเดือนอย่างพื้นเมืองของไทย และอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาคของเรา ที่เริ่มตั้งแต่เดือนอ้าย คือเดือนที่ 1 แล้วนับเรื่อยไปจนถึงเดือนสิบสอง
แต่ทำไมชาวโรมันจึงเริ่มนับเดือนด้วยจำนวนนับที่เดือนเจ็ด แล้วเดือนอ้าย หรือเดือนแรก จนถึงเดือนที่หกนั้น หายไปไหนกัน?
ถ้านับย้อนจากเดือนกันยายน ที่ชาวโรมันเรียกว่าเดือนเจ็ดขึ้นไปนั้น เดือนอ้ายของพวกเขาก็จะตรงกับเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลเริ่มต้นปีใหม่ของวัฒนธรรมโรมันแต่ดั้งเดิมจริงๆ
ผู้คนในโรมครั้งกระโน้นเรียกเดือนอ้ายของพวกเขาว่า ‘Martius’ เพราะถือว่าเป็นเดือนของเทพเจ้ามาร์ส (Mars, อันเป็นที่มาของชื่อเดือน March คือมีนาคม) ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้คนมักนึกถึงเทพองค์นี้ในฐานะ เทพเจ้าแห่งสงคราม และดาวอังคาร แต่ชาวโรมยังนับเทพองค์นี้ในฐานะพระบิดาแห่งโรม ผู้ปกป้องรักษาการเกษตรกรรม (แน่นอนว่า หมายถึงเฉพาะเกษตรกรรมของพวกโรมเท่านั้น) เป็นการเฉพาะอีกด้วย และก็เป็นคุณสมบัติข้อสุดท้ายนี่เองทำให้พวกโรมันนำชื่อของเทพองค์นี้ไปเป็นชื่อของเดือนอ้าย
ดูเหมือนว่าระบบปฏิทิน โดยเฉพาะการนับเดือนแรกของปี ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วทั้งโลกนั้นจะเกี่ยวข้องอยู่กับฤดูกาลเพาะปลูกอยู่มากเลยทีเดียว
ในกรณีของโรมัน เดือนที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกจะเกี่ยวข้องกับช่วงสี่เดือนแรกของปีเป็นสำคัญ ดังจะสังเกตได้จากชื่อสี่เดือนแรก ไล่ตั้งแต่ Martius, Aprilis (กลายมาเป็น April หรือเมษายน ในภาษาอังกฤษ), Maia (เพี้ยนเป็น May หรือพฤษภาคม) และ Juno (กลายเป็น June หรือมิถุนายน)
ตามความเชื่อในจักรวาลปรัมปราคติของพวกโรมันนั้น “เมอา” (Maia) ถูกนับถือในแง่ที่เป็นพระแม่แห่งความอุดมสมบูรณ์ และบางทีก็ถือว่าเป็นภาคหนึ่งของพระแม่ธรณี (ในขณะที่เทพีเมอาของกรีก มีฐานะกระจ้อยร่อยกว่านี้มาก) ส่วน “ยูโน” (Juno) คือเทพีแห่งการวิวาห์ และความเป็นแม่ เทียบได้กับเทพีเฮร่า ชายาของมหาเทพซุสของพวกกรีก ดังนั้นจึงล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับคติเรื่องการเกษตร และความอุดสมบูรณ์
ปัญหามีเฉพาะก็แต่เดือน Aprilis ที่ปราชญ์และนักวิชาการตะวันตกหลายท่าน สันนิษฐานแตกต่างกันออกเป็น 2 ความเห็นใหญ่ๆ หนึ่งคือ เพี้ยนมาจากคำว่า “aperilis” ซึ่งหมายถึง ที่ตามมา หรือที่ถัดมา ในกรณีนี้คือ เดือนถัดมา หรือเดือนยี่
แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจกว่าก็คือ คำอธิบายที่ว่า คำว่า “Aprilis” มาจากคำว่า “Apru” อันเป็นชื่อที่ชาวอิทรุสกัน (Etruscan) คือพวกชนพื้นเมืองในอิตาลี ที่อยู่มาก่อนชาวโรมัน ใช้เรียกอโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความงาม และกามารมณ์ ซึ่งพวกโรมันรู้จักกันในชื่อของ วีนัส (Venus)
ถึงแม้ว่าในเทพปกรณ์ของกรีก เทพีอโฟรไดต์จะเป็นชายาของฮีฟีสตุส (Hephaestus) เทพแห่งการช่าง และไฟ ผู้ทั้งอัปลักษณ์และพิการ แต่พระนางก็ลักลอบได้เสียกับเทพสงครามอาเรส จนมีโอรสด้วยถึง 3 องค์ โดยหนึ่งในนั้นยังเป็นเทพที่รู้จักกันดีอย่าง อีรอส (Eros) หรือพระกามเทพ ที่โรมันเรียกว่า คิวปิด (Cupid)
แน่นอนว่า ในโลกปรัมปราคติของโรมันก็มีเรื่องราวถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ระหว่างเทพมาร์สกับวีนัส ดังนั้นถ้าเดือนที่อยู่ถัดจากเดือนของเทพมาร์ส จะเป็นเดือนของเทพีแห่งกามารมณ์องค์ก็นี้ก็ไม่แปลก เพราะก็เข้ากันได้ดีกับคติความอุดมสมบูรณ์ที่มักถูกเปรียบเทียบกับสัมพันธ์สวาทของชายหญิง ซึ่งก็เหมาะกันดีกับฤดูกาลเพาะปลูก ที่มีชื่อเทพเทพีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เป็นชื่อเดือน
ภาพที่ 3: ประติมากรรมเทพมาร์ส จากกรุงโรม อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 2
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Mars_(mythology
ภาพที่ 4: จิตรกรรมภาพเทพมาร์สกับวีนัสลักลอบสมสู่กัน วาดเมื่อราว ค.ศ. 1485
โดย ซานโดร บอตติเชลลิ (Sandro Boticelli) จิตรกรชาวอิตาลี ยุคเรสเนสซองค์
แหล่งที่มาภาพ: https://www.wikiwand.com/en/Venus_and_Mars_(Botticelli)
พวกโรมันให้ความสำคัญกับฤดูกาลเพาะปลูกเอามากๆ เพราะในระบบปฏิทินปีละสิบเดือนที่พวกโรมันใช้กันมาตั้งแต่ดั้งเดิมนี้ ปีหนึ่งมีเพียง 304 วันเท่านั้น ส่วนอีก 61 วันเศษที่เหลือหลังเดือนสิบของพวกเขา คือเดือนธันวาคมนั้น พวกเขาถึงกับทิ้งมันไปง่ายๆ พร้อมกับลมหนาวและเกล็ดหิมะที่ทำให้ไม่มีการเพาะปลูก โดยไม่นับว่าเป็นวันในรอบปีเลย
แต่สุดท้าย พวกโรมันก็ต้องเอาช่วงเวลาที่ว่านี้มานับรวม แล้วแยกออกเป็นสองเดือนอยู่ดี โดยมีตำนานเล่าว่า นูมา ปอมปิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์เมื่อ 2,700 ปีที่แล้ว ที่ตามตำนานเล่าว่าคือกษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งโรม (ผู้ไม่รู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า?) ได้สถาปนาเดือนขึ้นใหม่อีกสองเดือน ในช่วงฤดูหนาวท้ายปีที่ว่านี้ ได้แก่ เดือน Januarius (ต่อมาคือ January หรือมกราคม) ตามชื่อเทพสองเศียรจานุส (Janus) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจุดจบ และการเริ่มต้นของปี และเดือน Februarius (ซึ่งก็คือ February หรือกุมภาพันธ์ ในภาษาอังกฤษ) ตามชื่อเทศกาลโบราณที่ชื่อ Februa ซึ่งจัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และนำความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่เมืองในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่
อย่างไรก็ตาม การที่ชาวโรมเห็นว่าในช่วงสองเดือน คือ มกราคมและกุมภาพันธ์ในภายหลังนั้นมีสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายจนไม่สามารถเพาะปลูกได้นี่เอง ทำให้เดือนธันวาคมกลายเป็นเดือนสุดท้ายของปี พร้อมกับทิ้งมรดกตกทอดให้ระบบการนับเดือนแบบสากลในโลกทุกวันนี้ มีเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายในแต่ละรอบปี
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ