เชื่อไหมครับว่า ‘มะพร้าว’ (และหมายรวมไปถึงพืชในตระกูลปาล์มอื่นๆ) เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถถูกขนย้ายออกมาปลูกยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2035 ได้เลย?
พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า อะไรก็ตามที่ได้มาจากมะพร้าวไม่ว่าจะเป็น น้ำมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากกะลา กะทิ น้ำมันมะพร้าว และรวมไปถึงน้ำตาลมะพร้าว ในโลกเก่า (คำว่า ‘โลกเก่า’ ซึ่งหมายถึง ทวีปยุโรป, ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชียนั้น คือผืนโลกตามความเข้าใจแต่เดิมก่อนของชาวยุโรป ตรงข้ามกับ ‘โลกใหม่’ ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่พวกฝรั่งใช้เรียกดินแดนที่ถูกพวกเขาค้นพบใหม่อย่าง ทวีปอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย) จึงเป็นสิ่งที่เพิ่งจะมีขึ้นหลังการค้นพบอเมริกาทั้งสิ้น
ความเชื่อในสองย่อหน้าข้างต้นทรงพลังอย่างมากในหมู่นักพฤกษาศาสตร์โลก ในช่วงราวปลายรัชกาลที่ 5 ของไทย มาจนกระทั่งถึงช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เล็กน้อย ทั้งๆ ที่หลักฐานอื่นก็บอกอยู่ทนโท่ว่า มะพร้าวนั้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในพื้นที่โลกเก่า ตั้งแต่เนิ่นนานมาแล้ว
ภาพที่ 1: ต้นมะพร้าวปรากฏอยู่ในภาพสลักจากเมืองอเลปโป (Aleppo) ประเทศซีเรีย เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีต้นมะพร้าวอยู่ในพื้นที่โลกเก่ามาหลายพันปีแล้ว
แหล่งที่มาภาพ: https://wordwenches.typepad.com
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การที่มหากาพย์เรื่องดังของชมพูทวีปอย่าง ‘รามายณะ’ (ที่ไทยเราเอามาปรับเปลี่ยน เรียบเรียง เพิ่มเติม และตัดทอนบางส่วนเสียใหม่ จนกลายร่างเป็นอะไรที่เรียกว่า รามเกียรติ์) และหนังสือพงศาวดารเก่าของเกาะศรีลังกา ที่ชื่อว่า ‘มหาวงศ์’ นั้น ก็ได้กล่าวถึง ‘มะพร้าว’ เช่นกัน
และนั่นก็แสดงให้เห็นว่า มะพร้าวต้องเป็นที่รู้จักในภูมิภาคแห่งนั้น มาแล้วตั้งแต่สมัยที่มีการเขียนหนังสือโบราณทั้ง 2 ฉบับที่ว่า โดยอาจจะตีป็นตัวเลขกลมๆ ได้ที่เมื่อราว พ.ศ. 500 เลยทีเดียว
แถมนี่ยังไม่ได้นับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (คือ หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร) หรือโบราณคดี (คือ หลักฐานที่เป็นวัตถุต่างๆ) อีกด้วยซ้ำไปนะครับ
อันที่จริงแล้วหลักฐานการศึกษาทางพันธุกรรมของมะพร้าว ในยุคหลังแสดงให้เห็นว่า ศูนย์กลางการแพร่กระจายของมะพร้าว (ชนิดที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้) มีอยู่ 2 ภูมิภาคหลักๆ ในโลกคือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และแถบหมู่เกาะแปซิฟิก (คือ หมู่เกาะต่างๆ นับจาก ปาปัวนิวกินี ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะออสเตรเลีย) ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะพร้าว
(ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า แกงแขก และแกงของอุษาคเนย์ทำไมจึงนิยมใส่กะทิ อันเป็นผลิตผลที่ได้จากมะพร้าวเช่นกัน)
แต่โดยรวมๆ แล้ว มะพร้าวกลุ่มที่สำคัญกว่าคือกลุ่มจากหมู่เกาะแปซิฟิก
หลักฐานไม่ต้องดูจากที่ไหน แต่ดูง่ายๆ ว่า พวกฝรั่งในยุคก่อน พ.ศ. 2500 ยังเข้าใจว่ามะพร้าวมาจากทวีปอเมริกาอยู่เลย แสดงว่ามะพร้าวพันธุ์จากตะวันออกกลาง ถ้าพูดถึงรสชาติก็คงจะไม่ชวนลิ้มชิมรสระดับมิชลินสตาร์ และหากจะว่ากันด้วยเรื่องของการนำโน่นนี่จากมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ ก็คงจะดูไม่ใช่พืชสารพัดประโยชน์เท่ากับที่ผู้คนในหมู่เกาะแปซิฟิกทำกับมะพร้าว
ดังนั้น ถึงแม้จะมีมะพร้าวในดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียงรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน (มะพร้าวมีมากในเขตเมดิเตอเรเนียนตะวันออก ได้แก่ อิรัก, ซีเรีย, อิสราเอล, จอร์แดน, เลบานอน และปาเลสไตน์) แต่พวกฝรั่งก็ไม่ได้รู้จักมันกันมากนัก
และก็เป็นเจ้ามะพร้าวจากหมู่เกาะแปซิฟิกนี่แหละครับ ที่แพร่กระจายเข้ามาทางอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะ ไล่เรียงมาตั้งแต่เกาะบาหลี ชวา สุมาตรา บอร์เนียว แล้วแพร่ไปยังหมู่เกาะต่างๆ กับภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ และรวมไปถึงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของทวีปเอเชียด้วย
ภาพที่ 2: ต้นมะพร้าว จากจันทิ (ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึง วัด) จาโก ใกล้เมืองมาลัง
ทางตะวันออกของเกาะชวา มีอายุราวศตวรรษที่ 13 Ffp9ho,trihk;เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป
ในภาพสลักของศิลปะชวา
แหล่งที่มาภาพ: https://notesplusultra.com/2017/09/03/in-search-of-singhasari/
‘มะพร้าว’ ที่ถูกกล่าวถึงในมหากาพย์รามายณะของอินเดีย และมหาวงศ์พงศาวดารของลังกาทวีป เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน ก็คือมะพร้าวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะแปซิฟิก ที่แพร่กระจายเข้าไปในอนุทวีปอินเดีย ผ่านทางอุษาคเนย์ของเรานี่เอง
ในกรณีของอุษาคเนย์นั้น เมื่อได้อิมพอร์ต ‘มะพร้าว’ เข้ามาแล้วก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายอย่าง ในจดหมายเหตุของคังไท่ และจูอิง ซึ่งเป็นทูตของซุนกวน แห่งง่อก๊ก ในยุคสามก๊ก (ซุนกวนปกครองง่อก๊กระหว่าง พ.ศ. 765-795) ซึ่งได้เดินทางเข้ามาในฟูนัน รัฐแรกเริ่มของอุษาคเนย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ได้เล่าถึงตำนานต้นวงศ์กษัตริย์ของรัฐฟูนันเอาไว้ในจดหมายเหตุของพวกเขาว่า พราหมณ์ชาวอินเดียชื่อ ‘ฮวนเตียน’ ได้เข้ามาปราบนางพญาพื้นเมืองที่ชื่อว่า ‘หลิวเย่’ แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยได้เสกสมรสกับนางพญาพื้นเมืองคนนั้นด้วย
แน่นอนว่า คงไม่มีพราหมณ์ชมพูทวีป หรือนางพญาพื้นเมืองอุษาคเนย์คนไหน ที่จะมีชื่อจีนขนาดนั้น เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว คือคำว่า ‘หลิวเย่’ เพราะแปลจีนเป็นไทยได้ความว่า ‘นางใบมะพร้าว’ ซึ่งก็ทำให้ในยุคสมัยหนึ่ง มีนักวิชาการแปลความกันว่า ชนพื้นเมืองอุษาคเนย์แต่ดั้งเดิมนั้น ใช้ใบมะพร้าว หรือเปลือกไม้ มาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม
แต่ไม่ว่าชนชาวอุษาคเนย์จะเคยใช้ใบมะพร้าวเป็นเครื่องนุ่งห่มจริงหรือไม่ก็ตาม นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่คังไท่ และจูอิง เรียกนางพญาคนนี้ว่า ‘นางใบมะพร้าว’ เพราะนี่ก็แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ (หรืออาจจะพ่วงด้วยความสำคัญ) ของ ‘มะพร้าว’ในอุษาคเนย์ที่มีมาก่อน พ.ศ. 800 แล้วเลยทีเดียว
ในกรณีอาหารการกิน มะพร้าว และพืชในวงศ์ปาล์มทั้งหลายนั้นก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากเลยทีเดียว นอกเหนือจาก กะทิ ที่กลายเป็นซิกเนเจอร์หนึ่งของอาหารไทยในตลาดโลกแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘รสหวาน’ ที่ได้จาก ‘น้ำตาล’ นี่แหละครับ
ขอให้สังเกตว่า คำว่า ‘น้ำตาล’ ในภาษาไทย มีคำว่า ‘ตาล’ ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าวมากำกับ และก็มีการทำน้ำตาล จากงวงของตาล รองด้วยกระบอกที่ใส่ไม้เชื้อ เช่น ไม้พยอม เพื่อกันการบูดเน่า จากนั้นก็นำไปเคี่ยวจนเดือด พอน้ำงวดก็ยกลงจากเตา แล้วใช้ไม้พายกระทุ้งให้น้ำตาลทำปฏิกิริยาจากอากาศ จนกลายเป็นสีเหลืองนวล เป็นอันจบพิธี
การที่ ‘น้ำตาล’ ได้มาจาก ‘งวงตาล’ จึงไม่แปลกอะไรที่จะเรียกอาหารที่ให้รสหวานชนิดนี้ว่า ‘น้ำตาล’ โดยเมื่อเคี่ยวน้ำจากงวงตาลจนกลายเป็นน้ำตาลแล้ว ถ้านำไปใส่พิมพ์ จนมีลักษณะเป็นปึก ก็เรียก ‘น้ำตาลปึก’ แต่ถ้านำไปบรรจุปี๊บ ก็เรียก ‘น้ำตาลปี๊บ’
แต่ในสมัยโบราณเขาไม่ได้ทำ ‘น้ำตาล’ จากงวงตาลเท่านั้นนะครับ พืชในตระกูลเดียวกันอย่างมะพร้าว ก็สามารถกรีดเอาน้ำที่อยู่ข้างในงวงมะพร้าว ออกมาทำเป็นน้ำตาลได้ด้วย โดยเรียกกันว่า ‘น้ำตาลมะพร้าว’ นั่นเอง
น้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลปึก และไม่ว่าจะได้จากงวงตาล หรืองวงมะพร้าว ที่มีรสหวานมันแบบนี้คงจะเป็นสารให้ความหวานชนิดหลักของคนไทย และอาจจะรวมไปถึงทั่วทั้งอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ เพราะน้ำตาลทราย ซึ่งมีรสหวานแหลม ที่ได้มาจาก ‘อ้อย’ นั้น ก็เรียกว่า ‘น้ำตาลอ้อย’ หรือ ‘น้ำตาลทราย’ ตามลักษณะที่คล้ายเม็ดทราย ในขณะที่ คำว่า ‘น้ำตาล’ นั้นได้มีความหมายเพิ่มเติมเป็น สารที่ให้ความหวานโดยไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่า ผลิตขึ้นมาจากพืชชนิดไหน
เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปนั้น น้ำตาลอ้อยจะเป็นสารให้ความหวานชนิดหลักในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาจากรองรอยในคำเรียกสารให้ความหวานของไทยแล้ว สารให้ความหวานของไทยที่เก่าแก่ที่สุด จึงน่าจะมาจากน้ำตาลปึก หรือน้ำตาลมะพร้าวมากกว่านั่นเอง
ภาพที่ 3: น้ำตาลปึก คือน้ำตาลที่ได้มาจากการเคี่ยวน้ำจากงวงตาล หรืองวงมะพร้าว จนกลายเป็นน้ำตาลแล้วใส่ลงในพิมพ์
จนกลายเป็นปึก เลยเรียกว่า น้ำตาลปึก
แหล่งที่มาภาพจาก: https://th.wikipedia.org/wiki/Palmsugar.jpg
ภาพที่ 4: น้ำตาลปี๊บ คือน้ำตาลที่ได้มาจากการเคี่ยวน้ำจากงวงตาล หรืองวงมะพร้าว จนกลายเป็นน้ำตาลแล้วใส่ลงในปี๊บ
จึงเรียกว่า น้ำตาลปี๊บ แต่จะใส่ภาชนะอย่างอื่น ขอเพียงไม่เกาะรวมกันเป็นปึกก็เรียกว่า น้ำตาลปี๊บเช่นกัน
แหล่งที่มาภาพ: http://bewbestfood.blogspot.com/2018/04/blog-post.html
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ