Museum Core
มิวเซียมสยามในความทรงจำของฉันกับแม่
Museum Core
24 ธ.ค. 64 713
ประเทศไทย

ผู้เขียน : อริสา ไตรเกษม

แม่:  รอบนี้จะไปไหนอีก 

ฉัน:  มิวเซียมสยามอาคารสีเหลืองๆ ใกล้วัดโพธิ์

         แม่มักจะถามฉันเสมอก่อนจะไปเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ ว่ารอบนี้จะไปที่ไหน เพราะแม่รู้ดีว่าฉันชอบเที่ยวขนาดไหน และคราวนี้ฉันก็ได้เลือกมิวเซียมสยามมาอยู่ในรายการท่องเที่ยวของฉัน

         เมื่อปีพ.ศ. 2561 ฉันกับคุณแม่ลงรถประจำทางสาย 44 เราเดินไปเรื่อย ๆ และหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อเห็นป้ายคำว่ามิวเซียมสยามอยู่ไม่ไกล เราหยุดถ่ายรูปกับอาคารสีเหลืองอ่อนสไตล์ยุโรปก่อนเดินเข้าไปชมนิทรรศการด้านใน  อาคารสีเหลืองอ่อนแสนแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนามมิวเซียมสยามมานานหลายปี ใครจะรู้ว่าในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นกระทรวงพาณิชย์มาก่อน

 

 

ภาพที่ 1 หยุดถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหน้าตึกมิวเซียม

 

 

          ขณะซื้อตั๋วเข้าชมฉันก็แอบตกใจนิดหน่อยเมื่อแม่ยื่นบัตรประชาชนให้แล้วแคชเชียร์บอกว่าเข้าฟรี  แม่หันมาเอ่ยบอกว่า “เป็นสว. ก็ดีแบบนี้แหละจ่ายเงินไปนะลูก” ทำให้ฉันคิดว่าเป็นผู้สูงอายุมันดีอย่างนี้นี่เอง ไม่นานเราก็ได้ตั๋วเข้าชม ถ้าใครสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าตั๋วเข้าชมเป็นรูปสมุดลายไทยสีฟ้าด้านหน้ามีคำว่ามิวเซียมสยามและถอดรหัสไทย เมื่อพลิกด้านหลังจะเห็นตารางสูตรคูณทำให้อดนึกถึงสมัยยังเด็กไม่ได้ ฉันก็เคยใช้สมุดแบบนี้ ส่วนข้างในเป็นรูปเสื้อลายดอก ขันน้ำ และถังน้ำ หลังจากนั้นพนักงานจะนำเราไปที่ลิฟต์พาสองแม่ลูกไปยังชั้นสามชั้นบนสุดของพิพิธภัณฑ์ และแล้วฉันก็ได้คำตอบใน 5 นาทีต่อมาว่านิทรรศการถอดรหัสไทยเป็นนิทรรศการที่ต่อยอดจากนิทรรศการเรียงความประเทศไทยที่เคยดูจากโครงการมิวเซียมสัญจร

 

          ฉันรำพึงกับแม่ว่าอดนึกถึงโครงการมิวเซียมสัญจรที่พิพิธภัณฑ์มาจัดให้เราชมที่กว๊านพะเยาไม่ได้ ถ้าไม่มีโครงการนี้ เราก็คงไม่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการแบบนี้ ทั้งเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับคนต่างจังหวัดด้วย ซึ่งแม่ก็เห็นด้วยว่าตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 6 ตู้ที่มาตั้งแสดงนิทรรศการให้ชมถึงที่ ถ้าไม่มาดูนิทรรศการที่แสดงเรื่องไทยแท้ ตำนานสุวรรณภูมิ สยามประเทศ สยามยุทธ์ ชีวิตนอกกรุงเทพฯ แปลงโฉมสยามประเทศ กำเนิดประเทศไทย สีสันตะวันตก ฯลฯ ก็ไม่ทราบจุดกำเนิดของคนไทย และทำให้ฉันเพิ่งได้รู้ว่าผังเมืองกรุงเทพฯจำลองมาจากสมัยอยุธยา ในโครงการนี้ฉันชอบห้องไทยแท้มากๆ ที่มีรถตุ๊กตุ๊ก แม่ค้าหาบเร่และแผงขายส้มตำไก่ย่าง ซึ่งเดี๋ยวนี้แม่ค้าหาบเร่หาดูได้ยาก และแม่ก็เล่าให้ฟังว่าสมัยแม่มาเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ จะเห็นแม่ค้าขายขนมปลากริมไข่เต่าแบกสาแหรกเข้ามาขายขนมตามตรอกซอกซอย ขนมปลากริมเป็นขนมหวานไทยทำด้วยแป้งเป็นตัวเหมือนลอดช่องแต่มีสีขาวกินกับกะทิมีรสหวานโรยด้วยงาขาวคั่ว พอได้มาเห็นสาแหรกที่วางโชว์ไว้เสียงร้องว่า “ปลากริมไข่เต่ามาแล้วจ้า”...ก็ดังก้องขึ้นมาในหู ฉันคุยกับแม่ว่ายังจำตอนท้ายที่นิทรรศการมีคำถามทิ้งไว้ให้คิดว่า ไทยแท้ คืออะไร ไทยแท้ มีจริงหรือไม่ แล้วไทยแท้เป็นอย่างไร คราวนี้เราจะได้คำตอบจากนิทรรศการถอดรหัสไทย 

 

ภาพที่ 2 หุ่นสวมชุดไทยในห้องนิทรรศการ "ไทยหรือเปล่า"

 

           นิทรรศการถอดรหัสไทย เป็นนิทรรศการใหม่ที่มี14 ห้อง  ได้แก่ ห้องไทยหรือเปล่า ห้องไทยแปลไทย ห้องไทยตั้งแต่เกิด ห้องไทยสถาบัน  ห้องไทยอลังการ ห้องไทยแค่ไหน ห้องไทย Only  ห้องไทย Inter  ห้องไทยวิทยา ห้องไทยชิม ห้องไทยดีโคตร ห้องไทยเชื่อ  ห้องไทยประเพณี และห้องไทยแชะ เราเริ่มต้นดูนิทรรศการที่ห้องไทยหรือเปล่าเป็นห้องแรก ห้องนี้จะพบกับหุ่นสวมชุดไทยยืนเด่นเป็นสง่าอยู่กลางห้องก่อนจะเดินไปยังห้องไทยตั้งแต่เกิดเป็นห้องต่อไป  ห้องนี้เมื่อเข้าไปแล้วจะไม่มีอะไรเด่นสะดุดตามากนัก มีโต๊ะที่แสดงถึงเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย เช่น ความเป็นมาของผัดไท  คำว่าสวัสดี  ธงชาติไทย  เศรษฐกิจพอเพียง นิตยสารสกุลไทย  ฯลฯ แต่การนำเสนอใช้เทคนิคที่น่าสนใจ เราอยู่นิทรรศการชั้นนี้ไม่นานก็ลงไปดูนิทรรศการชั้น 2  ใครก็มักสะดุดตากับนางกวักขนาดยักษ์ชื่อว่าแม่เอิบ คอยกวักผู้เข้าชมอยู่หน้าห้องไทยโอนลี่ แม่เอิบหน้าตาน่ารักทำให้เราต้องหยุดถ่ายรูปกันก่อนจะเดินเข้าไปดูนิทรรศการในห้อง ห้องถัดมาเป็นห้องที่แสดงถึงความเชื่อของคนไทยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจอมปลวก การผูกผ้าสามสี กุมารทอง การขอหวย  ฯลฯ  

 

           ในห้องนี้แม่เล่าให้ฟังว่าสมัยที่แม่ยังเป็นเด็ก ถ้าเห็นจอมปลวกยิ่งขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ แม่จะกลัวมากไม่อยากเข้าใกล้เลยเพราะได้ยินปู่ย่าตายายพูดว่าเป็นที่อยู่ของเจ้าที่หรือสิ่งเร้นลับ  ขนาดจนอายุเท่านี้แล้วเจอจอมปลวกใหญ่ แม่ก็หลีกเลี่ยงไม่เข้าไปใกล้ๆ ฉันหยอกแม่กลับไปว่า “แม่ก็คิดไปได้นะ  มันก็แค่อาณาจักรปลวก ซึ่งช่วยย่อยสลายซากพืช” แม่ยังเท้าความหลังอีกว่าเมื่อก่อนใกล้กับบ้านหลังเก่าก็มีจอมปลวกขึ้น พ่อก็เอาจอบมาขุดทิ้งเพราะปล่อยไว้เดี๋ยวบ้านจะพังทั้งหลัง แต่แม่กลัวมากเลยรีบไปเอาธูปมาจุดบอกขอขมา ซึ่งฉันเข้าใจดีว่าคนรุ่นแม่ได้ยินได้ฟังมาแบบนี้เลยซึมซับและจำได้ไม่ลืม

 

 ภาพที่ 3 จอมปลวกจำลองในห้องไทยเชื่อ กับความเชื่อของคนสมัยก่อนที่่แม่เล่าให้ฟัง

 

          ดูเหมือนว่าห้องไทยเชื่อนี้แม่จะมีประสบการณ์ร่วมอยู่หลายเรื่อง แม่ยังเล่าให้ฉันฟังต่อเรื่องกุมารทองอีกด้วยว่า แม่เชื่อเรื่องกุมารทอง ถ้ารู้ว่าบ้านไหนเลี้ยงไว้แม่จะไม่ไปนอนบ้านนั้นเป็นอันขาด แม่กลัวเพราะเคยฟังจากที่ยายเล่าอดีตว่าเมื่อสมัยยายยังสาวอยู่ยายเคยไปดูลูกกรอกที่เพื่อนบ้านเลี้ยงไว้ คือ ซากศพแห้งของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นลูกของเพื่อนบ้าน นำมาห่อด้วยผ้าสีขาว เมื่อลูกกรอกต้องการอะไรก็จะมาเข้าฝันบอก ซึ่งแม่เข้าใจว่าลูกกรอกก็คือกุมารทอง ทำให้แม่ยังคงกลัวกุมารทองจนถึงทุกวันนี้

 

          อีกห้องหนึ่งที่ฉันประทับใจเป็นห้องไทยชิมที่ทำให้ฉันรู้สึกราวกับได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เราจะพบจานที่มีรูปอาหารต่างๆ พร้อมคำถามอยู่ด้านล่างของจาน  เช่น นี่คือไก่ปิ้งหรือไก่ย่าง  รูปไหนคือปาท่องโก๋ เป็นต้น ฉันไล่พลิกดูคำตอบด้านหลังด้วยความสนุกสนาน รวมถึงห้องไทยแชะที่ให้เราได้ถ่ายรูปสวยๆ มีชุดเครื่องแต่งกายให้ลองสวมทั้งชุดไทยสมัยก่อน ชุดชาวเขา และชุดกระโปรงบานลายดอก พอได้ใส่แล้วทำให้นึกถึงภาพยนต์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง และมีลานพระบรมรูปทรงม้าสีซีเปียเป็นฉากหลัง

 

          พอเดินมาถึงห้องไทยวิทยาที่จำลองบรรยากาศภายในห้องเรียน มีชุดนักเรียนให้ผู้ชมได้ใส่ถ่ายรูปด้วย แต่ชุดมีน้อยเกินไปทำให้ฉันกับแม่อดใส่ชุดนักเรียนถ่ายรูปกัน เห็นห้องนี้แล้วแม่ยังเปรยว่า

          “เห็นโต๊ะเรียน ชุดนักเรียนแล้วอดนึกถึงสมัยเด็กไม่ได้แต่ชุดนักเรียนประถมของแม่จะเป็นชุดเอี๊ยมใส่จนถึงชั้นประถมปีที่ 4 พอขึ้นประถมปีที่ 5 ก็ใส่คอซองเหมือนเดี๋ยวนี้”

 

ฉัน: แต่ของลูกใส่เหมือนที่โชว์ไว้ ทั้งประถมและมัธยมต้น สมัยลูกได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ด้วยนะ

แม่: แม่เพิ่งมารู้จักและได้จับคอมพิวเตอร์ก็เมื่อพ.ศ. 2535 สมัยของแม่คอมพิวเตอร์ก็เป็นแบบนี้ พร้อมกับหันไปมองคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่รูปทรงหนาเทอะทะ

 

           หลังจากดูนิทรรศการจนจบแล้ว ทำให้ฉันคิดว่าความเป็นไทยอยู่ที่ไหน อยู่ที่เสื้อคอกระเช้าหรือชุดไทยสวยๆ เสื้อลายดอก วัฒนธรรมการไหว้  ประเพณีวันสงกรานต์  ฯลฯ หรือการขอหวย  การผูกผ้าสามสี จริงหรือนี่คือความเป็นไทย สิ่งที่กล่าวมามีที่ประเทศไทยแห่งเดียวหรือ และอะไรคือความเป็นไทย  ความเป็นไทยอยู่ตรงไหน  ระหว่างเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ก็มีความคิดหนึ่งผุดขึ้นมาว่าพิพิธภัณฑ์ก็ทำให้เรายิ้มได้เหมือนกัน สองปีต่อมาฉันทราบว่ามิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการมิวเซียมใต้ดินที่สถานี MRT สนามไชย แต่ก็แอบเสียดายอยู่ลึกๆ ที่สถาณการณ์โควิดทำให้ฉันไม่ได้ไปกรุงเทพฯ ดังเช่นปกติ ทำให้ฉันคิดว่าถ้าโควิดสงบเมื่อไหร่จะไปเที่ยวที่นี่อีกครั้ง

 

อริสา  ไตรเกษม

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ