ตำนานเรื่อง ‘จิ้งจอกเก้าหาง’ นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจีน, เกาหลี หรือดินแดนหมู่เกาะโพ้นทะเลอย่างญี่ปุ่น
เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าสัตว์มหัศจรรย์ชนิดนี้ที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบันมากที่สุดก็คือ เรื่องราวของการที่จิ้งจอกเก้าหางนั้น เป็นอะไรที่เรียกในโลกภาษาไทยได้ว่า ‘ปีศาจ’ ที่แปลงกายมาเป็น ‘โฉมงาม’ ข้างกายกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้น แล้วมอมเมาจนทำให้ท่านผู้นำของดินแดนเหล่านั้นไม่เป็นอันบริหารราชกิจ
เรียกได้ว่า ‘งามจนล่มเมือง’ นั่นแหละครับ
และก็เป็นเพราะอย่างนี้เอง เรื่องมันก็เลยร้อนถึงผู้มากบารมี (แล้วแต่ตำนานของแต่ละวัฒนธรรมว่า จะเป็นบารมีทางการบ้านการเมือง หรือบารมีในตบะพรต) มาปราบยุคเข็ญ
กรณีของญี่ปุ่นนั้น ตำนานเกี่ยวกับจิ้งจอกเก้าหางที่โด่งดังที่สุดก็คือ นิทานเกี่ยวกับหินก้อนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘หินเซ็ตโชเซกิ’ (Sesshoseki Stone) หรือ ‘หินสังหาร’ (Killing Stone) ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
ในนิทานเกี่ยวกับหินสังหารอ้างว่า ได้เนรมิตกายมาเป็นหญิงงามเมืองที่ชื่อว่า ‘ทามาโมะ โนะ มาเอะ’ แล้วได้กลายมาเป็นพระสนมคนโปรดของพระจักรพรรดิโทบะ (มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ โดยครองราชย์ระหว่างเรือน พ.ศ. 1650-1666 ก่อนยอมต้องสละราชบัลลังก์ แล้วออกบวชจนกระทั่งเสียชีวิตลงในอีกหลายสิบปีต่อมา)
แน่นอนว่านางจิ้งจอกได้ยั่วยวนพระจักรพรรดิองค์นี้เสียจนละเลยจากกิจการงานต่างๆ ซึ่งก็คือบริหารบ้านเมือง แถมยังสูบเอาพลังชีวิตของพระองค์เสียจนร่างกายทรุดโทรมลงไปทุกวัน โดยที่ใครต่อใครต่างก็ไม่ทราบสาเหตุที่ร่างกายของพระองค์ล้มป่วยลง ดังนั้นทางราชสำนักจึงได้ไปเชื้อเชิญ ‘องเมียวจิ’ (มีความหมายตรงตัวว่า นักพรตผู้ประกอบพิธีกรรมตามวิถีแห่งองเมียว ซึ่งก็คือเวทมนต์โบราณแขนงหนึ่งของญี่ปุ่น ที่มีรากฐานมาจากวิชาโหราศาสตร์ และความเชื่อเกี่ยวกับหยินหยางในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้สมาทานตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาชินโต ของญี่ปุ่นในภายหลัง) ที่เก่งฉกาจที่สุดในยุคอย่าง อาเบะ โนะ ยาสุนาริ มาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาเพศดังกล่าว
และคำตอบของยาสุนาริก็คือ องค์จักรพรรดินั้นป่วยไข้ก็เพราะ ทามาโมะ โนะ มาเอะ ที่พระองค์หลงใหลได้ปลื้มนั้น เป็นนางจิ้งจอกเก้าหางปลอมตัวมา ซึ่งยาสุโนริก็ออกอุบายจนทาให้นางปีศาจโผล่หางออกมาในที่สุด
จากนั้นจึงเกิดมหกรรมไล่ล่านางปีศาจจิ้งจอกขึ้น โดยทางราชสำนักได้จัดเอาพลธนูที่ยิงได้แม่นยำที่สุด 2 นายคือ คาซึสะโนะสุเกะ กับ มิอุระโนะสุเกะ ออกตามไล่ล่า แต่ลูกศรธรรมดาไม่ระคายผิวของเจ้าปีศาจที่ชั่วร้าย แถมยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังระดับจิ้งจอกเก้าหางได้ ลูกศรของพวกเขาจึงต้องมีมนตร์ของยาสุโนริคอยกำกับอยู่ โดยสุดท้ายพวกเขาก็สามารถโค่นปีศาจตนนี้ลงได้ที่ทุ่งนาสึ (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ. โทชิงิ)
แต่ตายแล้วนางปีศาจจิ้งจอกก็ยังมีฤทธิ์ ความคับแค้นได้ทำให้มันกลายร่างเป็น ‘หินใหญ่’ สีดำก้อนหนึ่งอยู่ตรงที่ที่จบชีวิตลงนั่นเอง
แน่นอนว่า เจ้าหินก้อนที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั้นคือ “หินเซ็ตโชเซกิ” นี่เอง และผมคงไม่ต้องเฉลยครับว่า ทำไมในภาษาอังกฤษจึงเรียกหินก้อนนี้กันว่า “Killing Stone”
และเมื่อหินที่เกิดมาจากปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ตำนานจึงได้เล่าต่อไปว่า ความคลั่งแค้นของมันได้กลายเป็นไอพิษร้ายที่ระเหยออกมาจากก้อนหิน จนทำให้ไม่มีทั้งคน และสัตว์ชนิดไหน สามารถเข้าไปใกล้พื้นที่บริเวณนั้นได้ จึงกลายเป็นสถานที่ต้องห้ามไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในที่สุด จนกระทั่งอีกหลายร้อยปีต่อมา พระภิกษุในพุทธศาสนาที่ชื่อว่า เก็นโน ได้เดินทางผ่านยังทุ่งราบแห่งนี้ จึงได้พบวิญญาณหญิงสาวตนหนึ่งที่ออกมาเตือนท่านไม่ให้เข้าใกล้หินสังหารเซ็ตโชเซกิ โดยได้เล่าตำนานทั้งหมดให้กับพระภิกษุเก็นโนฟัง จากนั้นนางก็หายวับเข้าไปในหินก้อนที่ว่านี้เอง
ภาพที่ 1: หินสังหาร ‘เซ็ตโชเซกิ’ ที่เกิดจากความคลั่งแค้นของนางจิ้งจอกเก้าหาง
แหล่งที่มาภาพ: https://trico.jal.com/placegallery/report/67127/
พระภิกษุเก็นโนจึงได้บันทึกเรื่องเล่าทั้งหมดที่วิญญาณหญิงสาวได้เล่าให้ฟังเอาไว้ จากนั้นท่านก็ได้ไปแสดงพระธรรมเทศนาให้กับหินสังหารก้อนนี้ฟังอย่างยาวเหยียด ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าความคลั่งแค้นที่ยังหลงเหลือของอยู่ของปีศาจจิ้งจอกเก้าหางจะยอมรับฟังแต่โดยดี
แต่ในท้ายที่สุดตำนานทำนองนี้ย่อมให้พระ ให้เจ้า เป็นฝั่งที่ได้รับชัยชนะจากภูติผีปีศาจอยู่เสมอ พระภิกษุเก็นโนจึงได้ใช้ค้อนทุบลงไปบนหินใหญ่ก้อนนั้น นัยว่าเป็นการดับความคลั่งแค้น และทำลายอาถรรพ์ของปีศาจจิ้งจอกเก้าหางไป จากนั้นจึงได้นำเชือกมาพันรอบหินใหญ่เอาไว้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา บริเวณพื้นที่ตั้งของหินสังหารเซ็ตโชเซกิ บนที่ราบนาสึ ก็ได้กลายเป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดานักบวชสารพัดศาสนา และนิกายในญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ภาพที่ 2: เก้าหางในมังงะชื่อดังเรื่อง นารูโตะ: จิ้งจอกเก้าหางเป็นปีศาจที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและถูกนำมาใช้
อ้างอิงในนิยาย, มังงะ, อนิเมะ หรือภาพยนตร์ ในวัฒนธรรมป๊อปอยู่บ่อยครั้ง
แหล่งที่มาภาพ: http://thailand.fansshare.com/
ตำนานเรื่องของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดอยู่ในหนังสือเรื่อง ‘โอโทงิ โซชิ’ ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมตำนานนิทานต่างๆ จำนวน 350 เรื่อง เขียนขึ้นเป็นร้อยแก้ว โดยมีภาพเล่าเรื่องประกอบ ทั้งแบบเป็นเล่มและม้วนหนังสือ
หนังสือ โอโทงิ โซชิ ถูกเรียบเรียงขึ้นในยุคมุโรมาชิ (ระหว่าง พ.ศ. 1935-2116) ร่วมสมัยกับช่วงต้นจนถึงกลางยุคกรุงศรีอยุธยาของประวัติศาสตร์ไทย แต่ได้เก็บความเรื่องราวตำนานที่เก่าแก่กว่านั้นเอาไว้ เช่น เรื่องของปีศาจจิ้งจอกนางนี้นั้นก็เก่าไปจนถึงช่วงปลายของยุคเฮอิอัน ซึ่งเก่าแก่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาราว 300 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ ในเอกสารจะระบุว่า เหตุการณ์เรื่องนางจิ้งจอกปลอมมาเป็นสาวงามนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1698 อันเป็นปีสุดท้ายรัชสมัยของจักรพรรดิโคโนเอะ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1685-1698) แต่กลับอ้างว่าเป็นเรื่องของจักรพรรดิโทบะ (ถึงแม้ว่าตอนนั้นอดีตจักรพรรดิองค์นี้จะยังมีชีวิตอยู่ก็เถอะ)
และนั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องเดียวที่ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานเรื่องนางปีศาจจิ้งจอกตนนี้ มีรายละเอียดแตกต่างไปจากตำนานที่มักจะเล่ากันอยู่ในปัจจุบันตามที่ผมเล่าให้ฟังมาตั้งแต่ต้นด้วย เพราะเรื่องราวอีกหลายส่วนก็ถูกแต่งเสริมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตำนานเรื่องนี้เป็นที่นิยมจึงมีการนำไปแสดงเป็นละครพื้นบ้าน รวมไปถึงละครหลวงในญี่ปุ่นมาโดยตลอด
เรื่องที่เห็นชัดๆ คือ ในหนังสือโอโทงิ โซชิ นั้นอ้างว่า นางจิ้งจอกไม่ได้มีหางมากมายถึง 9 หาง แต่มีเพียงแค่ 2 หางต่างหาก
ภาพที่ 3: ภาพวาดนายขมังธนูไล่ล่านางจิ้งจอกสองหาง ในต้นฉบับหนังสือโอโทงิ โซชิ
ต้นฉบับเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
แหล่งที่มาภาพ: https://rmda.kulib.kyoto-u.ac.jp/en/item/rb00013524/explanation/otogi_09
เล่ากันว่าที่กลายมาเป็นจิ้งจอกเก้าหางนี้ เพราะญี่ปุ่นรับอิทธิพลวรรณกรรมมาจากเรื่อง “ห้องสิน” ของจีน ซึ่งก็คือตำนานของเทพ, ปีศาจ รวมไปถึงการสร้างโลกตามความเชื่อในศาสนาเต๋าที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2100 ตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง ถ้าเทียบกับไทยก็อยู่ในช่วงระหว่างกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 จนถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ซึ่งตรงกันกับช่วงปลายสมัยมุโรมาชิของญี่ปุ่น แต่ในหนังสือโอโทงิ โซชิ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยเดียวกันนี้ ยังคงให้นางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ มีเพียงแค่สองหาง) ซึ่งก็ไม่น่าผิดไปจากนี้ เพราะนอกจากในห้องสินจะเล่าเรื่องปีศาจจิ้งจอกเก้าหางที่แปลงกายมาเป็นสนมรักของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซาง จนปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์โจวต้องมาปราบยุคเข็ญแล้ว ในเอกสารรุ่นหลังของญี่ปุ่นอย่าง หนังสือทามาโมะ โนะ โซชิ ที่พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2196 ยังระบุไว้ด้วยว่าที่จริงแล้ว นางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ นั้นก็คือปีศาจตนเดียวกันกับที่ไปล่มราชวงศ์ซางในจีน แถมยังเคยไปก่อเรื่องทำนองนี้ไว้ในอินเดียเอาไว้อีกด้วย
และก็เป็นหนังสือทามาโมะ โนะ โซชิ เล่มหลังสุดที่เริ่มมีการเชื่อมโยงเรื่องของนางจิ้งจอกตนนี้เข้ากับหินสังหารเซ็ตโชเซกิ โดยอ้างว่าพระภิกษุเก็นโนนั้นได้ไปปราบเจ้าหินสังหารเอาในช่วงก่อนยุคมุโรมาชิที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1935 เพียงเล็กน้อย (เทียบได้กับช่วงก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา) เพราะในหนังสือ โอโทงิ โซชิ นั้นเล่าว่าเมื่อนายฉมังธนูทั้งสองคนปราบนางจิ้งจอกสองหางได้แล้ว ก็นำซากศพกลับมาให้จักรพรรดิที่เกียวโต พร้อมกับนำไปทำเป็นของวิเศษต่างๆ เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องหินอะไรที่ไหน
ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง The Evolution of a Legend: A Comparative of a Character of Tamamo no Mae ของ เอียน สจ็วต เฟอร์กูสัน (Ian Stuart Ferguson) ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยโคโลราโด เมื่อ พ.ศ. 2555 ได้เสนอว่า พัฒนาการของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ ในตำนานเรื่องดังกล่าวที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยต่างๆ นั้น สัมพันธ์อยู่กับการขยายตัวของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น โดยพระภิกษุรูปต่างๆ นำเรื่องเล่าพื้นบ้านไปสอดแทรกธรรมะในศาสนาพุทธ แล้วยัดบทพูดเข้าใส่ปากนางจิ้งจอกว่า ไม่เห็นด้วยกับพระธรรมของพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะถูกปราบลงอย่างสิ้นซาก ด้วยพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา
และถ้าเป็นอย่างที่เฟอร์กูสันเสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้แล้ว หินใหญ่ก้อนที่ถูกผนวกเข้าไปในตำนานเรื่องนางจิ้งจอกนี้ในภายหลัง ก็คงเคยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่นที่บังเอิญตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบนาสึ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เสียชีวิตของนางจิ้งจอก แล้วถูกขมวดรวมเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อที่ปราบความเฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ในก้อนหินลงไปพร้อมๆ กับนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ นั่นเอง
ภาพที่ 4: ภาพจิ้งจอกเก้าหาง และนางทามาโมะ โนะ มาเอะ ในหนังสือเก่าตีพิมพ์เพื่อ พ.ศ. 2351
ต้นฉบับเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น
แหล่งที่มาภาพ: วิทยานิพนธ์เรื่อง The Evolution of a Legend: A Comparative of a Character of
Tamamo no Mae ของเอียน สจ็วต เฟอร์กูสัน
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ