Museum Core
3 เรื่องเกี่ยวกับ “สงกรานต์” ที่มักเข้าใจผิด
Museum Core
04 เม.ย. 65 2K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

         เทศกาลสงกรานต์นับเป็นประเพณีอย่างหนึ่งสำคัญของไทย และอีกหลากหลายวัฒนธรรมทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ อย่างไรก็ตาม มักจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทศกาลที่ว่านี้ อย่างน้อยก็ 3 ประเด็นเลยทีเดียว

 

 

ภาพที่ 1: เทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบัน

แหล่งที่มาภาพ: https://class2go.info/23

 

1. สงกรานต์เป็นปีใหม่อย่างไทยแท้?

          อันที่จริงแค่ชื่อ ‘สงกรานต์’ นี่ก็เป็นคำแขกแล้วครับ โดยเป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘สงฺกฺรานฺติ’ แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง

          ในหนังสือเก่า หลายครั้งเราพบคำว่า ‘ตรุษสงกรานต์’ คำว่า ‘ตรุษ’  มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกันคือคำว่า
‘ตฺรุฏ’ หมายถึงการ ‘ตัด’

           พูดง่ายๆ คือ คำว่า ‘ตรุษสงกรานต์’ หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (ตามคำโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วพระอาทิตย์ไม่ได้โคจร โลกของเราต่างหากที่กำลังโคจรอยู่ทุกขณะจิต) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง

           

            ส่วน ‘ราศี’ นั้น หมายถึงการแบ่งขอบฟ้าออกเป็นช่อง 12 ช่องเท่าๆ กัน แต่ละช่องมีดาวจักรราศีครองอยู่ โดยพระอาทิตย์จะอยู่ช่องละ 30 วัน เคลื่อนย้ายไปทั้งปีครอบทั้ง 12 ช่องคือ ครบ 1 ปี

            พระอาทิตย์จึงย้ายราศีทุกเดือน โดยการย้ายแต่ละครั้งก็ตกราววันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน พระอาทิตย์เข้าไปอยู่ในราศีใด ก็เรียกว่าเป็นสงกรานต์ของราศีนั้น เช่น เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก ‘มกรสังกรานติ’ (มกรสงกรานต์) เป็นต้น

            สำหรับในไทย และวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์นั้น ให้ความสำคัญเฉพาะกับการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ คือ
‘เมษสังกรานติ’ (เมษสงกรานต์) เพราะถือเป็น วันขึ้นปีใหม่ โดยนิยมเรียกว่า ‘มหาสงกรานต์’

           

            ส่วนที่นักปราชญ์สมัยก่อนกำหนด “วันมหาสงกรานต์” เป็นจุดเริ่มต้นและการแบ่งปี เพราะจุดดังกล่าวนี้คือจุดตัดระหว่างเส้นโคจรดวงอาทิตย์ (ซึ่งไม่มีอยู่จริงในทางวิทยาศาสตร์) ที่เรียกว่า “สุริยวิถี” กับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า โดยถือเอาวันที่กลางคืนกลับกลางวันมีระยะเวลาเท่ากัน เรียกว่า จุดราตรีเสมอภาค หรือวิษุวัต (Equinox)

            ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้เป็นของ made in India ที่ชนชาวอุษาคเนย์สมัยโบราณอิมพอร์ตเข้ามาพร้อมๆ กับเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู ดังนั้นเราจึงมีประเพณีการนับเอา ‘เดือนห้า’ เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แทนเดือนอ้ายอย่างที่เคยใช้มาก่อนรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามา

 

ภาพที่ 2: ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์

แหล่งที่มาภาพ: https://www.dongkhu.go.th/gallery/detail/4524

 

 

 

2. วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนผ่านของนักษัตร 12 ราศีประจำปี?

 

 

          คำว่า ‘นักษัตร’ เป็นคำที่ไทยยืมมาจากภาษาสันสกฤต มีความหมายถึง ‘ดาวฤกษ์’ (ซึ่งตามคติแขกมี 27 กลุ่มดาว) ดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกลุ่มของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น หนู (ชวด), วัว (ฉลู), เสือ (ขาล) และสัตว์ชนิดอื่นๆ ในกลุ่มนี้ทั้ง 12 ตัวเลย เพราะเจ้านักษัตรทั้ง 12 ที่ว่านี้ ไม่ได้มีที่มาจากดวงดาวบนท้องฟ้า การเอาคำศัพท์ของแขกมาใช้ในการเรียกชื่อ กลุ่ม 12 ราศีประจำปีนั้นจึงเป็นเรื่องที่ออกจากผิดฝาผิดตัว เพราะอันที่จริงแล้ว คติเรื่อง 12 ราศีประจำปีที่ว่านี้มีที่มาจากวัฒนธรรมจีนต่างหาก

 

          จีนมีตำนานเรื่องกำเนิดของนักษัตรทั้ง 12 นี้อยู่มากมาย แต่ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายที่สุดตำนานหนึ่งนั้นก็คือว่า ปราชญ์ท่านหนึ่งในราชสำนักของจักรพรรดิเหลือง หรือ ‘หวงตี้’ ผู้เป็นกษัตริย์ในตำนาน ควบตำแหน่งวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของจีนนั้น เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการนับ และลำดับเวลา

           ในตำนานเรื่องนี้ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า ที่นับปีชวดเป็นปีแรกสุดของลำดับนักษัตรนี้ก็เพราะว่า เป็นปีที่จักรพรรดิเหลืองลืมตาขึ้นมาดูโลก จึงตั้งไว้เป็นลำดับแรก นัยว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ

            ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ชาวจีนจะเรียก 12 นักษัตร ในสำเนียงซาวด์แทร็กแบบจีนแมนดารินว่า ‘หวงต้าวไต้’ เพราะถึงแม้ว่า คำว่า ‘หวง’ ซึ่งโดยปกติแปลว่า ‘สีเหลือง’ แต่ก็เป็นคำย่อที่หมายถึง “จักรพรรดิเหลือง” คือ “หวงตี้” ได้แบบไม่เคอะเขิน

 

            ในขณะที่คำว่า ‘ต้าว’ ในที่นี้หมายถึง ‘วิถี’ ส่วน ‘ไต้’ นั้นคือ ‘วัฏ’ รวมความแล้วจึงควรหมายถึง ‘วัฏวิถีของจักรพรรดิเหลือง’ มากกว่าที่เป็น ‘วัฏวิถีสีเหลือง’ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวจีนที่ยกคุณงามความดีเกี่ยวกับการประดิษฐ์ระบบ 12 นักษัตรให้กับยุคสมัย และราชสำนักของวีรบุรุษในตำนวนของพวกเขาอย่างจักรพรรดิเหลืองได้เป็นอย่างดี

          (ชุดเจ้าสัตว์ประจำปีทั้ง 12 ตัวของจีนนี้ จึงตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘zodiac’ ที่มีรากมาจากภาษาละตินว่า ‘zodiacus’ โดยมีความหมายว่า ‘วงโคจรของพวกสัตว์เล็กๆ’ มากกว่าคำว่า นักษัตร ในภาษาสันสกฤต เพราะนักษัตรทั้ง 12 ของจีนนั้นเป็นเรื่องของสรรพสัตว์ล้วนๆ)

 

           และก็คงเป็นเรื่องที่ประหลาดดี ถ้ารอบราศีประจำปีแบบจีนจะมาเปลี่ยนราศีเอากันในวันปีใหม่อย่างแขกที่รู้จักกันในชื่อ ‘วันมหาสงกรานต์’ ในจีนนั้นเขานับวันเปลี่ยนราศีกันใน ‘วันลิบชุน’ คือวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ตามปฏิทินสุริยคติของจีน ซึ่งมักตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่คติ 12 ราศีนี้ เมื่อรับเอามาจากจีน ชนชาวอุษาคเนย์ก็ปรับเปลี่ยนให้วันเคลื่อนราศี ต้องตรงกับปฏิทินจันทรคติของตนเอง คือเปลี่ยนกันที่วันแรกของ ‘เดือนอ้าย’

 

ภาพที่ 3: ลวดลาย 12 นักษัตรล้อมลายหยินหยาง ที่วัดชิงหยางกง ในลัทธิเต๋าเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_zodiac#/media/File:Daoist-symbols_Qingyanggong_Chengdu.jpg

 

 

3. สงกรานต์แต่ดั้งเดิมเป็นประเพณีที่ดีงาม และไม่มีความรุนแรงใดๆ?

          แน่นอนว่า ความเชื่อที่ว่านี้เกิดมาจากความคิดที่ว่าการสาดน้ำใส่กันอย่างรุนแรง เช่นที่เห็นๆ กันมาตลอดก่อนยุคโควิดปิดเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เดิมสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีเฉพาะการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น

          ผมเองก็ไม่มีหลักฐานเช่นกันว่า การสาดน้ำกันอย่างรุนแรงในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีหลักฐานว่าในเทศกาลสงกรานต์นั้น ก็ไม่ใช่ประเพณีโลกสวยอย่างที่มักมโนนึกกันนัก

          ประกาศว่าด้วยคนพาลเสพสุราในเวลาตรุษสงกรานต์ คัดจากหมายรับสั่ง ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. 2398) ในรัชกาลที่ 4 มีสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ต้องออกหมายรับสั่งอยู่ในประกาศฉบับเดียวกันนี้ว่า

           "(รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าเทศกาลตรุษสงกรานต์ ควรที่ราษฎรจะชักชวนทำบุญให้ทานกระทำการกุศลแล้วจึงชอบ นี่หาดังนั้นไม่ คนที่เป็นพาลสันดานหยาบชวนกันไปเสพสุราแล้วพากันไปเที่ยวตามถนนหนทาง พูดจาท้าทายกล้าหาญให้เกิดการก่อวิวาทชกตีกัน เพราะเสพสุราแล้วหาอยู่ในบ้านในเรือนของตัวไม่ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ผู้ใดผู้หนึ่งจะเสพสุราเมาสักเท่าใดก็มิได้ห้าม ด้วยสุรามีอากรอยู่แต่เดิม ครั้งจะห้ามเสียทีเดียวก็หาควรไม่ ถ้าผู้ใดเสพสุราแล้วก็ให้อยู่แต่ในบ้านในเรือนของตัว ห้ามอย่าให้ไปเที่ยวชกตีวิวาทตามถนนหนทาง ที่บ้านเรือนเขตแดนผู้อื่น เป็นอันขาดทีเดียว”

 

           แต่ประกาศชิ้นนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาทุเลาลงมากนัก เพราะแค่เพียง 3 ปีต่อมาก็มีประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์ ฉบับปี พ.ศ. 2401 นี้ ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ เช่นเดียวกับฉบับเมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

           "เป็นเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณยามตรุษสงกรานต์ ผู้ชายโดยมาก เป็นนักเลงบ้างมิใช่นักเลงบ้าง พากันเสพสุราเมามายไปทุกหนแห่ง แล้วก็ออกเที่ยวเดินไปในถนนแลชุมชนเข้าไปในวัดวาอาราม ก่อถ้อยความวิวาทชกตีฟันแทงกันหลายแห่งหลายตำบลนัก ทั้งในกำแพงพระนคร และนอกพระนคร เหลือกำลังที่นายอำเภอแลกองตระเวณจะระวังดูแล"

 

            น่าสนใจก็ตรงคำว่า “เป็นเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณ” นี่แหละครับ

            จากความตรงนี้แสดงให้เห็นว่า โดยส่วนพระองค์เอง รัชกาลที่ 4 ก็ทรงทราบอยู่แก่ใจว่าประเพณีแต่ดั้งเดิมที่เป็นกันมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เป็นช่วงเวลาของการปลดปล่อย ดังนั้นหากจะไปคิดเพียงเรื่องผลประโยชน์จากอากรสุราเพียงอย่างเดียวก็ดูออกจะขาดมิติทางวัฒนธรรมไปอยู่มาก

           ความจากประกาศตอนนี้บอกให้เราทราบว่า ช่วงสงกรานต์ ผู้คนไม่เสพสุราในบ้าน แต่ออกมาเสพสุรากันตามท้องถนน ลักษณะอย่างนี้ใกล้เคียงกับเทศกาลอีกหลายๆ เทศกาลในวัฒนธรรมอื่นที่มีการปลดปล่อยความคับข้องผ่านวิธีการแสดงออกต่างๆ กันในงานเทศกาลผ่านพื้นที่สาธารณะ

           ดังนั้นถึงไม่ได้มีหลักฐานของการสาดน้ำมาแต่โบราณ แต่ประเพณีสงกรานต์ ก็ไม่ได้มีเฉพาะด้านที่สวยงาม อย่างที่มักเข้าใจกันไปเอง

 

ภาพที่ 4: ภาพพิมพ์รูปการละเล่นสาดน้ำในประเพณีปีใหม่ที่เมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.​ 2431

ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่า The Graphic ของสหราชอาณาจักร มีข้อความใต้ภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า

“ปีใหม่ของชาวพม่า มุมที่อบอุ่นในเมืองมัณฑเลย์ระหว่างเทศกาลสาดน้ำ”

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ