Museum Core
มองกรีกโรมันผ่านประติมากรรมสะสมของฟารเนเซ
Museum Core
04 เม.ย. 65 406
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

         อาคารพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี (Museo Archeologico Nazionale di Napoli) หันหน้าทางทิศใต้ เมื่อเดินขึ้นบันไดสูง ผ่านประตูทางเข้าสู่ส่วนต้อนรับ พิพิธภัณฑ์เรียกชั้นนี้ว่าชั้นที่ 0 (floor 0) ประติมากรรมในชุดสะสมของฟารเนเซจัดแสดงอยู่ที่ชั้นนี้ทางปีกขวาหรือปีกตะวันออกของอาคาร แต่เราจะเดินผ่านไปก่อน เพราะเราจะไปพบกับเทพแอตลาสผู้แบกท้องฟ้า ซึ่งอยู่ที่ชั้นที่ 1 (floor 1)

 

          เราจะเดินตรงไป ผ่านโถงกลางของชั้นที่ 0  ที่สุดทางมีบันไดที่สวยงามมาก ในช่องตรงชั้นพักบันไดมีประติมากรรมรูปพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 4 แห่งราชอาณาจักรนาโปลี (หรือพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งสองซิซิลี) ผู้อนุมัติให้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  จากชั้นพักบันไดจะวกกลับให้เราบ่ายหน้ากลับมาทางทิศใต้หรือด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง ในชั้นที่ 1 เราจะพบกับห้องโถงใหญ่ มันมีชื่อว่า ห้องโถงนาฬิกาแดด (The Hall of the Sundial) เทพแอตลาสคอยเราอยู่ที่ด้านในสุดของโถง
อันสง่างามนี้

 

แอตลาสผู้แบกท้องฟ้า (Farnese Atlas)

          แอตลาสเป็นแม่ทัพอยู่ในฝ่ายเทพไททัน (Titan) ซึ่งรบแพ้พวกเทพโอลิมเปียน (เทพซุส(Zeus)และเหล่าพี่น้อง) ในสงครามชิงความเป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ ก็เลยโดนสาปให้ต้องมาแบกท้องฟ้า แต่ท้องฟ้าที่ว่านี้มันคืออะไร?

 

ภาพที่ 1 ฟารเนเซแอตลาส (Farnese Atlas)

 

          ขอสารภาพว่าแต่ก่อนผู้เขียนไม่รู้เลย นึกว่าแอตลาสแบกโลกไว้ แต่พอไปเพ่งดูฟารเนเซแอตลาสใกล้ๆ อุต่ะ...นี่มันภาพกลุ่มดาวนี่นา แล้วโลกล่ะอยู่ที่ไหน ...โปรดจินตนาการลูกโลกลอยอยู่ในใจกลางของทรงกลมที่แอตลาสแบกอยู่ และเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

 

          ในสมัย 600-500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นที่ยอมรับและเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าโลกกลม ไม่ได้แบนอย่างที่เราในปัจจุบันเข้าใจว่าคนโบราณเชื่อเช่นนั้น แต่พวกเขา(ส่วนใหญ่)เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางและท้องฟ้านั้นเป็นทรงกลมไกลโพ้นซึ่งมีดวงดาวแปะติดอยู่บนผิวด้านในของมัน เรียกว่าทรงกลมท้องฟ้า (celestial globe) มันหมุนรอบโลกจากทิศตะวันออกไปตะวันตกโดยที่โลกอยู่นิ่งกับที่

 

          จากพื้นโลกเมื่อคนโบราณเฝ้าสังเกตดวงดาวพวกเขาคิดว่ากำลังมองดูสรวงสวรรค์ กลุ่มดาวต่างๆฉายร่างของเทพและสัตว์ในตำนาน เมื่อชาวกรีกมองดูดวงดาวบนท้องฟ้าพวกเขาพบว่ามีดาวสองประเภทที่มีพฤติกรรมต่างกัน คือ ดาวที่อยู่กับที่ (fixed stars) และ ดาวที่เคลื่อนที่ไปมา (wandering stars)

 

          ดาวส่วนใหญ่เคลื่อนที่อย่างช้าๆในทิศทางคงที่ตามการหมุนของทรงกลมท้องฟ้า - เหมือนเดิมทุกคืน  นี่คือดาวที่อยู่กับที่ซึ่งแปะอยู่บนทรงกลมท้องฟ้า มีดาวดวงหนึ่งที่แทบไม่เคลื่อนที่เลย คือดาวเหนือ เพราะมันอยู่ใกล้กับแกนเหนือของโลก  กลุ่มดาวบนทรงกลมท้องฟ้าที่เรารู้จักกันดีได้แก่กลุ่มดาวจักรราศี 12 ราศี  

 

          ดาวที่เคลื่อนที่ไปมา หรือดาวเคราะห์ (planet ในภาษากรีกเทียบเคียงได้กับคำ wanderer หรือผู้ท่องเที่ยวไป) ในสมัยโบราณเชื่อว่าคือเทพเจ้าที่เหาะเหินไปโน่นมานี่ มี 7 ดวงคือ ดวงจันทร์ (Moon) ดวงอาทิตย์ (Sun) ดาวพุธ (Mercury-Hermes) ดาวศุกร์ (Venus-Aphrodite) ดาวอังคาร (Mars) ดาวพฤหัส (Jupiter – Zeus) และดาวเสาร์ (Saturn) 

 

          ด้วยการสังเกต ความรู้ ความเชื่อ และพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ชาวกรีกจึงเริ่มสร้างโมเดลของทรงกลมท้องฟ้าขึ้นโดยยึดโยงกับทรงกลมและแกนของโลก  ทรงกลมท้องฟ้าใบแรกๆสร้างขึ้นมาเมื่อใดยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่เนื่องจากชาวกรีกเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการบันทึกความรู้และคัดลอกกันต่อๆมา จากเอกสารหลักฐานที่พอหลงเหลืออยู่ทำให้มีผู้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 600-500 ปีก่อนคริสตกาล

           อย่างไรก็ตาม ฟารเนเซแอตลาส (Farnese Atlas) เป็นรูปสลักหินอ่อนแอตลาสแบกทรงกลมท้องฟ้า (celestial globe) ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้มันคือหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่แสดงภาพของแผนที่กลุ่มดาวในความรู้ความเข้าใจของคนในยุคโบราณ มันมีอายุราวปี ค.ศ.150  คาดว่าเป็นของทำจำลองจากตัวดั้งเดิมซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี 125-55 ก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ก็เหมือนเรื่องอื่นๆในประวัติศาสตร์ ยังคงมีการถกเถียงกันและหลักฐานใหม่ ๆ อาจถูกค้นพบได้

 

ภาพที่ 2 ด้านหลังของทรงกลมท้องฟ้าของฟารเนเซแอตลาส

 

          สันตะปาปาพอลที่ 3 แห่งตระกูลฟารเนเซไม่ได้พบแอตลาสในการขุดค้นที่คาราคัลลา เขาซื้อต่อมาจากตระกูลบูฟาโล (del Bufalo)  สภาพที่มีผู้พบเห็นและบันทึกภาพไว้ก่อนหน้านั้นแอตลาสไม่มีทั้งแขนและขา ส่วนใบหน้าก็หายไป แต่ทรงกลมท้องฟ้าที่แบกอยู่บนไหล่อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ชำรุดไปเพียงเล็กน้อยและมีบางส่วนของมือของแอตลาสติดอยู่ ทำให้สามารถบูรณะต่อเติมขึ้นมาใหม่ดังที่เห็นกันในปัจจุบัน  ทรงกลมท้องฟ้าของฟารเนเซแอตลาสมีกลุ่มดาว 42 กลุ่มจากทั้งหมด 47 กลุ่มที่คนในยุคนั้นรู้จัก จินตนาการว่า 5 กลุ่มดาวที่เหลือซ่อนอยู่ในส่วนที่แนบกับไหล่และศีรษะของแอตลาส  ปัจจุบันจำนวนกลุ่มดาวที่ยอมรับโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (The International Astronomical Union - IAU) มี 88 กลุ่ม แต่ในสมัยก่อนคนยังไม่เดินทางไกลไปทางใต้เส้นศูนย์สูตรจึงยังไม่รู้จักกลุ่มดาวในท้องฟ้าในซีกโลกใต้

 

          ทีนี้เราจะเดินกลับลงมาที่ห้องฟารเนเซที่ปีกตะวันออกของชั้นที่ 0

 

ฟารเนเซเฮอร์คิวลิส (Farnese Hercules)

          เฮอร์คิวลิสผู้เหน็ดเหนื่อยท้อแท้ ยืนพักร่างสูงเกือบสิบฟุตของเขากับตะบองที่เป็นปุ่มปมซึ่งมีหนังสิงโตพาดทับอยู่ ตะบองปุ่มปมกับเสื้อคลุมหนังสิงโตเนเมียน (Nemean) ที่มีหัวกะโหลกของมันติดอยู่ด้วยเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของ
เฮอร์คิวลิส

 

ภาพที่ 3  ฟารเนเซเฮอร์คิวลิส (Farnese Hercules) กับผลแอปเปิ้ลทองคำในมือ

 

          สายตาของเฮอร์คิวลิสที่มองลงต่ำดูเหนื่อยหน่าย อาจเป็นเพราะเขาเพิ่งทำภารกิจที่หนักหนาเสร็จลง  ในมือขวาที่ไพล่อยู่ข้างหลังมีผลไม้ซึ่งก็คือผลแอปเปิ้ลทองคำจากสวนของพวกเฮสเพริดีส (Hesperides  เป็นนางไม้)  เรื่องเล่าที่ว่าเฮสเพริดีสเป็นลูกของใครและเฮอร์คิวลิสเอาแอปเปิ้ลทองคำมาได้อย่างไรมีหลายเรื่อง แต่ดูจากสายตาและท่าทางของรูปสลักนี้เขาอาจเพิ่งไปแบกท้องฟ้าให้กับแอตลาสเทพไททันที่เราเพิ่งไปเยี่ยมเยียนมาก่อนหน้า เพื่อให้แอตลาสไปเอาแอปเปิ้ลมาจากเฮสเพริดีส
สามนางที่เป็นลูกสาวของเขา ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนว่ามันไม่ค่อยจะน่าเชื่อว่าแอตลาสได้แอปเปิ้ลแล้วจะกลับมาหา
เฮอร์คิวลิสทำไม แถมยังโดนหลอกให้กลับไปแบกท้องฟ้าได้ง่ายๆเสียอีก เรื่องเล่านี้เป็นที่นิยมเพราะเป็นการเชิดชูเฮอร์คิวลิสว่า
มีพละกำลังเหนือมนุษย์ที่สามารถแบกท้องฟ้าไว้ได้ ...แม้จะมีเทพีเอธีนามาแอบช่วยก็ตามที

 

          ฟารเนเซเฮอร์คิวลิส (Farnese Hercules บ้างก็เรียก Weary Hercules หรือ Glycon Hercules และที่พิพิธภัณฑ์ติดป้ายชื่อไว้ว่า Hercules at rest) มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 บริเวณแท่นฐานจารึกไว้ว่าไกลคอน (Glycon) เป็นผู้สร้าง  ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเขาผู้นี้  แต่นักโบราณคดีเชื่อว่ารูปสลักนี้น่าจะทำจำลองขยายขนาดจากต้นแบบสำริดของลิซิปปุส (Lysippus) ประติมากรที่มีชื่อเสียงของกรีกในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล  ตอนที่พบฟารเนเซเฮอร์คิวลิสที่โรงอาบน้ำ
คาราคัลลาไม่มีส่วนหัว ไปพบอยู่ในบ่อน้ำแถวทรัสตีเวเร (Trastevere อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำไทเบอร์ห่างจากโรงอาบน้ำประมาณ 3 กิโลเมตร) และส่วนขาก็ขาดหายไป ตระกูลฟารเนเซจ้างกูกลิเอลโมแห่งปอร์ตา (Guglielmo della Porta (1500-1577) ศิลปินที่เชี่ยวชาญในการบูรณะซ่อมแซมประติมากรรม) ให้มาบูรณะซ่อมแซม เขาได้ไปตามซื้อส่วนหัวมาต่อ จัดทำส่วนขาที่ขาดหายไปทดแทนได้อย่างแนบเนียนจนได้รับคำชมเชยจากมิเกลันเจลโล (Michelangelo (1475-1564)) มีการขุดพบส่วนขาในเวลาต่อมาแต่ตกไปอยู่ในชุดสะสมของตระกูลบอรเกเซ (Borghese)  ภายหลังจึงได้กลับมาอยู่รวมกัน

 

ภาพที่ 4 เฮอร์คิวลิสที่มีหน้าตาเหนื่อยหน่าย และหัวสิงโตเนเมียน

 

          ฟารเนเซเฮอร์คิวลิสมีห้องจัดแสดงของตนเองอยู่ที่วังฟารเนเซ เรียกว่าห้องโถงของเฮอร์คิวลิส (Sala d'Ercole) เขายืนอยู่ที่นั่นหลายร้อยปีจนกระทั่งถูกย้ายไปนาโปลีในปี ค.ศ. 1786

 

           เมื่อชุดสะสมประติมากรรมหินอ่อนของฟารเนเซได้ย้ายไปอยู่นาโปลีแล้ว ในสมัยที่นโปเลียน โบนาปาร์ตมีอำนาจเขาต้องการรูปเฮอร์คิวลิสมาอยู่ในชุดสะสมของตนที่ปารีส ว่ากันว่ามีการเตรียมการขนย้ายอยู่หลายครั้งแต่เฮอร์คิวลิสก็ไม่ได้ไปปารีสเสียทีจนกระทั่งนโปเลียนหมดอำนาจลง  ไม่เช่นนั้นป่านนี้ฟารเนเซเฮอร์คิวลิสคงจะไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แล้ว

 

           ชาวโรมันนิยมทำจำลองประติมากรรมในยุคเฮเลนิสติกและเฮอร์คิวลิสเป็นเทพที่พวกเขานับถือมาก รูปเฮอร์คิวลิสในลักษณะเช่นนี้จึงไม่ได้มีชิ้นเดียว แต่ฟารเนเซเฮอร์คิวลิสก็มีความน่าทึ่งและจิตวิญญาณเฉพาะตัวที่ทำให้เป็นประติมากรรมหินอ่อนที่มีชื่อเสียงอย่างมากและได้กลายเป็นต้นแบบของการทำจำลองในยุคต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

Ancient Greek Astronomy and Cosmology; Library of Congress;  https://www.loc.gov/collections/finding-our-place-in-the-cosmos-with-carl-sagan/articles-and-essays/modeling-the-cosmos/ancient-greek-astronomy-and-cosmology

 

THE EPOCH OF THE CONSTELLATIONS ON THE FARNESE ATLAS AND THEIR ORIGIN IN HIPPARCHUS’S LOST CATALOGUE by BRADLEY E. SCHAEFER, Louisiana State University,  http://www.phys.lsu.edu/farnese/JHAFarneseProofs.htm

 

The Early Reception of The Farnese Atlas: An Addendum to Bober & Rubinstein’s Renaissance Artists and Antique Sculpture, by Kristen Lippincott, 2017.  https://www.thesaxlproject.com/assets/Uploads/Betozzi-Festschrift-29-May-2017.pdf

 

http://www.perseus.tufts.edu/Herakles/index.htm

 

https://www.wga.hu/frames-e.html?/html/p/porta/guglielm/hercules.html

 

https://joyofmuseums.com/museums/europe/italy-museums/naples-museums/national-archaeological-museum-naples/farnese-hercules/

 

 

กระต่ายหัวฟู

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ