ชายหนุ่มลึกลับจากต่างแดนมาเยือนเมืองฮาเมลินที่เต็มไปด้วยหนูและโรคระบาด เขาสวมเสื้อคลุมลายทางหลากสีสดใส และเป่าปี่แตรเสียงกังวานที่ดูไม่มีพิษมีภัย แต่ดนตรีนั้นสามารถสะกดให้หนูทั้งเมืองเดินตามไปกระโดดลงแม่น้ำตาย ช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากโรค แต่แล้วเจ้าเมืองกลับโกงค่าจ้างกำจัดหนูที่เขาสมควรได้ ชายหนุ่มจึงเป่าปี่เดินนำเด็ก ๆ ในเมืองนับร้อยคนออกจากเมืองหายลับไปไม่กลับมาอีกเลย... นิทานเรื่องนักเป่าปี่แห่งฮาเมลินเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ ทั่วโลก สอนใจให้รักษาสัญญา และทำให้เกิดสำนวนว่า “Pay the piper (จ่ายเงินคนเป่าปี่)” หมายถึง ต้องทนรับผลลัพธ์ที่ย่ำแย่หรือชดใช้ด้วยราคาแพงกว่าในภายหลังเนื่องจากการกระทำเอาแต่ใจตน
แต่การหายตัวไปของเด็ก ๆ เมืองฮาเมลินนั้นไม่ใช่เรื่องที่จินตนาการขึ้นแต่อย่างใด ฮาเมลิน หรือ ฮาเมลน์ (Hameln) เป็นเมืองที่มีอยู่จริงในรัฐนีเดอร์ซัคเซน (Niedersachsen) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1284 (เทียบเวลากับบ้านเราจะตรงกับรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) เด็กจำนวน 130 คนออกจากเมืองและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย บันทึกเหตุการณ์ที่เก่าแก่ที่สุด คือ ภาพกระจกสีในโบสถ์กลางตลาดฮาเมลิน (Der Marktkirche Hameln) สร้างประมาณปี ค.ศ. 1300 ซึ่งมีการบรรยายถึงและคัดลอกภาพอยู่บ่อยครั้งในหนังสือต่าง ๆ ช่วงศตวรรษที่ 14-17 ก่อนจะแตกเสียหายไปอย่างน่าเสียดายในปี ค.ศ. 1660 และพงศาวดารประชาคมฮาเมลิน (Chronica Ecclesiae Hamelensis) เขียนเป็นภาษาละตินโดย ฌ็อง เดอ โปห์ล (Jean de Pohle) เขาเขียนไว้ในรายการบันทึกปี ค.ศ. 1384 ว่า "เป็นเวลา 100 ปีแล้วนับแต่เด็ก ๆ ของเราจากไป"
ภาพที่ 1: ภาพคัดลอกจากกระจกสีโบสถ์กลางตลาดฮาเมลิน
แหล่งที่มาภาพ: Schaal, H. (2022, February 17). Der Rattenfänger von Hameln. Das stichwort. Retrieved February 23, 2022, from https://www.brawoo.de/der-rattenfaenger-von-hameln-das-stichwort/
ภาพที่ 2: ประติมากรรมนักเป่าปี่ในย่านเมืองเก่าฮาเมลิน
แหล่งที่มาภาพ: Smithachethan. (2020, October 31). A day in Hamelin (Hameln). Retrieved February 23, 2022, from https://reveriesundermyhat.wordpress.com/2020/10/31/a-day-in-hamelin/
สิ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับหลักฐานบันทึกต่าง ๆ ก็คือ ฮาเมลินยุคนั้นไม่มีเรื่องการพยายามกำจัดหนูหรือเจ้าเมืองโกงค่าจ้างแต่อย่างใด เหตุการณ์มีเพียงว่ามีชายแปลกหน้าอายุราวสามสิบคนหนึ่งข้ามสะพานเข้ามาในเมืองทางประตูทิศตะวันตก เขาหล่อเหลาและแต่งตัวดีอย่างยิ่งจนชาวเมืองทั้งหลายพากันชื่นชม จากนั้นเขาก็นำปี่แตรเงินที่งามอลังการที่สุดชนิดหนึ่งออกมาเป่า เมื่อเด็ก ๆ ในเมืองได้ยิน ต่างก็ติดตามเขาไปทางประตูทิศตะวันออก ผ่านออกไปยังบริเวณนอกกำแพงเมืองที่ปกติเป็นลานไม้กางเขน (Calvarie) สำหรับประหารชีวิตนักโทษ และก็หายไปในเนินเขาที่ล้อมรอบเมืองฮาเมลิน บรรดาแม่ของเด็ก ๆ ออกตามหาพวกเขาในเมืองข้างเคียงแต่ก็ไม่พบ จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมฝังใจ จากนั้นมา ชาวเมืองก็มักจะนับจำนวนปีอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่เด็ก ๆ หายตัวไปครั้งนั้น รวมถึงมีกฎห้ามเล่นดนตรีบนถนนสายที่พบเห็นเด็ก ๆ เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า บุงเกลโลเซนชตราเซอ (Bungelosenstrasse) "ถนนที่ไร้เสียงกลอง" ส่วนเรื่องเจ้าเมืองจ้างกำจัดหนูเพิ่งแต่งเติมขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1559
นักเป่าปี่เป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ๆ กันแน่...ไม่ใช่เพียงชาวฮาเมลินที่สงสัย แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็พยายามสืบค้นหลักฐานเพื่อหาคำตอบเช่นกัน ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า นักเป่าปี่เป็นบุคลาธิษฐานของความตายหรือยมทูต และเด็ก ๆ อาจเสียชีวิตจากดินถล่มที่เนินเขา ติดโรคระบาด หรือถูกล่อลวงไปเข้าร่วมลัทธิท้องถิ่นในสมัยนั้นซึ่งมีพิธีจุดไฟเต้นรำในป่า แต่ข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การอพยพย้ายถิ่น
ในช่วงศตวรรษที่ 13 อาณาเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนีได้ผ่านสงครามหลายครั้ง ทั้งการบุกรุกจากชาวยุโรปเหนือ เช่น ชาวเผ่าเดนส์การ์ (Danskere) จากเดนมาร์ก มีสงครามครั้งสำคัญคือสมรภูมิบอร์นเฮอเว็ด (Bornhöved) ในรัฐโฮลชไตน์ (Holstein) เมื่อปี ค.ศ. 1227 และชาวเผ่ามองโกล นำทัพโดยหลานชายสองคนของเจงกีสข่าน คือ บาตูข่าน (Batu Khan) กับคาดัน (Kadan) ออกโจมตีดินแดนทั่วยุโรปกลางเข้ามาถึงโปแลนด์และฮังการีในช่วงปี ค.ศ. 1236-1242
หลังจากข้าศึกถูกขับไล่ออกไปแล้ว เจ้านครเยอรมันต่าง ๆ ก็เริ่มกลับเข้ายึดครองพื้นที่ โดยเฉพาะเหล่าดยุกและบิชอปแห่งปอมเมอเรเนีย (Pomerania) บรันเดนบวร์ก (Brandenburg) อุคเคอร์มาร์ค (Uckermark) และปริกนิทส์ (Prignitz) ได้ส่งเจ้าพนักงานเกณฑ์ไพร่พล (Lokator) เดินทางออกไปป่าวประกาศเรียกผู้คนทางใต้ ในรัฐนีเดอร์ซัคเซน และเวสต์ฟาเลน (Westfalen) ให้เข้ามาตั้งรกรากเพื่อฟื้นฟูเมืองที่บอบช้ำขึ้นใหม่ และเรียกการอพยพสู่ตะวันออกครั้งใหญ่นี้ว่า โอสท์ซีดลุง (Ostsiedlung) ทั้งนี้ เจ้าพนักงานเกณฑ์ไพร่พลมักเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาบุคลิกดี แต่งตัวดี พูดจาโน้มน้าวเก่ง และใช้เครื่องดนตรีเสียงดังดึงดูดความสนใจจากชาวบ้าน
ภาพที่ 3: ภาพวาดเจ้าพนักงานเกณฑ์ไพร่พลสวมหมวก ในคัมภีร์กฎหมายซัคเซนชปีเกล (Sachsenspiegel)
แหล่งที่มาภาพ: Klapste, J. (2018, April 12). Germans in our country in the Middle Ages. Retrieved February 23, 2022, from https://www.encyclopediaofmigration.org/nemci-u-nas-ve-stredoveku/
ภาพที่ 4: ผังเมืองไกรฟ์สวาลด์ (Greifswald) เป็นเมืองใหม่ที่เจ้านครปอมเมอเรเนียสร้างขึ้นให้ผู้อพยพอาศัยโดยเฉพาะ
แหล่งที่มาภาพ: Pyl, T. (2008, October 18). Greifswald im Mittelalter.
Wikimedia Commons. Retrieved February 23, 2022, from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Greifswald_im_Mittelalter_(Rekonstruktion_Theodor_Pyl).jpg.
คำว่า “เด็ก ๆ ฮาเมลิน (Die Hamelner Kinder)” ในภาษาเยอรมัน นอกจากจะแปลว่าเด็กจริง ๆ ยังแปลว่า “ลูกหลานแห่งฮาเมลิน” ซึ่งก็คือชาวเมืองฮาเมลินได้ด้วย จึงเป็นไปได้ว่า ผู้ที่อพยพออกไปจากเมืองไม่ใช่เด็กเล็ก แต่เป็นคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงโชค เพราะประชากรในเยอรมนีภาคใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนั้นทำให้บ้านเมืองเริ่มแออัด มิหนำซ้ำ ธรรมเนียมที่ให้ลูกชายคนโตครอบครองทรัพย์สินที่ดินส่วนใหญ่ต่อจากพ่อก็ทำให้ลูกชายคนรอง ๆ ไม่ได้รับโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตและการแต่งงานเท่าที่ควร
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปกติเมื่อชาวตะวันตกเดินทางอพยพไปยังที่ใหม่ มักจะตั้งชื่อสถานที่ใหม่นั้นตามสถานที่เดิมที่ตนคุ้นเคย ตัวอย่างที่เป็นรู้จักดีเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ (Nieuw Zeeland ภายหลังสะกดเป็น New Zealand) ตั้งตามชื่อเมืองซีแลนด์ (Zeeland) ในเนเธอร์แลนด์ นครนิวยอร์ก (New York) ในสหรัฐอเมริกา ตั้งตามชื่อเมืองยอร์ก (York) ในอังกฤษ เป็นต้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็พบในการอพยพของหนุ่มสาวชาวเมืองฮาเมลินเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน เยอร์เกน อูดอล์ฟ (Jürgen Udolph) สืบพบชื่อหมู่บ้านของเยอรมนีภาคใต้นำไปตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านใหม่ทางตะวันออกซ้ำ ๆ กัน คือมีหมู่บ้านฮินเดนบวร์ก (Hindenburg) 4 แห่ง ตั้งเรียงรายระหว่างทางจากรัฐเวสต์ฟาเลนลากยาวไปถึงปอมเมอเรเนียเป็นเส้นตรง มีหมู่บ้านชปีเกลแบร์ก (Spiegelberg) 3 แห่ง และหมู่บ้านเบเวอรุงเง็น (Beverungen) ทางใต้ของฮาเมลิน ก็เพี้ยนไปเป็นเบเวอริงเง็น (Beveringen) 2 แห่งในกรุงเบอร์ลินและโปแลนด์ ยิ่งไปกว่านั้น นามสกุลใหญ่ ๆ ของชาวเมืองฮาเมลิน เช่น ฮาเมล (Hamel) ฮัมเลอร์ (Hamler) และฮาเมลนิคอฟ (Hamelnikow) ก็ไปปรากฏในเยอรมนีตะวันออกและโปแลนด์เช่นเดียวกัน
แม้เวลาผ่านมากว่า 700 ปี ร่องรอยแห่งโอสท์ซีดลุงก็ยังคงชัดเจนอยู่ในภาษาและความทรงจำของผู้คน ได้แก่ ชื่อสถานที่ นามสกุล และนิทาน ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ ทั่วโลกผ่านการเขียนรวบรวมโดยสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (Die Gebrüder Grimm) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เดียวกันเมื่อมองจากคนละมุม บางครั้งก็จะเห็นการตีความที่แตกต่าง... ผู้ใหญ่เมืองฮาเมลินโศกเศร้าที่ลูกหลานจากไป และเล่าขานว่าพวกเขาถูกล่อลวงด้วยเสียงปี่แตรหรือเวทมนตร์ที่ลึกลับน่ากลัว จนห้ามมิให้เล่นดนตรีป่าวร้องตามถนนอีก แต่สำหรับ ‘เด็ก ๆ’ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โตเป็นผู้ใหญ่สักที ต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้เงาของคนอื่น เสียงปี่แตรกลับเป็นเสียงเพรียกแห่งอิสรภาพที่จะได้กำหนดเส้นทางชีวิตของตน ที่สุดแล้ว การจากไปของหนุ่มสาวชาวฮาเมลินจะเป็นเรื่องน่าเศร้าหรือน่ายินดี คงอยู่ที่เราจะมองผ่านสายตาของใคร
บรรณานุกรม
Chambers, J. (2003). The Devil's Horsemen: The Mongol Invasion of Europe. Edison, NJ: Castle Books.
Kadushin, R. (2020, September 4). The Grim Truth behind the Pied Piper. Retrieved February 21, 2022, from https://www.bbc.com/travel/article/20200902-the-grim-truth-behind-the-pied-piper
Karacs, I. (1998, January 27). Twist in the Tale of Pied Piper’s Kidnapping. Retrieved February 21, 2022, from https://www.independent.co.uk/news/twist-in-the-tale-of-pied-piper-s-kidnapping-1141174.html
Mieder, W. (2017). Tradition and Innovation in Folk Literature. London: Routledge.
Zimmern, F. (1944). Freiburger Historische Bestände - Digital. Retrieved February 21, 2022, from http://dl.ub.uni-freiburg.de/diglit/zimmern1881-1
Museum Core Writer