Museum Core
เรื่องเล่าในประติมากรรม
Museum Core
27 เม.ย. 65 872
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

ภาพปกไดโอนิซุสและอิคาริออส (Dionysus and Ikarios : คริสต์ศตวรรษที่ 1-2) เทพไดโอนิซุส

และเหล่าผู้ติดตามยกขบวนไปเยี่ยมเยียนอิคาริออสที่บ้าน เพื่อสอนวิธีปลูกองุ่นและทำไวน์

จากภาพนี้เราได้เห็นตัวละครต่างๆ การแต่งกาย เครื่องดนตรี การตกแต่งบ้านเรือน โต๊ะสามขา

และอาหารการกินในสมัยนั้น (ประติมากรรมในชุดสะสมของตระกูลฟารเนเซ

จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี (Museo Archeologico Nazionale di Napoli))

 

 

          ประติมากรรมโดยส่วนใหญ่มักมีเรื่องเล่าในตัวของมันเอง ประติมากรรมที่มาแบบเดี่ยว เช่น พระพุทธรูป รูปเทพ/เทพี รูปครึ่งตัวบุคคลสำคัญ ต่างก็มีประวัติเฉพาะตัว  ประติมากรรมบางรูปก็น่าสงสาร เพราะคงทำขึ้นมาเพื่อประดับตกแต่งเท่านั้น พิพิธภัณฑ์เลยไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไรจึงติดป้ายไว้ว่า ชายหนุ่ม หญิงสาว เด็ก ทหาร อะไรทำนองนี้ก็มีอยู่มาก แต่มีประติมากรรมอีกพวกหนึ่งที่มาเป็นกลุ่ม บางทีมีผู้เรียกว่าประติมากรรมหมู่ เพราะประกอบด้วยตัวละครมากกว่าหนึ่งคน มีฉากซึ่งแสดงสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ มีสัตว์ที่บางทีก็เป็นตัวละครในเรื่อง บ้างก็ใส่เข้ามาเพื่อเสริมรายละเอียดอื่นๆตามความเชื่อ

 

          เมื่อผู้เขียนไปชมประติมากรรมในชุดสะสมของตระกูลฟารเนเซ (Farnese) ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี (Museo Archeologico Nazionale di Napoli)  ผู้เขียนรู้เพียงว่านี่เป็นชุดสะสมที่สำคัญยิ่งชุดหนึ่งของโลก ไม่ได้รู้จักหรือมุ่งไปดูประติมากรรมชิ้นไหนเป็นพิเศษ แต่มีประติมากรรมหมู่ 2 ชุดที่ดึงดูดความสนใจของผู้เขียน ชุดหนึ่งชื่อว่าฟารเนเซบุล (Farnese bull หรือ Toro Farnese) เป็นประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่น่าตื่นตา กับอีกชุดหนึ่งเป็นรูปนักรบกับเด็ก ที่เมื่อเดินวนดูรอบๆแล้วรู้สึกว่าน่ากลัว

 

 

ภาพที่ 1 ฟารเนเซบุล (Farnese Bull) แอมฟิออนและเซธุสจับนางดีรเช่มัดกับเขาวัว มีนางแอนทิโอเปยืนดูอยู่

 

ฟารเนเซบุล (Farnese Bull) การลงโทษนางดีรเช่ (Dirce’s punishment)

 

          ฟารเนเซบุลเป็นกลุ่มประติมากรรมหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ทำจากหินอ่อนขนาดใหญ่ชิ้นเดียว น้ำหนักในปัจจุบันของมันไม่ต่ำกว่า 37 ตัน นักโบราณคดีคาดว่ามันแกะสลักจากหินอ่อนขนาด 12 ฟุต x 9 ฟุตและหินส่วนที่ถูกแกะออกไปน่าจะคิดเป็นน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 130 ตัน

          ประติมากรรมแสดงเรื่องราวส่วนหนึ่งของตำนานเมืองธีบส์ (Thebes เมืองในกรีซ คนละเมืองกับในอียิปต์) นางแอนทีโอเป (Antiope) เป็นลูกสาวของกษัตริย์นิคเตอุสแห่งแคดเมีย (Nycteus of Cadmea แคดเมียเป็นชื่อเดิมของเมืองธีบส์)  เทพซุสล่อลวงนางไปสมสู่จนนางตั้งครรภ์ทำให้บิดานางโกรธมาก นางหนีไปอยู่กับกษัตริย์เอโปเปอุสแห่งซีออน (Epopeus of Sicyon)

 

         นิคเตอุสฆ่าตัวตายด้วยความอับอาย และสั่งเสียให้ไลคุส (Lycus) ยกทัพไปตีเมืองซีออน  ไลคุสสังหารเอโปเปอุสแล้วจับตัวนางแอนทีโอเปกลับมา ระหว่างทางนางคลอดบุตรฝาแฝด ไลคุสบังคับให้ทิ้งเด็กไว้ให้ตาย แต่คนเลี้ยงแกะเก็บเด็กทั้งสองมาเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่มมีนามว่าแอมฟิออนและเซธุส (Amphion, Zethus)

         ส่วนนางแอทีโอเปถูกขังเป็นทาสในวังของไลคุส  นางดีรเช่ (Dirce) ภรรยาของไลคุสข่มเหงรังแกนางเป็นเวลาหลายปี  ในที่สุดนางหนีไปหาลูกชาย แล้วชายหนุ่มทั้งสองจึงมายังแคดเมีย สังหารไลคุสและจับนางดีรเช่มาชดใช้การกระทำของตนโดยผูกไว้กับเขาวัวป่าให้มันลากและเหยียบย่ำจนตาย แอมฟิออนกับเซธุสได้ครองเมืองแคดเมีย สร้างกำแพงและประตูเมืองใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองธีบส์

 

 

ภาพที่ 2 ฟารเนเซบุล

 

         เนื่องจากนางดีรเช่บูชาเทพไดโอนิซุส (Dionysus) เทพจึงบันดาลให้เกิดน้ำผุดขึ้น ณ จุดที่วัวทิ้งร่างไร้วิญญาณของนางไว้ น้ำพุแห่งนั้นยังคงอยู่ให้ใช้สอยตราบจนทุกวันนี้ ในบริเวณเมืองโบราณธีบส์มีแหล่งน้ำเช่นนี้อยู่มากมายต่างตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในตำนาน แหล่งน้ำที่สมบูรณ์ทำให้เมืองธีบส์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณนี้สามารถตรวจสอบอายุไปได้ถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล

         และธีบส์ยังเป็นบ้านเกิดของเฮอร์คิวลิสด้วย เมืองธีบส์เป็นเมืองโบราณของกรีซอีกเมืองหนึ่งที่ยากจะแยกแยะว่าเทพปกรนัมสิ้นสุดลงตรงไหนและประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด

 

         หลังจากการขุดค้นพบประติมากรรมฟารเนเซบุลในบริเวณโบราณสถานโรงอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลา (Baths of Caracalla) ในปี ค.ศ.1545  มันถูกนำมาตั้งไว้ในสวนของวังฟารเนเซซึ่งอยู่ติดแม่น้ำไทเบอร์  มิเกลันเจลโลมีโครงการที่จะดัดแปลงมันให้เป็นน้ำพุตกแต่งบริเวณสวน แต่สิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น ฟารเนเซบุลยังคงอยู่ภายใต้เพิงในสวนมาจนถูกย้ายไปนาโปลีในปี ค.ศ.1787  และถูกแยกออกไปอยู่ที่วิลล่าริอาเลที่เคียยา (Villa Reale, Chiaia) เพื่อใช้ตกแต่งไว้ตรงกลางน้ำพุจนกระทั่งปี ค.ศ.1826 จึงได้ย้ายมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาตินาโปลี

 

อคิลลิสและทรอยลุส

 

          เมื่อสัก 20 ปีก่อน ผู้เขียนได้ดูหนังเรื่อง Troy ที่มีพระเอกแบรด พิตต์ในวัยหนุ่มเปรี๊ยะเล่นเป็นอคิลลิส เป็นหนังที่ผู้เขียนชอบมากแม้บทหนังจะทำเป็นลืมเหล่าทวยเทพที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์แล้วทำให้เป็นหนังดราม่าสงครามระหว่างมนุษย์ และแม้ว่าอคิลลิสในเรื่องนี้จะมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนแต่ก็ยังเป็นพระเอก ใครเลยจะไปนึกว่าวันหนึ่งจะได้ไปเห็นพระเอกทำฆาตกรรมเด็กด้วยหลักฐานชิ้นที่อุตส่าห์คงทนถาวรมาเกือบสองพันปี

 

 

ภาพที่ 3 อคิสลิสกับทรอยลุส 

 

          อคิสลิสกับทรอยลุส (Achilles and Troilus) เป็นประติมากรรมรูปนักรบจับข้อเท้าเด็กชายพาดบ่าเอาหัวห้อยลง เด็กนั้นตายแล้ว มีรอยแผลที่หน้าอกและมีรอยเลือดไหลด้วย สีหน้าท่าทางของนักรบดูกระด้างเย็นชา ลักษณะการจับขาเด็กก็ไม่ต่างจากการจับขาสัตว์อะไรสักตัวที่เพิ่งล่าสำเร็จ พิพิธภัณฑ์ติดป้ายรูปนี้ว่า “นักรบกับเด็ก (Warrior with child) งานโรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2-3” 

 

          ทรอยลุส (Troilus) เป็นโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์พริแอมและราชินีเฮคูบาแห่งทรอย (King Priam และ Queen Hecuba of Troy)  มีคำทำนายว่าทรอยจะไม่มีวันล่มสลายถ้าทรอยลุสอายุครบ 20 ปี  การกำจัดทรอยลุสจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่พวกกรีกจะต้องทำให้สำเร็จก่อนจะพิชิตกรุงทรอย

 

          อคิลลิสสืบทราบมาว่าเด็กชายทรอยลุสมักพาม้าไปกินน้ำจากบ่อที่อยู่ใกล้วิหารเทพอพอลโล เขาจึงไปซุ่มคอยอยู่ แล้วลงมือสังหารเมื่อทรอยลุสลงจากหลังม้าและเดินไปที่บ่อน้ำไม่ทันระวังตัว โปลิเซน่า (Polyxena) น้องสาวของทรอยลุสในท้ายที่สุดก็เสียชีวิตเพราะอคิลลิสด้วย ในเรื่องเล่าบางสำนวนก็ว่าทรอยลุสหนีเข้าไปวิหารเทพอพอลโลและถูกสังหารที่นั่น

 

          เรื่องที่ทรอยลุสถูกอคิลลิสฆ่าด้วยเหตุสงครามเมืองทรอยนั้นไม่ค่อยจะปรากฏในวรรณกรรมเท่าไหร่  แม้แต่ในอีเลียดก็กล่าวถึงสั้นๆและไม่มีรายละเอียด หลักฐานการฆาตกรรมเด็กของวีรบุรุษผู้นี้มักจะปรากฏอยู่ในรูปแบบอื่นมากกว่า ฉากนี้ได้รับความนิยมในกรีกยุคโบราณ มีหม้อและไหที่วาดภาพอคิลลิสซุ่มโจมตีทรอยลุสขณะกำลังให้น้ำม้าของเขาที่น้ำพุและภาพอคิลลิสกำลังไล่ตามเด็กชาย (จัดแสดงที่บริติชมิวเซียม)

 

           ยังมีภาพฉากสังหารบนเครื่องปั้นดินเผาไคลิกซ์ (kylix ภาชนะก้นตื้นปากกว้างมีหูจับสองด้านและมีก้านฐานสำหรับวาง ใช้สำหรับใส่และดื่มไวน์) ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติออรเวียโต (Museo Archeologico Nazionale di Orvieto อยู่ทางตอนกลางของอิตาลี) โดยพื้นที่ที่พบและช่วงเวลาเป็นยุคสมัยของพวกอีทรัสคัน (Etruscan อารยธรรมบริเวณคาบสมุทรอิตาลีสมัย 800-500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการผสมกลมกลืนมายังกรีกและมาจนถึงยุคโรมันตอนต้น) เรื่องการสังหารเด็กชายทรอยลุสเป็นที่นิยมในพวกอีทรัสคันเพราะยังพบภาพวาดเช่นนี้ในจิตรกรรมฝาผนังในสุสานกระทิง (Tomb of the Bulls) ใกล้เมืองทาร์ควิเนีย (Tarquinia)อีกด้วย

 

           หลักฐานต่างๆที่ตกทอดมา ทำให้เราได้รู้เห็นว่ากรีกและโรมันรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ นำเรื่องราวมาทำเป็นประติมากรรมประดับตกแต่งสถานพักผ่อนหย่อนใจเช่นโรงอาบน้ำสาธารณะ และยังจารึกไว้ในภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการเฉลิมฉลอง (ถ้วยไวน์) เหตุใดภารกิจสังหารเด็กคนหนึ่งที่ไปให้น้ำม้าเพียงลำพังจึงต้องใช้นักรบระดับอคิลลิส  บางทีเขาอาจจำเป็นต้องยินยอมไปทำภารกิจสำคัญที่ไม่มีผู้ใดอยากทำ สีหน้าที่เย็นชาอาจเป็นการข่มความรู้สึกไว้ก็เป็นได้ ผู้เขียนมานึกดูก็เริ่มรู้สึก(เข้าข้างอคิลลิส)ว่ายังไงอคิลลิสก็ฆ่าเด็กหนึ่งคนเพราะสาเหตุที่ความเป็นตายของเขามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องอ้างอิงคำทำนายก็อาจคาดได้ว่าหากทรอยลุสโตขึ้นเป็นชายหนุ่มที่เก่งกล้าและมีความเป็นผู้นำก็ย่อมมีผลต่อความเข้มแข็งของเมืองทรอย  ต่างจากในปัจจุบันที่ดูเผินๆจะมีมนุษยธรรมอันประณีตขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เอาเข้าจริงก็ยังทำสงครามชิงแผ่นดินกันโดยไม่สนใจว่าลูกเล็กเด็กแดงจะบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากมายยิ่งกว่าทรอยลุสเพียงคนเดียว

 

 

ที่มาของข้อมูล

https://seeartv.com/en/mann-naples-the-farnese-collection-and-the-history-of-the-museum.html

 

Encyclopedia of Greek and Roman Mythology, By Luke Roman, Monica Roman, page 58.    

https://books.google.co.th/books?id=tOgWfjNIxoMC&pg=PA59&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false

 

Josho Brouwers, ‘Achilles’ slaying of Troilus’, 2018, https://www.ancientworldmagazine.com/articles/achilles-slaying-troilus/

 

กระต่ายหัวฟู

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ