Museum Core
ตามรอยโคนันไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์
Museum Core
05 ม.ค. 65 1K
ประเทศอังกฤษ

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

         ตั้งแต่สมัยวัยเด็กประถม ผู้เขียนชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมาก โดยเริ่มจากอ่านการ์ตูนไทยรายปักษ์อย่างขายหัวเราะ หนูจ๋า การ์ตูนมหาสนุก รวมถึงการ์ตูนผีเล่มละหนึ่งบาท พอเข้าวัยรุ่นก็เริ่มอ่านการ์ตูนแปลจากญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเข้าขั้น “ติดการ์ตูน” ต้องอ่านทุกวัน หลายคนที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นน่าจะรู้สึกคล้ายกันว่านอกจากความสนุกเพลิดเพลินกับเรื่องเล่าสไตล์การ์ตูนช่องแล้ว ยังได้เกร็ดความรู้อื่นๆ ที่แฝงมาด้วย จนถึงปัจจุบันผู้เขียนก็ยังชอบการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ไม่หลากหลายเหมือนแต่ก่อน เลือกอ่านเฉพาะแนวที่ชอบเท่านั้นอย่างเรื่องเชฟทำอาหาร หมอรักษาโรค และนักสืบ โดยเฉพาะอย่างหลังนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ชอบมากเป็นพิเศษ เรื่องที่รู้สึกว่าสนุกและชอบมากก็คือ “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ไม่ว่าหนังสือการ์ตูนจะตีพิมพ์เป็นซีรีส์ยาวหลายสิบเล่มก็ติดตามต่อเนื่องต้องอ่านทุกเล่ม

 

         ตามโครงเรื่องการ์ตูน “โคนัน” เป็นตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นนักสืบม.ปลาย ชื่อคุโด้ ชินอิจิ ได้กินยาที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนสภาพจากเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ต้องกลายร่างหดเล็กลงกลับไปเป็นเด็กประถมหนึ่งอีกครั้งแล้วยังไม่สามารถค้นหาหนทางกลับคืนสู่ร่างเดิมแบบถาวรได้ จึงต้องปกปิดตัวตนไว้เพื่อไม่ให้คนรอบข้างผิดสังเกตว่าตัวเขาหายไป โดยใช้ชื่อเรียกตัวเองว่า เอโดงาวะ โคนัน ซึ่งชื่อโคนันก็ยืมมาจากชื่อจริงของนักเขียน อาเธอร์ โคนัน ดอยส์ (Arthur Conan Doyle) ผู้แต่งนิยายสืบสวนคนดังของอังกฤษที่ทั้งชินอิจิและผู้เขียนชื่นชอบมากนั่นเอง

 

          อาเธอร์ โคนัน ดอยส์ มีผลงานเขียนนิยายมากมายและหลากหลายแนว แต่นิยายที่สร้างชื่อเสียงทำให้เขาโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีของนักอ่านทั่วโลก คือ “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” นิยายนักสืบที่มีตัวเอกเป็นนักสืบอัจฉริยะที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นและตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ.1887 หลังจากนั้นตัวละครเชอร์ล็อก โฮล์มส์ก็กลายเป็นขวัญใจนักอ่าน โคนัน ดอยส์ เขียนเรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นฉบับนิยาย 4 เล่ม และนิยายตอนสั้นๆ ที่เล่าเรื่องระหว่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ และคู่หูหมอวอตสัน (Dr. Watson) อีก 56 ตอน ก่อนจะสิ้นสุดการแต่งนิยายชุดนี้หลังจากเขียนมานานถึง 40 ปี ในปี ค.ศ.1927 นิยายเชอร์ล็อก โฮล์มส์จัดเป็นหนังสือนิยายคลาสสิคในแนวสืบสวนสอบสวนที่ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน มีการผลิตซ้ำบ่อยมากที่สุดผ่านรูปแบบหนังสือ การ์ตูน ภาพยนตร์ ละครซีรีส์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานเขียนระดับมาสเตอร์เรื่องนี้จะมีแฟนคลับมากมายจากทั่วโลก

 

          ใครจะคิดว่าจากเรื่องราวในนิยายที่ใช้จินตนาการสร้างขึ้นมานั้นจะกลายเป็นที่สนใจของทุกเพศทุกวัยที่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้ จนมีแฟนนิยายมากมายเขียนจดหมายและส่งไปรษณีย์จริงจังถึงเชอร์ล็อก โฮล์มส์ รวมถึงการแวะเวียนไปดูบ้านเลขที่ 221 B ถนนเบเกอร์ในลอนดอน สถานที่สมมุติที่โคนัน ดอยส์ กำหนดสร้างให้ห้องที่ชั้นสองเป็นห้องเช่าที่พักและทำงานของนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ความนิยมที่ไม่เคยเสื่อมคลายของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทำให้มีการตั้งสมาคมเชอร์ล็อก โฮล์มส์ นานาชาติ (Sherlock Holmes International Society) แล้วมาเช่าตึกเลขที่ระหว่าง 237 และ 241 อุปโลกน์ให้เป็นบ้านเลขที่ 221 B สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์อุทิศให้กับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเมื่อปี ค.ศ.1990 และในการ์ตูนเรื่องโคนันเองก็มีตอนหนึ่งที่เขียนเล่าให้ชินอิจิเดินทางมาที่อังกฤษและต้องไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ให้ได้ เมื่อสองปีก่อนผู้เขียนที่เป็นแฟนคลับการ์ตูนเรื่องโคนันมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ลอนดอนจึงไม่พลาดที่จะตามรอยโคนันไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บ้าง

 

         พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ตั้งอยู่ในตึกทาวน์เฮาส์สไตล์จอร์เจียนสูง 4 ชั้นที่สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1815 และถูกใช้เป็นที่พักอาศัยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี (ค.ศ.1860-1936) จากแนวอาคารที่หน้าตาธรรมดาเรียบง่ายตั้งอยู่ริมถนนเบเกอร์ แต่สามารถสังเกตหรือเดาง่ายๆ ว่าพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ไหนของช่วงตึก เพราะมีเพียงตึกเดียวเท่านั้นที่มีผู้คนยืนเข้าคิวต่อแถวยาว หรือหากวันที่โชคดีมีนักท่องเที่ยวไม่เยอะก็อาจจะเป็นเพียงกลุ่มคนยืนรออยู่หน้าตึก ซึ่งทุกคนจะต้องเดินเข้าไปซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์จากร้านค้าขายของที่ระลึกของมิวเซียมก่อน ตั๋วเข้าชมสนนราคาที่ 15 ปอนด์ต่อคน โดยหน้าประตูทางขึ้นชมพิพิธภัณฑ์มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายแต่งชุดเครื่องแบบดั้งเดิมตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด (Scotland Yard) ทำหน้าที่ตรวจสอบตั๋วและจัดกลุ่มผู้ชมแต่ละรอบไม่เกิน 15 คน

 

 

ภาพที่ 1 นักท่องเที่ยวตั้งแถวรอคิวเข้าชมพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ยาวล้นหน้าอาคาร

 

          แน่นอนว่านักท่องเที่ยวทุกคนรู้ดีว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นเพียงตัวละครในนิยาย จึงไม่อาจคาดหวังว่าจะได้เห็นวัตถุหลักฐานจริงที่อ้างอิงถึงตัวตนได้อย่างบ้านแอนน์แฟรงค์ในอัมสเตอร์ดัม แต่สิ่งที่ผู้ชมได้ผ่านประสาทรับรู้สัมผัสกับบรรยากาศที่พาให้หลุดมิติย้อนไปสู่อดีตผ่านข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์เก่าและการตกแต่งภายในที่ล้วนถูกคัดเลือกมาอย่างดี เป็นแบบที่ร่วมยุคสมัยจริงๆ กับตัวละครโฮล์มส์ที่อาศัยอยู่ในยุควิคตอเรียน (ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1820 - 1914) เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

 

ภาพที่ 2 พื้นที่รับแขกเล็กๆ ที่อบอุ่นจากเตาผิงที่จัดฉากย้อนเวลากลับไปยุควิกตอเรียน

 

         พื้นที่ขนาดเล็กบนชั้นสองเป็นจุดแสดงที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ มีเจ้าหน้าที่ในชุดย้อนยุคอธิบายสรุปสั้นๆ ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ปล่อยความคิดและจินตนาการถึงตัวละครเชอร์ล็อก โฮล์มส์ว่าใช้ชีวิตอย่างไร มองเห็นอะไรบ้างจากหน้าต่างห้องเช่าบนชั้นสองแห่งนี้ ผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นเหมือนสมบัติของโฮล์มส์ เช่น เสื้อคลุมลายสก็อต กล้องสูบยา หมวก แว่นขยาย กล้องส่องทางไกล กองหนังสือ อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ โซฟาและไวโอลิน อย่างผู้เขียนเองก็สร้างมโนภาพถึงฉากที่โฮล์มส์นั่งบนโซฟาผ้ากำมะหยี่ สูบไปป์ที่เขาชอบอยู่หน้าเตาพิง กำลังอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏในเรื่อง A Scandal in Bohemia ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ที่อ่านแล้วชอบมาก และยังจดจำเนื้อเรื่องได้แม้ว่าจะเคยอ่านมานานกว่ายี่สิบปีแล้วเพราะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่โฮล์มส์พ่ายแพ้ในการไขคดี

 

ภาพที่ 3 (ซ้าย) โต๊ะทานอาหารเช้าเล็กๆ ริมหน้าต่างที่โฮล์มส์ได้มองเห็นผู้คนและความเป็นไปบนถนนเบเกอร์

และ (ขวา) มุมเล็กๆ ของโต๊ะที่โฮล์มส์ใช้ค้นคว้าและไขคดี

 

          จบจากไฮไลท์ที่ชั้นสอง ถ้านักท่องเที่ยวมีเวลาสามารถเดินขึ้นไปเยี่ยมชมที่ชั้น 3 และ 4 ได้ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้ออกแบบเป็น 2 โซนอย่างชัดเจน คือ ชั้นที่ 3 จัดแสดงเป็นห้องพักส่วนตัวของดอกเตอร์วอตสัน และห้องพักของมิสซิสฮัดสันที่เป็นเจ้าของบ้านเช่า ซึ่งรูปแบบคล้ายกับชั้นสอง เป็นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรือน ภาพถ่ายเก่าที่เก็บสะสมไว้เพื่อแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในลอนดอนที่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน

 

         ต่อมาที่ชั้น 4 เป็นโซนที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งจำลองขนาดเท่าคนจริงแสดงท่าทางบางฉากที่เป็นภาพจำจากบางตอนของนิยายโดยเลือกเฉพาะตอนที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี จำนวน 7 ตอน ได้แก่ ฉากนัดพบกันของไอรีน แอดเลอร์และกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย จากเรื่อง A Scandal in Bohemia ฉากหุ่นขี้ผึ้งของนายโรงรับจำนำหัวแดง นายจาเบซ วิลสัน กำลังนั่งเขียนสารานุกรมบริทานิกาจากเรื่อง The Redheaded League หรือฉากดอกเตอร์กริมส์บี้ รอยลอตต์ เพิ่งเหยียบคราดของตัวเองและเสียชีวิตเพราะถูกงูพิษกัดในเรื่อง The Speckled Band เป็นต้น ในตอนแรกที่ผู้เขียนได้เห็นหุ่นจำลองก็พยายามนึกและเดาว่าฉากนั้นๆ มาจากเรื่องไหน และก็พบว่าเดาผิดเป็นส่วนใหญ่นั่นเพราะผู้เขียนยังไม่ได้อ่านนิยายเชอร์ล็อกโฮล์มส์ทุกตอนนั่นเอง ซึ่งเป็นความจำกัดของหนังสือแปลภาษาต่างประเทศที่มักคัดเลือกเฉพาะเรื่องหรือตอนที่คนนิยมอ่านเท่านั้น

 

         โซนสุดท้ายที่ต้องไต่ปีนบันไดขึ้นไปดูเป็นห้องน้ำที่อยู่ใต้หลังคา พื้นที่ไม่กว้างนักมีเฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์ไม่กี่ชิ้นที่เห็นได้ว่าหน้าตาไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก ทั้งอ่างล้างหน้าล้างมือ หรือโถชักโครก และมีพื้นที่เหลืออีกหน่อยใช้เก็บข้าวของส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยได้ใช้อย่างกระเป๋าเดินทาง

 

ภาพที่ 4 หุ่นจำลองฉากจากบางตอนของนิยายเชอร์ล็อกโฮล์มส์ที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก

 

 

ภาพที่ 5 ห้องน้ำสำหรับชำระล้างร่างกายและปลดทุกข์ สังเกตได้ว่าไม่มีที่อาบน้ำ

ชาวตะวันตกนิยมเช็ดตัวให้สะอาดมากกว่าการอาบน้ำแบบชาวเอเชีย

 

         หลายคนอาจคิดว่านอกจากห้องที่ชั้นสองแล้ว ไม่มีอะไรน่าดู ไม่ค่อยคุ้มค่านักกับการชมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์มีความน่าสนใจเพราะนับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ที่สร้างขึ้นให้กับตัวละครสมมุติที่โด่งดังไปทั่วโลก การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการอุปโลกน์สร้างขึ้นจากการพยายามตีความตามคำพรรณนาของนักเขียนนิยายไปพร้อมๆ กับตีความตัวละครที่น่าจะมีบุคลิกจริงที่ตรงกับคนในยุคสมัยนั้นๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นฉากจำลองรูปแบบชีวิตและความเป็นอยู่ในห้องต่างๆ ให้ผู้ชมได้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม

 

         แน่นอนว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นนิยายโด่งดังที่มีอายุมากเป็นร้อยปีและได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ มากมาย สำนวนภาษาที่แปลถ่ายทอดจากหนังสือต้นฉบับก็มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างภาพให้ตัวละครโลดแล่นในความคิดของเหล่าบรรดาแฟนคลับนานาชาติที่หลงใหลเชอร์ล็อก โฮล์มส์ผ่านวรรณกรรม ในขณะที่แฟนคลับอีกจำนวนหนึ่งซึมซับความเก่งกาจในการไขคดีของโฮล์มส์ผ่านละครซีรีส์และภาพยนตร์สมัยใหม่ที่ผลิตซ้ำอยู่มากมาย ทำให้ภาพลักษณ์ตัวละครเชอร์ล็อก โฮล์มส์แต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้งที่นำมาตีความใหม่

 

         ดังนั้น การนำเสนอภาพแห่งจินตนาการของทีมผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการเล่นกับความคิดความรู้สึกของผู้ชมโดยตรง ไม่มีใครสามารถกะเกณฑ์ได้ว่าจินตภาพที่สร้างขึ้นมานั้นจะมีส่วนเติมเต็มภาพในความคิดของผู้ชมที่เป็นแฟนคลับที่ซึมซับตัวละครผ่านตัวหนังสือ หรือภาพยนตร์ได้มากน้อยเพียงใด แต่เป็นการปล่อยพื้นที่ว่างให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินกับความคิดของตนเองที่เชื่อมโยงกับข้าวของที่จัดแสดงและบรรยากาศจำลองยุคสมัยที่ห่อหุ้มตัวละครนี้ไว้ ซึ่งอาจตรงกับที่จินตนาการไว้เดิม อาจมีเพียงบางส่วนที่คล้ายคลึง หรืออาจไม่เชื่อมโยงกับผู้ชมเลยก็เป็นได้

 

ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ