Museum Core
Forced to Be Fat ค่านิยมเลอบลูห์กับความพ่วงพีแห่งสตรีมอริเตเนีย
Museum Core
20 ธ.ค. 64 2K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

          หากมองดูสังคมปัจจุบัน จะเห็นว่าชาวโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารเพื่อรักษารูปร่างให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ ค่านิยมดังกล่าวถือเป็นเรื่องสามัญในโลกยุคโลกาภิวัตน์ การได้เห็นดาราสาวหุ่นผอมเพรียวตามสื่อต่างๆ ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนหันมาเข้าฟิตเนสเพื่อขจัดไขมันส่วนเกิน แต่ไม่ใช่ทุกที่ในโลกที่ความผอมบ่งบอกถึงความงามแห่งนารี ลึกเข้าไปในทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าเด็กสาวหุ่นพ่วงพีคือสตรีแสนเสน่หา คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ในประเทศมอริเตเนียทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทว่าความอ้วนท้วนที่ว่ากลับแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานของเด็กหญิงนับล้าน อะไรคือเบื้องหลังค่านิยมความงามแต่โบราณของผู้คนเหล่านี้ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

 

           สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ดี พื้นที่กว่าสามในสี่ของประเทศตั้งอยู่ในทะเลทรายสะฮารา ประชากรตั้งถิ่นฐานตามเมืองต่างๆ ประปราย หลายชุมชนยังคงใช้ชีวิตในทะเลทรายเช่นเดียวกับครั้งดึกดำบรรพ์ ย้อนกลับไปราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชาวเบอร์เบอร์ (Berber) กลุ่มชาติพันธุ์กึ่งร่อนเร่ทางตอนเหนือของกาฬทวีปได้อพยพลงใต้เพื่อแสวงหาเส้นทางการค้าและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ชาวเบอร์เบอร์ใช้มอริเตเนียเป็นทางผ่านคาราวานสินค้าเพื่อไปยังแอฟริกาตะวันตก พวกเขาก่อตั้งสถานีการค้าที่ชินเกตติ (Chinguetti) ทางตอนเหนือของมอริเตเนียที่ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนาร่วมกับเมืองสำคัญอย่างกาว (Gao) และทิมบัคตู (Timbuktu) ในประเทศมาลี ชาวเบอร์เบอร์บางส่วนลงหลักปักฐานทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับชาวพื้นเมืองโสนิงเก (Soninke) บัมบารา (Bambara) และฟูลานี (Fulani) ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทว่าหนึ่งในสินค้าที่โลกอาหรับทางตอนเหนือต้องการคือทาสผิวดำไว้ใช้ทำงานหนัก พ่อค้าเบอร์เบอร์จึงเปิดฉากทำสงครามกับคนพื้นเมืองเพื่อจับเชลยส่งขายทำกำไร การค้าทาสกับดินแดนแอฟริกาเหนือดำเนินต่อไปหลายศตวรรษ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในมอริเตเนียมาจนถึงปัจจุบัน ชาวเบอร์เบอร์ที่มีผิวสีอ่อนกว่ากลายเป็นชนชั้นนำที่มีฐานะดี ในขณะที่ลูกหลานอดีตทาสผิวดำยังคงถูกเหยียดหยามต่อมาในสังคม ชาวเผ่าต่างๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มคนที่เรียกตนว่าฮาราติน (Haratin) ทว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายศตวรรษ ชาวฮาราตินก็ยังถูกตีตราว่าเป็นชนชั้นกรรมาชีพในมอริเตเนีย

 

ภาพที่ 1: ชินเกตติ อดีตศูนย์กลางการค้าและศาสนาของชาวเบอร์เบอร์ในมอริเตเนีย

ที่มา: COLIN, Francois. Chinguetti - Vue Goblele Vieille Ville. (2004). [Online]. Accessed 2021 Nov 23. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chinguetti-Vue_Goblale_Vieille_ville.jpg

 

          อย่างไรก็ตาม ในประเทศมอริเตเนียทุกวันนี้ สตรีผิวดำในชุมชนฮาราตินกลับมีรูปร่างแข็งแรงสมส่วนกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงผิวสีอ่อนในชุมชนเบอร์เบอร์ หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพรุมเร้าคือประเพณีขุนร่างเด็กสาวให้อ้วนพีที่เรียกว่าเลอบลูห์ (Leblouh) เลอบลูห์เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานความงามของชาวเบอร์เบอร์ในสมัยโบราณ เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่ต้องเดินทางกับคาราวานสินค้า สตรีเบอร์เบอร์ที่มั่งมีจึงครอบครองทาสจำนวนมากไว้ทำงานหนักแทนตน ผู้หญิงเหล่านั้นมักพักผ่อนในกระโจมหลบอากาศร้อนอบอ้าวตลอดวัน รวมถึงบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมันอย่างขนมปัง เนยแข็ง และน้ำนมแพะและอูฐ ส่งผลให้พวกหล่อนมีร่างกายอ้วนท้วน ด้วยเหตุนี้ในชุมชนเบอร์เบอร์ ผู้หญิงมีเนื้อหนังจึงถูกมองว่ามาจากตระกูลมั่งคั่ง ในขณะที่สตรีผอมเพรียวถูกมองว่าเป็นชนชั้นแรงงานไม่มีอันจะกิน ครั้นยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ความคิดที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นค่านิยมความงามที่ผู้คนในสังคมยอมรับทั่วกัน ผู้ชายในเผ่ามองว่าผู้หญิงร่างท้วมสามารถให้กำเนิดบุตรได้ง่ายกว่าคนผอม เหล่าบุรุษต่างต้องการแต่งงานกับสตรีร่างหนาเพื่อให้กำเนิดทายาทที่แข็งแรง ผู้ปกครองเด็กสาววัยออกเรือนจึงบังคับให้ลูกสาวกินอาหารปริมาณมหาศาลเพื่อขุนร่างอวบอัดสมบูรณ์เป็นที่ต้องตาผู้ชายในเผ่า

 

          ทว่า แม้จะมีค่านิยมชื่นชมผู้หญิงอ้วนท้วน แต่การจะขุนเด็กสาวสักคนให้สมบูรณ์ในประเทศที่ติดอันดับยากจนที่สุดในโลกกลับเป็นภาระหนักหน่วงของพ่อแม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพอากาศที่แปรผันทำให้มอริเตเนียเผชิญภัยแล้งติดต่อกันหลายปี ด้วยเหตุนี้การหาอาหารปริมาณมากให้เด็กสาวรับประทานเป็นประจำจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ครอบครัวที่ยากจนได้เลือกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปีเพื่อดำเนินประเพณีเลอบลูห์ ผู้คนส่วนมากเลือกฤดูมรสุมที่กินเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นเวลาเพิ่มน้ำหนักให้ลูกสาว เด็กผู้หญิงอายุระหว่างห้าถึงสิบเก้าปีจะถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายที่ตั้งขึ้นชั่วคราวเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ ค่ายบางแห่งจะมีผู้หญิงในครอบครัวอย่างมารดาหรือย่ายายคอยเตรียมอาหารให้เด็กสาวควบคู่กับผู้ดูแลที่ถูกว่าจ้าง เด็กหญิงแต่ละคนจะถูกบังคับให้รับประทานอาหารตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยมีเวลาเว้นว่างระหว่างมื้อราวหนึ่งหรือสองชั่วโมงเท่านั้น อาหารที่รับประทานได้แก่ ขนมปัง มะเดื่อแห้ง เนื้อแพะ และธัญพืชบดผสมไขมันสัตว์ แต่ละมื้อจะมีนมแพะและอูฐชามใหญ่ไว้ดื่มควบคู่ ปริมาณอาหารที่เด็กแต่ละคนรับประทานเฉลี่ยได้ 15,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งมากกว่าความต้องการพลังงานต่อวันของเด็กวัยเดียวกันถึงสิบเท่า ปริมาณอาหารจะถูกเพิ่มขึ้นทุกวันจนถึงวันสุดท้ายของฤดูกาล เด็กหญิงที่ปฏิเสธการทานอาหารจะถูกลงโทษด้วยการใช้ไม้ซีกหนีบมือเท้า ไม่ก็จับแยกไว้คนเดียวเพื่อสำนึกผิด ผู้ปกครองคาดหวังให้ลูกสาวได้น้ำหนักเพิ่มหลังจบค่ายไม่ต่ำกว่าเจ็ดกิโลกรัม บางครั้งพ่อแม่ก็ส่งเด็กเล็กมาเข้าค่ายเพราะต้องการให้เด็กหญิงมีสัดส่วนอวบอัดเหมือนผู้ใหญ่ สาเหตุที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกสาวตัวโตกว่าวัยเนื่องจากสังคมเบอร์เบอร์ไม่ได้เปิดโอกาสให้สตรีทำงานเลี้ยงชีพ ลูกสาวที่ไม่ได้แต่งงานจึงถือเป็นภาระของครอบครัว งานวิวาห์จะทำให้พ่อแม่ได้สินสอดมหาศาลจากครอบครัวฝ่ายชาย การสมรสกับเจ้าสาววัยเยาว์จึงมีให้เห็นประปรายในประเทศมอริเตเนียโดยมีเป้าหมายเพื่อหลุดพ้นจากวงจรความยากไร้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ภาพที่ 2: การทำโทษเด็กหญิงเพื่อบังคับให้กินอาหารเพิ่มน้ำหนัก

แหล่งที่มาภาพ: Rachidi, Soukaina. Ancient Leblouh Tradition Endanger the Lives of Mauritanian Women. (2019). [Online]. Accessed 2021 Nov 23. Available from: https://insidearabia.com/ancient-leblouh-tradition-endanger-lives-mauritanian-women/

 

          การเพิ่มน้ำหนักเพื่อให้ได้รูปร่างที่ต้องการส่งผลเสียต่อสุขภาพสตรีชาวเบอร์เบอร์ เด็กสาวหลายคนกลายเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูงตั้งแต่ก่อนแต่งงาน โรคภัยที่ว่าทำให้เกิดความเสี่ยงในการให้กำเนิดทั้งกับมารดาและบุตร ทว่าประเพณีเลอบลูห์ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ปกครองที่ต้องการประหยัดเงินทองและเวลาในการขุนร่างลูกสาวหันมาใช้ยาเพิ่มน้ำหนักที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ยาผิดกฎหมายเหล่านี้หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าท้องถิ่นโดยไม่มีการควบคุมจากทางการ บ่อยครั้งที่เด็กสาวที่ใช้ยาเกิดอาการข้างเคียงจนเสียชีวิต ค่านิยมความพ่วงพีและประเพณีเลอบลูห์จึงเป็นที่ถกเถียงมาถึงทุกวันนี้ว่ารัฐบาลมอริเตเนียควรออกออกกฏหมายควบคุมการปฏิบัติที่อันตรายเกินไปหรือไม่

 

ภาพที่ 3: การชุมนุมประท้วงของสตรีมอริเตเนียเพื่อต่อต้านรัฐประหารปีค.ศ. 2008

แหล่งที่มาภาพ: For Mauritania. Manifestation a Nouadhibou - 2008. 2008. [Online].

Accessed 2021 Nov 23. Available from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Manifestation_%C3%A0_Nouadhibou-2008.jpg

 

          ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1960 ผู้นำมอริเตเนียหลายคนออกมารณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของสตรี ประเพณีเลอบลูห์เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ควบคู่กับการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) ที่ยังคงกระทำอย่างลับๆ ในชุมชนที่ห่างไกล น่าเศร้าที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพไม่อาจห้ามปรามธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ได้ หลังการปฏิวัติมอริเตเนียในปีค.ศ. 2008 รัฐบาลทหารได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายของโมฮัมเหม็ด วาลด์
อับเดล อะซีซ (Mohamed Ould Abdel Aziz) ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสาธารณรัฐคือการจำกัดสิทธิสตรี ประธานาธิบดีอ้างว่าต้องการนำขนบธรรมเนียมอันดีงามกลับคืนสู่มอริเตเนียอีกครั้ง ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพต่างๆ จึงถูกส่งตัวกลับภูมิลำเนาเพื่อดูแลครอบครัว ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานอย่างเลอบลูห์จึงถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ภายใต้รัฐบาลทหาร กระทั่งในปัจจุบัน แม้ว่าอับเดล อะซีซจะไม่ได้อยู่ในอำนาจอีกต่อไป ทว่าสังคมมอริเตเนียที่ถูกผลักให้ถอยหลังหลายทศวรรษยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและเดินหน้า การมอบโอกาสการศึกษาและประกอบอาชีพให้ผู้หญิงทุกคนเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้สตรีเบอร์เบอร์หลุดพ้นจากประเพณีที่น่ากลัวนี้ แน่นอนว่าค่านิยมความงามที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเลือกว่าอยากให้ร่างกายตัวเองเป็นแบบใด ไม่ใช่ถูกสังคมบีบบังคับให้เป็นที่ต้องตาต้องใจเพศตรงข้าม แม้จะขัดกับความต้องการของตัวเองก็ตาม

 

แหล่งอ้างอิง


Abeille, Barbara. A Study of Female Life in Mauritania. Nouakchott: USAID Research and
Development, 1979.


Ilahiane, Hsain. Historical Dictionary of the Berbers (Imazighen). Lanham: The Scarecrow Press,
2006.


Popenoe, Rebecca. Feeding Desire: Fatness, Beauty and Sexuality among a Saharan People. New
York: Routledge, 2003.

 

กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ