Museum Core
แสตมป์พิมพ์ทับ
Museum Core
21 ก.พ. 65 420

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

          ในยุคที่โลกยังไม่รุดหน้าเช่นทุกวันนี้ หรือพูดให้เห็นภาพคงต้องย้อนไปยังศตวรรษที่ผ่านมา กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “แสตมป์” หรือชื่อเป็นทางการ “ตราไปรษณียากร” นับเป็นสิ่งเชื่อมผู้คนจากแดนไกลได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

          สำหรับสยามประเทศในยุคแรกก่อตั้งกิจการไปรษณีย์ หรือแม้กระทั่งยุคก่อนมีกิจการไปรษณีย์ แน่นอนว่าเลี่ยงไม่ได้กับข้อจำกัดหลายอย่าง จนต้องปรับแก้กันเฉพาะหน้า เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปได้อย่างควรเป็น และหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การนำแสตมป์ที่มีอยู่แล้วมาพิมพ์ทับ

          แสตมป์พิมพ์ทับ (Overprint Stamp) คือ แสตมป์เดิมที่มีอยู่แล้ว แต่นำมาพิมพ์เพิ่มบางอย่างลงไปบนดวงแสตมป์นั้น ๆ ในทางสากลมีการพิมพ์ทับ เช่น ประเทศหนึ่งนำแสตมป์ของประเทศตนพิมพ์ทับชื่อประเทศและชนิดราคา เพื่อนำไปใช้ในประเทศอาณานิคม

          ในยุคที่ติดต่อและเปิดรับต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร และไปรษณีย์สยามยังไม่ถือกำเนิด แต่ต้องใช้บริการผ่านช่องทางนี้ กงสุลอังกฤษให้บริการรับส่งจดหมายระหว่างสยามกับต่างประเทศ กล่าวคือจัดส่งลงเรือไปยังที่ทำการไปรษณีย์สิงคโปร์ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศปลายทางอีกทอดหนึ่ง

 

          ชาวต่างชาติในสยามยุคนั้น อาศัยช่องทางดังกล่าวส่งจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ต่าง ๆ กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน และรอรับสิ่งเดียวกันนี้จากแดนไกล น่าสนใจว่าในเมื่อสยามยังไม่มีการไปรษณีย์ แล้วใช้สิ่งใดเป็นตัวกำหนดอัตราค่าฝากส่ง คำตอบคือแสตมป์นี่แหละ แต่เป็นแสตมป์อีกแบบ

           ในเบื้องต้น สถานกงสุลอังกฤษได้นำตราไปรษณียากรของสเตรทเซทเติลเมนท์ (Straits Settlement) อันประกอบด้วย ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ มาจำหน่ายเพื่อใช้ขัดตราทัพกันไปพลาง ๆ ก่อน รวมทั้งนำแสตมป์ของฮ่องกงมาใช้ในบางช่วงด้วยเช่นกัน

 

 

ภาพที่ 1 แสตมป์สเตรทเซทเติลเมนท์  พิมพ์ทับอักษร B

แหล่งที่มาภาพ: http://sale51.eurseree.com/cgi-bin/info/agora.cgi?cart_id=3586724.27219*zp6-z6&p_id=101&xm=on&ppinc=search2

 

          กระทั่งราวปี พ.ศ. 2410 ได้นำแสตมป์ดังกล่าวมาพิมพ์อักษร “B” ซึ่งหมายถึง Bangkok เพิ่มเติมลงไป สำหรับใช้ผนึกจดหมาย และใช้กันมาจนถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2429 เป็นอันสิ้นสุด เพราะสยามมีไปรษณีย์เป็นของตัวเองแล้ว การพิมพ์อักษร “B” ครั้งนั้น เรียกว่าเป็นการพิมพ์ทับได้เช่นกัน

          ส่วนการพิมพ์ทับแก้ราคา (Surcharge) เกิดขึ้นในกรณีที่แสตมป์บางชนิดราคาอยู่ในภาวะขาดแคลน จำเป็นต้องนำแสตมป์เดิมมาพิมพ์ทับราคาที่ต้องการลงไป เพื่อใช้ระหว่างรอการพิมพ์ ในยุคแรก ๆ ของแสตมป์สยามพบกรณีเช่นนี้บ่อย เหตุผลหนึ่งคือการคมนาคมขนส่งใช้เวลานาน เพราะต้องส่งแสตมป์ไปพิมพ์ต่างแดน มีตัวอย่างผ่านเหตุการณ์ดังนี้

          การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ทำให้ไปรษณีย์สยามต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบแสตมป์ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์สากล กล่าวคือต้องมีชื่อประเทศ และราคาหน้าดวงเป็นภาษาอังกฤษระบุไว้บนดวงแสตมป์

          แต่แสตมป์โสฬศ แสตมป์ชุดแรกยังไม่สอดรับกับมาตรฐานดังกล่าว จึงได้จัดพิมพ์แสตมป์ชุดใหม่ขึ้น ในระหว่างรอได้นำแสตมป์ชนิดราคา 1 โสฬศ มาพิมพ์ทับด้วยหมึกจีนสีแดง แก้เป็นชนิดราคา 1 บาท (1 Tical) โดยโรงพิมพ์กรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อใช้ส่งไปรษณียภัณฑ์ไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

          กล่าวได้ว่า ครั้งนั้นทำให้แสตมป์สยามทำหน้าที่อัตราค่าฝากส่งอย่างครบสมบูรณ์ คือส่งได้ทั้งในประเทศ และส่งไปได้ทั่วโลกในกฎเกณฑ์สากลที่ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ หากมองอีกนัยหนึ่งก็คือการปรับตัวให้เข้ากับระบบหลักของโลกยุคนั้น เพราะการขนส่งทางไปรษณีย์สำคัญมาก

          จากนั้นมีการพิมพ์ทับแก้ราคาหน้าดวงเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ไล่มาจนถึงปี พ.ศ. 2442 นับได้ว่าเป็นทศวรรษที่มีการพิมพ์ทับราคาหน้าดวงครั้งใหญ่เลยทีเดียว โดยเกือบทั้งหมดพิมพ์ทับลงบนแสตมป์ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 2)

 

         มีข้อสังเกตว่า นอกจากโรงพิมพ์กรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งทำหน้าที่พิมพ์ทับแก้ชนิดราคามาแต่ดั้งเดิม ได้เพิ่มโรงพิมพ์ศึกษาพิมพ์การ โรงพิมพ์สยามเมอร์แคนไตล์ โรงพิมพ์วัชรินทร์ และโรงพิมพ์ราชาธิปตัย เข้ามาทำหน้าที่ด้วย

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2445 เมืองพระตะบองที่อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ครั้งนั้นยังเป็นดินแดนของสยาม ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ข้าหลวงใหญ่ประจำพระตะบองได้โทรเลขมายังกรุงเทพฯ แจ้งว่าแสตมป์ราคา 2 อัฐ และ 10 อัฐ ของที่ทำการไปรษณีย์พระตะบองขาดแคลน จึงขอเบิกแสตมป์ชนิดราคาดังกล่าว

 

ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดพระตะบอง

แหล่งที่มาภาพ: http://sale21.eurseree.com/cgi-bin/info/agora.cgi?cart_id=818372.6797*jx7u07&p_id=128&xm=on&ppinc=search2

 

          ทว่า กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไม่สามารถจัดส่งให้ทันการใช้งาน จึงอนุมัติให้ไปรษณีย์พระตะบองนำแสตมป์ชุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุด 3) ชนิดราคา 3 อัฐ และ 12 อัฐ มาแก้ไขราคาหน้าดวงเป็น 2 อัฐ และ 10 อัฐ จำนวน 350 ดวง และ 360 ดวง ตามลำดับ และนำไปใช้ก่อน

          การพิมพ์ทับครั้งนั้น แก้ชนิดราคาด้วยหมึกสีม่วง และว่ากันว่าเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้คือยี่ห้อสมิท พรีเมียร์ (Smith Premier) เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยี่ห้อแรก นักสะสมเรียกแสตมป์ชุดนี้ว่า “ชุดพระตะบอง”

          กรณีดังกล่าว แม้เป็นเหตุการณ์ในประเทศ ไม่ได้ขึ้นต่อกฎเกณฑ์สหภาพสากลไปรษณีย์ แต่ดินแดนห่างไกลชายขอบ แถมขาดแคลนจนขนาดต้องขอเบิกจากส่วนกลาง ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องทันเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการไปรษณีย์

          การพิมพ์ทับชนิดราคาหลังจากนั้นยังมีขึ้นอีก แต่ครั้งที่เป็นความพิเศษและแตกต่าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งเดียวในประวัติการไปรษณีย์สยาม เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2450 กับที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 ซึ่งตั้งอยู่ย่านเยาวราช

 

ภาพที่ 3 ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8

แหล่งที่มาภาพ: https://www.silpa-mag.com/history/article_67624

 

          ที่ทำการไปรษณีย์แห่งนี้ ให้บริการกับชาวจีนที่เข้ามาอาศัยตลอดจนค้าขายในสยาม กล่าวได้ว่าเป็นที่ทำการไปรษณีย์ของชาวจีนโดยเฉพาะก็คงไม่เกินเลย ขนาดพนักงานยังต้องเป็นชาวจีน หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้อ่านเขียนภาษาจีนได้อย่างดี

           ยุคนั้น ชาวจีนส่งไปรษณียภัณฑ์กลับไปยังแผ่นดินใหญ่กันมาก และด้วยขนาดห่อใหญ่จึงมีน้ำหนักมากเป็นเงาตามตัว ต้องใช้แสตมป์ราคาสูงผนึกเป็นค่าฝากส่ง แต่ไปรษณีย์สยามยังไม่มีการพิมพ์แสตมป์ราคาหน้าดวงสูง ๆ ในยุคแรกก่อตั้ง

ดังนั้น จึงได้นำแสตมป์ฤชากรซึ่งใช้เป็นค่าธรรมเนียมศาลและที่ดิน ชนิดราคา 10, 20 และ 40 บาท มาพิมพ์ทับเป็น 10 Ticals, 20 Ticals และ 40 Ticals ตามลำดับ โดยทุกชนิดราคาพิมพ์ทับคำว่า Siam Postage ลงไปด้วย แสตมป์ชุดนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “ชุดฤชากรแก้”

 

 

ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดฤชากรแก้

แหล่งที่มาภาพ: https://venusstamps.tarad.com/products_detail/view/7438655

 

           นับได้ว่า แสตมป์ดวงเล็ก ๆ ได้ทำหน้าที่เป็นอัตราค่าฝากส่ง เพื่อให้พี่น้องชาวจีนที่อยู่ห่างไกลกัน ได้ฝากข่าวคราวผ่านจดหมาย ตลอดจนข้าวของถึงกัน พูดอีกแบบก็ต้องบอกว่า การไปรษณีย์สยามทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับประชาชน

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากรไทย เล่ม 1 – 4

หนังสือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย

 

ลมล่องข้าวเบา

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ