Museum Core
สงครามอีมู นโยบายเพี้ยนๆ ของออสเตรเลีย
Museum Core
04 ม.ค. 65 2K

ผู้เขียน : Museum Core Writer

          ปี ค.ศ. 1929 (เทียบเวลากับไทยตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7) ออสเตรเลียตกอยู่ในภาวะตึงเครียดมากที่สุดครั้งหนึ่ง พืชผลทางเกษตรราคาตกต่ำ การส่งออกติดขัดเพราะตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทล้มครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรราคาถูกกว่าในทวีปอเมริกาเหนือมาเป็นคู่แข่ง คนจำนวนมากเริ่มไม่พอใจที่รัฐบาลออสเตรเลียแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่าง

 

          นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน รัฐบาลจัดสรรที่ดินในภาคตะวันตกของออสเตรเลียให้บรรดาทหารผ่านศึก 5,030 นาย เข้าทำการเกษตรเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะปลูกข้าวสาลี แต่ก็ไม่ได้รับประกันราคาหรือช่วยเหลือมากเท่าที่ควร ที่ดินที่ได้รับก็รกร้างแห้งแล้ง เสียงเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดนออสเตรเลียตะวันตกออกจากการปกครองของรัฐบาลกลางอันไร้ประสิทธิภาพเริ่มดังขึ้นทุกที จนในที่สุดก็นำไปสู่การจัดประชามติ ผลปรากฏว่าผู้ลงคะแนนเสียงราว 68% เห็นชอบให้มีการแบ่งแยกดินแดน

 

          สถานการณ์ที่กำลังเดือดปุด ๆ กลายเป็นเดือดพล่าน เมื่อมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นซ้ำเติมเกษตรกรภาคตะวันตกในปี ค.ศ. 1932 คือ “ปัญหานกอีมูระบาด” หากเป็นเมืองไทยเรา ศัตรูพืชตัวฉกาจมักจะเป็นแมลงและสัตว์ขนาดเล็กที่มีข่าวระบาดตามฤดูกาล เช่น ตั๊กแตน ด้วงแรด หนอนกอข้าว หนู ฯลฯ แต่ในออสเตรเลีย ศัตรูพืชที่น่ากลัวกลับเป็นนกอีมูซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายกับนกกระจอกเทศ ความสูงราว 175 เซนติเมตร น้ำหนัก 50-60 กิโลกรัม วิ่งได้เร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากมีจะงอยปากและอุ้งเล็บแหลมคม นกอีมูจึงสามารถพังตาข่าย กำแพงรั้วของเรือกสวน และโกดังไม้ที่ไว้เก็บผลผลิตต่าง ๆ เปิดทางให้ศัตรูพืชขนาดเล็ก อาทิ กระต่าย ตามเข้ามา รวมถึงทำอันตรายแกะที่เลี้ยงไว้ได้ด้วย

 

          เกษตรกรภาคตะวันตกซึ่งเดิมล้วนมีอาชีพทหาร ไม่มีประสบการณ์ความรู้หรือทุนเพียงพอจะรับมือกับปัญหาศัตรูพืชที่ยากเช่นนี้ มองไม่เห็นทางออกใดนอกจากวิธีแบบทหาร ๆ นั่นก็คือ “ยิงทิ้งให้หมด!” พวกเขายื่นเรื่องขึ้นไปยังเจ้ากระทรวงกลาโหม เซอร์จอร์จ ฟอสเตอร์ เพียร์ส (Sir George Foster Pearce) ให้สนับสนุนกำลังพลและปืนกลเลวิส (Lewis automatic machine gun) ที่กองทัพเคยใช้ต่อสู้อย่างเกรียงไกรในสงครามครั้งที่ 1 มาเป็นยุทโธปกรณ์สังหารนกอีมู

 

           เซอร์เพียร์สนั้นนอกจากคุมกระทรวงกลาโหม ยังนั่งเก้าอี้วุฒิสมาชิกออสเตรเลียตะวันตก และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองชาตินิยมที่ไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน เขาจึงเห็นว่าควรทำตามคำร้องของเกษตรกร เพื่อจะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นวุฒิสภาต่อในสมัยหน้า และเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยประชาชนจนถึงกับจะต้องแยกประเทศ แม้พรรคฝ่ายค้านจะวิจารณ์ว่า การส่งทหารแบกปืนกลไปไล่ยิงนกมันช่างผิดหน้าที่และบ้าบอป่าเถื่อนสิ้นดี ยิ่งไปกว่านั้น นกอีมูเป็นสัตว์สัญลักษณ์ในตราแผ่นดินและพบตามธรรมชาติแค่ที่เดียวในโลกคือออสเตรเลีย แต่เซอร์เพียร์สก็มั่นใจประกาศสงครามอีมู เขาแต่งตั้งพันตรีกวินนิดด์ พี ดับเบิ้ลยู เมเรดิธ (Major Gwynydd P. W. Meredith) แห่งกองอาวุธหนักที่ 7 กรมปืนใหญ่หลวงออสเตรเลีย เป็นผู้นำทัพ รวมถึงส่งช่างกล้องไปถ่ายวิดีโอโฆษณาชัยชนะของรัฐบาล

 

ภาพที่ 1 นกอีมูในตราแผ่นดินออสเตรเลีย

แหล่งที่มาภาพ: Sodacan. (2020, November 16) Coat of arms of Australia. Own work; Based on the painting at the National Archives of Australia (item barcode 98430), Public Domain, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Coat_of_Arms_of_Australia.svg

 

 

ภาพที่ 2 เซอร์จอร์จ ฟอสเตอร์ เพียร์ส กับปืนกลเลวิส

แหล่งที่มาภาพ: Mills, A. (1910). Senator George Pearce. National Library of Australia, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=73889161, Former, M. (n. d.) Chain Of Command. Pinterest. https://nl.pinterest.com/pin/459015387003569888/

 

 

          แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นดังคาด พันตรีเมเรดิธนำกำลังพลเข้าไล่ยิงฝูงนกอีมูราว 50 ตัวในเมืองแคมเปียน (Campion) วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 แล้วก็พบว่านกอีมูหนังเหนียวและฉลาดกว่าที่คิด พวกมันมีระบบกลุ่มในฝูงซึ่งไม่ได้อยู่ชิดติดกันทำให้ปืนกลสาดกระสุนออกไปเสียเปล่าจำนวนมาก แต่ละกลุ่มย่อยมีตัวที่คอยระแวดระวังภัยและร้องเตือนเมื่อเห็นมนุษย์เข้าใกล้ เวลาหนีก็กระจายออกไปอย่างรวดเร็วทุกทิศทางจนตามไม่ทัน แม้ว่าตัวที่โดนยิงก็มักบาดเจ็บไม่ถึงตายเพราะมีหนังและขนหนาเป็นเกราะป้องกัน ทำให้ทหารฆ่านกอีมูได้เพียงจำนวนหนึ่ง แต่ฝูงส่วนใหญ่หนีไปได้ และยิ่งสร้างความเสียหายแก่เรือกสวนไร่นารุนแรงกว่าปกติระหว่างวิ่งหนี

 

          พันตรีเมเรดิธไม่ย่อท้อ สองวันต่อมา เขานำทหารซุ่มยิงฝูงนกอีมู 1,000 ตัวใกล้กับแหล่งน้ำ แต่ปรากฏว่าฆ่าอีมูไปได้แค่ 12 ตัวเท่านั้น ปืนกลทั้งสองกระบอกที่ใช้อยู่ก็เกิดติดขัดในลำกล้อง ยิงกระสุนไม่ออกเสียงเสียเฉย ๆ หลังจากนั้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ทหารก็ตัดสินใจขับรถกระบะบรรทุกปืนกลตามไล่ยิงนกอีมูแทนที่จะวิ่งแบก แต่สภาพพื้นป่ารกและทุ่งราบเป็นหลุมเป็นบ่อก็ทำให้ยิ่งเล็งเป้ายากเข้าไปใหญ่ สุดท้าย มีนกอีมูตัวหนึ่งถูกยิงล้มลงมาตายติดกับพวงมาลัย ส่งผลให้รถเสียหลักพุ่งไถลชนรั้วของบ้านเกษตรกรแถวนั้นพังไปครึ่งหนึ่ง เป็นการจบปฏิบัติการในวันนั้นอย่างน่าอับอายขายหน้า

 

          ภาพวิดีโอทั้งหมดที่เผยแพร่ออกมาในข่าวกลายเป็นที่ตลกขบขันไปทั่วออสเตรเลีย สื่อต่าง ๆ พากันพาดหัวข่าวล้อเลียน “มหาสงครามอีมู (The Great Emu War)” วิจารณ์การตัดสินใจแก้ปัญหาสุดแปลกของรัฐบาลในครั้งนี้ และสรรเสริญว่านกอีมูเก่งกล้าสามารถเหนือกองทัพออสเตรเลียไปเสียแล้ว ที่สำคัญช่วยกันแฉข้อมูลว่า พันตรีเมเรดิธและทหารของเขาผลาญกระสุนปืนไปกว่า 2,500 นัด ทว่าฆ่านกอีมูได้เพียง 200 ตัวเท่านั้น นับว่าสิ้นเปลืองจนน่าตกใจ พรรคแรงงานแห่งนิวเซาธ์เวลส์ก็เสียดสีว่า ถ้ามีการมอบเหรียญกล้าหาญเป็นรางวัล ก็ควรจะมอบให้แก่นกอีมู ที่เป็นผู้ชนะในทุก ๆ สมรภูมิที่ผ่านมา สร้างความเสียหายทางงบประมาณและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอย่างเหลือเกิน

 

          สงครามอีมูของเซอร์เพียร์สถูกระงับไปในที่สุดในเดือนธันวาคม โดยรวมแล้ว ทหารยิงนกอีมูได้ประมาณ 100 ตัวทุกสัปดาห์ตลอดทั้งเดือนแห่งปฏิบัติการนั้น พันตรีเมเรดิธเองเป็นผู้คำนวณสถิติและรายงานว่า กองทัพเสียกระสุนไปเฉลี่ยถึง 10 นัดทีเดียว ต่อนกอีมู 1 ตัว เขาให้สัมภาษณ์ยอมรับความพ่ายแพ้ว่า “ถ้าเรามีหน่วยทหารที่ทนทานต่อกระสุนเท่านกพวกนี้ เราคงออกรบกับกองทัพใด ๆ ในโลกนี้ได้สบาย พวกมันประจันหน้าปืนกลได้อย่างไม่สะทกสะท้านราวกับรถถังเชียวล่ะครับ”

 

ภาพที่ 3 ซากนกอีมูที่ถูกยิงโดยทหารออสเตรเลีย

แหล่งที่มาภาพ: Jourdan, A. (2021, June 27). C'est l'histoire d'un animal. Vivacité. Retrieved November 25, 2021, from https://www.rtbf.be/vivacite/emissions/detail_viva-week-end/accueil/article_c-est-l-histoire-d-un-animal-quand-les-animaux-declenchent-la-guerre?id=10780873&programId=5905.

 

          ปัญหานกอีมูระบาดบรรเทาเบาบางลง เมื่อหน่วยงานที่เหมาะสมก้าวเข้ามารับหน้าที่แก้ไข นั่นก็คือ กรมการเกษตร ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจออกไปประเมินสภาพภูมิศาสตร์ และวางแผนสร้างรั้วปราการรัฐออสเตรเลียตะวันตก (Western Australia’s State Barrier Fence) เป็นแนวรั้วป้องกันสัตว์ศัตรูพืชขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 209 กิโลเมตร และสูงประมาณ 150 เซนติเมตร เลียบทางรถไฟคุลยา บอนนี ร็อค (Kulja Bonnie Rock Railway) ล้อมรอบพื้นที่ทำการเกษตร เป็นรั้วโลหะแบบลวดล็อกวงแหวน มีแถบลวดหนามประกอบทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยสร้างเชื่อมกับรั้วกันกระต่ายที่เดิมมีอยู่แล้ว 2 แนว เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนที่ของฝูงนกอีมูให้อ้อมไปทางอื่น แต่ยังคงเข้าถึงป่าและแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้อยู่

 

ภาพที่ 4 รั้วปราการรัฐออสเตรเลียตะวันตก

แหล่งที่มาภาพ: Robins, C. (2020, August 26). State Barrier Fence Overview. Department of Primary Industries and Regional Development's Agriculture and Food division. Retrieved November 26, 2021, from https://www.agric.wa.gov.au/invasive-species/state-barrier-fence-overview.

 

 

          แม้ว่าการสร้างรั้วเหล็กจะไม่ “สะใจ” เหล่าเกษตรกรทหารผ่านศึกเท่าไรนักและพวกเขาก็ยังคงยื่นคำร้องให้ส่งทหารมายิงนกอีมูต่ออีกหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะทำตามอีก เพียงแต่ยินยอมให้เกษตรกรใช้ปืนยาวยิงนกอีมูที่บุกรุกเข้าในสวนของตนได้เองแทน แล้วนำมารับเงินรางวัล (Beak Bonus System) ในปี ค.ศ. 1944 อัตรารางวัลอยู่ที่ 4 ปอนด์ (ประมาณ 180 บาท) ต่อจะงอยปากนกอีมู 1 ชิ้น และ 6 เพนซ์ (ประมาณ 3 บาท) ต่อไข่นกอีมู 1 ฟอง (สมัยนั้นค่าแรงขั้นต่ำออสเตรเลียอยู่ที่ 5 ปอนด์ หรือราว 225 บาท ต่อสัปดาห์) ทำให้มีเกษตรกรยิงนกอีมูด้วยตนเองกันไปจำนวนกว่า 284,000 ตัวภายในปี ค.ศ. 1960

 

           ส่วนประเด็นการแบ่งแยกดินแดนออสเตรเลียตะวันตก หลังจากมีการสร้างรั้วเสร็จสมบูรณ์และตั้งระบบค่าหัวนกอีมู ประจวบเหมาะกับประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีคู่แข่งในทวีปอเมริกาเหนือเกิดภัยแล้งพอดี ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกจึงปรับตัวขึ้น ความโกรธเกรี้ยวของผู้คนก็สงบลง นอกจากนี้ ออสเตรเลียมีฐานะเป็นสหพันธรัฐที่ก่อตั้งจาก 6 อาณานิคมในเครือจักรภพอังกฤษ อังกฤษจึงสามารถปฏิเสธผลประชามติได้ เรื่องนี้จบลงโดยสภาอังกฤษกับสภาออสเตรเลียตกลงร่างพระราชบัญญัติออสเตรเลีย (Australia Act) ในปี ค.ศ. 1986 มอบอำนาจอธิปไตยและอิสรภาพแก่ออสเตรเลีย ทำให้กฎหมายอังกฤษไม่มีผลในออสเตรเลียอีกต่อไป ทีนี้หากจะแบ่งแยกดินแดนก็เป็นเรื่องที่ออสเตรเลียตัดสินใจทำได้เอง แต่เนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนคลี่คลายไปแล้ว กลุ่มแบ่งแยกดินแดนออสเตรเลียตะวันตกจึงเสื่อมความนิยมและก็ไม่ได้เกิดการแบ่งแยกดินแดนขึ้นจริง

 

            สงครามอีมูเป็นเรื่องขำขันเล็ก ๆ ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนจากการทำงานของหน่วยงานรัฐแบบผิดฝาผิดตัว รวมถึงการตระหนักว่าเสียงเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไม่ใช่คำบัญชาที่รัฐบาลจะต้องทำตามไปหมดทุกเรื่องโดยไม่คิด เพราะคนทั่วไปอาจไม่มีความรู้มากเท่าผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ โดยตรงว่าควรแก้ปัญหาด้วยวิธีใดถึงจะถูกต้อง ประชาชนเพียงแต่ชี้ให้เห็นปัญหาเท่านั้น รัฐบาลมีหน้าที่รักษาสติพิจารณาและมอบหมายคนเก่งคิดหาหนทางแก้ไขที่ใช้ได้จริงอย่างประหยัดรอบคอบ สมกับที่ได้รับอำนาจและความไว้วางใจ

 

 บรรณานุกรม

 

Crew, B. (2014, August 4). The Great Emu War: In which some large, flightless birds unwittingly foiled the Australian Army. Scientific American Blog Network. Retrieved November 23, 2021, from https://blogs.scientificamerican.com/running-ponies/the-great-emu-war-in-which-some-large-flightless-birds-unwittingly-foiled-the-australian-army/.

 

Fair Work Commission. (2019, July 12). The Australian minimum wage from 1906. Waltzing Matilda and the Sunshine Harvester Factory. Retrieved November 26, 2021, from https://www.fwc.gov.au/waltzing-matilda-and-the-sunshine-harvester-factory/historical-material/the-australian-minimum-wage.

 

Johnson, M. (2009, May 18). 'Feathered foes': Soldier settlers and Western Australia's 'EmU War' of 1932. Taylor & Francis Online. Retrieved November 23, 2021, from https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/14443050609388083.

Racinez, S. (2019, June 30). Did you say Emu Wars!? Behind Every Day. Retrieved November 26, 2021, from https://behindeveryday.com/emu-wars/.

 

Robin, L., Joseph, L., & Heinsohn, R. (2009). Boom & Bust: Bird Stories for a dry country. CSIRO Publishing.

 

The Sunday Herald (Sydney, NSW: 1949 - 1953). (n.d.). New strategy in a war on the emu. Trove. Retrieved November 23, 2021, from https://trove.nla.gov.au/newspaper/article/18516559.

 

Way, W. (2013). The Wheat Crisis of the 1930s. JSTOR. Retrieved November 23, 2021, from https://www.jstor.org/stable/pdf/j.ctt31ngr3.16.pdf.

 

 

Museum Core Writer

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ