ทุกวันนี้เราสามารถขับรถมอเตอร์ไซค์ออกจากโชว์รูมได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสดแม้แต่บาทเดียว สินค้ามากมายในห้างสรรพสินค้ามีบริการให้ผ่อนจ่าย หรือซื้อผ่านบัตรเครดิต แต่ในอดีตต่างไปจากนี้มาก แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะครอบครองสินค้าใดๆ โดยไม่มีเงินในมือ
จนกระทั่งการมาถึงของ ‘จักรเย็บผ้า’
ภาพที่ 1 ภาพโฆษณาจักร โดย Paolo Monti, Milan 1963
แหล่งที่มาภาพ: https://hmong.in.th/wiki/Singer_Sewing_Company
มหาตมะ คานธี ผู้นำชาวอินเดียต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ ให้ความเห็น หลังทดลองใช้ จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ในคุกที่ประเทศอังกฤษว่า เป็น“หนึ่งในจำนวนน้อยนิดที่มีประโยชน์ ในบรรดาข้าวของ มากมาย ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา” คานธีไม่ค่อยจะนิยมชมชอบเครื่องจักรกลเท่าไรนัก แต่เขาก็ยังชอบ เครื่องทุ่นแรงในการเย็บผ้า
แม้จักรซิงเกอร์ของ ไอแซค เมอร์ริตต์ ซิงเกอร์ เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่เขาไม่ใช่คนแรกที่สร้าง สิ่งประดิษฐ์นี้ โทมัส เซนต์ ได้ชื่อเป็นผู้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าคนแรก และจดสิทธิบัตรไว้ในปี ค.ศ. 1790 ต่อมา มีผู้พยายามคิดค้นและออกแบบเครื่องจักรเพื่อผ่อนแรงช่างเย็บหลากหลายรูปแบบ ต่างพากันจดสิทธิบัตรไว้ ทว่าทั้งหมดล้วนใช้งานได้ลำบาก หรือแทบใช้ไม่ได้
ยุคของจักรเย็บผ้าเริ่มต้นขึ้นที่อเมริกา ในทศวรรษ 1850 (ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4) มีผู้ผลิตจักรเย็บผ้าหลากหลายรูปแบบออกสู่ตลาด รวมทั้ง ไอแซค ซิงเกอร์ ที่เริ่มผลิตจักรออกขายในปีค.ศ. 1853 แม้จะมีผู้ผลิตหลายราย แต่จักรของซิงเกอร์มีประสิทธิภาพสูง สามารถเย็บได้ 347 ฝีเข็มต่อนาที ลดเวลาการเย็บเสื้อเชิร์ตผู้ชาย จาก 14 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 16 นาที เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1860 จักรซิงเกอร์ 400 คัน ทำงานได้เท่ากับช่างเย็บมือ 2,000 คน และร้อยละ 80 ของจักรเย็บผ้าที่ขายทั่วโลกเป็นของซิงเกอร์
ภาพที่ 2 จักรเย็บผ้ารุ่นแรกที่ ไอแซค ซิงเกอร์ ออกแบบ ในปี 1850
แหล่งที่มาภาพ: https://hmong.in.th/wiki/Singer_Sewing_Company
ความสำเร็จของซิงเกอร์ไม่ได้มีที่มาจากประสิทธิภาพของจักรเท่านั้น แต่มีปัจจัยสำคัญจาก ‘ระบบผ่อนชำระ’ ที่เอ็ดเวิร์ด คลาร์ก หุ้นส่วนของซิงเกอร์นำมาใช้ เพื่อทำ‘ตลาดมวลชน’ (Mass Market) ในเวลานั้นตลาดสินค้าราคาสูงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่คลาร์กต้องการขยายฐานตลาดจักรเย็บผ้า ให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับการผลิตจากโรงงาน จริงอยู่ที่ว่า การผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้จักรซิงเกอร์ ราคาถูกลง จาก 100 ดอลลาร์ต่อคันในรุ่นแรก ลดลงมาที่ 20-55 ดอลลาร์ต่อคัน แต่ราคานี้ยังคงสูงไป เมื่อเทียบกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้สามารถ‘ส่งจักรเย็บผ้าเข้าถึงทุกบ้านในอเมริกา’ ซิงเกอร์เริ่มต้นการขายแบบผ่อนชำระ ในปี ค.ศ. 1856 นับเป็นบริษัทแรกในอเมริกาและในโลก
ก่อนหน้านี้ การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ เริ่มขึ้นราวต้นทศวรรษ 1800 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1852 ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร เริ่มขายสินค้าแบบเงินเชื่อ โดยให้ชาวนาที่จำเป็นต้องใช้ เครื่องเกี่ยวข้าวรวมถึงอุปกรณ์การผลิตอื่นๆ จ่ายเงินครึ่งหนึ่งก่อนและจ่ายส่วนเหลือหลังเก็บเกี่ยว
ภาพที่ 3 จักรเย็บผ้าช่วยลดเวลาในการทำงานของผู้หญิง
แหล่งที่มาภาพ: pixabay
ด้วยการขายจักรเย็บผ้าของซิงเกอร์ ทำให้ระบบผ่อนชำระสินค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผ่าน ‘ระบบขายตรง’ โดยพนักงานขายทำหน้าที่ทั้งเคาะประตูบ้านแนะนำสินค้า และจัดการเก็บเงินค่างวด ประกอบกับการระดมโฆษณาทั้งในงานแฟร์ คณะละครสัตว์ ร้านค้า หนังสือพิมพ์ ใบปลิว แผ่นพับ ฯลฯ เพื่อดึงดูดผู้หญิง ให้หันมาใช้จักรแทนการเย็บมือ สอดรับกับระบบผ่อนชำระที่ช่วยสร้างอำนาจในการตัดสินใจ ให้ผู้หญิง แม่บ้านในรัฐห่างไกลสามารถสั่งจักรเย็บผ้าไปใช้ โดยทยอยผ่อนชำระเดือนละ 2 ดอลลาร์ ด้วยรายได้จากการขายผลผลิตในฟาร์ม เช่น ไข่ นม ฯลฯ
ผลก็คือ เมื่อขึ้นทศวรรษ 1860 ยอดขายจักรของซิงเกอร์อยู่ที่ 111,000 คัน/ปี จักรเย็บผ้ากลาย เป็นตัวแทนของความทันสมัยที่ทุกครัวเรือนต้องมี ในเวลาไม่นานจากนั้น เครื่องทุ่นแรงชนิดนี้ก็แพร่กระจาย ไปทั่วโลก ซิงเกอร์ขยายโรงงานจากอเมริกาไปยุโรป ก้าวขึ้นเป็นบริษัทระดับโลก ตอนที่ไอแซค ซิงเกอร์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1875 บริษัทของเขาทำกำไร ถึง 22 ล้านดอลลาร์/ปี
ภาพที่ 4 จักรเย็บผ้าในระบบอุตสาหกรรม
แหล่งที่มาภาพ: pixabay
สินค้าอีกหลากหลายชนิดเดินตามรอยความสำเร็จของจักรเย็บผ้า เริ่มจากเปียโน ออร์แกน จากนั้นก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ เหตุผลหลักก็คือ การผลิตแบบอุตสาหกรรมมีต้นทุนคงที่ อย่างเช่น เครื่องจักร โรงงาน ฯลฯ ผู้ผลิตจึงต้องผลิตจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นลดลง ในขณะที่การขายแบบผ่อนส่ง ทำให้คนจำนวนมากขึ้นเข้าถึงสินค้า ระบบเงินผ่อนจึงเป็นกลไกสำคัญ ในการสร้างตลาดมวลชน นับแต่ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
ในส่วนประเทศไทย ซิงเกอร์เข้ามาเปิดตลาดในปีค.ศ. 1889 (พ.ศ.2432 รัชสมัยรัชกาลที่ 5) และเริ่มต้นการตลาดแบบขายตรงพร้อมระบบผ่อนชำระ ในปีค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468 ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 7) ตอนนั้นราคาจักรเย็บผ้าอยู่ที่ คันละ 180 บาท หากซื้อเงินผ่อนราคาขยับขึ้นไปที่ 200 บาท นับเป็น บริษัทแรกในเมืองไทยที่ขายสินค้าแบบผ่อนชำระ ส่งผลให้จักรซิงเกอร์เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการเครื่องผ่อนแรงในครัวเรือน ทั้งยังสามารถเป็นที่มาของรายได้
ภาพที่ 5 คุณยายซ่อมชุดนอนให้หลานด้วยจักรอายุ 40 ปี
“ตอนเด็กๆ ที่บ้านมีจักรอยู่ตัวหนึ่งเป็นแบบมือหมุน เข้าใจว่าเป็นของแม่ สมัยก่อนแทบทุกบ้าน จะมีจักร เพราะไม่มีเสื้อสำเร็จรูปขาย ต้องตัดกันเอง พี่สาวยายก็ไปเรียนเย็บผ้ากับน้าแล้วมารับจ้างตัดเสื้ออยู่ที่บ้าน” คุณยายเพ็ญจิต เริงจิต อายุ 84 ปี เล่าว่าได้ซื้อจักรของตัวเอง ตอนเรียนจบในปี พ.ศ. 2507 “เพื่อนชวนไปเรียนตัดเสื้อผ้า ก็เลยก็ซื้อจักร คิดว่าเย็บเสื้อใส่เองได้ ก็ประหยัด เพราะค่าจ้างตัดผ้าแพง ตอนนั้นเงินเดือน 700 กว่าบาท จำได้ว่าจักรราคาประมาณสองพันเศษๆ” อีกราวสิบปีต่อมา ตัวแทนซิงเกอร์ ชักชวนให้เปลี่ยนเป็นจักรรุ่นใหม่ขึ้น โดยรับซื้อคืนจักรเก่า และคุณยายยังคงใช้จักรตัวหลัง ที่อายุมากกว่า 40 ปี เย็บเสื้อผ้าใส่เอง รวมทั้งเย็บให้ลูกหลาน
“ส่วนใหญ่ก็เย็บใส่เอง เดี๋ยวนี้มีของสำเร็จรูปเยอะแยะสวยๆ เด็กๆ เขาชอบซื้อเอามากกว่า”
ภาพที่ 6 จักรช่วยให้การตัดเย็บในระบบอุตสาหกรรมเร็วขึ้น ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีราคาถูกลง
แหล่งที่มาภาพ: Pixabay
จักรอุตสาหกรรมไม่เพียงทำให้ช่างเย็บในโรงงานทำงานได้เร็วขึ้น ยังส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เบาะรถยนต์ ฯลฯ และท้ายที่สุด การที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าได้มากขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกลง นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1970 คนส่วนใหญ่หันมาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป จักรเย็บผ้าค่อยๆ หายไปจากบ้าน ในขณะที่การตลาดแบบ ขายของเงินผ่อน ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสินค้านานาชนิด เพื่อนำความต้องการขายและ ความต้องการซื้อมาพบกัน
นับได้ว่านวัตกรรมทางการตลาดเพื่อขายจักรเย็บผ้า เปลี่ยนโลกของเราไปมากยิ่งกว่าจักรเย็บผ้า เองเสียอีก
แหล่งข้อมูล
“ซิงเกอร์” แบรนด์อินเตอร์ ที่เป็นขวัญใจชาวบ้านมานานกว่าศตวรรษ
https://marketeeronline.co/archives/212790
พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/68
ย้อนรอย 131 ปี จักรเย็บผ้า ซิงเกอร์ ในประเทศไทย
https://www.facebook.com/singerthai.co.th/posts/3078329152229667/
How the sewing machine transformed society, Hugh Earnhart. https://www.farmanddairy.com/columns/how-the-sewing-machine-transformed-society/617598.html
Instalment Credit before 1870, Robert A. Lynn.
Singer sewing machines: ageing starlet (or outright scam?)
https://hobbycouture.com/en/a/singer-sewing-machines-ageing-starlet-or-outright-scam
The accidental Singer sewing machine revolution, Tim Harford.
https://www.bbc.com/news/business-50673541
The Brains Behind the Singer Fortune
https://ritassewfun.blogspot.com/2016/06/the-brains-behind-singer-fortune.html?m=1
The Many, Many Designs of the Sewing Machine, Jimmy Stamp.
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-many-many-designs-of-the-sewing-machine-2142740/
สุจิตา เริงจิต