Museum Core
Viking Ship Museum การล่องผ่านกาลเวลาของเรือไวกิ้ง ตอนที่ 1
Museum Core
27 ม.ค. 65 3K
ประเทศนอร์เวย์

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

          ภาพของไวกิ้ง (Viking) เป็นที่คุ้นเคยของคนในปัจจุบัน เพราะเราเห็นพวกเขาบ่อยๆในเกม การ์ตูน และภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์พันล้าน เทพโอดิน เทพธอร์ นักรบวัลคีรี ฯลฯ ต่างก็เป็นเหล่าทวยเทพในตำนานปรัมปราของชาวนอร์ส (Norse) แต่ภาพลักษณ์ของคนเถื่อนไวกิ้งร่างสูงใหญ่ คือความโหดเหี้ยมไร้ปรานี พูดน้อย หยาบกระด้าง และดูเหมือนไร้วัฒนธรรม

 

          ในสมัยรุ่งเรืองชาวไวกิ้งไม่ค่อยจดบันทึกเท่าใดนัก เอกสารเก่าที่เล่าเรื่องเหล่ากษัตริย์และวีรชนของไวกิ้งเขียนขึ้นภายหลังหลายร้อยปีและมีลักษณะเป็นตำนานกึ่งเทพนิยายซึ่งนับวันจะถูกตั้งคำถามเรื่องความเชื่อถือได้มากขึ้นทุกที  มีการสันนิษฐานจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นพงศาวดารของชนชาติอื่นว่ายุคที่ไวกิ้งเรืองอำนาจอาจเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ปี ค.ศ.793 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1066  หลักฐานการปรากฎตัวครั้งแรกของไวกิ้งจากพงศาวดารของแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxon Chronicle) และบันทึกของอัลคูอินแห่งยอร์ก (Alcuin of York) กล่าวตรงกันถึงการโจมตีของไวกิ้งที่นอร์ธัมเบรีย (Northumbria) บริเวณตอนเหนือของอังกฤษเป็นภาพประทับของการปล้นฆ่าที่นองเลือดโดยอนารยชน

 

            ชาวไวกิ้งอาจเป็นทั้งนักสำรวจ นักรบ นักการค้า ด้วยเรือที่แข็งแรงปราดเปรียว มันพาพวกเขาข้ามมหาสมุทรไปค่อนโลกตั้งแต่พันปีก่อน มีร่องรอยพวกเขาในสี่ทวีป ยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือ และไวกิ้งเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ค้นพบอเมริกาเหนือตั้งแต่ 500 ปีก่อนโคลัมบัสจะพบอเมริกา  พวกเขาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเช่น ขนสัตว์ เขี้ยววอลลัสซึ่งเป็นของสูงค่า  พวกเขาตั้งถิ่นฐาน ทำเกษตรกรรมและการประมงในหลายพื้นที่ เช่น ไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ และในดินแดนของพวกเขาเองซึ่งในปัจจุบันคือแถบนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก  จะว่าไปแล้วพวกเขาก็แทบไม่แตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆในยุคนั้น

 

            ในบริเวณที่เป็นเมืองของชาวไวกิ้งมักจะมีสุสานของชนชั้นสูงที่ทำเป็นเนินดินอยู่ทั่วไป เนินดินเหล่านี้เป็นที่หมายตาของโจรปล้นสุสานมาตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนมีบ้านเมืองในยุคใหม่ เจ้าของที่ดินและผู้ที่ทำการเกษตรมักจะแวะเวียนขุดคุ้ยเนินดินพวกนี้เผื่อว่าจะเจอสมบัติล้ำค่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีการขุดคุ้ยที่ประสบความสำเร็จครั้งสำคัญ 3 ครั้งในบริเวณรอบๆฟยอร์ดออสโล (Oslofjord) ของประเทศนอร์เวย์ (Norway)  คือการค้นพบสุสานเรือทูน (Tune) ในปี ค.ศ.1867 สุสานเรือก๊กสตัด (Gokstad) ในปี ค.ศ.1879 และ สุสานเรืออูสเบิร์ก (Oseberg) ในปี ค.ศ.1903 ชื่อของเรือทั้งสามลำตั้งตามสถานที่ที่ค้นพบ เรือทั้งสามลำทำจากไม้โอ๊คซึ่งเป็นไม้ที่มีความแข็ง เบา และทนทาน เป็นเรือที่แล่นได้ทั้งแบบใช้ฝีพายและกางใบรับลม และน่าจะถูกใช้งานมาก่อนที่จะมาทำหน้าที่เป็นที่บรรจุศพ สันนิษฐานว่าดินเหนียวสีน้ำเงิน (blue clay) ที่ใช้กลบฝังเรือช่วยเก็บรักษาเรือ โครงกระดูกคนและสัตว์ กับสิ่งของที่ฝังไว้พร้อมกันให้ยังอยู่ในสภาพที่ดี

 

 

ภาพที่ 1 บริเวณฟยอร์ดออสโล แสดงเมืองเฟรดริกสตัด (Fredrikstad) ที่พบเรือทูน เมืองซานเดฟยอร์ด (Sandefjord)  

ที่พบเรือก๊กสตัด และเมืองทอนสเบิร์ก (Tønsberg) ที่พบเรืออูสเบิร์ก  กรุงออสโลคือจุดสีแดงด้านบน

 

          เรือและสิ่งของที่พบถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง (Viking Ship Museum) เป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo) ของนอร์เวย์ ตั้งอยู่ที่บิคดอย (Bygdøy) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเกาะพิพิธภัณฑ์ของออสโล

          ในภาพยนตร์เรามักจะเห็นไวกิ้งเผาศพพร้อมกับเรือที่ลอยไปในแม่น้ำหรือในทะเล เรื่องของเรือสามลำที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้เปลี่ยนภาพจำของผู้เขียนเกี่ยวกับพิธีศพของไวกิ้งกับความเข้าใจที่ว่าชาวไวกิ้งเป็นคนป่าเถื่อนไม่มีอารยธรรมไปโดยสิ้นเชิง

 

เรือทูน (Tune ship)

          เรือทูนเป็นซากเรือไวกิ้งลำแรกที่พบในนอร์เวย์ในปี ค.ศ.1867 เนินสุสานของเรือทูนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของนอร์เวย์ เจ้าของที่ดินได้ขุดเอาดินจากเนินไปใช้ประโยชน์เป็นเวลาหลายปีก่อนจะพบซากเรือ ทำให้อากาศเข้าไปทำให้เกิดการย่อยสลายของลำเรือส่วนบน ประกอบกับศาสตร์ด้านโบราณคดีในเวลานั้นยังไม่มีมาตรฐาน การขุดค้นจึงทำไปอย่างไม่ระมัดระวัง โดยใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ ปรากฏร่องรอยของพลั่วที่กระแทกเนื้อไม้อยู่ทั่วไป  มีการจดบันทึกถึงสิ่งที่ค้นพบพร้อมกับซากเรือ เช่น ชิ้นส่วนโครงกระดูกผู้ชาย อาวุธ โล่ เศษผ้า ลูกปัด โครงกระดูกม้าจำนวนสามตัว ฯลฯ แต่สิ่งของเกือบทั้งหมดได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยในระหว่างการขุดค้น พวกมันไม่เคยเดินทางไปถึงพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็อยู่ในสภาพไม่ดีเลย

 

 

ภาพที่ 2 เรือทูน (Tune ship) สุดมุมห้องด้านไกลจะเห็นเต็นท์ไม้ขนาดใหญ่ นั่นคือห้องบรรจุศพจาก

สุสานเรือก๊กสตัด (ผู้เขียนขออภัยที่ภาพเบลอไปหน่อย)

 

         นักโบราณคดีคาดว่าเรือสร้างขึ้นประมาณ ปี ค.ศ.910 จากซากเรือที่เหลืออยู่ สันนิษฐานว่าเรือทูนน่าจะมีความยาวประมาณ 18.7 เมตร กว้าง 4.2 เมตร มีช่องสำหรับสอดไม้พายข้างละ 12 ช่อง หมายถึงเรือมี 24 ฝีพาย เรือทูนมีขนาดไม่ใหญ่เท่าเรืออีกสองลำที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  แต่จากขนาดและความแข็งแรงของฐานที่รองรับเสากระโดง เรือน่าจะทำความเร็วจากการแล่นใบได้มากกว่า และจากขนาดความกว้างที่มากกว่า(เมื่อเทียบกับความยาว)เรือทูนน่าจะจุคนได้มาก จึงสันนิษฐานว่าเรือทูนอาจทำหน้าที่บรรทุกคนและใช้ความเร็วเพื่อเข้าจู่โจมศัตรูในสงคราม ในปี ค.ศ.2011 ดร.คนุท โพสเก (Dr.Knut Paasche) ได้ศึกษาเรือทูนอย่างละเอียดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเขียนแบบเรือทูนที่ครบทั้งลำขึ้น เขาเผยแพร่บทความเรื่องนี้ในปี ค.ศ.2020

 

เรือก๊กสตัด (Gokstad ship)

          ลูกชายสองคนของเจ้าของฟาร์มก๊กสตัดขุดคุ้ยไปเจอซากเรือในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ.1879  นักโบราณคดีเข้าขุดค้นซากเรือในปี ค.ศ.1880 ส่วนเสากระโดงและยอดของหัวเรืออยู่ใกล้ผิวดินจึงถูกทำลายไปด้วยการทำการเกษตรของมนุษย์ นักโบราณคดีคาดว่าเรือก๊กสตัดสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.890 เป็นเรือไวกิ้งที่มีสภาพสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยถูกค้นพบ มีความยาว 23.22 เมตร กว้าง 5.18 เมตร เรือมีขนาด 32 ฝีพาย

 

 

ภาพที่ 3 เรือก๊กสตัด (Gokstad ship) ถ่ายจากด้านหัวเรือ จะเห็นว่าดาดฟ้าเรือ (deck) ของเรือรบในยุคนั้นเป็นแบบง่ายๆ

ใช้ไม้วางพาดลงไปบนคานโดยไม่ตรึงติดจึงสามารถเปิดออกได้ (เพื่อเก็บของบางอย่าง หรือวิดน้ำออก) ห้องบรรจุศพ

(ที่เห็นในรูปเรือทูน)วางอยู่บนดาดฟ้านี้  เราอาจนึกถึงคำว่าดาดฟ้าว่าเป็นพื้นที่สูงที่เปิดโล่ง เช่น ดาดฟ้าอาคาร

แต่ในศัพท์ทางเรือมันหมายถึงการแบ่งพื้นที่เรือเป็นชั้นๆ

 

          จากการขุดค้น พบบริเวณส่วนท้ายของเรือที่อยู่ถัดจากเสากระโดงยังคงมีโครงสร้างของห้องบรรจุศพเป็นรูปคล้ายเต็นท์ขนาดใหญ่วางอยู่บนดาดฟ้าเรือ มีเค้าว่าภายในบุด้วยผ้าไหมที่เดินเส้นทองอย่างหรูหรา (โครงกระดูกของ)เจ้าของหลุมฝังศพนี้นอนอยู่บนเตียง เป็นผู้ชายรูปร่างใหญ่มีรอยถูกฟันและแทงที่ขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์การต่อสู้ในสมัยนั้น แม้ว่าโจรยุคโบราณจะได้ขโมยสิ่งมีค่าไปแล้ว แต่ยังมีสิ่งของที่ฝังร่วมกับคนตายหลงเหลืออยู่ไม่น้อย เช่น สายรัดอกม้าที่ทำจากเหล็ก ตะกั่วและสัมฤทธิ์ โล่ เครื่องครัว เลื่อน เรือเล็กสามลำ นอกจากนี้ในหลุมศพยังมีม้า 12 ตัว สุนัข 8 ตัว เหยี่ยวนกเขา 2 ตัว และนกยูงอีก 2 ตัว นกยูงพิสูจน์ว่าชายผู้นี้น่าจะมีเครือข่ายระหว่างประเทศ นกอาจเป็นของขวัญจากผู้ปกครองคนอื่นหรือเป็นของที่เขายึดมาได้จากการทำสงคราม พวกสัตว์วางไว้ด้านนอกห้องบรรจุศพทั้งภายในเรือและรอบๆตัวเรือ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจจะมีการสังหารสัตว์เป็นสิ่งท้ายๆก่อนจะปิดหลุม เพราะมีร่องรอยไม้ที่คาดว่าใช้พาดสำหรับเดินลงเรือจากขอบหลุมทับอยู่บนซากสัตว์พวกนี้

 

          เนื่องจากสภาพเรือก๊กสตัดมีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก จึงมีชื่อเสียงและถูกทำจำลองหลายครั้ง เช่น เรือชื่อ “ไวกิ้ง” (Viking) ซึ่งได้แล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1893 เพื่อไปแสดงในงานแสดงสินค้าโลกที่ชิคาโก (งาน World's Columbian Exposition จัดขึ้นเพื่อฉลอง 400 ปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบโลกใหม่) ปัจจุบันเรือไวกิ้งยังจัดแสดงอยู่ที่ชิคาโก  เรือไกยา (Gaia) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1989-1990 เพื่อที่จะล่องไปอเมริกาเหนือในปี คศ.1991 ในโอกาสครบรอบ 1,000 ปีที่ไลฟ์ เอริคสันค้นพบอเมริกาเหนือ (Leif Erikson เป็นนักสำรวจชาวนอร์ส (Norse) จากไอซ์แลนด์ มีชีวิตอยู่ประมาณปี ค.ศ. 970-1020) ต่อมาในปี ค.ศ.1993 ผู้สร้างได้มอบเรือไกยาให้แก่เมืองซานเดฟยอร์ด (Sandefjord) ซึ่งเป็นเมืองที่พบเรือก๊กสตัด  

 

         ในบรรดาเนินสุสานเรือไวกิ้งของนอร์เวย์ที่ถูกขุดค้น เนินสุสานก๊กสตัดเป็นที่ที่โครงสร้างดินเดิมถูกรบกวนจากการขุดค้นน้อยที่สุด ทีมนักวิจัยจึงได้เลือกศึกษาชั้นดินที่นี่ พบว่ามีการตระเตรียมวัสดุและถมเนินดินอย่างเป็นระบบ วัสดุที่ใช้ถมแบ่งเป็นชั้นๆ ลักษณะและสีของวัสดุตัดกันอย่างชัดเจน ชาวไวกิ้งทำเช่นนี้เพราะการตกแต่งชั้นดินในเนินหลุมศพเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมความเชื่อ? หรือเพราะพวกเขารู้ว่ามันเป็นวิธีรักษาสภาพศพและสิ่งของมิให้เน่าสลาย? หรือว่าเป็นเพียงเพราะมันเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในแถบนั้น? บทความได้เผยแพร่ผ่านทางออนไลน์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University Press) เมื่อ 1 กันยายน ค.ศ.2020 ตามลิงก์นี้ 

https://www.cambridge.org/core/journals/antiquity/article/constructing-and-deconstructing-the-gokstad-mound/460EA38532CB9925EBD7C9F0237268B9

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์

https://www.khm.uio.no/english/visit-us/viking-ship-museum/index.html

 

เรือทูนและการศึกษาเพื่อสร้างแบบเรือขึ้นมาใหม่โดย ดร.คนุท โพสเก https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/1095-9270.12391

 

เรือก๊กสตัด https://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/britannia/anglo-saxon/maldon/gokstad.html

 

กระต่ายหัวฟู

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ