ปี ค.ศ. 1492 (ตรงกับ พ.ศ. 2035 คือสมัยอยุธยา ยุคราชวงศ์สุพรรณภูมิ) คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียน ได้เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงทวีปอเมริกา พาชาวยุโรปชาติต่าง ๆ ให้หลั่งไหลตามเข้าไปในโลกใหม่ เพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ติดต่อค้าขาย ตั้งรกราก พวกเขาได้รู้จักกับเมืองใหญ่ของกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน (หรือที่เรียกกันว่า อินเดียนแดง ตามความเข้าใจผิดของโคลัมบัสว่าทวีปอเมริกาเป็นอินเดีย) อาทิ เมืองเตน็อชตีตลัน (Tenochtitlán) ของชาวแอซเต็ก (Aztec) ในหุบเขาเม็กซิโก ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้วิทยาการ อาหาร และวัฒนธรรมกัน รวมถึงนำไปสู่การกระทบกระทั่ง ทำสงครามแย่งชิงอาณานิคมและทาสในช่วงศตวรรษที่ 17-18 โดยรวมแล้ว นักประวัติศาสตร์ประเมินว่ามีชาวพื้นเมืองอเมริกันเสียชีวิตไปมากถึง 90% ของจำนวนประชากรเดิม
เรื่องราวการล่าอาณานิคมอเมริกานี้เชื่อว่าทุก ๆ คนคงจะทราบดี เพราะมีการให้การศึกษาแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ มานานโดยเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวูดกว่า 60 เรื่อง แต่ตัวการหลักที่เป็นฆาตกรล้างผลาญชีวิตชาวพื้นเมืองอเมริกันกลับไม่ใช่สงครามอันโหดร้ายอย่างที่มักเจอในฉากแอคชั่น ทว่าเป็นเชื้อโรคที่ติดตัวชาวยุโรปมาจากอีกฟากมหาสมุทร เช่น โรคไข้ทรพิษ กาฬโรค อีสุกอีใส อหิวาตกโรค คอตีบ เรื้อน ไข้หวัดใหญ่ ไข้อีดำอีแดง มาลาเรีย หัด ไอกรน ฯลฯ เนื่องจากโรคเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในอเมริกามาก่อน ระบบสาธารณูปโภคและการแพทย์พื้นเมืองอเมริกันในสมัยนั้นก็ยังไม่เจริญนัก จึงทำให้เกิดการระบาดอย่างหนักและรวดเร็ว
คำถามที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ ถ้าชาวพื้นเมืองอเมริกันติดสารพัดเชื้อโรคที่ไม่เคยมีในทวีปของพวกเขามาจากชาวยุโรป แล้วในทางกลับกัน เหตุใดชาวยุโรปจึงไม่ติดเชื้อโรคใหม่ ๆ มาจากชาวพื้นเมืองอเมริกัน แล้วเดินเรือนำกลับไปแพร่สู่คนในยุโรป จนตายกันเป็นเบือถึง 90% บ้าง
ภาพที่ 1: การแลกเปลี่ยนระหว่างชาวยุโรปและชาวพื้นเมืองอเมริกันในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าครั้งแรก ปี ค.ศ. 1621
แหล่งที่มาภาพ: Ferris, J. L. G. (1970, January 1). The First Thanksgiving 1621. Library of Congress. Retrieved October 21, 2021, from https://www.loc.gov/pictures/item/2001699850/.
เพื่อตอบคำถามนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า โรคระบาดส่วนใหญ่มีที่มาจากสัตว์ ตามธรรมชาติทั้งมนุษย์ สัตว์ และแมลง ล้วนมีเชื้อโรคนานาชนิดอาศัยอยู่ตามร่างกาย เช่น ขน ผิวหนัง ปอด ลำไส้ ฯลฯ แต่ว่าเชื้อโรคที่อยู่ประจำตัวสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน เชื้อโรคบางอย่างที่อาศัยอยู่ในวัว อาจทำให้วัวไม่สบายเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ช่วยให้วัวสุขภาพดี แต่เมื่อเชื้อนั้นกระโดดมาอาศัยอยู่ในมนุษย์ กลับสามารถทำให้เราป่วยร้ายแรงถึงตาย ตัวอย่างโรคที่อุบัติในยุโรปจากสัตว์สู่มนุษย์ เช่น โรคไข้ติดเชื้อในปอด (Sweating sickness ค.ศ. 1485) เกิดจากหนู ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus Epidemic ค.ศ. 1489) เกิดจากเหาและหมัด เป็นต้น การสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์โดยผิดสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง
ทว่า ยุโรปสมัยนั้นไม่มีใครมีความรู้เรื่องนี้จนกว่าหลุยส์ ปาสเตอร์ กับโรเบิร์ต ค็อค ริเริ่มศาสตร์จุลชีววิทยาทางการแพทย์ ก็ปาเข้าไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าผู้คนและสังคมเมืองในยุโรปสมัยก่อนแทบไม่มีหลักการป้องกันและรักษาโรคระบาดที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในศตวรรษที่ 16-18 มีอัตราการสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์สูง เพราะผู้คนใช้ม้าในการเดินทาง โรงฆ่าสัตว์และกิจการขนหนังสัตว์ก็ตั้งกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายในกำแพงเมืองปนกับร้านค้าและบ้านเรือน คนมักขนย้ายปศุสัตว์โดยไล่ต้อนไปตามถนนอย่างง่าย ๆ เช่นเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1750 ที่เขต สมิธฟีลด์เต็มไปด้วยมูลสัตว์อยู่นาน เพราะมีคนต้อนแกะและวัวราว 570,000 ตัวเข้าไป
การปฏิวัติอุตสาหกรรมยังทำให้แรงงานต่างถิ่นเดินทางเข้ามาหางานในโรงงานกันจำนวนมาก บ้านพักคนงานมักจัดที่ให้คนนอนเตียงสองชั้นเรียงกันอย่างแออัด โดยไม่มีการระบายอากาศที่เหมาะสม โครงสร้างของอาคาร ท่อ และการจัดการน้ำเสียสมัยนั้นก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานตามกฎหมาย ชาวบ้านเทน้ำทิ้งและกระโถนจากในบ้านสาดออกมาบนถนนหรือลงแม่น้ำ ท่อระบายน้ำส่วนมากไม่มีฝาหรือตะแกรงปิดกันหนูและแมลง รวมถึงไม่มีการฆ่าเชื้อภาชนะหรือใช้หมวกและถุงมือในตลาดสด
นอกจากโรคที่อุบัติในบ้านเกิดตัวเองแล้ว ชาวยุโรปยังได้รับสารพัดโรคจากภูมิภาคอื่น ๆ ผ่านเส้นทางสายไหม อันมีจุดเริ่มต้นจากจีน เชื่อมไปยังอนุทวีปอินเดีย เปอร์เซีย ยุโรป คาบสมุทรอาหรับ และแอฟริกาเหนือ โรคสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น กาฬโรค (Bubonic Plague) ซึ่งอุบัติในจีน แพร่มาจนถึงยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1341 และได้รับการขนานนามว่า มฤตยูดำ (Black Death) เพราะคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกของเรา คือมากกว่า 200 ล้านคน แถมยังมีการระบาดต่อระลอกใหญ่ตามมาอีกหลายครั้งในศตวรรษต่อ ๆ มา อีกโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ อหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งอุบัติในอินเดีย และมีการระบาดใหญ่รอบโลกถึง 7 ครั้ง จนแม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นโรคร้ายแรงที่มีผู้ติดเชื้อ 3-5 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตถึง 28,800-130,000 คนต่อปี
ภาพที่ 2: กาฬโรคระบาดในฝรั่งเศส ค.ศ. 1720
แหล่งที่มาภาพ: T. Paul and the students in History 191. (2021). Living through the great plague of London. Public History Initiative. Retrieved October 23, 2021, from https://phi.history.ucla.edu/public-history-initiative-2/plague-history/.
ในทางตรงกันข้าม ชาวพื้นเมืองอเมริกันแทบไม่มีโรคระบาดเลย นอกจากโรคซิฟิลิสและวัณโรคบางชนิด (ซึ่งก็ไม่ใช่โรคที่อุบัติในทวีปอเมริกาอยู่ดี แต่เป็นโรคโบราณจากเอเชียและแอฟริกา ซิฟิลิสอุบัติเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนวัณโรคนั้นไม่มีหลักฐานการอุบัติแน่ชัด ทว่ามีตั้งแต่สมัยอียิปต์เมื่อ 2,400-3,400 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งสองโรคนี้ชาวยุโรปเคยรู้จักและมีภูมิต้านทานอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่เกิดปัญหาการระบาด
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า สังคมของชาวพื้นเมืองอเมริกันนั้นไม่เอื้อให้เกิดโรคอุบัติใหม่แทบจะมีลักษณะตรงข้ามกับสังคมยุโรปอย่างลอนดอนที่กล่าวไปข้างต้นก็ว่าได้ จริงอยู่ เมืองใหญ่อย่างเตน็อชตีตลันมีประชากรแน่นหนาพอสมควร ประมาณ 200,000 คนในช่วงที่ชาวสเปนเดินทางไปครอบครอง และพวกเขาก็ไม่ได้มีความรู้ด้านจุลชีววิทยาเหมือนกัน ผู้คนดื่มและอาบน้ำจากแม่น้ำ กินอาหารด้วยมือ ไม่พอยังมีพิธีบูชายัญกินเนื้อมนุษย์
แต่ปัจจัยก่อโรคที่ขาดหายไปคือการสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ ชาวพื้นเมืองอเมริกันโดยรวมมีวัฒนธรรมความเคารพต่อสัตว์ในธรรมชาติ จึงไม่นิยมนำสัตว์มาบังคับใช้แรงงานหรือผสมพันธุ์เพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์ ทำให้ไม่เกิดระบบปศุสัตว์แบบยุโรป วรรณคดีพื้นเมืองอเมริกันหลายเรื่องสั่งสอนเกี่ยวกับความชั่วร้ายอันน่าหัวเราะของคนที่บังคับนำสัตว์มาเป็นทุนของตน อาทิ ตัวเอกในตำนานชื่อ นานาบุช (Nanabush) ที่ให้สัตว์ต่าง ๆ เช่น เป็ด ห่าน สกังก์ มาทำงานหนักและสะสมทรัพย์สินแทนตัวเขาผู้อยากใช้ชีวิตอย่างเกียจคร้าน แต่สุดท้ายความเห็นแก่ตัวก็ทำให้เขาต้องประสบหายนะ
สัตว์ที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันคลุกคลีด้วยจำกัดอยู่เพียงหลัก ๆ คือ สุนัขล่าเนื้อ และสัตว์ที่พวกเขาล่า เช่น กวาง ไก่ป่า หนู อีกัวน่า ซาลาแมนเดอร์น้ำ ปลา และกุ้ง ซึ่งก็จะไม่ล่าบ่อย ๆ ทีละจำนวนมาก ทว่าล่าเท่าที่จำเป็นต่อชุมชนและต้องกินใช้ทุกส่วนของสัตว์นั้นให้หมด เราพบหลักฐานว่าชาวแอซเต็กมีการจับไก่งวงและเป็ดมาเลี้ยงในระดับพื้นบ้านบ้าง แต่อย่างไรเนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่อาหารที่กินกันเป็นประจำ อาหารหลักของพวกเขามาจากพืช ได้แก่ ข้าวโพด ฟักทองน้ำเต้า เห็ด มะเขือเทศ และถั่ว ยิ่งไปกว่านั้น ชาวพื้นเมืองอเมริกันยังแทบไม่ใช้สัตว์พาหนะและไม่มีการประดิษฐ์ล้อรถ วิธีเดินทางส่วนใหญ่จึงเป็นไปโดยการพายเรือ และก็ไม่มีการเดินทางติดต่อต่างทวีปเป็นประจำอย่างเส้นทางสายไหมด้วย กลายเป็นโชคดีไปในด้านการป้องกันโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้พวกเขาไม่มีโรคระบาดแพร่กลับไปสู่ชาวยุโรปนั่นเอง
ภาพที่ 3: ตลาดแอซเต็กจำลองในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองชิคาโก
แหล่งที่มาภาพ: Ravi, J. (2010, January 15). Tlatelolco Marketplace CC-BY-SA 3.0. Wikimedia Commons. Retrieved October 23, 2021, from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tlatelolco_Marketplace.JPG.
การตั้งข้อสังเกตและศึกษาเรียนรู้จากทวีปอเมริกาที่ถูกมองว่าเป็นแผ่นดินพรหมจรรย์ (Virgin Soil) สะอาดปราศจากโรคดั้งเดิมเช่นนี้ กระตุ้นให้บรรดาชาติเจ้าอาณานิยมในยุโรปเกิดการเรียกร้องและพัฒนาสุขอนามัยมาเรื่อย ๆ เช่น ลอนดอนมีการขยายถนนให้กว้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ปี ค.ศ. 1666 มีการก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (Society for the Prevention of Cruelty to Animals) เพื่อลดการใช้แรงงานสัตว์ ปรับปรุงความสะอาดในกระบวนการเลี้ยงและค้าสัตว์ และแก้ปัญหาสัตว์จรจัดในปี ค.ศ. 1824 และสุดท้าย ก็มีการตรากฎหมายสาธารณสุข (Public Health Act) ฉบับแรกในปี ค.ศ. 1848 ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ยุโรปไม่มีเชื้อโรคระบาดใหญ่ใดเลยที่คร่าชีวิตคนถึงหลักร้อยศพอุบัติในทวีป ซึ่งก็เท่ากับเกินหนึ่งชั่วอายุคนทีเดียว โดยเชื้อโรคระบาดใหญ่ตัวสุดท้ายที่เคยเกิดใหม่เป็นครั้งแรกในยุโรป คือ ไข้หวัดสเปน ในปี ค.ศ. 1918 (ตรงกับ พ.ศ. 2461 คือสมัยรัชกาลที่ 6)
โรคที่อุบัติและแพร่ระบาดในประวัติศาสตร์บางครั้งก็ประกอบมาจากเหตุปัจจัยที่น่าฉงนสนเท่ห์ ไม่ว่าด้วยสภาพสังคมวัฒนธรรม นโยบายรัฐ ภูมิศาสตร์ วิทยาการความรู้ หรือแม้กระทั่ง ‘ดวง’ ว่าใครเดินทางไปประสบพบเจอกันที่ไหนอย่างไร ก็ล้วนมีความสอดคล้องกันอย่างซับซ้อนเหนือความคาดหมายของมนุษย์เราว่าสร้างโอกาสการก่อโรคชนิดใหม่ขึ้นมาหรือไม่ คำตอบของคำถามที่ว่าทำไมคนยุโรปมีสารพัดเชื้อโรคไปติดคนพื้นเมืองอเมริกัน แต่ไม่ติดโรคกลับมา จึงไม่ใช่เพราะเรื่องเฉพาะจุด อย่างใครร่างกายแข็งแรงหรืออ่อนแอกว่าใคร หรือว่ามีนิสัยส่วนบุคคลรักสะอาดกว่ากันเป็นพิเศษ แต่เพราะปัจจัยทั้งหมดของวิถีชีวิตพวกเขาแตกต่างกัน และเมื่อทราบแล้ว ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตส่วนที่บกพร่องให้ปลอดภัยขึ้นได้ด้วย
บรรณานุกรม
Cartwright, M. (2021, October 18). Aztec Food & Agriculture. World History Encyclopedia. Retrieved October 21, 2021, from https://www.worldhistory.org/article/723/aztec-food--agriculture/.
Cipolla, C. M. (1994, March 17). Before the Industrial Revolution: European Society and Economy, 1000-1700 (third edition): Paperback. Barnes & Noble.
Conrad, L. I., Neve, M., Nutton, V., Porter, R., & Ware, A. (2011). The Western medical tradition 800 Bc to Ad 1800. Cambridge University Press.
Dutta, D. S. S. (2019, September 16). History of tuberculosis. News-Medical: Life Science. Retrieved October 21, 2021, from https://www.news-medical.net/health/History-of-Tuberculosis.aspx.
Gade, D. W. (2004, November 1). A Pest in the Land: New World Epidemics in a Global Perspective. Hispanic American Historical Review. Retrieved October 21, 2021, from https://read.dukeupress.edu/hahr/article-abstract/84/4/717/27173/A-Pest-in-the-Land-New-World-Epidemics-in-a-Global.
Kean, H. (2000). Animal rights: Political and Social Change in Britain since 1800. Reaktion Books.
LePan, N. (2020, March 15). A Visual History of Pandemics. World Economic Forum. Retrieved October 21, 2021, from https://www.weforum.org/agenda/2020/03/a-visual-history-of-pandemics.
Queen's Printer of Acts of Parliament. (n.d.). Public Health Act 1875. Legislation.gov.uk. Retrieved October 21, 2021, from https://www.legislation.gov.uk/ukpga/Vict/38-39/55/contents/enacted.
Rossi, Ann (2006). Two Cultures Meet Native American and European. National Geographic Society.
Saadia, Z. (2014, August 31). Real Smart Folks, but No Wheel? Pre-Columbian Americas - Zoe Saadia. Retrieved October 21, 2021, from https://www.zoesaadia.com/real-smart-folks-but-no-wheel/.
Simpson, L. B. (2020, November 25). An excerpt from As We Have Always Done on Indigenous Practices That Opt-out of Capitalism. Bookforum Magazine. Retrieved October 22, 2021, from https://www.bookforum.com/politics/an-excerpt-from-as-we-have-always-done-on-indigenous-practices-that-opt-out-of-capitalism-24284.
WJEC. (2021). Improvements to Public Health in the 16th, 17th, and 18th Centuries - Developments in Public Health and Welfare & History Revision BBC Bitesize. BBC News. Retrieved October 23, 2021, from https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z9924qt/revision/2.
Museum Core Writer