ภาพที่ 1 บรรยากาศด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์
ท้องฟ้าและแสงแดดของอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam, Netherland) ในวันที่ผู้เขียนได้ไปเยือนเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตรกับการเดินเท้าเพื่อสังเกตการความเป็นไปของเมืองและผู้คนที่นี่ แสงแดดในช่วงสาย ๆ ของวันสาดสะท้อนไปยังอาคารสีน้ำตาลที่ตั้งของ ไรจ์คส์มิวเซียม (Rijksmuseum) หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม อาคารตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางผู้คนที่กำลังเคลื่อนที่ไปมาจากทั้งการเดิน และการปั่นจักรยานผ่านใต้อาคารแห่งนี้ บรรยากาศรอบอาคารพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยชีวิตชีวาจากทั้งผู้คนและความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว
ไรจ์คส์มิวเซียมที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องราว ผลงานศิลปะระดับโลกนับชิ้นไม่ถ้วน และเทคนิคการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญที่ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือนเพื่อเข้ามาสัมผัสกับประการณ์กับสถานที่แห่งนี้ อาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงมีทั้งหมด 5 ชั้น แบ่งตามช่วงเวลา (Period) และคอลเล็กชัน เช่น Colonial Past, Gallery of Honor (Dutch Golden Age ), The Hague School, Asia Pavilion และ Contemporary Art บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมายที่มีจุดหมายเดียวกัน
ภาพที่ 2 ห้องการเดินเรือที่มีโมเดลเรือใบขนาดใหญ่ กับภาพวาดเรือสินค้า VOC
สำหรับห้องจัดแสดงที่ผู้เขียนขอยกขึ้นมาพูดถึงห้องแรกคือ Colonial Past ห้องที่เป็นจุดเริ่มต้นในหลากหลายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเนเธอแลนด์ จากยุคแห่งการค้าขายเดินเรือ การแผ่ขยายอำนาจ จนถึงการยึดครองประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเดินดูสิ่งจัดแสดงและเรื่องราวภายในห้อง พบว่าเหมือนได้ย้อนกลับไปตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อได้ปะติดปะต่อเรื่องราวจากห้องนี้และห้องการเดินเรือที่มีภาพวาดและโมเดลเรือใบขนาดใหญ่ประดับด้วยธงที่มีคำว่า VOC ความรู้ทั้งหลายที่เคยคืนอาจารย์ไปตอนเรียนจบก็ค่อย ๆ กลับมาจนพอระลึกความจำได้ว่า ในยุคความรุ่งเรืองของชาวดัตช์ในอดีตมาจากการเดินเรือของ บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Vereenigde Oostindische Compagnie – ภาษาดัตช์) หรือ VOC ได้ทำธุรกิจและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรต่าง ๆ จากทั้งประเทศในอาณานิคมและประเทศที่ทำการค้าขายด้วย มองย้อนกลับมายังประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้เจริญสัมพันธไมตรีและทำการค้าขายกับ VOC เห็นได้จากการหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การจดบันทึก จดหมายเหตุ อีกหนึ่งหลักฐานคือ ตั้งสถานที่สำหรับการค้าขาย จนเกิดเป็นหมู่บ้านฮอลันดาที่ยังเป็นหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างดัตช์และกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพัฒนาจนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน (บ้านฮอลันดา) และสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงอย่างเช่นเรื่อง การล่าอาณานิคม และการค้าทาส สิ่งของจัดแสดงบอกที่มาของตนเองว่า ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากประเทศที่ตั้งอยู่ แต่ถูกเคลื่อนย้าย และขนส่งผ่านกระบวนการเบื้องหลังบางอย่างในอดีต
ภาพที่ 3 ห้องแสดงภาพวาดของศิลปินเอกในยุคที่ดัชต์รุ่งเรือง
ในยุคของความรุ่งเรืองของประเทศเนเธอแลนด์ แน่นอนว่าในทางศิลปะภาพวาดเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องและสะท้อนความรุ่งเรืองเหล่านั้นได้ดี ผู้เขียนมาถึงห้อง Gallery of Honor ซึ่งเป็นห้องโถงเพดานสูง จัดแสดงภาพวาดของจิตรกรเอก ซึ่งอยู่ในยุคทองของประเทศเนเธอร์แลนด์หรือ Dutch Golden Age (1600-1672) ที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ ศิลปะวิทยาการ และการเดินเรือของประเทศเนเธอแลนด์ ภาพวาดในยุคนี้ฉายภาพทั้งความเป็นแบบแผนของภาพวาด ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญของประเทศ สะท้อนผ่านความหรูหราของเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับของขุนนางและผู้คนในชนชั้นนำ แม้แต่องค์ประกอบของภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังสามารถโดดเด่นขึ้นมาได้ รวมทั้งเทคนิคการวาด สี แสง เงา ล้วนส่งเสริมให้ภาพดูมีชีวิตชีวา ทำให้ภาพวาดในยุคนี้มีรายละเอียดที่สามารถศึกษาต่อได้ในหลากหลายมิติ
ภาพที่ 4 The Night Watch ภาพมาสเตอร์พีซของมิวเซียมที่ใครก็ห้ามพลาด
ความหนาแน่นของผู้เข้าชมก็อยู่ที่บริเวณโถงกลางห้องนี้ ซึ่งเป็นที่จัดแสดงภาพวาด The Night Watch โดยแรมบรันต์ (Rembrandt) จิตกรแห่งชาติชาวดัตช์ ภาพที่ผู้เข้าชมให้ความสนใจกับความยิ่งใหญ่ ความวิจิตรจากแสงและเงา รวมทั้งความสมบูรณ์ของภาพวาดชิ้นนี้ ทำให้บริเวณรอบ ๆ เกิดภาพปรากฎของอิริยาบถที่หลากหลาย ทั้งยืนและนั่งประจันหน้ากับภาพวาดชิ้นนี้ ผู้เขียนได้ยินเสียงของบทสนทนาจากหลากหลายภาษา และได้เห็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหล่าเด็ก ๆ นั่งจับกลุ่มอยู่กับผู้ใหญ่ที่ช่วยกันสังเกตการณ์ภาพวาดชิ้นนี้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากที่เข้าไปชื่นชมภาพวาดชิ้นนี้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้เขียนก็พร้อมที่จะเดินไปยังห้องจัดแสดงถัดไป
และหนึ่งในห้องที่ผู้เขียนประทับใจคือ กลุ่มจิตรกรเฮก หรือ The Hague School (1860-1890) ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงที่ผู้เขียนได้พบกับความเรียบง่ายและสามัญมากกว่าห้องจัดแสดงอื่น ๆ กับมุมแขวนภาพวาดวิวทิวทัศน์ของชานเมือง ทุ่งหญ้า ชายหาด ท้องทะเล และวิถีชีวิตของผู้คนและชาวประมง ห้องนี้จัดแสดงผลงานของกลุ่มจิตรกรที่ใช้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานอยู่ที่เมืองเฮกในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) โดยเทคนิคและคอนเซปต์ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งกลุ่มจิตรกรดัชต์ในยุคทอง (Dutch Golden Age) และกลุ่มจิตรกรบาบิซงฝรั่งเศส (the French Barbizon School) เน้นถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของชีวิต ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพวีถีชีวิตของผู้คนและชาวประมง ด้วยความที่ภาพวาดดูสบายตาและสามัญที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกมีส่วนร่วมได้อย่างง่ายดาย
ภาพที่ 5 Children of the Sea ภาพวาดที่แสนเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยพลังที่อบอุ่นและผ่อนคลายสบายตา
ระหว่างเดินชมภาพวาดที่เรียงตามผนัง ผู้เขียนก็ไปสะดุดกับความเรียบง่ายของภาพวาด "The Children of the Sea" โดยโจเซฟ อิสเรียลส์ (Jozef Israëls) ภาพวาดวิวชายหาดที่ฉายภาพกลุ่มเด็ก ๆ 4 คน กำลังให้ความสนใจกับเรือใบของเล่นที่กำลังลอยอยู่บนผิวน้ำ ทำให้ผู้เขียนได้พักสายตาจากความหรูหราและความรู้สึกอันท่วมท้นจากการชมสิ่งจัดแสดงจากห้องที่ผ่าน ๆ มา องค์ประกอบของภาพทั้งเด็ก ชายทะเล และโทนสีที่ใช้ ไม่มีความฉูดฉาดหรือดึงดูดสายตามากนัก แต่การที่ได้เห็นความสามัญ และความเรียบง่ายของชีวิต ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตกอยู่ในห้วงของความนิ่งสงบ และยืนพิจารณารายละเอียดของภาพวาด และฟังเสียงบรรยาย (Audio guide) ไปจนจบ หลังจากได้ฟังและอ่านที่มาของภาพนี้ก็พบว่าจิตรกรเจ้าของผลงานได้ศึกษาและสังเกตวิถีชีวิตของชาวประมงที่เมืองซันต์โฟร์ต (Zandvoort) เมืองชายทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองอัมสเตอร์ดัมนัก โดยศิลปินได้วาดภาพในลักษณะนี้หลายภาพและพัฒนา ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนได้ภาพวาดนี้ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่รู้สึกเชื่อมโยงกับภาพนี้ เพราะความบังเอิญที่ทะเลที่อยู่ในภาพวาด เป็นชายหาดเดียวกันกับที่ผู้เขียนได้เดินทางไปก่อนหน้าที่จะมายังไรจ์คส์มิวเซียม
ภาพที่ 6 แผ่นการ์ดคำอธิบายขยายความเพิ่มในรายละเอียดที่ทำให้การดูพิพิธภัณฑ์สนุกขึ้น
ทิ้งทายความสนุกของการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ "Rijksmuseum in Details" กระดาษแข็งขนาดประมาณ A3 ถูกวางไว้ติดกับผนังใกล้ ๆ กับภาพวาด ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยทำให้การดูภาพวาดสนุกมากขึ้น และให้มุมมองที่เราอาจจะมองข้ามไปหรือเป็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน โดยขยายจุดที่น่าสนใจและรายละเอียดจากภาพวาด พร้อมคำอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย พอได้หยิบสิ่งนี้ขึ้นมาดูก็ทำให้รู้สึกว่าภาพวาดแต่ละภาพมีเรื่องราวเบื้องหลังและสะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม ได้อย่างดี แต่บางทีผู้คนอาจมองข้ามไป
ภาพที่ 7 ประติมากรรมบุคคลปริศนาบนส่วนหลังคาของพิพิธภัณฑ์
เมื่อถึงเวลาบอกลากับสถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนเดินออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์และหันกลับไปมองอีกครั้งเพื่อเป็นการบอกลา สายตาดันไปเจอกับรูปปั้นผู้คนที่มีหลากหลายอิริยาบถอยู่บริเวณด้านบนของอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นปริศนาของผู้เขียนว่าผู้คนเหล่านั้นเป็นใครกันแน่
พอมองย้อนกลับไปจากความประทับใจ ตั้งแต่ผู้เขียนเห็นภาพบรรยากาศของผู้คนที่สัญจรใต้อาคาร ผู้คนจากประวัติศาสตร์ และภาพวาด จนถึงผู้คนที่เป็นรูปปั้นบนอาคารไรจ์คส์มิวเซียม สำหรับผู้เขียน คือ พิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วย "ผู้คน" ซึ่งเป็นสิ่งประกอบร่างสร้างความยิ่งใหญ่และความมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์ ไร้ซึ่งผู้คนก็ไร้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์
สำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติม ชวนดูสารคดี The New Rijksmuseum ซึ่งเล่าเรื่องการบูรณะอันยาวนานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยเรื่องทางสัญจรใต้อาคาร เป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึงในสารคดี
แหล่งอ้างอิง
The Hague School - Concepts & Styles | The Art Story. The Art Story, https://www.theartstory.org/movement/hague-school/history-and-concepts/. Accessed 18 Apr. 2022.
วิชสรา อินทรัตน์