“ธุลีกองละอองดินหินก้อนนี้ แทนจงรักภักดีพลีชีพให้
แด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจอมไผท แด่ชาติไทยแด่แผ่นดินถิ่นธรณี
เมื่อยามเรียนก็พากเพียรเพื่อความรู้ ชาติต้องการรวมกันสู้ไม่หลีกหนี
อุทิศได้แม้เลือดเนื้อแม้ชีวี เพื่อปกป้องปฐพีพี่น้องไทย
นี่คืออุดมการณ์อันหาญกล้า นี่คือค่าชีวีที่พลีให้
นี่คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันที่สอนให้ใจทะนง
หินก้อนนี้คือวจีที่ประกาศ ความมุ่งมาดมุ่งมั่นอันสูงส่ง
เอกราชของชาติไทยต้องดำรง อยู่ยืนยงคงสถิตนิจนิรันดร์”
ร.ต.สำเร็จ บุนนาค ประพันธ์ในนาม นร.สห.๒๔๘๘
นี่คือข้อความจากกลอนที่จารึกบนแผ่นหิน ที่อยู่ด้านหน้าของลานหินหรือ อนุสรณ์สถานนักเรียนนายทหารสารวัตร (นร.สห.) 2488 ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่เยื้องกับหอสมุดกลาง หรือ สำนักงานวิทยทรัพยากร โดยมีหินแท่งขนาดใหญ่แกะสลักเป็นรูปทรงที่สวยงาม ตั้งเด่นสง่ารายล้อมด้วยต้นไม้นานาชนิดที่ให้ความร่มรื่นแก่ลานหินอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำที่แสดงถึงความกล้าหาญ เสียสละ ของนิสิตจุฬาฯ จำนวน 298 คน ได้ตัดสินใจสมัครเข้ารับใช้ประเทศชาติเพื่อช่วยเหลือขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น
ภาพที่ 1 แผ่นหินจารึกประวัติการสร้างอนุสรณ์สถานพร้อมกลอนจารึกบนแผ่นหินที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของ นร.สห. 2488
เช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีจนถึงสมุทรปราการ โดยขอเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีกับกองทัพทหารอังกฤษ ในประเทศ พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมาโดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้ามายังรัฐบาลไทย ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจตอบรับให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยพร้อมกับประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะเพื่อต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะของรัฐบาล จึงเป็นที่มาของ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น ที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ โดยทำงานกันเป็นเครือข่ายที่ติดต่อทางลับทั้งในและต่างประเทศ
ภาพที่ 2 ด้านซ้ายของอนุสรณ์สถานมีสัญลักษณ์ของกลุ่ม นร.สห. 2488 โดยมีพื้นหลังเป็นสีธงไตรรงค์ พร้อมกับตราพระเกี้ยวและกระบี่ พร้อมกับข้อความว่า นร.สห.2488 เสรีไทยสายนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอนเนื่องจากภัยสงคราม แต่ได้มีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 298 คน ได้ตัดสินใจอาสาเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร (นร.สห.) โดยมี พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหาร และผู้ก่อตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร พ.ศ. 2488 และหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ให้การสนับสนุน ซึ่ง พล.ร.ต สังวร ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคนสำคัญของเสรีไทย โดยการเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตรมีวัตถุประสงค์ในในทางลับเพื่อเข้ารับการฝึกสำหรับภารกิจสู้รบต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีหลักสูตรการเรียนแบบรวบรัดในเวลา 1 ปี เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็ได้จัดให้ไปเป็นผู้ฝึกสอนแก่เสรีไทยในกลุ่มนายสิบ สารวัตรทหารที่มาจากนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักศึกษาจามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นที่มาของ สมาคมเตรียม ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาสาศึก ระหว่างนั้น พล.ร.ต. สังวร ได้ทยอยส่งนักเรียนทหารไปทำการฝึกที่ค่ายสวนลดาพันธ์ จ.ชลบุรี โดยได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ จากกองทัพสหรัฐอเมริกา โดยมีนายทหารอเมริกันโดดร่มลงมาพำนักที่ค่ายแห่งนี้อยู่แล้ว เป็นผู้ทำการอำนวยการสอนใช้อาวุธที่ทันสมัย รวมถึงยุทธวิธีการรบ หลักจากที่สำเร็จหลักสูตรแล้วจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายร้อยตรีทหาร ทำหน้าที่ควบคุมรักษาสถานการณ์ความสงบภายในประเทศ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ภายหลังเมื่อปลดประจำการแล้ว นิสิตจุฬาฯ กลุ่มนี้ยังได้รวมกันต่อมาเป็นชมรมนักเรียนนายทหารสารวัตร 2488 หรือในนามย่อ นร.สห. 2488
ภาพที่ 3 ด้านขวาของอนุสรณ์สถานได้ปรากฏ คำสั่งให้นักเรียนสารวัตรทหารเป็นนายทหารพร้อมรายชื่อของนิสิตที่อาสา
ในภารกิจครั้งนี้ จำนวน 298 คน พร้อมกับรูปเหรียญชัยสมรภูมิ อันเป็นเหรียญที่พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่กระทำหน้าที่อย่างทหารหรือตำรวจ ที่ได้รับคำสั่งจากหน่วยทหารหรือตำรวจให้ไปทำการรบ นักเรียนสารวัตรทหารกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ตนเองและตระกูล พร้อมกับจารึกข้อความบนกำแพงว่า
“เอกราชของชาติไทยต้องดำรง อยู่ยืนยงคงสถิตนิจนิรันดร์”
50 ปีถัดมา ในปีพุทธศักราช 2538 ชมรมนักเรียนนายทหารสารวัตร 2488 ได้สร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการเป็นกุญแจไขประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานเสรีไทย มี ร.ต. อภัย ผะเดิมชิต เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ซึ่ง ร.ต. อภัย ได้ออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาเซน ที่มีสารัตถะว่า มนุษย์เกิดมาจากธรรมชาติและจะก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิผลที่สุดด้วยความร่วมมือกับธรรมชาติ การผสมกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญแทนที่จะมุ่งเอาชนะกัน คำสอนของเซนให้เคารพต่อสรรพสิ่งในธรรมชาติ ไม่ว่าต้นไม้ ก้อนหิน ลำธาร สระน้ำ ล้วนมีคุณค่าเทียบเท่ามนุษยชาติ
ภาพที่ 4 ประติมากรรมแท่นหินที่ตั้งเด่นอยู่ตรงกลางอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 เพื่อระลึกถึงความเสียสละ กล้าหาญ และความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อให้เห็นคุณค่าของมนุษยชาติตามหลักปรัชญาเซน
ภาพที่ 5 บรรยากาศยามเช้าที่อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 หรือที่ชาวประชาคมจุฬาฯ ต่างเรียกว่าลานหิน บริเวณหน้าหอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้า เริ่มลอดผ่านกลุ่มใบไม้ที่ปกคลุมลานหินแห่งนี้ ได้ฉายส่องมายังแท่นหินให้มีเงาเป็นมิติ ทำให้เราเห็นทั้งด้านมืดและสว่าง
เงามืดแห่งสงครามนั้นยุติลงแล้ว มีเพียงแสงสว่างในใจมนุษยชาติ ที่จะเยียวยาเพื่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง
แท่นหินนี้ได้แสดงถึงความกล้าแกร่ง แข็งแรง มั่นคง พร้อมถูกโอบล้อมไว้ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ สร้างสภาวะแวดล้อมอันสงบให้กับสถานที่แห่งนี้
ระลึกถึงแด่... ความกล้าหาญ เสียสละ พากเพียร ของ นร.สห. 2488 ที่ได้รักษา เสรีภาพ สันติภาพ และเอกราชของชาติไทย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.cuartculture.chula.ac.th/cu100-stories/056/
https://www.gotoknow.org/posts/454530
https://www.silpa-mag.com/history/article_54144
https://silpa-mag-big.staging.matichon.co.th/history/article_48571
วิสิฐ ตั้งสถิตกุล