กำเนิดจากเม็ดทรายใต้ท้องน้ำ ค่อย ๆ ถูกห่อหุ้มด้วยสีขาวแวววาวราวกับแสงจันทร์ภายในหอยมุกจนกลมกลึง กลายเป็นอัญมณีเลอค่าที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่เปิดออกพบ ไม่ต้องเจียระไนหรือระบายสีใด ๆ โดยฝีมือมนุษย์ ทว่าเป็นความงามบริสุทธิ์แท้จากธรรมชาติ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ ไข่มุกได้รับยกย่องเช่นนี้จากหลายอารยธรรมทั่วโลกมากว่าสี่พันปี และประดับเรือนร่างของบุคคลสำคัญมานับไม่ถ้วนทั้งชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิจีนที่มีหลักฐานการใช้ไข่มุกเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล แม่ทัพปอมปีย์มหาบุรุษแห่งโรมัน ไปจนกระทั่งราชินีอียิปต์ผู้โด่งดังอย่างคลีโอพัตรา
แต่มาตรฐานความงามของไข่มุกนั้นจำกัดอยู่ที่ความกลม ขาว ผิวเรียบเกลี้ยงเกลา และขนาดเท่ากันหมดทุกเม็ดทั้งเส้นมาเป็นเวลานับพันปี แล้วเช่นนี้ บรรดาไข่มุกรูปทรงแปลก ๆ บิดเบี้ยว สีหม่นดำ ผิวขรุขระ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ซึ่งก็ล้วนธรรมชาติรังสรรค์เหมือนกันเล่า ความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้จะถูกนับว่างามได้หรือไม่
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 15-16 (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) วิทยาการความรู้เกี่ยวกับรูปทรงของโลกและแผนที่การเดินเรือก้าวหน้าขึ้น ชาวยุโรปอยู่ในยุคแห่งการออกสำรวจโลกและล่าอาณานิคม พวกเขาได้รู้จักทวีปและหมู่เกาะใหม่ ๆ เอื้อให้เข้าถึงตลาดและทรัพยากรมากกว่าที่เคยเป็นมา
สิ่งที่เคยหายาก เช่น ทองคำ ไข่มุก แพรพรรณขนสัตว์ เริ่มหลั่งไหลเข้ามาให้ชนชั้นปกครองและพ่อค้าซึ่งกำลังพุ่งขึ้นสู่ความร่ำรวยได้จับจ่ายใช้สอยง่ายขึ้น โดยเฉพาะในอิตาลี สเปน และอังกฤษ ไข่มุกขาวทรงกลมและทรงหยดน้ำได้กลายเป็นเครื่องประดับมาตรฐานของสตรีชั้นสูง ส่วนมากใช้ร้อยเป็นสร้อยคอ จี้ ต่างหู ตาข่ายคลุมผม และปักบนเสื้อผ้า
ภาพที่ 1 นายหญิงตระกูลเมดิชี เอลานอราแห่งโทเลโด ในเครื่องประดับและเสื้อผ้าปักไข่มุก ค.ศ. 1545
School of Bronzino - originally uploaded on en.wikipedia
by Giano at 25 August 2005, 14:21. Filename was Eleanora of Toledo.jpg., Public Domain,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1957212
ในอิตาลี ความมั่งคั่งประกอบกับอิทธิพลของคริสตจักร ณ กรุงโรม ทำให้เกิดกระแสการอุปถัมภ์ศิลปะที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง การสร้างสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดซับซ้อน นิยมภาพตำนานเทพเจ้ากรีกโรมัน ปาฏิหาริย์ในคริสต์ศาสนา เหตุการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์ รูปผู้คนที่มีสีหน้าท่าทางและการเคลื่อนไหวเกินจริงราวกับแสดงละคร รวมไปถึงการใช้วัสดุประดับตกแต่งราคาแพงอย่างเต็มที่
สไตล์ดังกล่าวนี้เรียกว่า บาโร้ก (Baroque) มีที่มาจากคำว่า บาโรโก (Baroco) ในระบบตรรกศาสตร์อริสโตเติล โดยทั่วไปใช้ในความหมายว่า เรื่องที่ซับซ้อนจนดูน่าสับสนไร้สาระ พูดง่าย ๆ ก็คือสไตล์ที่ตกแต่งเยอะเสียจน ‘ลิเก’ หรูหราแน่นเอี๊ยดเกินไป ทำให้ดูรกสายตานั่นเอง
แต่แม้จะเป็นยุคที่ศิลปะมีการควบคุมอุปถัมภ์จากชนชั้นสูงให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวนี้ ศิลปินบาโร้กก็ได้รับเงินทุนและพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่างเสื้อผ้าเครื่องประดับก็พลอยมีอิสระที่จะสร้างของสวยงามแปลกตาออกมาประกวดประชันกัน พร้อมกับได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับดินแดนใหม่ ๆ เช่น อเมริกา แอฟริกา ที่มีมุมมองเรื่องความงามต่างออกไป ค่อย ๆ เปิดโลกทัศน์ของยุโรปให้กว้างขึ้นทีละน้อย
เสน่ห์ของไข่มุกที่มีรูปทรงบิดเบี้ยวเริ่มเข้าตาศิลปินบาโร้กเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 รูปร่างของไข่มุกที่เป็นแท่งบ้าง เป็นแผ่นบ้าง หรือเป็นก้อนปูดโปนติดกันบ้าง ได้รับการคัดเลือกนำไปเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องประดับที่ต้องการทำเลียนแบบธรรมชาติ ตามแต่ความช่างคิดของศิลปิน โดยมากทำเป็นลำตัวคนและสัตว์ แล้วใช้โลหะลงยากับอัญมณีอื่น ๆ ที่มีสีสันสดใสต่อเติมศีรษะแขนขา รูปคนส่วนใหญ่จะทำเป็นเงือก หรือวีรบุรุษในตำนานที่เกี่ยวข้องกับทะเล ส่วนรูปสัตว์ที่ได้รับความนิยมได้แก่ แกะ หงส์ แมว สุนัข กระต่าย กิ้งก่า และที่สำคัญที่สุดคือ ม้า ซึ่งเป็นสัตว์ที่เชื่อว่าโพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าสมุทรเป็นผู้เนรมิตขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ไข่มุกที่เป็นอัญมณีจากทะเลเช่นกัน
ภาพที่ 2 เครื่องอัญมณีแคนนิ่ง รูปเงือก พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต ประเทศอังกฤษ
Victoria and Albert Museum. (2000, March 14). The Canning Jewel. Victoria and Albert Museum: Explore the Collections. Retrieved November 8, 2021, from https://collections.vam.ac.uk/item/O33882/the-canning-jewel-jewel-unknown/.
ภาพที่ 3 จี้รูปม้าและรูปซาลาแมนเดอร์ พิพิธภัณฑ์บริติช ประเทศอังกฤษ
The Trustees of the British Museum. (1898). Pendant Museum number WB.157 (Asset number 1453989001). The British Museum. Retrieved November 11, 2021, from https://www.britishmuseum.org/collection/object/H_WB-157.
ภาพที่ 4 จี้รูปหงส์ สัญลักษณ์ลัทธิบูชาพระแม่มารีย์ จากเมืองบรันเดนบวร์ก ประเทศเยอรมนี
Soth, A. (2019, November 28). The lumpy pearls enchanted the medicis. JSTOR DAILY. Retrieved November 8, 2021, from https://daily.jstor.org/the-lumpy-pearls-that-enchanted-the-medicis/.
ในปี ค.ศ. 1842 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2) หมู่เกาะโพลีเนเซีย (Polynesia) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทวีปอเมริกาใต้และออสเตรเลีย ได้ถูกตั้งเป็นเขตคุ้มครองของฝรั่งเศส หมู่เกาะเหล่านี้ที่จริงได้รับการค้นพบและวาดลงในแผนที่มานานแล้ว โดยนักสำรวจชาวสเปน วาสโก นูเญซ เดอ บัลบัว (Vasco Núñez de Balboa) ตั้งแต่ ค.ศ. 1513 และมีชาวยุโรปหลายชาติเดินทางไปเยือนต่อมาเรื่อย ๆ
เกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่เกาะเหล่านี้ คือ ตาฮีตี (Tahiti) เป็นแหล่งอาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของหอยมุกดำ ชาวพื้นเมืองโพลีเนเซียมีตำนานว่า เทพเจ้าแห่งสงคราม โอโร (Oro) เสด็จมายังโลกมนุษย์ด้วยสายรุ้ง และสายรุ้งนั้นบันดาลให้เกิดสีเหลือบพรายด้านในเปลือกหอยมุกดำ พวกเขาจึงใช้ฝาหอยมาทำเครื่องประดับ เช่น ต่างหูและจี้ที่ตัดแต่งเป็นแผ่นกลม อีกทั้งใช้ฝังตกแต่งเป็นดวงตาของรูปปั้น รูปสลัก และจิตรกรรมต่าง ๆ คล้ายกับงานฝังมุกของไทย แต่กลับไม่ได้ให้คุณค่ากับไข่มุกสักเท่าไร มีหลักฐานเพียงว่า ราชินีตาฮีตี โปมาเร (Pomare) ทรงใช้ลูกเต๋าหินอ่อนที่ฝังเลขแต้มด้วยไข่มุกดำสำหรับทอยเล่นเกมเท่านั้น
ภาพที่ 5 ราชินีโปมาเรแห่งตาฮีตี ค.ศ. 1852 และตัวอย่างไข่มุกดำจากหมู่เกาะโพลีเนเซีย
Portrait of Queen Pomare IV of Tahiti by Charles Giraud, 1851,
Musée de Tahiti et des Îles. Public Domain, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Portrait_of_Queen_Pomare_IV_of_Tahiti,_Charles_Giraud,_1851,_Mus%C3%A9e_de_Tahiti_et_des_%C3%8Eles.jpg, Goebel, M., & Dirlam, D. M. (1989). Polynesian Black Pearls. Gemological Institute of America Inc. (GIA). Retrieved November 10, 2021, from https://www.gia.edu/doc/Polynesian-Black-Pearls.pdf.
แน่นอนว่าเจ้าถิ่นที่ไม่ใส่ใจไข่มุกเช่นนี้เข้าทางชาวยุโรปอย่างยิ่ง ตลอดศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศส อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ค้าขายผ้าแพรพรรณ แป้ง ตะปู และสุรา แก่หมู่เกาะโพลีเนเซียแลกกับสิทธิ์การดำน้ำเก็บไข่มุกดำ ซึ่งไม่ได้เป็นสีดำสนิททั้งหมด แต่มีหลายสีเจือปน เป็นต้นว่าสีดำเหลือบเขียว สีม่วง สีเงิน ไข่มุกสีใหม่ ๆ เหล่านี้จึงเริ่มเข้าสู่ตลาดตะวันตก แล้วมาตรฐานการวัดความงามของไข่มุกก็ถูกท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง
แม้จะไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปมากนัก ทว่าไข่มุกดำก็เป็นของแปลกที่ชนชั้นสูงจำนวนมากโดยเฉพาะชาวรัสเซียชอบซื้อเพื่อสร้างความโดดเด่นในเครื่องประดับ นอกจากนี้ ประกายสีดำยังตัดกับผมสีทองและผิวขาวจัดของชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี ไม่นานจึงเกิดการเก็บไข่มุกมาขายมากเกินควร ส่งผลให้จำนวนหอยมุกดำโพลีเนเซียลดลงอย่างรวดเร็ว ครั้นถึงปี ค.ศ. 1885 รัฐบาลฝรั่งเศสก็ตัดสินใจจ้างกลุ่มนักชีววิทยามาศึกษาปัญหาประชากรหอยมุก จนได้นโยบายแก้ไข คือ ห้ามการประมงในบริเวณที่อาศัยของหอยมุก และแยกลูกหอยมุกออกจากกลุ่มมาอยู่รวมกันในเขตอนุบาลที่มีคนดูแลเป็นพิเศษ ทำให้สามารถเก็บไข่มุกดำได้อย่างยั่งยืน
สายตาที่เล็งเห็นความงามและยอมรับรูปแบบที่หลากหลายของไข่มุกนั้นเปิดกว้างมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป พร้อมกับที่ไข่มุกค่อย ๆ กลายเป็นของที่ผู้คนทุกชนชั้นซื้อหามาสวมใส่ได้เสมอหน้ากัน เมื่อมีการคิดค้นวิธีเพาะไข่มุกเลี้ยง (Cultivated Pearl) ในปี ค.ศ. 1893 โดย มิกิโมโตะ โคคิจิ (Mikimoto Kokichi) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งบริษัทมุกมิกิโมโตะ ซึ่งก็คือการจงใจใส่วัตถุเม็ดกลมเข้าไปเป็นนิวเคลียส หรือจุดศูนย์กลางเทียม เพื่อให้หอยมุกต้องสร้างไข่มุกขึ้นมาตามรูปทรงของนิวเคลียสนั้น แทนที่จะรอให้มีเศษทรายหรือสิ่งอื่น ๆ บังเอิญหลุดเข้าไปตามธรรมชาติ
ภาพที่ 6 มิกิโมโตะ โคคิจิ ผู้ริเริ่มการเพาะไข่มุกเลี้ยง
ผลพลอยได้อันไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาใส่นิวเคลียสเข้าไปในหอยมุก ปรากฏว่าจะมีบางส่วนถูกปฏิเสธคายออกมา แต่ว่าเนื้อเยื่อหุ้มข้างในนั้นก็ได้เริ่มผลิตมุกไปแล้วจากการระคายเคือง ทำให้เกิดเป็นไข่มุกเม็ดเล็กรูปทรงอิสระที่ไม่มีนิวเคลียสขึ้น ชาวญี่ปุ่นเรียกไข่มุกที่เกิดโดยอุบัติเหตุนี้ว่า เคชิ (Keshi) แปลว่า เมล็ดดอกป๊อปปี้ ตามลักษณะรูปร่างที่มักจะแบน ๆ หยัก ๆ ถือว่าเป็นไข่มุกบาโร้กยุคใหม่ที่กลับมาได้รับความนิยมอีกเช่นเดียวกับเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้า เนื่องจากว่าเป็นเนื้อไข่มุกแท้ทั้งเม็ดจึงมักมีประกายแวววาวเสียยิ่งกว่าไข่มุกเลี้ยงที่จงใจผลิตเสียอีก
เรื่องราวมาตรฐานความงามแห่งไข่มุก หนึ่งในอัญมณีเก่าแก่ที่ได้รับการยกย่องมายาวนานที่สุดในโลกของเรา เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเวลาเปลี่ยน นิยามของความงามก็เปลี่ยน ปัจจุบัน ตลาดอัญมณีมีไข่มุกทุกสีทุกลักษณะวางขาย ไม่ใช่ไข่มุกสีขาวกลมสมบูรณ์แบบตามขนบดั้งเดิมจะน่าปรารถนากว่าไข่มุกสีดำหงิก ๆ งอ ๆ เสมอไป แม้แต่วงการเพาะไข่มุกเลี้ยงก็มีการใส่นิวเคลียสที่เป็นรูปทรงแปลก ๆ เข้าไปในหอยมุกเพื่อให้ได้ไข่มุกบาโร้กแทนไข่มุกกลม เพราะว่าไข่มุกทุกรูปแบบมีแง่งามของตัวเองที่รูปแบบอื่นไม่อาจทดแทนได้ ไข่มุกกลมที่ร้อยเรียงขนาดเท่ากันหมดดูสวยเป็นระเบียบจริง แต่จะจินตนาการเป็นรูปคนหรือสัตว์น่าอัศจรรย์อย่างไข่มุกบาโร้กได้ที่ไหน ไข่มุกสีดำอาจจะทรงเสน่ห์ลึกลับ แต่จะใช้เป็นต่างหูของคนผิวเข้มผมดำก็มองไม่เห็นเด่นเท่าสีขาว ดังนี้เป็นต้น ไม่มีอะไรที่ดีเลิศเหนือสิ่งอื่นไปหมดในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ เวลา
ไม่แน่ว่าหลายสิ่งในโลกใบนี้ก็ไม่ต่างจากไข่มุก ทั้งแฟชั่นเสื้อผ้า สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตาและความคิดจิตใจของมนุษย์เราก็ตาม แทนที่จะยึดติดกับแม่พิมพ์ความสมบูรณ์แบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ทุกวันเราสามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ความไม่จีรังของสังคมโลกและชีวิต แล้วเดินหน้าแปรเปลี่ยนอุปสรรคหรือความเจ็บปวดที่ผ่านเข้ามาให้กลายเป็นสิ่งสวยงามในรูปแบบของเราได้ เหมือนอย่างหอยมุกผลิตไข่มุกฉันนั้น
บรรณานุกรม
Anderson, Å. (2015, December 31). The history of pearls: One of nature's greatest miracles. www.thejewelleryeditor.com. Retrieved November 8, 2021, from http://www.thejewelleryeditor.com/jewellery/article/history-of-pearls-pearl-jewellery-rings-earrings-necklaces/.
Avial-Chicharro, L. (2019, April 2). Romans prized these jewels more than Diamonds. National Geographic History Magazine. Retrieved November 8, 2021, from https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/roman-republics-captivation-with-pearls.
The Editors of Encyclopaedia Britannica. (n.d.). Baroque pearl. Encyclopædia Britannica. Retrieved November 8, 2021, from https://www.britannica.com/art/baroque-pearl.
Elitou. (2018, April 8). Keshi pearls – the ultimate baroque glamour. PearlsOnly. Retrieved November 8, 2021, from https://www.pearlsonly.com/blog/keshi-pearls-the-ultimate-baroque-glamour/.
Goebel, M., & Dirlam, D. M. (1989). Polynesian Black Pearls. Gemological Institute of America Inc. (GIA). Retrieved November 10, 2021, from https://www.gia.edu/doc/Polynesian-Black-Pearls.pdf.
Rodini, E. (2000). Baroque Pearls Art Institute of Chicago Museum Studies Vol. 25, No. 2, Renaissance Jewelry in the Alsdorf Collection. JSTOR. Retrieved November 8, 2021, from https://www.jstor.org/.
Vincent, R. H. (2019, September 1). Baroco: The logic of English baroque poetics. Modern Language Quarterly. Retrieved November 11, 2021, from https://read.dukeupress.edu/modern-language-quarterly/article-abstract/80/3/233/139274/Baroco-The-Logic-of-English-Baroque-Poetics.
Museum Core Writer