Museum Core
จิตรกรรมมธุบนี: ศิลปะแห่งนารีมิถิลา
Museum Core
21 ก.พ. 65 908

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

          พิหาร...หนึ่งในดินแดนที่อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชมพูทวีป นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้จักมักคุ้นกับรัฐนี้เพราะเป็นที่ตั้งสังเวชนียสถานในพุทธศาสนา ทว่าในขณะเดียวกัน พิหารในปัจจุบันกลับเป็นที่รู้จักของชาวโลกในฐานะรัฐที่ยากไร้ที่สุดในประเทศ ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนนานาชาติ ผู้ว่าการรัฐพิหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาปากท้องของคนในพื้นที่ เนื่องจากพิหารเป็นรัฐที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในปีค.ศ. 2018 ผู้ว่าการรัฐจึงออกคำสั่งบูรณะอาคารและสิ่งปลูกสร้างในปัฏนา (Patna) เมืองหลวงรัฐพิหารเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หนึ่งในโครงการบูรณะที่ว่าคือการตกแต่งอาคารสถานที่ราชการเสียใหม่ และเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไปในตัว หน่วยงานรัฐจึงประดับกำแพงและรั้วกั้นด้วยภาพวาดมธุบนี (Madhubani Paintings) จิตรกรรมเก่าแก่แห่งแคว้นมิถิลา (Mithila) ที่ขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยว เพราะเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงเลือกเอามธุบนีเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ชาวพิหาร เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

 

 

ภาพที่ 1: กำแพงในเมืองปัฏนาที่ตกแต่งด้วยภาพวาดมธุบนี

แหล่งที่มาภาพ: Unknown. Patna just got Madhubani Makeover and it is a completely new city. (n.d.). [Online]. Accessed 2021 Dec 8. Available from: https://www.goatsonroad.com/?p=8314

 

          จิตรกรรมมธุบนีถูกตั้งชื่อตามเขตมธุบนี (Madhubani District) ทางตอนเหนือของรัฐพิหาร สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมช่างฝีมือเลื่องชื่อมานานนับศตวรรษ ภาพวาดมธุบนีเรียกอีกอย่างว่าจิตรกรรมมิถิลา (Mithila Paintings) ตามชื่อแว่นแคว้นชมพูทวีปที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของงานศิลป์ประเภทนี้ มิถิลาเป็นอาณาจักรที่ปรากฏนามในวรรณคดีและคัมภีร์พุทธศาสนา นครโบราณมีที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐพิหารและบางส่วนของประเทศเนปาลในปัจจุบัน ชาวฮินดูเชื่อว่าดินแดนดังกล่าวเป็นบ้านเกิดของนางสีดา ชายาของพระรามในมหากาพย์รามายณะ ตำนานที่เล่าขานมีความเกี่ยวพันกับกำเนิดผลงานจิตรกรรม ตามความเชื่อของคนท้องที่ เมื่อครั้งที่ท้าวชนก (Janaka) กษัตริย์มิถิลาจัดพิธีวิวาห์ให้กับนางสีดาผู้เป็นพระธิดา พระองค์ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์รามแห่งอโยธยาที่จะมาเป็นราชบุตรเขย ท้าวชนกจึงสั่งให้บ้านทุกหลังในแว่นแคว้นประดับกำแพงด้วยลวดลายหลากสีสัน ภาพวาดบนกำแพงฉาบมูลสัตว์ในครั้งนั้นจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นงานศิลป์มธุบนีที่สืบทอดกันในหมู่ชาวไมถิลี (Maithili) แห่งมิถิลา เนื่องจากภาพเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อตกแต่งที่อยู่อาศัย จิตรกรทั้งหมดจึงเป็นสตรีที่ต้องคอยดูแลบ้านช่องตลอดวัน ภาพวาดที่นิยมมักเกี่ยวข้องกับเทพและเทพีที่ครอบครัวนั้นๆ เคารพบูชา ได้แก่ พระราม นางสีดา พระกฤษณะ พระศิวะ พระแม่ลักษมี พระแม่คงคา เป็นต้น รูปแบบงานศิลป์ในแต่ละครัวเรือนแตกต่างกันออกไปตามการตีความของศิลปิน จิตรกรรมมธุบนีจึงถูกใช้เพื่อแสดงความภักดีของสตรีที่มีต่อเทพเจ้า ทักษะงานฝีมือดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดในหมู่สตรีที่อาศัยในชุมชนเท่านั้น

 

          สตรีในพื้นที่สืบทอดงานศิลป์มธุบนีในครัวเรือนมากว่าพันปี และแล้วในปีค.ศ. 1934 ความงดงามของจิตรกรรมอันยิ่งใหญ่ก็เปิดเผยสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 มกราคมของปีนั้น เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่แนวเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของรัฐพิหาร บ้านเรือนที่ถูกก่อด้วยดินพังทลายย่อยยับ ทว่านับเป็นความโชคดีท่ามกลางเคราะห์ร้าย ผนังบ้านที่หลุดร่อนเผยให้เห็นจิตรกรรมฝาผนังที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน วิลเลียม อาร์เชอร์ (William Archer) เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษเป็นผู้ค้นพบศิลปะตระการตาระหว่างตรวจสอบความเสียหายในเขตมธุบนี อาร์เชอร์เขียนรายงานถึงรัฐบาลกลางเกี่ยวกับภาพวาดที่ตนค้นพบ ชายชาวอังกฤษกล่าวชมจิตรกรรมท้องถิ่นว่าสวยงามไม่ต่างกับงานศิลป์สมัยใหม่ของคลี (Klee) มิโร (Miro) หรือปิกาสโซ ความสนใจในงานศิลป์ทำให้อาร์เชอร์ถ่ายภาพขาวดำเก็บไว้เพื่อศึกษา และในปีค.ศ. 1949 หลังอินเดียได้รับเอกราช เขาก็เขียนบทความเกี่ยวกับจิตรกรรมมิถิลาเพื่อเผยแพร่ในวารสารศิลปะ ภาพถ่ายและการค้นคว้าของอาร์เชอร์ทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจศิลปะท้องถิ่นของอินเดีย ส่งผลให้ในเวลาต่อมา บรรดาศิลปินจากอังกฤษและฝรั่งเศส รวมถึงนักวิชาการหลายแขนงต่างเดินทางมายังรัฐพิหารเพื่อศึกษารูปแบบจิตรกรรมมธุบนีอย่างไม่ขาดสาย

 

ภาพที่ 2: ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังในเขตมธุบนี โดยวิลเลียม อาร์เชอร์

แหล่งที่มาภาพ: Unknown. Mithila Paintings- A Brief History. (n.d.). [Online]. Accessed 2021 Dec 8. Available from: http://www.mithilapaintings-eaf.org/history.html

 

 

          หลังจากที่ภาพวาดมธุบนีมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก รัฐบาลพิหารจึงมองหาลู่ทางในการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตั้งแต่ปีค.ศ. 1968 เป็นต้นมา หน่วยงานรัฐได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงชาวไมถิลีหันมาวาดภาพมธุบนีเพื่อการค้า แทนที่จะประดับประดาบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว ภาพมธุบนีจึงถูกเขียนลงบนวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ ผืนผ้า และของฝากนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านเพื่อจุนเจือครอบครัว งานศิลป์มธุบนีจึงกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมที่คนต่างถิ่นพากันซื้อหายามมาเยือนรัฐพิหาร

 

          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพิหารไม่ได้ส่งเสริมมธุบนีในด้านธุรกิจเท่านั้น หน่วยงานรัฐได้ลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตมธุบนีเพื่ออนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านและสืบสานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับงานจิตรกรรม กรรมวิธีของช่างฝีมือไมถิลีจึงถูกเผยแพร่ให้คนนอกได้เรียนรู้ ขั้นตอนพื้นฐานของงานศิลป์มธุบนีเริ่มจากการร่างภาพลงบนวัตถุด้วยดินสอ ก่อนใช้พู่กันที่ทำจากกิ่งไม้ทุบปลายขับเน้นเส้นดำ หลังจากนั้นศิลปินจะใช้สีธรรมชาติแต่งแต้มภาพที่วาดไว้ จิตรกรจะไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างมากเกินไป ลวดลายดอกไม้ ต้นไม้ และสัตว์นานาชนิดจึงถูกวาดเพื่อประดับฉากหลัง จิตรกรรมมธุบนีแต่ละชุมชนมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็นสามสกุลช่างใหญ่ๆ ได้แก่ กัจนี (Kachni) ภารนี (Bharni) และโคธนะ (Godhana)

 

          ภาพวาดสกุลช่างกัจนีมีลายเส้นที่อ่อนช้อยที่สุดในบรรดาจิตรกรรมมธุบนี ช่างฝีมือสกุลนี้จะใช้เพียงสีแดงและดำในการวาดภาพ งานศิลป์กัจนีถูกถ่ายทอดกันมาในชุมชนกายัสถะ (Kayastha) แห่งรัฐพิหารและเบงกอลตะวันตก ในส่วนของภารนีจะโดดเด่นด้วยลายเส้นทึบหนาและสีสันบาดตา วิชาสกุลช่างภารนีจะถูกเผยแพร่ในกลุ่มสตรีวรรณะพราหมณ์รัฐพิหาร และสำหรับสกุลช่างสุดท้าย โคธนะจะแตกต่างจากกัจนีและภารนีที่สืบทอดมาในหมู่ชนชั้นสูงแต่โบราณ ช่างฝีมือโคธนะคือผู้หญิงในชุมชนทุสาธ (Dusadh) ซึ่งเป็นกลุ่มดาลิต (Dalit) หรือคนนอกวรรณะที่อาศัยทางตะวันออกของประเทศอินเดีย จิตรกรรมสกุลช่างโคธนะจะไม่เน้นไปที่ภาพเทพเจ้าหรือตัวบุคคล แต่นิยมทำเป็นลวดลายเรขาคณิตที่คล้ายกับการตกแต่งกำแพงบ้านในอดีต บางครั้งช่างฝีมือจะใช้เพียงสีดำในการวาดภาพหรือแกะสลักวัตถุให้เห็นเป็นลายเส้นเด่นชัดเท่านั้น

 

          จะเห็นได้ว่าภาพวาดจากสามสกุลช่างมีความเกี่ยวพันกับผู้คนแต่ละชุมชน ทว่าสิ่งที่เหมือนกันคือความผูกพันของชาวไมถิลีที่มีต่องานศิลป์มธุบนีมาเนิ่นนาน หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนรัฐพิหารช่วงเทศกาลจะได้ชมภาพวาดที่ประดับบนกำแพงและผนังของบ้านแต่ละหลัง ภาพจิตรกรรมถูกวาดขึ้นในโอกาสสำคัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนในบ้าน และเช่นเดียวกับท้าวชนกแห่งมิถิลา ชาวไมถิลีในปัจจุบันยังคงถือว่างานวิวาห์คือพิธีสำคัญของครอบครัว ตามธรรมเนียมของคนในพื้นที่ ผู้หญิงในตระกูลจะร่วมกันสร้างห้องหอที่เรียกว่าโกหะบาร์ ฆระ (Kohbar Ghar) ภายในตกแต่งด้วยภาพวาดมธุบนีสีสวยสด สัญลักษณ์มงคลที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เช่น ดอกบัว ฝูงปลา สกุณา และอสรพิษเกี่ยวกระหวัดจะถูกวาดลงบนผนัง คู่บ่าวสาวจะอยู่แต่ในห้องเป็นเวลาสามวันสามคืนเพื่อทำความรู้จักกันและกัน และในคืนที่สี่ของการแต่งงาน หนุ่มสาวจะทำการร่วมคู่เพื่อเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้อง ประเพณีดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนิทชิดเชื้อแก่คู่บ่าวสาว รวมถึงเป็นกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ของผู้หญิงในครอบครัวที่มารวมตัวเพื่อวาดภาพมธุบนี

 

ภาพที่ 3: สตรีชาวไมถิลีร่วมกันวาดภาพมธุบนีบนฝาผนัง

ที่มา: Unknown. Madhubani Station - Live Demonstration. (n.d.). [Online]. Accessed 2021 Dec 8. Available from: https://madhubani.nic.in/gallery/gallery/

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Dayal, Bharti. Madhubani Art. New Delhi: Niyogi Books, 2016.

 

Thakur, Upendra. Madhubani Paintings. New Delhi: Abhinav Publication, 1982.

 

Szanton, David and Bakshi, Malini. Mithila Painting – The Evolution of an Art Form. San Francisco: Ethnics Art Foundation, 2007.

 

กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ