Museum Core
พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี Museo Archeologico Nazionale di Napoli (MANN)
Museum Core
04 เม.ย. 65 830
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

          พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี (Museo Archeologico Nazionale di Napoli (MANN)) เป็นที่รวมของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่มีคุณค่าสำคัญยิ่งของโลก มีความโดดเด่นทั้งด้านยุคสมัย คุณภาพทางวิชาการ ความงามทางศิลปะ และความหาได้ยากยิ่ง บ่อยครั้งเราจึงได้ยินคำว่า เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบ และ/หรือ มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

 

          ผู้เขียนได้ชมการจัดแสดง 4 คอลเลคชั่น (collection - ชุดสะสม) ได้แก่ ฟารเนเซคอลเลคชั่น  (Farnese collection) เฟรสโกคอลเลคชั่น (Fresco collection) โมเสกคอลเลคชั่น (Mosaics collection) และห้องลับ (Secret cabinet) ผู้เขียนไม่อาจพูดว่าได้ชม”ทั้งหมด”ของแต่ละชุดสะสม เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลย มันมีจำนวนมหาศาล และผู้เขียนจะเลือกบางชิ้นมาเล่าให้ฟัง

           ในตอนนี้เรามาทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์นี้กันก่อน

           ข้อสงสัยแรกๆของผู้เขียนคือเหตุใดชุดสะสมชั้นเยี่ยมจำนวนมากจึงมาอยู่ที่กรุงนาโปลี  ในกรณีของชุดสะสมจากแหล่งขุดค้นวิสุเวียส (Visuvius ภูเขาไฟที่ระเบิดเมื่อปี ค.ศ.79 ทำให้เมืองโรมัน เช่น เมืองปอมเปอี (Pompeii) และเฮอร์คิวลานิอุม (Herculaneum) จมอยู่ใต้เถ้าถ่าน) พอจะเข้าใจได้เพราะอยู่ในพื้นที่ของแคว้นคัมปาเนีย (Campania) ที่มีนาโปลีเป็นเมืองหลวง

           เมื่อสืบย้อนขึ้นไป ต้นสายปลายเหตุเกิดเมื่อเกือบ 500 ปีมาแล้ว

 

          สันตะปาปาพอลที่ 3 เป็นคนตระกูลฟารเนเซรุ่นที่ 3  แรกเริ่มเดิมทีท่านสะสมโบราณวัตถุเป็นงานอดิเรก ของที่สะสมก็ยังไม่ถึงกับมากมายนัก จนกระทั่งวันหนึ่งที่ท่านดำริที่จะขยายต่อเติมวังในกรุงโรมให้โอ่อ่าสมฐานะ และในสมัยนั้นถ้าต้องการวัสดุก่อสร้างก็จะขอสัมปทานไปขุดเอาจากซากโบราณสถานของโรมัน  ท่านสันตะปาปา(ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยตำแหน่ง) เลือกที่จะขุดโรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลา (Baths of Caracalla) ที่จริงโรงอาบน้ำนี้เคยมีผู้ได้สัมปทานไปก่อนหน้าหลายครั้ง แต่ไม่ค่อยพบอะไรมากนัก สันตะปาปาพอลก็เพียงแต่หวังเบาๆว่านอกจากจะได้อิฐหินดินปูนและเสาโบราณไปสร้างวัง คงจะมีศิลปวัตถุดีๆติดไม้ติดมือมาเข้าชุดสะสมของตนสักสองสามชิ้น การขุดค้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1545-1546

 

          ปรากฎว่ากรุแตก …คงเป็นวาสนาและภารกิจของตระกูลฟารเนเซที่ต้องเป็นผู้รวบรวมชุดสะสมอันยิ่งใหญ่  และนี่เป็นที่มาของชุดสะสมประติมากรรมหินอ่อนของแท้จากยุคโรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดชุดหนึ่งของโลก ในบริเวณนั้นยังขุดพบสิ่งอื่นๆด้วย เช่น ประติมากรรมสำริด เหรียญ ตะเกียง เครื่องประดับอีกเป็นจำนวนมาก  และภายหลังจากยุคของสันตะปาปาพอลที่ 3 ก็มีการขุดค้นอีกหลายครั้งและได้พบโบราณวัตถุศิลปวัตถุอีกมากมายซึ่งกระจายไปอยู่ในมือนักสะสม กรุงวาติกัน และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ  อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวไว้ว่าชุดสะสมของตระกูลฟารเนเซจากโรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลาเป็นรากฐานที่สำคัญอันหนึ่งของศิลปะในยุคเรเนสซองส์ (Renaissance ค.ศ.1450 -1600)

 

ภาพที่ 1 ส่วนหนึ่งของประติมากรรมหินอ่อนในชุดสะสมของฟารเนเซ ขวามือสุดคือจักรพรรดิคาราคัลลา (Emperor Caracalla) ผู้สร้างโรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลา (Baths of Caracalla)

 

          หากไม่กล่าวถึงโรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลาสักเล็กน้อยก็คงไม่ได้ โรงอาบน้ำนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.216-235  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโรม ทำไมของตกแต่งโรงอาบน้ำจึงกลายเป็นมรดกตกทอดที่สำคัญ? ก็เพราะมันไม่ใช่โรงอาบน้ำสาธารณะธรรมดาๆอย่างที่ผู้เขียนนึกภาพเมื่อยืนอ่านคำบรรยายนิทรรศการอยู่ในห้องฟารเนเซ เมื่อกลับมาค้นคว้าต่อก็พบว่านี่มันอภิมหาโรงอาบน้ำชัดๆ  มันเป็นโรงอาบน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกรุงโรม ใหญ่ขนาดไหนโปรดนึกถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในปัจจุบัน  โรงอาบน้ำสำหรับชาวโรมันก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานไม่ต่างจากศูนย์การค้าในสมัยนี้ คือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สังสรรค์ เล่นฟิตเนส บริโภคอาหารและบริการต่างๆ  ในส่วนของบริการอาบน้ำสามารถรองรับคนได้ 1,600 คนในคราวเดียว หรือประมาณวันละ 6,000-8,000 คน  คาราคัลลาเป็นโรงอาบน้ำที่หรูหราที่สุดในโรม การอาบน้ำของชาวโรมันมีความประณีตซับซ้อนกว่าอาบอบนวดเป็นไหนๆ  และมัน...ฟรี เพราะจักรพรรดิมอบความสุขให้พลเมืองของพระองค์  และแน่นอนว่ามีแรงงานนับหมื่นที่ใช้หยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และชีวิตตลอดทั้งวันทั้งคืนอยู่ใต้โรงอาบน้ำคาราคัลลาซึ่งนับเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโรมในยุคนั้น

 

          กลับมาที่ตระกูลฟารเนเซ การค้นพบที่โรงอาบน้ำคาราคัลลากระตุ้นดีเอนเอนักสะสมของตระกูล การตกแต่งบ้านและสวนด้วยประติมากรรมจากยุคโรมันแสดงถึงความภาคภูมิใจในประวัติของต้นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากนักรบโรมัน  สันตะปาปาอุทิศห้องชั้นล่างสองห้องใหญ่ๆของวังฟารเนเซให้เป็นห้องจัดแสดง และต้อนรับผู้มีชื่อเสียงที่มาเยี่ยมชมคนแล้วคนเล่าด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจ 

 

 

ภาพที่ 2 เครื่องประดับ cameo โดยทั่วไปแล้วจะเป็นรูปไข่ นิยมแกะสลักเป็นรูปเหมือนบนหินที่มีสีต่างกัน

ในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์มีจำนวนหลายพันชิ้น ส่วนใหญ่เป็นชุดสะสมของฟารเนเซ

นอกจากนั้นมาจากปอมเปอีและเฮอร์คิวลานิอุม

 

 

          ด้วยเงินและอำนาจที่มี สันตะปาปาพอลที่ 3 และทายาทอีกหลายคนในรุ่นต่อๆมาของตระกูลแสวงหาของสะสมเลอค่าอย่างไม่หยุดหย่อน ของสะสมแตกแขนงไปในหลายสาขาเช่นภาพเขียน อัญมณี เหรียญโบราณ พวกเขาทำทุกวิถีทางตั้งแต่การซื้อขายแลกเปลี่ยน การขุดค้น การต่อรองด้วยความสัมพันธ์หรืออำนาจ การยึดทรัพย์หรือริบเอามา ตระกูลฟารเนเซอยู่มาจนถึงปี ค.ศ.1731 ก็สิ้นสุดสายตระกูลฝ่ายชาย ทรัพย์สมบัติไปตกอยู่กับเอลิซาเบธ ฟารเนเซ (Elisabeth Farnese) ซึ่งไปแต่งงานกับพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งราชวงศ์บูร์บงของสเปน แต่อย่าได้หวังว่ามรดกตระกูลฟารเนเซจะไปล่มในหนองของประเทศสเปน
เอลิซาเบธให้กำเนิดบุตรชายในปี ค.ศ.1716 (15 ปีก่อนที่สายสกุลฝ่ายชายคนสุดท้ายของตระกูลฟารเนเซจะเสียชีวิต) ในปี ค.ศ.1734 พออายุครบ 18 เขาก็ได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งราชอาณาจักรนาโปลี (เล่าแบบรวดรัดสุดๆ) สิ่งแรกๆที่ทรงทำคือขนย้ายโบราณวัตถุศิลปวัตถุจากวังและคฤหาสน์ต่างๆของฟารเนเซมายังนาโปลี นำมาเก็บรักษาและจัดแสดงที่พระราชวังคาโปดิมงเต (Royal Palace of Capodimonte (Reggia di Capodimonte ในภาษาอิตาเลียน) ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวและคอพิพิธภัณฑ์ไม่ควรพลาด) แต่ประติมากรรมหินอ่อนยังคงอยู่ที่วังฟารเนเซในกรุงโรมต่อมาอีกกว่า 50 ปี จึงมีการขนย้ายในช่วงปี ค.ศ.1786-1789 ในสมัยพระราชโอรสคือพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 4 ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักแต่ไม่เป็นผลของสำนักสันตะปาปา ประติมากรรมส่วนใหญ่นำไปจัดแสดงไว้ที่พระราชวังคาโปดิมงเตด้วยเช่นกัน

 

 

ภาพที่ 3 เฮอร์คิวลิสอุ้มลูกชาย-ฮิลลุส (Hyllus) มองไปยังเนสซัส (Nessus เป็นเซนทอร์ (centaur)) ซึ่งกำลังทำท่า

บอกความลึกของแม่น้ำ จากนั้นเขาจะพานางดีอาไนรา (Deianeira) ภรรยาของเฮอร์คิวลิสข้ามน้ำและจะพาหนีไป

เฮอร์คิวลิสจึงยิงด้วยธนูพิษ ก่อนตายเนสซัสหลอกให้นางดีอาไนราเก็บเลือดของเขาไว้เป็นยาเสน่ห์

แต่ที่แท้มีพิษ ภายหลังเป็นเหตุแห่งความตายของเฮอร์คิวลิส

(เฟรสโกจากบ้านของเซนทอร์ House of the Centaur ปอมเปอี - นักโบราณคดีตั้งชื่อบ้านตามงานชิ้นเอกที่ขุดพบ)

 

          ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ มีการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญเกิดขึ้น คือเมืองเฮอร์คิวลานิอุม (Herculaneum - 1738)  ปอมเปอี (Pompeii - 1748) และสตาเบีย (Stabiae - 1749) ยิ่งการขุดค้นดำเนินไปก็ยิ่งพบสิ่งก่อสร้างตกแต่ง โบราณวัตถุและอินทรีย์วัตถุจำนวนมากมาย สิ่งต่างๆถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เฮอร์คิวลานิอุม (Herculaneum Museum) ในบริเวณพระราชวังปอรติชิ (Reggia di Portici) ซึ่งมีความเหมาะสมเพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งขุดค้น  แต่ก็ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับและใกล้ชายทะเลมากเกินไป

 

          ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 4 ในปี ค.ศ.1787 จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อย้ายของจากพระราชวังคาโปดิมงเตและพิพิธภัณฑ์เฮอร์คิวลานิอุม มาจัดแสดงไว้ด้วยกัน โดยการปรับปรุงและขยายพื้นที่อาคารเก่าของมหาวิทยาลัยนาโปลีให้เป็นพิพิธภัณฑ์  การปรับปรุงอาคารและการนำโบราณวัตถุเข้ามาเก็บและจัดแสดงดำเนินไปท่ามกลางมรสุมของการปฏิวัติฝรั่งเศสและการขยายอำนาจของนโปเลียน โบนาปาร์ต แต่ในที่สุดพิพิธภัณฑ์รอยัลบูร์บง (Royal Bourbon Museum ชื่อในขณะนั้น) ก็เปิดได้ในปี ค.ศ.1816

 

 

ภาพที่ 4 แสดงปลาหลายชนิดที่ยังคงมีให้จับได้ในอ่าวเมืองนาโปลีทุกวันนี้ ตรงกลางปลาหมึกกำลังสู้กับกุ้ง

นกกระเต็นอยู่ทางซ้ายเกาะอยู่บนก้อนหินกำลังจะโผจับเหยื่อ กรอบรูปนี้ก็สวยงามมาก เป็นดอกไม้และใบไม้ที่มีนก

หอยทาก และกามเทพองค์น้อยซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ (โมเสกจากบ้านของเฟาน์ (House of the Faun ปอมเปอี)

 

          หลังจากเปิดแล้วพระเจ้าเฟอร์ดินานด์และกษัตริย์องค์ต่อๆมาไม่ค่อยมีเวลาจะเอาพระทัยใส่มากนักเพราะต้องเผชิญปัญหาทางการเมืองการปกครองอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่วาระสุดท้ายของราชวงศ์บูร์บง เมื่อราชอาณาจักรล่มสลายลงและรวมเข้ากับสาธารณรัฐอิตาลี พิพิธภัณฑ์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

          ตลอดเวลากว่าสองร้อยปี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์นับสิบท่านต่างรับผิดชอบต่อการนำโบราณวัตถุล้ำค่ามหาศาลฝ่ามรสุมทางการเมืองและภัยสงคราม ไม่แต่เท่านั้นยังต้องพัฒนาระบบข้อมูลและการจัดเก็บ จัดหาชุดสะสมใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม ปรับปรุงการจัดแสดง และซ่อมแซมอาคารซึ่งมีปัญหายืดเยื้อตามเหตุปัจจัยของการนำอาคารเก่ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามวัตถุประสงค์ในการใช้สอยที่ต่างไปจากของดั้งเดิม

          ในตอนต่อไปผู้เขียนจะพาไปชมประติมากรรมในชุดสะสมของฟารเนเซ

 

แหล่งที่มาข้อมูล

Encyclopedia of the History of Classical Archaeology By Nancy Thomson de Grummond

 

เว็บไซต์ของราชวงศ์บูรบง https://realcasadiborbone.it/en/

 

ประวัติของพิพิธภัณฑ์ จากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ https://mann-napoli.it/storia-del-museo/

 

โรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลา

 

ชุดสะสมฟารเนเซจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ https://mannapoli.it/en/farnese-collection/

 

คู่มือพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี พิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1883

https://archive.org/details/natlmuseumnaplesed03monaiala/page/n3/mode/2up?view=theater

 

กระต่ายหัวฟู

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ