ใครๆ ก็รู้จักกันดีว่าจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งขององค์พระปฐมเจดีย์ หรือพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่นี่ยังเป็นดินแดนที่เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของยุคสมัยเริ่มต้นของพัฒนาการ “รัฐ” ที่เก่าแก่ของประเทศ (Early State) และเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำในภาคกลางเมื่อกว่า 1,400 ปีที่แล้ว หรือยุคสมัยทวารวดี ตามที่นักประวัติศาสตร์ได้ชำระและบรรจุเนื้อหาไว้ในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์
ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ยุคสมัยทวารวดี นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีการค้นพบทั้งวัตถุหลักฐานและสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรม ทั้งเริ่มมีการบันทึกข้อมูลด้วยจารึกใช้รูปแบบตัวอักษรโบราณ มีความเชื่อที่เป็นระบบระเบียบอย่างพุทธศาสนา มีการรวมกลุ่มคนเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่มีระบบโครงสร้างการปกครองที่ซับซ้อน เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มีพัฒนาการทางสังคมแบบก้าวกระโดดกว่ายุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สำนักงานศิลปากรที่ 2 ยังได้ทำการขุดสำรวจ ขุดแต่ง ทั้งเพื่อการบูรณะซ่อมแซมและศึกษาแหล่งโบราณคดีวัดพระงาม ที่ตั้งอยู่ภายในเขตตัวเมืองและได้ค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ที่นำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์เพื่ออธิบายอดีตยุคสมัยทวารวดีในจังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้นอีกหลายชิ้น แน่นอนว่า ไม่มีที่ไหนจะเป็นแหล่งที่ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้ดีที่สุดเท่ากับ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการค้นพบในพื้นที่ของจังหวัดนครปฐม
ทว่า หลายคนที่เคยไปที่นครปฐมอาจสับสนเล็กน้อยว่าพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บริเวณไหนในเขตวัดพระปฐมเจดีย์ ด้วยเคยมีบางคนหลงเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นคนละแห่งกัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ทางด้านฝั่งถนนขวาพระ มีสระน้ำอยู่ด้านหน้าเป็นจุดสังเกต
ภาพที่ 1 ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 อันที่จริงมีโบราณวัตถุค่อนข้างเยอะ
แต่จัดแสดงได้เพียงบางส่วนที่เป็นวัตถุชิ้นสำคัญ ส่วนที่เหลือเก็บรักษาไว้ที่คลังส่วนกลาง หรือจัดแสดงไว้
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้เขียนชอบประวัติศาสตร์และศิลปะสมัยทวารวดีมากเป็นพิเศษ และเคยมาเยี่ยมชมที่นี่นับสิบครั้งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ได้เห็นรูปแบบนิทรรศการและการจัดแสดงทุกยุคสมัย ตั้งแต่การจัดวางธรรมดาในตู้ที่มีเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟนีออน จนปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีเนื้อหาที่เล่าเรื่องแบบเชื่อมโยงตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน กระทั่งเพิ่งปรับโฉมครั้งล่าสุดมาสู่รูปแบบนิทรรศการที่ใช้มัลติมีเดียในช่วงการระบาดของโรคโควิด และเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564)
มาดูโฉมใหม่ของนิทรรศการ ทวารวดี
ด้วยความจำกัดของขนาดพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่ไม่กว้างนัก พิพิธภัณฑ์เลยเลือกจัดแสดงเนื้อหาเป็นมุมเป็นโซนแทน เริ่มต้นจากคัดเลือกชิ้นโบราณวัตถุจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจัดแสดง ได้แก่ ขวานหินทั้งแบบหินกะเทาะ หินขัด เครื่องมือโลหะ กำไลหินที่กลมและขัดจนผิวมันเกลี้ยง ใบฉมวกที่ทำมาจากกระดูกสัตว์ เป็นต้น ซึ่งวัตถุชิ้นที่โดดเด่นมากในตู้นี้ คือ ภาชนะสำริดขนาดกลางที่มีรูปร่างคล้ายถุงหรือกระดึง ซึ่งเป็นวัตถุที่ค้นพบใหม่ และมีคำอธิบายเขียนว่า “…โดยในปัจจุบันวัตถุชิ้นนี้มีการค้นพบและเปิดเผยสู่สาธารณชนเพียง 7 ชิ้นในโลก” แค่ได้ดูสิ่งจัดแสดงในตู้แรกก็รู้สึกว้าวแล้ว
ภาพที่ 2 ภาชนะ หรือกระดึง ทำจากสำริด อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปทรงที่สวยงามมาก
ดูแล้วก็ยังให้เกิดความสงสัยว่าสมัยก่อนเอาไว้ใช้ทำอะไร ถ้าใช้บรรจุใส่ของเหลวแล้วมันตั้งวางอยู่ได้อย่างไร?
โซนถัดมาที่ห่างกันเพียง 2-3 ก้าว เป็นวัตถุจัดแสดงและเรื่องราวของจารึก หลักฐานชิ้นสำคัญที่ประจักษ์ชัดว่าคนในยุคทวารวดีรู้จักการเขียนบันทึกและมีตัวอักษรใช้กันแล้ว โดยแสดงตัวแผ่นหินจารึกที่ได้จากวัดพระงามที่เป็นรูปแบบอักษรภาษาสันสกฤตที่ยังคมชัดและมีข้อความระบุอย่างชัดเจนถึงชื่อ เมืองทวารวดี รวมถึงจารึกอื่นๆ ที่มีสาระกล่าวถึงการสร้างวัด ชิ้นส่วนของศาสนวัตถุ และคาถาเย ธมฺมาฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เมืองนครปฐมในสมัยโบราณเป็นเมืองขนาดใหญ่ และมีการยอมรับนับถือพุทธศาสนาเป็นความเชื่อหลักของสังคม ด้วยเหตุที่การสร้างศาสนสถานใช้เวลานานนับปีกว่าจะเสร็จจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ทั้งวัสดุก่อสร้าง จำนวนแรงงาน ช่างฝีมือ แรงปรารถนาที่แสดงศรัทธาของชนชั้นผู้ปกครอง นี่แค่วัตถุไม่กี่ชิ้นก็ทำให้เราได้คิดจินตนาการถึงสภาพสังคมสมัยโบราณได้ตั้งเยอะแยะ เหมือนที่นักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “เห็นของแล้วต้องมองเห็นคน”
ภาพที่ 3 จารึกวัดพระงาม กับหลักฐานชี้ชัดเรื่องชื่อเมืองทวารวดี
ความสนุกเริ่มเพิ่มมากขึ้นกับเกมอินเตอร์แอ็กทีฟ “ค้นหาใบหน้าชาวทวารวดี” ที่ชวนให้เราสแกนใบหน้าตัวเองเทียบค้นหาว่าตรงกับใบหน้าใดของชาวทวารวดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้ฉงนเล็กน้อยว่าเหมือนจริงเหรอ พร้อมกับโซนจัดแสดงวัตถุที่ขนรวมปูนปั้นที่ปรากฎใบหน้าบุคคลต่างๆ มาให้พินิจดูว่าหน้าตาที่เป็นลักษณะเด่นของชาวทวารวดีนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้แล้วยังมีเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และรูปแบบทรงผมด้วย
ภาพที่ 4 ปูนปั้นแสดงลักษณะใบหน้าและเครื่องประดับของชาวทวารวดีที่คล้ายคลึงกับโบราณวัตถุจริงที่ขุดค้นพบ
อีกโซนหนึ่งมีแอนิเมชันที่ทำให้เข้าใจเทคนิคการตัดหินสมัยโบราณที่ใช้เครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้นอย่างสิ่วเหล็ก ลิ่มไม้ ค้อนไม้ ก็สามารถตัดหินที่ว่าแกร่งออกเป็นชิ้นเป็นก้อน เพื่อนำมาใช้แกะสลักสร้างชิ้นงานที่แสดงถึงความเชื่อความศรัทธา ทั้งพระพุทธรูป ธรรมจักร และประติมากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา รวมถึงการใช้เหล็กหล่อเป็นรูปตัวไอแบบมีหางเพื่อเชื่อมต่อหินสองชิ้นให้ติดกัน นับเป็นภูมิปัญญาโบราณที่น่าทึ่งมาก
ภาพที่ 5 ธรรมจักรแกะสลักจากหินที่ลวดลายละเอียดประณีตจนอยากเห็นเครื่องมือของช่างแกะสลัก
ในโซนที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์จะเห็น “ธรรมจักร” แกะสลักจากหินที่ยังสมบูรณ์หลายชิ้นวางโชว์ไว้อย่างโดดเด่นเพื่ออวดให้เห็นว่านครปฐมในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ที่พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และกงล้อธรรมนี้ได้กลายมาเป็นรูปสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่บนธงศาสนาสีเหลืองอย่างที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง แต่จุดที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากนั้นอยู่ที่การแกะสลักลวดลายบนธรรมจักรและชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นลายตกแต่งขนาดเล็กแบบลายกนกผักกูดที่มีเส้นโค้งอ่อนช้อยและประณีตคมชัด จนอดสงสัยไม่ได้ว่าช่างฝีมือสมัยโบราณใช้เครื่องมือใดกันจึงแกะสลักหินได้ละเอียดลออขนาดนี้ มันจะเหมือนเครื่องกรอฟันที่หมอฟันใช้ไหมนะ?
ภาพที่ 6 อสูรดินเผาที่งามมาก ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีวัดพระงาม
ก่อนจบนิทรรศการมีวัตถุจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงใหม่ 2 ชิ้น เป็นรูปอสูรดินเผา ซึ่งเพิ่งได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี แม้ชิ้นประติมากรรมจะไม่ครบสมบูรณ์พบเพียงลำตัวครึ่งบนและส่วนแขนขาดหายไปแต่ก็ยังมีลักษณะที่งดงามมาก ด้วยลวดลายเครื่องประดับที่มีความคมชัดทั้งกระบังหน้า ต่างหู กรองศอ สายประคำยัชโยปวีต และเข็มขัด ซึ่งมีรูปแบบละม้ายคล้ายกับภาพแกะสลักนูนต่ำที่รอบระเบียงของบุโรพุทโธที่เคยถ่ายรูปมาตอนไปเที่ยวเมื่อสิบกว่าปีก่อนมาก
นับเป็นการปิดท้ายนิทรรศการที่ช่วยเติมเต็มความอิ่มเอมกับศิลปะทวารวดีในราคาที่แสนถูกมากกับค่าเข้าชมเพียง 20 บาทเท่านั้น หากผู้อ่านท่านใดชอบดูศิลปะโบราณวัตถุ ขอเชิญมาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวท่านเอง รับรองได้ว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล